40 ปี 6 ตุลา สะท้อนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย น.ศ. พม่าผ่านภาพยนตร์ This Kind of Love

ในวาระ 40 ปี 6 ตุลา เทศกาลภาพยนตร์การเมือง มธ. จัดฉายภาพยนตร์สารคดี This Kind of Love เล่าถึงการต่อสู้ผ่าน ‘อ่อง เมียว มิน’ น.ศ.ชาวพม่าเพื่อเปลี่ยนแปลงให้ประเทศมีประชาธิปไตยและความเสมอภาค

8 ต.ค.2559 เนื่องในวาระครบรอบ 40 ปี 6 ตุลา คณะกรรมการจัดงาน 40 ปี 6 ตุลา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ Film Kawan ได้จัดฉายภาพยนตร์ในเทศกาลภาพยนตร์การเมืองเรื่อง ‘This Kind of Love’ โดย เจนนี มารี ฮอลลาซี ณ ห้องเรวัต พุทธินันทน์ หอสมุดปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ท่าพระจันทร์ โดยมี นฤมล ทับจุมพล อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมพูดคุยสะท้อนความคิดเห็นมุมมองจากภาพยนตร์สู่เหตุการณ์ 6 ตุลา


แฟ้มภาพประชาไท

This Kind of Loveหรือรักเช่นนี้ มีฉากหลังเป็นเหตุการณ์ 8888 (8 สิงหาคม 1988 ซึ่งมีการปราบปรามนักศึกษาที่เรียกร้องประชาธิปไตยในพม่า) เล่าผ่านตัวละคร ‘อ่อง เมียว มิน’ หนึ่งในขบวนการนักศึกษาที่ทิ้งความฝันการเป็นครูสอนวรรคดีอังกฤษเพื่อต่อสู้ให้พม่าเปลี่ยนแปลงสู่สังคมประชาธิปไตยที่มีเสรีภาพและความเสมอภาค และต้องสูญเสียคนรักซึ่งเป็นนายทหารหนุ่มในกองทหารของนักศึกษาไปเพราะแม้แต่ในกลุ่มของคนที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยก็ไม่ยอมรับการรักเพศเดียวกัน ซึ่งภาพยนตร์ได้แสดงให้เห็นว่า แม้มีความพยายามรณรงค์เรียกร้องประชาธิปไตย พม่าก็ยังเต็มไปด้วยอคติและความเกลียดชัง โดยเฉพาะความเกลียดชังที่มีต่อคนที่ต่างไปจากตัวเอง

เรื่องราวเริ่มต้นด้วยการเล่าชีวิตของอ่อง เมียว มิน ตั้งแต่เป็นนักศึกษา เขาเผชิญเหตุการณ์ 8888 ที่รุนแรงจนต้องเสียเพื่อนจำนวนหนึ่งไป เขาเดินทางออกจากบ้าน ขณะที่แม่ของเขาถูกคุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐที่พยายามจะเอาข้อมูลเกี่ยวกับตัวเขาจนแม่ต้องประกาศตัดแม่ลูกต่อสาธารณะ ภาพยนตร์ให้น้ำหนักในการเล่าถึงความรักหลบซ่อนระหว่างอ่อง เมียว มิน และนายทหาร ซึ่งถือเป็นเรื่องต้องห้ามและน่ารังเกียจในสังคมแห่งการต่อสู้ จนเมื่อไม่สามารถปิดบังได้ คนรักของเขาจึงถูกลงโทษโดยลดยศจากกองทหารและพิสูจน์ความเข้มแข็งของ “รักเช่นนี้” ด้วยการสมัครเป็นนักรบแนวหน้าจนถูกทหารพม่าจับตัวและทรมานจนตาย

นอกจากนี้ ภาพยนตร์เรื่องยังแสดงให้เห็นถึงอคติของชาวพม่าในอีกหลายเรื่อง ทั้งเรื่องของหญิงที่มีเพศกำเนิดเป็นชาย ซึ่งต้องอดทนกับการดูถูกและกีดกันจากครอบครัว, ชุมชนชาวมุสลิมที่ถูกเผาวอดวาย ซึ่งเขามองว่า ‘นี่ไม่ใช่อุบัติเหตุ’ และวิถีชีวิตของชนกลุ่มน้อยตามแนวชาวแดนที่ถูกทำร้ายทั้งร่างกายและจิตใจโดยทหารพม่า

หลังภาพยนตร์จบ นฤมลกล่าวว่า ภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้สร้างขึ้นก่อนพม่าจะมีการเลือกตั้ง การดูครั้งแรกของเธอเป็นการดูพร้อมแรงงานข้ามชาติชาวพม่า ที่โรงเรียนแห่งหนึ่ง คนงานพม่าจำนวนหนึ่งร้องไห้เพราะเขารู้สึกถึงชีวิตของเขา โดยที่หลายคนในนั้นเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ แต่เมื่อมาดูวันนี้กลับให้อารมณ์ความรู้สึกอีกอย่างเพราะเป็นการฉายภาพยนตร์ในวาระ 40 ปี 6 ตุลา การย้อนเปรียบเทียบจึงมักอ้างอิงกับตัวรัฐบาลเสียมากกว่า

“การเมืองตอนนั้นส่งผลกับชีวิตของเขา สิ่งที่เขาเจอเมื่อต้องเข้าไปอยู่ในป่า รวมทั้งสิ่งที่เขาต้องเผชิญจากกองทัพ ทำให้เรานึกถึงหลังเหตุการณ์ 6 ตุลา ที่มีนักศึกษาจำนวนหนึ่งเข้าป่า ไปร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย สิ่งหนึ่งที่พม่าเจอเหมือนกับเราคือ จนบัดนี้ กองทัพก็ไม่ได้รู้สึกว่าเขาทำอะไรผิด หลัง 8888 สิ่งที่ผู้นำกองทัพพม่าทำก็คือ สร้างวัด ทำบุญ ก็อาจจะต้องดูว่าของเราจะทำอะไร

“คนอาจนึกว่ากระทำผิดอย่างหนึ่ง ทดเเทนด้วยอีกอย่างหนึ่งนั้นทำกันได้ ซึ่งมันไม่น่าใช่” เธอกล่าว

เธอกล่าวต่อว่า แม้ภาพยนตร์เรื่องนี้จะจบด้วยความหวังและมองเห็นแสงสว่างปลายทาง แต่ความหวังนั้นก็ช่างยากและนาน ในพม่ามีปัญหาเรื่องการทรมานค่อนข้างเยอะ ด้วยวิธีคิดพุทธแบบพม่าซึ่งเชื่อว่า ศาสนาพุทธมีหน้าที่ทำให้ศาสนาบริสุทธิ์ โดยไม่ได้คิดว่าการทุบตีหรือทำร้ายพระเป็นสิ่งที่ผิด เพราะรู้สึกว่าคนเหล่านั้นไม่ใช่พุทธ ต่างจากในไทยที่เราไม่กล้าแตะต้องคนที่ห่มเหลือง ต้องจับสึกแล้วเราค่อยทุบตี นี่ก็เป็นคำอธิบายว่า ทำไมจึงมีแนวคิดในกรณี 6 ตุลา ที่พระออกมาพูดว่า การฆ่าคอมมิวนิสต์นั้นไม่บาป

“เผด็จการบ้านเรายังนับว่าหน่อมแน้ม คือมีแต่ฟอร์ม ลึกๆ แล้วหลักการไม่ค่อยมี” เธอกล่าว


นฤมล ทับจุมพล

เธอเล่าว่า การลุกฮือของนักศึกษาพม่าจากเหตุการณ์ในปี 1988 ไม่เหมือนกับเหตุการณ์ 14 หรือ 6 ตุลาเสียทีเดียว เพราะก่อนหน้าการประท้วงในพม่ามีการยกเลิกค่าเงินและเริ่มต้นค่าเงินใหม่เป็น 49 บาท จึงทำให้นักศึกษาส่วนใหญ่ที่ไม่มีเงินใช้เงินไม่ได้ไปโดยปริยาย เหตุการณ์นี้ปะทุจนเกิดเหตุการณ์ 8888 นักศึกษาชุมนุมประท้วง และถูกจัดการล้อมปราบแบบ 6 ตุลา โดยไร้ข่าวใดๆ จนกระทั่งสามเดือนต่อมา จึงได้มีการแอบเอารูปถ่าย คลิปวิดีโอ? ออกมาเป็นฟิล์มที่ถ่ายภาพเหล่านั้นออกมาโดยมีนักข่าวพลเมืองเป็นคนทำ

หากถามว่าอะไรที่ทำให้ทหารพม่ายอมเปลี่ยนกลับสู่ระบอบประชาธิปไตย ส่วนหนึ่งคือมีการกดดันจากนานาชาติ ถูกคว่ำบาตร ถูกห้ามทำธุรกรรมกับต่างประเทศ ฯลฯ จนทำให้พม่าไม่สามารถค้าขายกับใครได้ ยกเว้นไทยและจีน อีกส่วนคือผู้นำรู้สึกไม่ไหวที่ต้องอยู่เป็นลูกไล่ของจีน นอกจากนี้อีกจุดเปลี่ยนคือแต่ก่อนมหาวิทยาลัยของพม่าเคยเป็นมหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่แล้วก็ตกอันดับในช่วงระหว่างการปกครองแบบเผด็จการ เรียกถูกจัดว่าเป็นประเทศรายได้น้อยอันดับต้นๆ ของโลก คนทนไม่ได้เขาจึงต้องเปลี่ยน

“คนในประเทศเขามีลักษณะไม่ค่อยยอมแพ้ การชุมนุม การประท้วง การถูกจับเป็นเรื่องปกติ อัตราเฉลี่ยของการติดคุก ของนักกิจกรรมในพม่าคือ 9 ปีครึ่ง-10 ปี และติดหลายรอบ การต่อสู้มันมีราคาที่ต้องจ่าย ก็ต้องถามว่าบ้านเราจะลงทุนขนาดนั้นไหมก็น่าคิด แล้วผู้นำเราจะรู้ตัวเร็วขนาดนั้นไหมด้วย” เธอกล่าว

เธอกล่าวว่า หากเราดูหนัง 6 ตุลาของไทย จะไม่มีการพูดถึงชีวิตคนที่อยู่ป่าเขา ในขณะที่ของพม่า อ่อง เมียว มิน ได้เล่าถึงนักศึกษา ตอนตัดสินใจเข้าป่า และตั้งสหพันธ์นักศึกษาพม่าในเขตป่าเขา โดยอาศัยการพึ่งพิงกองทัพกะเหรี่ยง ของบ้านเราสิ่งที่เกิดขึ้นก็คือมีการเข้าป่าของนักศึกษา มีกองทัพปลดแอกพรรคคอมมิวนิสต์ แต่กลับไม่มีการบันทึกเรื่องราว เพื่อเคารพการตัดสินใจของคนที่เข้า รวมทั้งน่าจะต้องขอบคุณพรรคคอมมิวนิสต์ตอนนั้นที่อนุญาตให้เข้าร่วม ไม่เช่นนั้นก็มีสองอย่างคือ ไปอยู่ต่างประเทศหรือติดคุก

“ปัจจุบันสังคมไทยอาจไม่รู้สึกว่าการรักเพศเดียวกันเป็นเรื่องผิดปกติ แต่เมื่อ 20 ปีที่แล้วความเข้าใจในเรื่องเพศสภาพยังไม่ใช่แบบปัจจุบัน แม้แต่ในปัจจุบันพม่าก็ยังมีการจับ มีคดีความอยู่ เพราะยังใช้กฎหมายแบบอังกฤษโบราณที่ไม่อนุญาตให้มีความสัมพันธ์กับเพศเดียวกัน ดังนั้นสิ่งที่ อ่อง เมียว มิน เรียกร้องเมื่อตั้งชื่อกลุ่มว่า Equality Myanmar จึงไม่ใช่แค่เรื่องเศรษฐกิจแต่หมายถึงการยอมรับความแตกต่างและการไม่เลือกปฏิบัติ ความเท่าเทียมในเรื่องสิทธิทางเพศสภาพด้วย” เธอกล่าว

เมื่อพูดถึงเรื่องปัญหาของชาวโรฮิงญา เธอกล่าวว่า ทั้งกลุ่มที่เป็นเชื้อชาติพม่าและชาติพันธุ์อื่นๆ ไม่เคยยอมรับโรฮิงญา ไม่เคยยอมรับว่าเขาเป็นคนพม่า โดยให้เหตุผลว่า คนพวกนี้เป็นแรงงานสมัยอังกฤษปกครอง และยิ่งบานปลายเมื่อกลุ่มที่พูดเรื่องโรฮิงญาเอาเรื่องนี้มารวมกับเรื่องศาสนาอิสลาม มาคู่กับความกลัวอิสลาม ดังนั้นจะเห็นได้ว่า เมื่ออองซานซูจีขึ้นมาจึงพยายามขอว่า อย่าใช้คำว่า ‘โรฮิงญา’ ให้ใช้คำว่า ‘การอยู่ร่วมกันของคนมุสลิมในพม่า’ แทน

ในพม่ามีการพูดถึงหรือมีโอกาสในการพูดถึงเหตุการณ์เหล่านี้แค่ไหน

ในพม่าไม่ได้ปิด เป็นบรรยากาศคนละอย่างกับไทย ของเราไม่กล้าพูดเรื่อง 6 ตุลามากเพราะเราทนไม่ได้ว่า เราในฐานะพลเมืองไปยิ้มได้อย่างไรกับเหตุการณ์เหล่านั้น เราไม่กล้าบอกว่า ในช่วงหนึ่งเราก็เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการที่ทำร้ายคนที่คิดต่าง ของพม่านั้นค่อนข้างชัดเจนว่าเป็นการต่อสู้ระหว่างประขาชนและทหาร ดังนั้นกับประชาชนเลยไม่ค่อยมีความรู้สึกเรื่องการไม่พูดถึง แต่ไม่พูดเพราะถูกห้ามพูดโดยทหาร ดังนั้นก็เลยมีการแอบทำ ทำไร? หนีบ้าง โดนจับบ้างและวิธีการของพม่าก็คือ ถ้าคุณเดินขบวน คุณจะถูกฟ้องตามเมืองที่คุณเดินผ่าน นอกจากนี้พม่ายังยกเลิกมหาวิทยาลัยสายสังคมศาสตร์และไม่มีคณะรัฐศาสตร์จนถึงปัจจุบัน เขาตรงไปตรงมามาก จัดการกันแบบดิบๆ แต่บ้านเราจะมีการปรุงแต่ง เราไม่กล้าบอกว่าเราโหดร้าย เราไม่กล้าบอกว่าเราไม่ดี แม้เราทารุณก็จะมีรูปแบบและคำอธิบายเพราะๆ ประกอบเสมอ

“บ้านเราพยายามไม่ให้พูดถึง เรามีอาการเซ็นเซอร์ตัวเองเพื่อเป็นกลไกการป้องกันตัวเอง โดยไม่บอกอะไรกับคนรุ่นใหม่ หรือพยายามบอกว่า ลืมๆ กันไปเถอะหรือมาจับมือกันนะ ราวกับสิ่งที่เคยเกิดขึ้นนั้นไม่เคยเกิด

“คนพม่าไม่ค่อยกลัวการประท้วง ชอบประท้วง โดนจับก็เฉยๆ ไม่ได้ตีโพยตีพาย ต่อสู้กันไปโดยไม่ขอร้องความเห็นใจ สิ่งที่น่าจะเรียนรู้คือบางทีเราอาจต้องยอมรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในบ้านเราให้มีที่ยืนในประวัติศาสตร์ ดังเช่นที่พม่ายอมรับว่ามีปัญหานี้เกิดขึ้นจริง

“บ้านเรา คนที่ต้องรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ก็ทำเหมือนตัวเองไม่ได้ทำอะไรผิด ยังอยู่ดีมีสุข หนำซ้ำมีการกล่าวว่า คนที่ทำผิดในช่วง 14 และ 6 ตุลา ได้รับนิรโทษกรรมไปแล้ว ซึ่งเราคิดว่ามันเป็นคนละเรื่อง นิรโทษกรรมแบบไทยคือการบอกว่าสิ่งนี้ไม่เคยเกิดขึ้น ไม่ใช่การบอกว่า ‘ฉันได้ผิดไปแล้วดังนั้นขออยู่ร่วมกันในสังคมเถิด’ อันนี้เป็นสิ่งที่เราต้องแก้ในเชิงวัฒนธรรม วัฒนธรรมการขอโทษ ขออภัย น่าจะดีกว่าการทำสิ่งที่เรียกว่า ‘นิรโทษ’ คุณหัดขอโทษ และเราก็ยกโทษให้” เธอกล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท