Skip to main content
sharethis

เครือข่ายคนพิการกว่า 30 คนเข้าร่วมทดลองใช้รถไฟฟ้าสายสีม่วงบางใหญ่-บางซื่อ พบมีการพัฒนา แต่ยังมีปัญหาหลายจุด ลิฟต์-สิ่งอำนวยความสะดวกไม่พร้อมใช้งาน-ใช้งานไม่ได้จริง

21 มิ.ย. 2559 วานนี้ (20 มิ.ย.) ตัวแทนสมาคมคนพิการจังหวัดนนทบุรี ศูนย์การดำรงชีวิตอิสระคนพิการจังหวัดนนทบุรี และภาคีเครือข่ายขนส่งมวลชนทุกคนต้องขึ้นได้หรือทีโฟร์เอ (T4A: Transportation for all) กว่า 30 คน ร่วมทดลองใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีม่วงตามที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้เปิดให้มีการทดลองใช้ โดยสมมติสถานการณ์การเดินทางไปทำงานของ "นายประยุทธ" ซึ่งพิการนั่งวีลแชร์ โดยขึ้นจากสถานีตลาดบางใหญ่ จนถึงสถานีนนทบุรี 1 เพื่อสำรวจสิ่งอำนวยความสะดวกของทั้งตัวรถไฟฟ้าและสภาพแวดล้อมรอบข้าง โดยมีสื่อมวลชนเข้าร่วมติดตามกว่า 20 คน

 



ต้องเดินทางบนถนนเพราะฟุตบาทที่มีนั้นใช้งานไม่ได้

 


ทางลาดที่ลาดเข้าสู่ตัวลิฟต์ ไม่มีการแสดงสัญลักษณ์ห้ามจอดกีดขวาง

 

การเดินทางเริ่มต้นตั้งแต่ 7 โมงเช้า ประยุทธซึ่งบ้านอยู่หลังห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวสต์เกต (สถานีตลาดบางใหญ่) ต้องเดินทางไปทำงานทุกๆ วันจันทร์ – เสาร์ที่สถานีนนทบุรี 1 ถึงแม้เซ็นทรัลเวสต์เกตจะมีลิฟต์เพื่อเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้า ซึ่งเป็นทางเลือกที่ง่ายและสะดวกที่สุดในการเดินทาง แต่ประยุทธก็ไม่มีทางเลือกมากนักเพราะช่วงเวลาที่เขาต้องเดินทางไปทำงานนั้น ห้างดังกล่าวยังไม่เปิด เขาเข็นรถตัวเองไปตามถนน สวนทางกับรถยนต์และถนน 6 เลน ฟุตบาทที่มีไม่สามารถขึ้นได้เพราะไม่มีทางลาด และเต็มไปด้วยแม่ค้าที่ขายของสารพัดอย่าง แม้เขาจะรู้สึกคุ้นชินที่ต้องเดินทางบนถนนที่รถวิ่ง แต่การเดินทางในหน้าฝนเช่นวันนี้ ก็ทำให้การเดินทางนั้นยากขึ้นอีกหลายเท่าตัว เขาเข็นตัวเองมาเกือบ 15 นาที ระยะทางกว่า 350 ม. จึงเจอลิฟต์ตัวแรกที่จะพาเขาเข้าสู่รถไฟฟ้า

ประยุทธมองหาทางลาด และพบว่าทางลาดที่เขาต้องใช้มีรถจอดขวางอยู่ เขาพยายามหมุนล้ออยู่หลายครั้ง วนอยู่หลายรอบ จนกระทั่งสามารถขึ้นไปถึงลิฟต์ แต่แล้วก็ต้องผิดหวัง เพราะลิฟต์ตัวเดียวที่มีถูกคาดด้วยเส้นห้ามเข้า เจ้าหน้าที่รถไฟฟ้าหลายคนมายืนรอเขาพร้อมกับสีหน้าที่ไม่สู้ดี พร้อมกล่าวว่า โครงสร้างลิฟต์ยังไม่เสร็จสมบูรณ์และยังไม่ได้ส่งมอบงานจากทางผู้รับเหมา จึงไม่สามารถเปิดใช้งานได้ เจ้าหน้าที่ 5 คน จึงมีหน้าที่ยกเขาขึ้นชั้นบนไปโดยปริยาย บันไดสี่สิบกว่าขั้นกับเจ้าหน้าที่ 5 คน เป็นภาพที่ทุลักทุเล และหากเขาต้องเดินทางแบบนี้ทุกวัน ก็น่าจะสร้างความลำบากไม่น้อย

 


ลิฟต์ตัวเดียวที่มีของทางออกนี้ ที่สถานีตลาดบางใหญ่ ไม่สามารถใช้งานได้ เนื่องจากโครงสร้างยังไม่เสร็จสมบูรณ์ จึงทำให้เจ้าหน้าที่ต้องยกผู้โดยสารขึ้นทางบันได

 


ป้ายขนาดใหญ่ที่วางอยู่ริมฟุตบาท เป็นอุปสรรคอย่างมากต่อการเดินทาง ไม่เพียงแต่คนพิการ คนทั่วไปที่ต้องการเดินทางก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน


เมื่อประยุทธขึ้นไปบนชานชลาได้แล้ว เขาเข็นรถไปยังตู้รถไฟที่มีสัญลักษณ์วีลแชร์เพื่อรอขึ้น เขาพบปัญหาของช่องระหว่างเข้ารถ ที่พื้นด้านในมีความสูงกว่าชานชลาประมาณ 1 นิ้วครึ่งและห่างจากชานชลาประมาน 2 นิ้ว ซึ่งถึงแม้ว่า ระยะห่างเท่านี้จะดูน้อยนิด แต่สำหรับล้อหน้าของวีลแชร์ที่มีขนาดค่อนข้างเล็ก จะสามารถเข้าไปติดได้ง่ายจนอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้

ทั้งนี้ ตลอดการเดินทาง พนักงาน 2-3 คน จะคอยเดินตามเพื่อกดลิฟต์ เปิดล็อกลิฟต์ คอยยกวีลแชร์เมื่อมีพื้นต่างระดับ และถึงแม้จะมีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกหลายชิ้น แต่บางอย่างกลับใช้งานไม่ได้จริง เช่น ทางลาดบริเวณหน้าสถานีนนทบุรี 1 ซึ่งตัดลาดลงไปบนถนนที่รถวิ่ง การมีลิฟต์ในสถานที่ที่คนพิการไม่สามารถไปไหนต่อได้ เช่น ไม่มีทางลาด กรณีของประยุทธเมื่อเขาลงสถานีนนทบุรี1 ซึ่งเป็นจุดหมายปลายทาง เขาต้องเดินย้อนศรลงไปบนถนนเพื่อเข้าที่ทำงานเนื่องจากบนฟุตบาทมีป้ายร้านอาหารขนาดใหญ่ตั้งอยู่ จนทำให้ไม่สามารถเดินผ่านได้

เขาต้องใช้เวลามากกว่า 1 ชั่วโมง ในการเดินทางที่ขึ้นชื่อว่าเร็วและสะดวก เวลาที่เสียไปส่วนมากเกิดขึ้นจากการตามหาสิ่งอำนวยความสะดวกที่ไม่รู้ว่าอยู่ตรงไหน บางครั้งเมื่อเขาไม่สามารถหาสิ่งอำนวยความสะดวกหรือใช้งานเองได้ เขาก็จำเป็นที่จะต้องเรียกเจ้าหน้าที่เพื่อช่วยเหลือ ซึ่งกินเวลาค่อนข้างนาน การส่งเสริมให้คนพิการ เช่นนายประยุทธซึ่งใช้วีลแชร์ได้ใช้ชีวิตด้วยตนเอง โดยการจัดสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกที่เหมาะสมและใช้งานได้จริง จะเป็นแรงสนับสนุนที่ดีที่ทำให้คนพิการสามารถใช้ชีวิตได้ด้วยตนเอง

 


สายรัดวีลแชร์ที่อยู่บริเวณใกล้จุดเชื่อมต่อของแต่ละคัน ในรถแต่ละคัน จะมีที่สำหรับล็อกวีลแชร์นี้ 2-3 ที่

 


ระหว่างพื้นรถและพื้นด้านนอกยังมีช่องว่างและความสูงที่แตกต่างกันพอสมควร จึงอาจทำให้ผู้ใช้วีลแชร์เกิดอุบัติเหตุล้อรถเข้าไปติดได้

 


ป้ายไฟบอกทาง เป็นประโยชน์สำหรับผู้พิการทางการได้ยินที่ไม่ได้ยินเสียงประกาศ แต่ยังไม่ชัดเจนเพราะไม่รู้ว่าหัวรถหันทางไหน

 

สว่าง ศรีสม หนึ่งในผู้ร่วมทดลองใช้รถไฟฟ้าแสดงความเห็นระหว่างร่วมกิจกรรมว่า จริงๆ แล้วการใช้บริการขนส่งสาธารณะนั้นเป็นสิทธิพื้นฐานที่ประชาชนควรได้รับ อีกทั้งทางเท้า ทางลาด หรือสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ และถึงแม้ในระบบรถไฟฟ้าจะพอมีอยู่บ้าง แต่เมื่อออกมาจากสถานีหรือตัวรถก็มักไปไหนต่อไม่ได้ จนทำให้ต้องหันไปนั่งแท็กซี่

“ผิดหวังกับการออกแบบรถไฟฟ้ามาก สักแต่ว่าใส่เข้าไปแถมยังไม่ครบอีก เรื่องนี้เกิดจากการที่ผู้ใช้จริงไม่มีส่วนร่วมตั้งแต่ตอนวางแผนงาน การทำงานเลยแยกชิ้น ทั้งๆ ที่เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ใหม่ในสังคมไทยแต่กลับไม่ให้คนรุ่นใหม่ๆ เข้ามามีส่วนร่วมเลย” เขากล่าว

นอกจากนั้นช่วงบ่าย ในงานเปิดตัวรถไฟฟ้าสายสีม่วงที่เซ็นทรัลเวสต์เกต ทีโฟร์เอได้เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนปัญหาของระบบบริการรถไฟฟ้า พร้อมทั้งเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาสิ่งอำนวยความสะดวกต่อผู้ว่าการ รฟม. พีระยุทธ สิงห์พัฒนากุล และรองผู้ว่าฯ นนทบุรี สุธี ทองแย้ม โดยทั้งสองรับปากว่าจะรีบดูและและจัดการปัญหาให้


รถไฟฟ้าสายสีม่วงบางใหญ่ - บางซื่อ มีระยะทาง 23 กิโลเมตร ประกอบด้วย 16 สถานี ได้แก่ สถานีคลองบางไผ่ สถานีตลาดบางใหญ่ สถานีสามแยกบางใหญ่ สถานีบางพลู สถานีบางรักใหญ่ สถานีท่าอิฐ สถานีไทรม้า สถานีสะพานพระนั่งเกล้า สถานีแยกนนทบุรี 1 สถานีศรีพรสวรรค์ สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี สถานีกระทรวงสาธารณสุข สถานีแยกติวานนท์ สถานีวงศ์สว่าง สถานีบางซ่อน และสถานีเตาปูน โดยมีสถานีเตาปูนเป็นสถานีเปลี่ยนเส้นทาง (Interchange Station) ระหว่างสายสีม่วงและสายสีน้ำเงิน โดยจะเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 6 สิงหาคม 2559

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net