หญิงสาวถูกคนแปลกหน้าฆ่าตายที่กังนัม-สะท้อนภาวะเกลียดชังเพศหญิงในเกาหลีใต้

นักวิชาการชาวเกาหลีเขียนบทความเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่หญิงในเกาหลีใต้รายหนึ่งถูกคนแปลกหน้าสังหารด้วยสาเหตุเรื่องความเกลียดผู้หญิง จนมีคนจำนวนมากแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวด้วยการเขียนข้อความแสดงออกถึงความรู้สึกต่างๆ สะท้อนให้เห็นว่าเกาหลีใต้มีกระแสการเหยียดเพศยังคงอยู่ จากการปลุกปั่นของพวกกลุ่มอนุรักษ์นิยม

กำแพงข้อความไว้อาลัยให้กับหญิงสาวซึ่งถูกชายแปลกหน้าสังหารที่สถานีรถไฟใต้ดินกังนัม กรุงโซล เมื่อ 20 พฤษภาคมที่ผ่านมา (ที่มา: Revi/Wikipedia)

เว็บไซต์อีสท์เอเชียฟอรั่มนำเสนอเรื่องประเด็นเพศสภาพที่มีส่วนเกี่ยวพันกับการก่อคดีอาชญากรรมสังหารผู้หญิงในเกาหลีใต้เมื่อช่วงเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา ที่มีหญิงอายุ 23 ปี ถูกชายอายุ 34 ปี แทงเสียชีวิตใกล้กับสถานีรถไฟใต้ดินกังนัมในกรุงโซล สิ่งที่น่าประหลาดใจสำหรับสาธารณะชนคือการที่ทั้งเหยื่อและผู้ก่อเหตุต่างก็ไม่รู้จักกันมาก่อนเลย

บทความของแฮวอล ชอย (Hyaeweol Choi) ศาตราจารย์ด้านเกาหลีศึกษาและผู้อำนวยการสถาบันเกาหลีที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลียระบุถึงเรื่องนี้ในฐานะการสะท้อนความเกลียดผู้หญิง (misogynistic) ที่มีอยู่ในวัฒนธรรมร่วมสมัยของเกาหลีใต้ จากการที่ฆาตกรผู้ก่อเหตุเปิดเผยต่อตำรวจว่าแรงจูงใจของเขามาจากความโกรธและความรู้สึกเกลียดผู้หญิงหลังจากที่เขาถูกเหยียดหยามจากลูกค้าผู้หญิงในบาร์ที่เขาทำงานเป็นพนักงานเสิร์ฟ

หลังจากมีข่าวเรื่องเหตุฆาตกรรมในครั้งนี้มีผู้คนซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงพากันเขียนข้อความบนโพสต์อิทแล้วแปะตามกำแพงใกล้กับทางออกหนึ่งของสถานีกังนัมจนกระทั่งมีกระดาษในเชิงรำลึกถึงผู้ตายอยู่มากกว่าหนึ่งพันแผ่น ข้อความบนกระดาษเหล่านี้แสดงอารมณ์หลายอย่างทั้งความโกรธ ความกลัว และความเศร้า ข้อความส่วนหนึ่งแสดงออกให้เห็นว่าผู้หญิงคนอื่นๆ รู้สึกว่าตัวเธออาจจะตกเป็นเหยื่อความรุนแรงที่มาจาก "การเหยียดเพศ" ในครั้งนี้ได้เหมือนกัน และบ้างก็ระบุว่าเหตุฆาตกรรมในครั้งนี้แสดงให้เห็นถึง "ความป่วยไข้ในสังคม" ของเกาหลีใต้

แฮวอล ซอย ระบุว่าการแสดงออกของคนในสังคมต่อการฆาตกรรมในครั้งนี้สะท้อนให้เห็นความรู้สึกร่วมของผู้หญิงในสังคมเกาหลีใต้ที่เริ่มรู้สึกว่าพวกเธอต้องเผชิญการเหยียดเพศ หรือการล่วงละเมิดทางเพศและทางวาจามากขึ้นเรื่อยๆ กระดาษข้อความบนกำแพงจึงไม่ใช่แค่การแสดงอารมณ์ความรู้สึกแต่ยังเป็นความรู้สึกร่วมในการสร้างสังคมไปในทางที่เป็นธรรมด้วย

ในเกาหลีใต้ช่วงเมื่อไม่นานมานี้เริ่มมีการแสดงออกเกลียดชังเพศหญิงมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในโซเชียลมีเดียและใน "โลกจริง" จากการที่เกาหลีใต้มีการแข่งขันแย่งงานกันหนักขึ้นเรื่อยๆ และผู้หญิงก็เข้าไปมีส่วนร่วมในตลาดแรงงานมากขึ้นทำให้ผู้ชายมีความรู้สึกเป็นปฏิปักษ์กับผู้หญิงถึงแม้ว่าในความเป็นจริงแล้วผู้หญิงเกาหลีใต้ยังคงเป็นคนทำงานอยู่ในระดับล่างสุดของการแบ่งชนชั้นทางเศรษฐกิจ โดยถูกจัดไปอยู่ใน "ตำแหน่งนอกเกณฑ์" ของตลาดแรงงาน

แต่ถึงแม้ผู้หญิงเกาหลีใต้จะถูกกดเรื่องโอกาสการงานแต่ผู้ชายก็อ้างว่าการที่พวกเขาขาดโอกาสการงานเป็นเพราะผู้หญิง ในโลกของวัฒนธรรมสมัยนิยมมีการใช้คำว่า "สาวเต้าเจี้ยว" (toenjangnyo) แทนผู้หญิงอายุไม่มากที่ถือถ้วยกาแฟสตาร์บัคส์และเสพติดแบรนด์เนมยี่ห้อหรูๆ ซึ่งเป็นภาพผลิตซ้ำเพื่อถากถางและสั่งสอนผู้หญิงที่ถูกมองว่า "เป็นตะวันตก"

แฮวอล ซอย  ระบุว่าในยุคสมัยที่มีการถ่ายเทของข้อมูลข่าวสารข้ามโลกเช่นนี้ทำให้ผู้หญิงเกาหลีใต้ถูกคาดหวังให้เป็นตัวอย่างของจารีตแบบเกาหลีที่ดูมีความอุตสาหะและมัธยัสถ์ ทำให้ผู้นำศาสนาอนุรักษ์นิยมและคนโฆษณาชวนเชื่อที่ใช้สื่อเป็นต่างก็หลอกล่อผู้คนด้วยภาพตัวแทนของผู้หญิงและไลฟ์สไตล์ของเธอในแบบที่บิดเบือนจากโลกความจริง

ถึงแม้ว่าในช่วงยุคสมัยก่อนหน้านี้ที่ผู้นำเกาหลีใต้เป็นฝ่ายก้าวหน้าออกกฎหมายคุ้มครองในเรื่องเพศสภาพและยกเลิกกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม เช่น ยกเลิกกฎหมายกำหนดให้มีหัวหน้าครอบครัวเป็นชายซึ่งเป็นกฎหมายสร้างความเหลื่อมล้ำเพราะให้อำนาจชายมากเกินไป จนการยกเลิกกฎหมายนี้ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างชายหญิงมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น การมีส่วนร่วมของผู้หญิงด้านแรงงานก็เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 50 ในปี 2556 และหลังจากการเลือกตั้งครั้งล่าสุดก็มี ส.ส. เป็นผู้หญิงในสภาเกาหลีใต้ร้อยละ 17 ถือว่ามากที่สุดในประวัติศาสตร์เกาหลีใต้ แม้ว่าจะยังน้อยกว่าค่าเฉลี่ยขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD)

นอกจากนี้ยังมีภาพลักษณ์ของ "หญิงจ่าฝูง" (alpha girls) ในสื่อเกาหลีใต้ที่แสดงให้เห็นภาพองผู้หญิงที่ทะเยอทะยานและประสบความสำเร็จเป็นตัวชี้วัดพัฒนาการประเด็นผู้หญิงในพื้นที่สาธารณะ ในส่วนของขบวนการกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBT) และครอบครัวแบบพหุวัฒนธรรมก็เป็นการท้าทายคุณค่าครอบครัวชายหญิงแบบเดิมและความสัมพันธ์ชายหญิงที่ถูกมองว่า "ปกติ" ในเกาหลีใต้

แต่ แฮวอล ซอย ก็ระบุว่าถึงแม้จะมีความก้าวหน้าเช่นนี้ผู้คนก็ยังแสดงออกโจมตีคนด้วยเพศสภาพมากขึ้นเรื่อยๆ จึงไม่ควรละเลยประเด็นที่ซ่อนอยู่ภายใต้สังคมที่ดูเหมือนจะก้าวหน้าขึ้นเช่นนี้ เช่น ถึงแม้ว่าเกาหลีใต้จะเลือกตั้งประธานาธิบดีเป็นผู้หญิง แต่แค่การเลือกผู้หญิงคนเดียวเป็นผู้นำก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นการเปิดประตูสู่ความก้าวหน้าด้านความเท่าเทียมทางเพศได้ การที่ผู้หญิงได้รับโอกาสมากขึ้นในหลายภาคส่วนของสังคมทำให้ผู้คนโดยเฉพาะคนหนุ่มสาวชาวเกาหลีใต้ตั้งคำถามกับเรื่องที่แนวคิดสตรีนิยมมีส่วนกับชีวิตพวกเขาอย่างไร

แฮวอล ซอย ระบุว่า "การฆาตกรรมผู้หญิงอายุไม่มากคนหนึ่งในกรุงโซลและการที่เพื่อนผู้หญิงพากันแสดงออกต่อเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งเตือนใจอย่างดีว่าความก้าวหน้าในด้านความเท่าเทียมกันทางเพศสภาพนั้นผูกติดอยู่กับบรรทัดฐานเรื่องเพศสภาพแบบดั้งเดิมที่ติดตรึงอยู่ไม่ยอมเสื่อมคลาย หลักปฏิบัติแบบเก่า รวมไปถึงความท้าทายในปัจจุบัน

 

เรียบเรียงจาก

Tragedy in Seoul brings misogyny to light, Hyaeweol Choi, East Asia Forum, 03-08-2016 http://www.eastasiaforum.org/2016/08/03/tragedy-in-seoul-brings-misogyny-to-light

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท