Skip to main content
sharethis

วิเคราะห์ต้นตอของปัญหาการเหยียดเชื้อชาติคนเอเชียในสหรัฐอเมริกาผ่านงานเสวนาออนไลน์ในหัวข้อ “Hate Crime อาชญากรรมจากความเกลียดชังและการเหยียดคนเอเชียในสหรัฐอเมริกา” โดย ปองขวัญ สวัสดิภักดิ์, ดวงยิหวา อุตรสินธุ์ และภาณุภัทร จิตเที่ยง พร้อมเปิดบทสัมภาษณ์ เอริค นัม นักร้องชาวอเมริกันเชื้อสายเกาหลีที่เผชิญการเหยียดเชื้อชาติในบ้านเกิดของตน

2 เม.ย. 2564 สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดเสวนาผ่านสื่อออนไลน์ ในหัวข้อ “Hate Crime อาชญากรรมจากความเกลียดชังและการเหยียดคนเอเชียในสหรัฐอเมริกา” โดย ปองขวัญ สวัสดิภักดิ์ อาจารย์จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปัจจุบันศึกษาปริญญาเอก University of Southern California, ดวงยิหวา อุตรสินธุ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก (วิทยาเขตกรุงอาบูดาบี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์) และภาณุภัทร จิตเที่ยง อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้ร่วมเสวนา

ดวงยิหวา อุตรสินธุ์ (ซ้าย), ปองขวัญ สวัสดิภักดิ์ (ขวา), ภาณุภัทร จิตเที่ยง (ล่าง)
 

ประสบการณ์การเผชิญหน้ากับอาชญากรรมจากความเกลียดชังของผู้เสวนา

ดวงยิหวา เผยประสบการณ์การตรงของการเป็นคนเชื้อสายเอเชียในสหรัฐฯ ช่วงทศวรรษที่ 1980s โดยเธอเกิดที่สหรัฐอเมริกาและอาศัยอยู่ที่เขตบรองซ์ นครนิวยอร์ก โรงเรียนมีเพียงชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชีย 2 คน คือ ตัวเธอเอง และเพื่อนชาวกัมพูชาที่อพยพหนีสงครามกลางเมืองเข้ามาอาศัยอยู่ที่สหรัฐฯ ซึ่งเธอถูกกลั่นแกล้งและเลือกปฏิบัติจากเพื่อนร่วมชั้นเรียนคนอื่นๆ อยู่เป็นประจำ ส่วนพ่อของเธอซึ่งอาศัยอยู่ที่สหรัฐฯ ในช่วงทศวรรษที่ 1970s ก็ประสบปัญหาถูกเหยียดเชื้อชาติเพราะเป็นคนเอเชียด้วยเช่นกัน โดยเธอบอกว่าการเหยียดคนเชื้อเสายเอเชียในยุคนั้นอาจเป็นผลมาจากช่วงหลังสงครามเวียดนามซึ่งชาวอเมริกันถูกส่งไปรบและเศรษฐกิจของประเทศเสียหายเนื่องจากสงคราม ทำให้ภาพลักษณ์ของคนเอเชีย โดยเฉพาะคนเอเชียตะวันออกดูไม่ดีในสายตาคนอเมริกัน

ดวงยิหวา บอกว่า หากพูดถึงคนอเมริกันเชื้อสายเอเชีย จะต้องนับรวมคนที่มีเชื้อสายเอเชียใต้ เช่น อินเดีย หรือปากีถาน เข้าไปด้วย แต่ส่วนใหญ่แล้วภาพจำที่คนอเมริกันนึกถึงเมื่อพูดถึงคนเชื้อสายเอเชีย คือ ชาวเอเชียตะวันออก ซึ่งหมายถึงจีน เกาหลี ญี่ปุ่น และกลุ่มประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมักถูกเหมารวมว่าเป็นคนจีนไปเสียหมด ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว คำว่าคนอเมริกันเชื้อสายเอเชียนั้น เป็นคำที่กว้างและมีความหลากหลายมาก

แม้จะเผชิญกับการเหยียดเชื้อชาติเพราะเป็นคนเอเชียอยู่บ่อยครั้ง แต่ดวงหยิวาบอกว่าการกระทำเหล่านั้นเพิ่มสูงขึ้นในช่วงที่ โดนัลด์ ทรัมป์ เป็นประธานาธิบดี โดยคำพูดที่เธอได้ยินบ่อยในช่วงนั้น คือ ‘กลับประเทศของคุณซะ (Go back to your country)’ แต่เธอก็โต้กลับว่า ‘ฉันเกิดที่นี่จะให้ฉันไปอยู่ที่ไหน’ นอกจากนี้ เธอยังเคยถูกเรียกด้วยคำไม่สุภาพหลายอย่าง เช่น Cheng ซึ่งเป็นสแลงที่ชาวอเมริกันใช้เรียกเพื่อเหยีดยเชื้อชาติคนจีน รวมถึงถูกเรียกว่าผู้อพยพ ซึ่งผู้พูดพูดโดยใช้อคติแบบเหมารวมเพราะเห็นเธอเป็นคนเอเชีย

ด้าน ปองขวัญ เล่าว่า เธอเดินทางไปศึกษาต่อที่สหรัฐฯ ช่วง พ.ศ.2555 ซึ่งอยู่ในยุคที่บารัค โอบามา เป็นประธานาธิบดี และอาศัยอยู่ที่กรุงวอชิงตันดีซี ซึ่งเป็นเมืองหลวงและเป็นที่ตั้งของศูนย์ราชการระดับประเทศและระหว่างประเทศ จึงไม่ค่อยมีประสบการณ์การถูกเหยียดเชื้อชาติ เพราะทุกคนที่นั่นค่อนข้างระวังมากเรื่องการพูดถึงสีผิวและเชื้อชาติในที่สาธารณะ แต่เมื่อเธอเดินทางมาศึกษาต่อในระดับปริญญาเอกที่นครลอสแอนเจลิส กลับเจอการเหยียดเชื้อชาติมากกว่า ทั้งๆ ที่เมืองนี้มีคนเชื้อสายเอเชียอาศัยอยู่มาก โดยประสบการณ์ส่วนใหญ่ที่ปองขวัญเจอ คือ ความรุนแรงระดับเล็ก หรือ Microaggression ซึ่งเป็นการแสดงออกทั่วไปที่อาจทำให้ผู้อื่นรู้สึกเสื่อมเสียเพราะถูกเหมารวมว่าเป็นสมาชิกของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เช่น มีคนตะโกนใส่ปองขวัญขณะขึ้นรถโดยสารเพื่อไปมหาวิทยาลัยว่า ‘รถคันนี้ไม่ได้ไปเมืองจีนนะ’ หรือถูกเหมารวมว่าเป็นจีน นอกจากนี้ คนอเมริกันเชื้อสายเอเชียมักถูกถามว่า ‘ทำไมภาษาอังกฤษดีจัง’ ซึ่งถือเป็น Microaggression ประเภทหนึ่งด้วยเช่นกัน

ในขณะที่ ภาณุภัทร เล่าวว่า เขาไม่เจอการเหยียดเชื้อชาติในช่วงที่อาศัยอยู่ ณ กรุงวอชิงตันดีซี แต่พอย้ายมาอยู่ที่รัฐวิสคอนซินช่วงปี 2558-2562 ซึ่งเป็นช่วงที่ทรัมป์ก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี เขายอมรับว่าเจอการเหยีดเชื้อชาติบ่อยขึ้น เช่น ลูกศิษย์ของเขาที่เป็นคนเวียดนามถูกเรียกเหมารวมว่าเป็นคนจีน หรือเวลาคุยกับเพื่อนในที่สาธารณะโดยใช้ภาษาไทย มักจะถูกมองว่าเขาและเพื่อนกำลังนินทาคนอื่น รวมถึงเคยถูกนักศึกษาทักท้วงเรื่องสำเนียงภาษาอังกฤษในระหว่างการเรียนการสอนอีกด้วย

ทำความเข้าใจพลวัตรของอาชญากรรมจากความเกลียดชัง (Hate crime)

ดวงหยิหวา กล่าวว่า ความรู้สึกของชาวอเมริกันที่มีต่อคนเอเชียเป็นกราฟคลื่นขึ้นลงตามช่วงเวลาในประวัติศาสตร์ เช่น ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 สงครามเย็น หรือโควิด-19 แต่หากย้อนกลับไปในช่วงทศวรรษที่ 1850s ซึ่งเป็นยุคที่คนเอเชียอพยพเข้ามาทำงานและตั้งถิ่นฐานในสหรัฐฯ จำนวนมาก โดยเฉพาะในบริเวณชายฝั่งตะวันของประเทศ เนื่องจากตรงกับยุคตื่นทอง ซึ่งรัฐบาลสหรัฐฯ ก็ยินดีต้อนรับผู้อพยพชาวเอเชีย เพราะต้องการแรงงานราคาถูก แต่ต่อมา ช่วงทศวรรษที่ 1880s เศรษฐกิจของสหรัฐฯ ตกต่ำ โดยเฉพาะในแถบตะวันตก คนอเมริกันจำนวนมากที่ตกงานจึงพยายามโยนความผิดให้คนเชื้อสายเอเชียว่าอพยพเข้ามาแย่งงาน และมีเหตุการณ์ความรุนแรงต่อคนเอเชียเกิดขึ้นหลายครั้ง เช่น การเผาย่านไชน่าทาวน์ในเมืองซานฟรานซิสโก พ.ศ.2420 เป็นต้น

ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 กระแสการต่อต้านคนเอเชียโดยเฉพาะชาวจีนในสหรัฐฯ นั้นรุนแรงถึงขั้นมี พรบ.กีดกันคนจีน ประกาศใช้เป็นกฎหมายระดับประเทศใน พ.ศ.2425 โดยมีจุดประสงค์เพื่อป้องกันไม่ให้คนจีนอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐาน ด้วยการไม่ให้สถานะพลเมืองแก่ผู้อพยพหน้าใหม่ รวมถึงไม่ให้สัญชาติแก่เด็กที่เกิดจากแม่ชาวจีน ซึ่งขัดต่อบทบัญญัติที่ 14 แห่งรัฐธรรมนูญอเมริกันที่ระบุว่าบุคคลใดก็ตามที่เกิดบนแผ่นดินอเมริกาถือว่าเป็นพลเมืองอเมริกัน พรบ.กีดกันคนจีนถูกแทนที่ด้วยกฎหมายกีดกันทางเชื้อชาติฉบับใหม่ไปใน พ.ศ.2486 ที่จำกัดโควตาผู้อพยพชาวชีนเพียงปีละ 105 คน ซึ่งกฎหมายเหล่านี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายจิมโครว์ (Jim Crow Laws) ที่เป็นกฎหมายการแบ่งแยกและเลือกปฏิบัติต่อคนตามสีผิวและเชื้อชาติ ซึ่งมีรายละเอียดแตกต่างกันไปในแต่ละรัฐ

ไม่เพียงแต่ผู้อพยพชาวจีนยุคแรกเท่านั้นที่โดนเหยียดเชื้อชาติ แต่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ผู้อพยพชาวญี่ปุ่นและคนอเมริกันเชื้อสายญี่ปุ่นจำนวนมากถูกคุมขังในค่ายกักกัน เพราะรัฐบาลอเมริกันยุคนั้นไม่เชื่อว่าคนญี่ปุ่นจะภักดีต่อสหรัฐฯ

แผนภาพรัฐที่เคยบังคับใช้กฎหมายจิมโครว์เพื่อแบ่งแยกและปกครองตามสีผิวและเชื้อชาติ
(ที่มา: Wikipedia)
 

ด้าน ปองขวัญ มองว่ากลุ่มคนเอเชียในสหรัฐฯ ถูกสร้างภาพจำในลักษณะของชนกลุ่มน้อยที่เป็นแบบอย่าง (Model minority) ซึ่งหมายถึงกลุ่มคนอพยพที่ไม่เป็นต้องพึ่งพารัฐ แต่สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตตัวเองขึ้นมาได้ตามภาพของความฝันแบบอเมริกัน (American Dream) โดยรัฐบาลอเมริกันยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จำเป็นต้องยกระดับภาพลักษณ์คนเอเชียเพื่อรักษาชาติพันธมิตรในสงครามเย็นด้วยการสร้างวาทกรรมว่าสหรัฐฯ คือประเทศแห่งโอกาสที่ทุกคนสามารถเติบโตได้ในโลกทุนนิยม และนำลักษณะของชนกลุ่มน้อยที่เป็นแบบอย่างนี้มาครอบงำอัตลักษณ์ของคนอเมริกันเชื้อสายเอเชีย โดยเฉพาะกลุ่มชาวเอเชียตะวันออกที่ประสบความสำเร็จทางด้านเศรษฐกิจจนมีรายได้และความเป็นอยู่ทัดเทียมกับคนอเมริกันผิวขาว ซึ่ง ปองขวัญ มองว่าคนอเมริกันเชื้อสายเอเชียก็น้อมรับวาทกรรมเหล่านี้และติดอยู่ในมายาคติของชนชั้นปกครองผิวขาว ทำให้คนอเมริกันเชื้อสายเอเชียรู้สึกเป็นมิตรกับคนผิวขาวมากกว่า และมองว่าการประสบความสำเร็จคือสิ่งที่ทำให้ตัวเองอยู่เหนือกว่าชนกลุ่มน้อยอื่นๆ ด้าน ภาณุภัทร เห็นด้วยกับปองขวัญว่าการสร้างอัตลักษณ์ทางเชื้อชาติต่อชาวเอเชียในลักษณะนี้ ทำให้ชนชั้นปกครองชาวอเมริกันได้รับผลประโยชน์ทางสังคมด้านอื่นๆ ตามมา

ดวงยิหวา กล่าวว่า แม้จะเผชิญการถูกกดขี่จากโครงสร้างกฎหมายและสังคม แต่คนอเมริกันเชื้อสายเอเชียก็พยายามสร้างภูมิคุ้มกันในแบบของตัวเอง เช่น การสร้างชุมชนตามเมืองใหญ่ๆ เช่น ลิตเติลโตเกียว ลิตเติลอินเดีย โคเรียทาวน์ ไชน่าทาวน์ หรืออีเดนเซ็นเตอร์ของชาวเวียดนาม รวมถึงการสร้างสังคมที่ไม่พึ่งพารัฐ เช่น ในนิวยอร์กมีโรงเรียนเอกชนสำหรับคนอเมริกันเชื้อสายจีนโดยเฉพาะ เพื่อป้องกันไม่ให้นักเรียนที่มีเชื้อสายจีนถูกกลั่นแกล้งในโรงเรียนทั่วๆ ไป

นอกจากนี้ ผู้เสวนาทั้ง 3 คนยังเห็นตรงกันว่านอกจากการเหยียดเชื้อชาติคนเอเชียจากคนเชื้อชาติอื่นแล้ว คนอเมริกันเชื้อสายเอเชียก็ยังเหยียดกันเอง เช่น ดาราตลกคนหนึ่งที่เป็นชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียเคยเล่นมุกว่า “ฉันจะเดทกับคนผิวขาว จะไม่ออกเดทกับคนที่หน้าตาเหมือนน้องชายตัวเอง” เป็นต้น

แนวโน้มการเหยียดเชื้อชาติคนเอเชียในอนาคต

ดวงยิหวา ยืนยันว่ากราฟความสัมพันธ์ของคนอเมริกันทั่วไปกับคนเอเชียจะเป็นขึ้นลงแบบเดิม เพราะคนอเมริกันไม่มีทางมองว่าคนเอเชียเป็นพวกเดียวกับตัวเอง แม้คนๆ นั้นจะเป็นคนเอเชียที่ถือสัญชาติอเมริกันก็ตาม

ด้าน ปองขวัญ ยกสถิติการเกิดอาชญากรรมต่อต้านคนเอเชียในสหรัฐฯ ระหว่าง พ.ศ.2562-2563 จัดทำโดยมหาวิทยาลัยแห่งรัฐแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตซานเบอร์นาดิโน (CSUSB) ซึ่งพบว่าอาชญากรรมที่เกิดจากการเหยียดเชื้อชาติทั่วสหรัฐฯ ลดลง 7% แต่เมื่อพิจารณาเฉพาะอาชญากรรมการเหยียดเชื้อชาติคนเอเชีย พบว่าเพิ่มสูงขึ้นถึง 149% ซึ่งเป็นที่ชัดเจนว่าเกิดจากการระบาดของโควิด-19 ประกอบกับวาทกรรมของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่เรียกโรคนี้ว่า ‘ไวรัสจีน’ รวมถึงคำพูดอื่นๆ ที่โจมตีคนเชื้อสายเอเชย โดย ปองขวัญ มองว่าทิศทางของเรื่องนี้ในอนาคตขึ้นอยู่กับวิธีการสื่อสารของผู้นำอเมริกัน โจ ไบเดน ประธานาธิบดีคนปัจจุบันต้องสื่อสารให้ชัดเจนว่าคนเอเชียไม่ใช่รัฐบาลจีน และไม่ใช่ว่าคนจีนทุกคนจะเป็นภัยคุกคามเช่นเดียวกับรัฐบาลจีน นอกจากนี้ยังต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจบริบทความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งคนเอเชียหลายคนไม่เข้าใจจุดนี้ จึงกล่าวโทษรัฐบาลของไบเดนที่มีท่าทีแข็งกร้าวต่อจีน และสร้างวาทกรรมทำให้รัฐบาลอเมริกันเป็นคนหวงอำนาจในการวางระเบียบโลก ทั้งที่ความจริงแล้วรัฐบาลจีนเองก็เป็นภัยคุกคามต่อชาติอื่นด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งปองขวัญเสนอว่าการให้คนอเมริกันเชื้อสายเอเชียมีตำแหน่งหลักในรัฐบาลของไบเดน อาจจะช่วยแก้ปัญหาอคติที่มีต่อคนเอเชียได้

คนเอเชียควรเตรียมตัวอย่างไรหากต้องไปใช้ชีวิตที่สหรัฐฯ ช่วงนี้

ดวงยิหวา บอกว่า ในฐานะคนเอเชียที่ใช้ชีวิตอยู่ในสหรัฐฯ ต้องทำใจ เพราะการเหยียดเชื้อชาติยังมีอยู่ในสหรัฐฯ แต่หากถูกเหยียดเชื้อชาติแล้วต้องการจะโต้กลับก็ต้องดูบริบทให้ดีก่อน เพราะจากประสบการณ์ของตน การสู้กลับในหลายพื้นที่ก็เป็นความเสี่ยงต่อชีวิตด้วยเช่นกัน แต่ในฐานะอาจารย์ ตนพยายามสอนให้นักศึกษาเห็นความแตกต่างของกันและกัน พยายามบ่มเพาะให้นักศึกษาเข้าใจความหลากหลายทางเชื้อชาติและวัฒนธรรม แม้จะเป็นการลงทุนในระยะยาว แต่หากคนรุ่นหลังมีความรู้ความเข้าใจและเปลี่ยนแปลงสังคมได้ก็ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดี

ส่วน ปองขวัญ แนะนำว่าให้ทุกคนตระหนักไว้ตลอดเวลาว่าเหตุการณ์เหล่านี้สามารถเกิดขึ้นกับตนเองได้ จะเตรียมตัวได้หาวิธีรับมือ ที่สำคัญ ต้องลดอคติต่อสีผิวและเชื้อชาติของตนเองลง ทั้งยังสะท้อนและทำความเข้าใจการกระทำของตนเองว่าเป็นการเหยียดคนอื่นหรือเปล่า และเรียนรู้ที่จะยุติการกระทำนั้นๆ ในครั้งต่อๆ ไป ด้าน ภาณุภัทร เสริมว่าการผนึกกำลังระหว่างคนเอเชียกับชนกลุ่มน้อยเชื้อชาติอื่นๆ คือ สิ่งสำคัญที่จะทำให้คนเอเชียยืนหยัดต่อสู้กับการเหยียดเชื้อชาติได้มากขึ้น

ภาพการชุมนุมเรียกร้องให้ยุติความเกลียดชังต่อคนเอเชียที่แมคเฟอร์สัน สแควร์ กรุงวอชิงตันดีซี
เมื่อวันที่ 21 มี.ค. 2564 (ภาพโดย Victoria Pickering)
 

#StopAsianHate ยุติความเกลียดชังที่มีต่อคนเอเชีย

กระแสความเกลียดชังชาวเอเชียเพิ่มสูงทั่วโลกขึ้นนับตั้งแต่โรคโควิด-19 ระบาด โดยเฉพาะที่สหรัฐอเมริกามีคนเอเชียถูกคุกคามทั้งทางกายและวาจาจำนวนมาก โดยหนึ่งในนั้นคือเหตุการณ์ที่ วิชา รัตนภักดี ผู้สูงอายุชาวไทยวัย 84 ปีถูกทำร้ายจนเสียชีวิตขณะเดินอยู่ในละแวกบ้านที่เมืองซานฟรานซิสโก นอกจากนี้ ยังมีกรณีหญิงชาวฟิลิปปินส์ วัย 65 ปี ถูกทำร้ายในนครนิวยอร์ก, หญิงชาวฮ่องกงวัย 75 ปีถูกปล้นและทำร้ายร่างกายจนเสียชีวิตในเมืองโอ๊คแลนด์, ชาวเวียดนามถูกทำร้ายในเมืองซานโฮเซ และชาวฟิลิปปินส์ถูกกรีดหน้าในแมนฮัตตัน เป็นต้น

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:

คนดังชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียร่วม Call Out

เมื่อวันที่ 23 มี.ค. ที่ผ่านมา สำนักข่าว CNN ของสหรัฐฯ สัมภาษณ์คนดังชาวอเมริกันหลายคนที่มีเชื้อสายเอเชีย โดยหนึ่งในนั้น คือ เอริค นัม นักร้องชาวอเมริกันเชื้อสายเกาหลี ซึ่งเกิดและเติบโตที่เมืองแอตแลนตา รัฐจอร์เจีย เมืองเดียวกับที่เกิดเหตุกราดยิงครั้งล่าสุดและมีผู้เสียชีวิตรวม 8 ราย เป็นชาวเอเชียถึง 6 ราย โดย นัม กล่าวว่า เขาต้องเจอกับการถูกเหยียดเชื้อชาติเช่นเดียวกับคนอเมริกันเชื้อสายเอเชียคนอื่นๆ แต่เรื่องเหล่านี้เพิ่งกลายเป็นประเด็นที่ทุกคนสนใจและหยิบมาถกกันมากขึ้นเมื่อไม่นานมานี้

เอริค นัม นักร้องชาวอเมริกันเชื้อสายเกาหลี
(ภาพจากอินสตาแกรม @ericnam)
 

“ผมคิดว่าปัญหาเหล่านี้เกิดจากความเขลา การขาดการศึกษา รวมถึงการขาดพื้นที่ถกเถียง มีหลายครั้งที่ผมรู้สึกว่าตัวเองตกเป็นเป้าโจมตีและถูกเลือกปฏิบัติ บางครั้งก็มีคนเผลอแสดงกิริยาเหยียดเชื้อชาติอย่างไม่ตั้งใจใส่ผมก็มี ผมก็คิดว่าแบบ ‘นี่มันเหยียดกันหรือเปล่า’ แต่ก็ไม่ค่อยมั่นใจ ไม่รู้จะอธิบายอย่างไรเหมือนกัน” นัม กล่าว

นอกจากนี้ นัม ยังเผยว่าคนอเมริกันเชื้อสายเอเชียหลายคนถูกมองว่าเป็นชาวต่างชาติในประเทศบ้านเกิดของตัวเอง

“สหรัฐอเมริกามีประวัติศาสตร์ที่น่าทึ่ง แต่ก็มีส่วนที่เป็นด้านมืดสุดๆ เช่นเดียวกัน คนอเมริกันเชื้อสายเอเชียจำนวนไม่น้อยต้องผชิญกับการเหยียดเชื้อชาติแบบนับครั้งไม่ถ้วน แต่ด้านมืดเหล่านั้นกลับถูกซุกไว้ใต้พรม ซึ่งเราเองก็ไม่เคยหยิบมันออกมาพูดกันอย่างเหมาะสมสักที” นัม กล่าว พร้อมยกตัวอย่างเหตุการณ์เหยียดเชื้อชาติเล็กๆ น้อยๆ ในบทสนทนาประจำวันที่เขาต้องเจอ เช่น การถูกถามว่า ‘มาจากที่ไหน’ ซึ่งเขาตอบไปเสมอว่ามาจากเมืองแอตแลนตา แต่คู่สนทนาหลายคนกลับไม่เชื่อ

“ก็ผมเกิดที่นี่ จะให้ผมมาจากที่ไหน” นัม กล่าว นอกจากนี้ ยังมีคำถามอื่นๆ เช่น ‘ภาษาอังกฤษของคุณดีจัง ไปเรียนมาจากที่ไหน’ ซึ่งเขาจะตอบกลับไปเสมอว่าภาษาอังกฤษเป็นภาษาแรกของเขา ซึ่งเขาพูดมาตั้งแต่เกิด

“ทุกครั้งที่ผมโดนถามอะไรแบบนี้ ผมรู้สึกว่าที่นี่เหมือนไม่ใช่ที่ของผม ซึ่งหลายคนที่มีเชื้อสายเอเชียก็ต้องเจออะไรแบบนี้กันทั้งชีวิต มันเป็นการเหยียดเชื้อชาติที่รุนแรงผ่านการพูดคุยทั่วๆ ไป และมันก็คืบคลานเข้ามาหาเราจากหลายทิศทาง” นัม กล่าว

ในช่วงท้ายของการสัมภาษณ์ นัม กล่าวสั้นๆ ว่ากระแสการเหยียดเชื้อชาติคนเอเชียส่งผลต่อภาพลักษณ์ด้านลบของคนอเมริกันในสายตาคนต่างชาติ โดยเฉพาะคนเอเชีย

“ตัวอย่างเหตุการณ์เหล่านี้คือการจุดไฟและเติมเชื้อเพลิงต่ออารมณ์ความรู้สึกที่อ่อนไหว แต่ยังไงผมก็รักประเทศนี้ การเห็นไฟแห่งความเกลียดชังที่ลุกโชนนั้นทำให้ผมหัวใจสลาย” นัมกล่าวทิ้งท้าย

 

 

ไม่เพียงแค่ เอริค นัม เท่านั้นที่ออกมาเรียกร้องให้ยุติการเหยียดเชื้อชาติคนเอเชีย แต่คนในวงการบันเทิงอเมริกันที่มีเชื้อสายเอเชียหลายคนยังออกมาร่วมเรียกร้องด้วย เช่น จอร์จ ทาเคอิ นักแสดงฮอลลีวูดชื่อดังเชื้อสายญี่ปุ่น ผู้รับบทฮิคารุ ซูลู ในซีรีส์ Star Trek, แซนดรา โอ นักแสดงจากซีรีส์ Grey’s Anatomy, อะควาฟินา นักแสดงจากภาพยนตร์เรื่อง Crazy Rich Asian, โอลิเวีย มันน์ นักแสดงที่มีเชื้อสายเวียดนาม-จีน, แดเนียล แด-คิม นักแสดงจากซีรีส์ The Good Doctor, เจมี่ ช็อง นักแสดงจากซีรีส์ The Gifted, ลาน่า คอนดอร์ นักแสดงนำจากภาพยนตร์ To All the Boys I've Loved Before, นาโอมิ โอซากะ นักเทนนิสชาวญี่ปุ่น และคริสซี ทีเกน นางแบบลูกครึ่งไทย-อเมริกัน ภรรยาของ จอห์น เลเจนด์ นักร้องชื่อดังชาวอเมริกัน เป็นต้น

ที่มา:

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net