Skip to main content
sharethis

เหตุกราดยิงสปาชาวเอเชียในแอตแลนตาจนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 8 รายนั้นทำให้เกิดการถกเถียงอภิปรายกันในในเรื่องแรงจูงใจของฆาตกร โดยจากกรณีในช่วงใกล้เคียงกันนี้สื่อให้เห็นถึงการคุกคามหรือใช้ความรุนแรงต่อชาวเอเชียและต่อผู้หญิง ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านกลุ่มหัวรุนแรงมองว่ามันเป็นเรื่องของสภาวะทับซ้อน (intersectionality) ของทั้งการเหยียดเชื้อชาติสีผิว เหยียดเพศ และความป่วยไข้ทางสังคมแบบเคร่งศีลธรรม

ในขณะที่สังคมวิเคราะห์เรื่องเหตุสังหารหมู่ในแอตแลนตาที่มีผู้เสียชีวิต 8 รายมีชาวเอเชียรวมอยู่ 6 ราย เป็นเรื่องที่มีแรงจูงใจมาจากการเหยียดเชื้อชาติสีผิว การเหยียดเพศ และแม้กระทั่งเรื่องชนชั้น ท่ามกลางกระแสการเหยียดคนเอเชียที่เกิดขึ้นอย่างหนักในช่วงไม่นานนี้

ถึงแม้ว่าแรงจูงใจของฆาตกรอาจจะยังชี้วัดไม่ได้อย่างชัดเจน แต่นักวิชาการก็บอกว่ามีเรื่องหนึ่งที่สรุปได้มันคือกรณีสภาวะทับซ้อน (intersectionality) ของทั้งเรื่องการเหยียดเชื้อชาติ เหยียดเพศ และแนวคิดอันตรายของฝ่ายขวาที่ยากจะแก้ปมออกมาได้โดยทันที

มีอา บลูม ผู้เชี่ยวชาญเรื่องกรณีการก่อการร้ายและกลุ่มหัวรุนแรงจากมหาวิทยาลัยรัฐจอร์เจียกล่าวว่า ในขณะที่ผู้คนต้องการคำตอบคำอธิบายที่กระจ่างชัดในเรื่องนี้ แต่คำอธิบายที่ออกมาจากปากผู้ก่อเหตุไม่ได้เป็นสิ่งที่ออกมาอย่างซื่อสัตย์ พวกเขาจึงต้องนำเรื่องสภาวะทับซ้อนมามองในเรื่องนี้ว่า "ฆาตกรเป็นได้ทั้งคนเหยียดเชื้อชาติสีผิว เหยียดผู้หญิง และเป็นคนป่วยทางจิตอยู่ในคนเดียวกันได้"

โรเบิร์ต อาร์รอน ลอง ผู้ต้องสงสัยที่ถูกจับกุมอายุ 21 ปี กล่าวอ้างว่าเป็นเพราะเขา "เสพย์ติดเพศสัมพันธ์" และต้องการทำลาย "สิ่งยั่วยุ" จากสถานบันเทิงอย่างสปาชาวเอเชีย

ในเรื่องนี้บลูมมองว่าเป็นเรื่องของการเหยียดผู้หญิงอย่างชัดเจนในเรื่องที่ว่า การที่ผู้ชายอย่างลองกล่าวโทษผู้หญิงว่าเป็นผู้กระตุ้นเร้าอารมณ์ให้กับเขาซึ่งเขาไม่ต้องการเป็นความคิดแบบเหยียดผู้หญิงในแบบที่เรียกว่า "การกล่าวโทษเหยื่อ" (victim-blaming) ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ชายที่มีมุมมองชายเป็นใหญ่อ้างหลบเลี่ยงความรับผิดชอบแล้วกล่าวหาผู้หญิงว่าเป็นผู้สร้างความขัดแย้งแทน

ไม่เพียงเท่านั้นเพื่อพิจารณาจากสภาวะทับซ้อนแล้ว ผู้หญิงชาวเอเชียจะต้องแบกรับในเรื่องนี้ทั้งจากการเหยียดเพศและจากการเหยียดเชื้อชาติสีผิว เคยมีงานวิจัยระบุว่าผู้หญิงชาวอเมริกันเชื่อสายเอเชียถูกคุกคามมากเป็นสองเท่าเมื่อเทียบกับผู้ชายเชื้อสายเอเชีย พวกเธอมักจะต้องเผชิญกับการถูกทำให้เป็นวัตถุทางเพศ ถูกทำให้ดูเป็นสิ่งแปลกประหลาดจากต่างแดน (exotic) ถูกให้ดูเป็นเด็กและถูกมองเหมารวมว่าเป็นคนเชื่อง

นอกจากนี้ผู้ก่อเหตุยังมีสิ่งที่เชื่อมโยงกับความเคร่งศาสนาถึงแม้โบสถ์ที่เขาเป็นสมาชิกจะแถลงการณ์ต่อต้านไม่สนับสนุนความรุนแรงจากชายผู้นี้ก็ตาม โดยที่ เทรซี ควน นักเขียนอดีตหญิงทำงานบริการทางเพศในสหรัฐฯ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่าการที่ลองอ้างถึงเรื่องการเสพย์ติดทางเพศ (ซึ่งเป็นเรื่องฟังดูเหมือนวิทยาศาสตร์เทียมสำหรับคนอายุ 21 ปี ที่ความต้องการทางเพศน่าจะเป็นเรื่องดาษดื่นทั่วไป) รวมถึงการที่ลองเคยเข้ารับการ "บำบัดในแบบคริสต์" มาก่อน สะท้อนเรื่องการกดเหยียดคนทำงานบริการทางเพศในสังคมผู้เคร่งศาสนาคริสต์ด้วย

ควนยกตัวอย่างกรณีฆาตกรรายอื่นๆ ในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ ที่อ้างความบริสุทธิ์ทางศาสนามาเป็นความชอบธรรมในการสังหารเช่น เท็ด บันนี หรือกรณีปีเตอร์ ซุตคลิฟฟ์ ที่สังหารคนทำงานบริการทางเพศโดยอ้างว่าเป็น "ประสงค์ของพระเจ้า" สิ่งเหล่านี้ทำให้ควนมองเรื่องแรงจูงใจการสังหารว่าน่าจะมาจากการเหยียดคนทำงานบริการทางเพศมากกว่าเรื่องการเหยียดเชื้อชาติ

ซึ่งควนมองว่าเรื่องนี้มีแรงสนับสนุนจากลัทธิคลั่งศาสนา แนวคิดกลุ่มสตรินิยมสายอนุรักษ์นิยมที่ปิดกั้นเสรีภาพ กฎหมายที่เน้นลงโทษ สื่อหัวสีที่นำเสนอเกินจริง และอคติต่างๆ ที่ปลูกสร้างให้เกิดวัยรุ่นชายที่เกลียดชังตัวเอง พวกเขาควรจะเรียนรู้กับการจัดการความอยากทางเพศอย่างถูกต้องและเข้าใจความสัมพันธ์ของมนุษย์ที่หลากหลายแทนที่จะพยายามดับไฟความอยากด้วยลัทธิบริสุทธิ์ผุดผ่องทางศาสนา

อย่างไรก็ตาม บลูมกลับเน้นย้ำว่าไม่ควรมองเรื่องนี้ว่าเป็นประเด็นแรงจูงใจอย่างเดียวโดดๆ แต่เป็นสิ่งที่มาจากสภาวะทับซ้อน บลูมวิจารณ์ว่าสื่อกระแสหลักมักจะทำผิดพลาดเรื่องที่ลดทอนเรื่องเหล่านี้ให้เหลือแรงจูงใจอย่างเดียวโดดๆ เช่นที่รอยเตอร์เคยอ้างว่าไม่เกี่ยวกับความเกลียดชังทางเชื้อชาติสีผิวจนทำให้โดนวิพากษ์วิจารณ์มาแล้ว บลูมบอกอีกว่าพวกเขาไม่ควรจะเชื่อและสรุปเรื่องแรงจูงใจของฆาตกรโดยให้ฆาตกรเป็นผู้วินิจฉัยสภาพจิตใจตนเอง

คริสติน บาคาเรซา บาลานซ์ ผู้อำนวยการของโครงการเอเชียนอเมริกันศึกษาจากมหาวิทยาลัย คอร์เนลล์ กล่าวว่าเหตุรุนแรงนี้เกิดขึ้นในช่วงที่มีกระแสอาชญากรรมจากความเกลียดชังชาวเอเชียเพิ่มมากขึ้นในสหรัฐฯ ด้วย รวมถึงมีประวัติศาสตร์ความรุนแรงในเชิงเหยียดชาวเอเชียเกิดขึ้นมานานแล้ว ศาสตราจารย์ด้านเอเชียนอเมริกันศึกษาจากมหาวิทยาลัยแห่งมินนิโซตา เอริกา ลี ก็กล่าวในทำนองเดียวกันว่ากระแสการเหยียดชาวเอเชียในสหรัฐฯ ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด

ถึงแม้ว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจเคยแถลงในช่วงกลางสัปดาห์ที่แล้วหลังเกิดเหตุ 1 วันว่ายังเร็วเกินไปที่จะสรุปว่าเป็นอาชญากรรมจากความเกลียดชังอัตลักษณ์ (hate crime) แต่อ้างว่าผู้ก่อเหตุแค่รู้สึก "ทนไม่ไหว" และ "มีวันที่แย่มาก" อย่างไรก็ตาม บลูมและนักวิชาการอื่นๆ ก็วิพากษ์วิจารณ์โต้ตอบกลับในเรื่องนี้ บลูมบอกว่าถึงแม้จะมีอะไรหลายอย่างเกิดขึ้นในคดีนี้ แต่สิ่งหนึ่งที่พวกเขารู้อย่างแน่ชัดคือ "มันมีความเกลียดชัง" อยู่ด้วย

เรียบเรียงจาก

Atlanta-area spa shootings highlight knotted intersection of sexism and racism, scholars say, Los Angeles Times, 19-03-2021

Tracy Quan: Don’t forget — the Georgia shootings are a hate crime against sex workers, Tracy Quan, LA Times, 19-03-2021

ที่มาของภาพประกอบ: ทางหลวง The Downtown Connector หรือทางหลวง 75/85 พาดผ่านกลางเมืองแอตแลนตา รัฐจอร์เจีย ภาพถ่ายปี 2007 โดย Brett Weinstein/Wikipedia

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net