Skip to main content
sharethis

บางกอกไพรด์ เฟสติวัล 2024 ที่เพิ่งผ่านไป ธีมในปีนี้เป็นการเฉลิมฉลองให้ "สมรสเท่าเทียม" เหล่าผู้คนมากมายหลากหลายเพศต่างมาร่วมเดินขบวนเพื่อแสดงออกถึงอัตลักษณ์ทางเพศของตัวเอง

บรรยากาศ Bangkok Pride 2024

“บางกอกไพรด์ เฟสติวัล 2024 มาในหัวข้อ celebration of love หรือในชื่อภาษาไทยว่าเฉลิมฉลองสมรสเท่าเทียม เพราะในปีนี้ร่างพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม กำลังจะผ่านกฎหมาย ในกฏหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1448 และมาตราอื่นๆด้วย”

จิราเจต หรือ มะปราง ตัวแทนผู้จัดบางกอกไพรด์ ได้เล่าถึงประวัติและที่มาของคำว่า “สมรสเท่าเทียม” คำนี้ได้เริ่มเป็นที่รับรู้ในวงกว้างและเกิดกระแสความตื่นรู้เรื่องสิทธิในการจัดตั้งครอบครัว เมื่อปี 2563 แต่ถ้าย้อนประวัติของคำว่าสมรสเท่าเทียมไปจะพบว่าเป็นประเด็นที่เรียกร้องมาตั้งแต่ก่อนปี 2550 จากภาคประชาชนมาโดยตลอด คำว่าสมรสเท่าเทียมจึงเป็นคำที่มีประวัติการเรียกร้องมายาวนานก่อนจะเกิดกระแสการชุมนุมประชาธิปไตยช่วงปี 2563

“เพราะก่อนที่จะมีการแก้กฎหมายดังกล่าวได้มีการระบุบทบาทหน้าที่ของเพศชายและหญิงชัดเจน”

มะปรางอธิบายว่าการที่จะคุ้มครองสิทธิ์ให้กับคู่รัก LGBTQ+ ได้นั้นต้องแก้ที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ด้วยภาษาทางกฎหมายที่มีความเป็นกลางทางเพศ การที่กฎหมายแบ่งบทบาทหน้าที่ของเพศชายและหญิงไว้ทำให้การคุ้มครองสิทธิ์จากกฎหมายไม่ครอบคลุมเพศสภาพอื่นๆ สิทธิ์ในการสมรสของคนทุกเพศจึงเป็นหลักการที่ใช้ในการเคลื่อนไหวมาตั้งแต่ปี 2555 

บางกอกไพรด์ เฟสติวัล 2024 ที่เพิ่งผ่านไป ธีมในปีนี้เป็นการเฉลิมฉลองให้ "สมรสเท่าเทียม" เหล่าผู้คนมากมายหลากหลายเพศต่างมาร่วมเดินขบวนเพื่อแสดงออกถึงอัตลักษณ์ทางเพศของตัวเอง

ป้ายเฉลิมฉลองสมรสเท่าเทียมในขบวน Bangkok Pride 2024

เมื่อคำว่าสมรสเท่าเทียมกลายเป็นคำติดปากคนในสังคมมากขึ้นในปี 2563 และถูกใช้ในการผลักดันประเด็นมาถึงวันนี้ที่ พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมกำลังจะเข้าสู่การพิจารณาของ สว.เป็นชั้นสุดท้าย 

บางกอก ไพรด์ เป็นอีกหนึ่งพื้นที่หลักในการเรียกร้องสมรสเท่าเทียม เดิมในปี 2564 เคยถูกจัดในชื่อ นฤมิตรไพรด์ ที่ถนนสีลมและในงานครั้งนั้นก็ได้มีคู่รักที่แต่งงานกัน แม้การแก้กฎหมายมีความคืบหน้าแต่สมรสเท่าเทียมยังไม่ใช่เป้าหมายปลายทางของการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิของทุกเพศทุกความหลากหลาย 

“ที่มาของงานปีนี้ที่เราจะใช้คำว่าเฉลิมฉลองสมรสเท่าเทียม” มะปรางอธิบายว่า เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองให้กับการต่อสู้ที่ผ่านมา และขอเชิญชวนทุกคนมาเฉลิมฉลองในความสำเร็จในการต่อสู้

ภาพธงต่างๆ จากประเทศที่ต้องการแสดงออกถึงความเท่าเทียมทางเพศ

ทั้งนี้งานในปีนี้จัดขึ้นโดยบริษัท นฤมิตไพรด์ จำกัด โดยจับมือ กรุงเทพมหานคร และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พร้อมพันธมิตรภาคประชาสังคมและภาคเอกชน ได้แก่ L’Oréal, EVme, Garnier, Maybelline NEW YORK, Kiehl’s, SRICHAND, CP ALL (7-11), Novo Nordisk, Agoda, The Minor Food Group, Apple, ยาดมตราโป๊ยเซียน, IHG Hotels & Resorts Thailand และ Samsung 

ในงานจะมีการตั้งขบวนเดินตามประเด็นทั้งหมด 5 ขบวน โดยในแต่ละขบวนประกอบด้วยภาคประชาสังคมที่ขับเคลื่อนประเด็นทางเพศ ในครั้งนี้ยังมีตัวแทนผู้ที่เคยจัดงานระดับโลกอย่าง World Pride ทั้ง อินเดีย แคนนาดา เซี่ยงไฮ้ ออสเตรเลีย อัมสเตอร์ดัม และอเมริกา มาร่วมเดินขบวนและเฉลิมฉลองที่ประเทศไทยในครั้งนี้ด้วย

  1. ขบวนที่ 1 สมรสเท่าเทียม (Love Wins)
  2. ขบวนที่ 2 ตัวตน (Love for Identity)
  3. ขบวนที่ 3 ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
  4. ขบวนที่ 4 สันติภาพ (Love for Peace & Earth)
  5. ขบวนที่ 5 เสรีภาพ (Love for Freedom) 

เศรษฐา ทวีสิน แพทองทาร ชิณวัตร และผู้จัดจากบริษัทเนรมิต ไพรด์มอบธงภายประจำจังหวัดเพื่อส่งต่อการจัดงานไพรด์ทั่วประเทศ

ปีนี้ นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน มอบ “ธงไพรด์ประจำจังหวัด” สัญลักษณ์การเปิดเทศกาลเฉลิมฉลองเดือนไพรด์ เพื่อส่งต่อเจตนารมณ์ให้กับตัวแทนเครือข่ายผู้จัดงานไพรด์ในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ (Nationwide Pride) รวม 5 ภูมิภาค 14 จังหวัด เช่น ภาคเหนือก็มี “เชียงใหม่ ไพรด์” , “แม่สอด ไพรด์” และ “ระแหง ไพรด์” , ภาคใต้ “นคร ไพรด์” , “Phuket Pride” ภาคตะวันออก “Pattaya Community Pride”, “จันทบุรี ไพรด์”, ภาคอีสาน “Isaan Pride Festival 2024” เฟสติวัลทั่วประเทศ หลังร่วมสนับสนุนคอมมูนิตี้ หรือชุมชน LGBTQ+ ด้วยการเร่งผลักดันกฎหมายสมรสเท่าเทียม การจัดงานพาเหรด บางกอกไพรด์ เฟสติวัล 2024 นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทย ที่ผู้นำประเทศให้การสนับสนุน และเข้าร่วมเดินพาเหรดในขบวนไพรด์

ยืนยันพลังเสียงชุมชนแห่งความหลกหลายของประชาชน

เซนส์ ตัวแทนถือป้ายโรงแรม intercontinental Bangkok และ Holiday inn กรุงเทพใน Bangkok Pride

เซนส์ หนึ่งผู้เข้าร่วมและตัวแทน โรงแรมเครือ Intercontinental Bangkok เล่าว่าที่ทำงานของเธอเองก็สนับสนุนให้เข้าร่วมกิจกรรมและยังรับคนทำงานทุกเพศโดยไม่เลือกปฏิบัติด้วย การได้มาร่วมงานครั้งนี้เขารู้สึกดีใจและตื้นตันใจที่ได้มาเข้าร่วมงานในปีนี้ และงานในครั้งนี้คือสิ่งที่ยืนยันถึงพลังเสียงของประชาชนที่จะร่วมกันทำให้สังคมต้อนรับความหลากหลายและพัฒนาสังคมให้ดีขึ้นไปด้วยกัน 

พื้นที่เสรีภาพแสดงอัตลักษณ์

พลอยไพลิน ศรีตุลา MUT จากจันทบุรี

“ พลอยไพลิน ศรีตุลา ลูกหลานคนจันทบุรีแท้ๆจะพาจันทบุรีก้าวหน้าไปด้วยกันค่ะ” หรือ พลอย อาชีพพยาบาลห้องผ่าตัด ผู้ลงประกวด Miss Universe, Thailand หรือ MUT จากจันทบุรี กล่าวว่าปีนี้มาเข้าร่วม Bangkok Pride เพื่อเฉลิมฉลองให้กับกฎหมายสมรสเท่าเทียมที่กำลังจะผ่านในเดือนนี้ และตนมีความสุขมากที่ได้เห็นทุกคนมีพื้นที่แสดงความเป็นตัวเองและอัตลักษณ์ของตนเองได้อย่างเสรีภาพและปลอดภัย นอกจากนี้งานนี้ยังเป็นแรงกระเพื่อมที่ช่วยให้สังคมไทยเกิดความยอมรับความหลากหลายทางเพศ

และยังทำทำให้ประชาคมโลกเห็นว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่ยอมรับสิทธิเสรีภาพของความหลากหลายของทุกคน

ไทยสร้างไทยร่วมเฉลิมฉลอง ความหลากหลายทางเพศและสมรสเท่าเทียม

ทวีชัย วงศ์ไพโรจน์กุล หรือ เบสท์ รองโฆษกพรรคไทยสร้างไทย ดูแลเรื่องสิทธิ LGBTQ+ ความเท่าเทียมและสิทธิมนุษยชนกล่าวว่า หลังจากที่กฎหมายสมรสเท่าเทียมคืบหน้ามานานร่วม 20 ปี ได้ใกล้สำเร็จในเดือนนี้จากความตั้งใจของประชาคม ถือเป็นผลงานความสำเร็จของทุกคน 

“ หลังจากที่กฎหมายสมรสเท่าเทียมสำเร็จแล้วพรรคไทยสร้างไทยจะผลักดันต่อเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมทางเพศในสังคม”

เบสท์อธิบายถึงนโยบายพรรคไทยสร้างไทยว่าจะมีการผลักดันให้มีกฎหมายต่อในอีก 3 เรื่อง

  1. พ.ร.บ. กำจัดการเลือกปฏิบัติ
  2. พ.ร.บ. อัตลักษณ์ทางเพศ
  3. พ.ร.บ. อาชีพผู้ค้าบริการทางเพศ

เบสท์กล่าวว่าในตอนนี้พรรคไทยสร้างไทยทำร่าง พ.ร.บ.กำจัดการเลือกปฏิบัติสำเร็จเรียบร้อยแล้วกำลังอยู่ในขั้นตอนปรับปรุงเพื่อให้ดีขึ้น และจะนำเข้าสู่สภาให้เร็วที่สุด โดยใช้กลไก ส.ส.ผลักดันเข้าสู่สภา 

“ วันนี้เราไม่ได้แค่ทำงานให้เกิดสมรสเท่าเทียม เราต้องผลักดันกฎหมายอื่นๆ ที่ส่งเสริมให้เกิดสิทธิเสรีภาพและการคุ้มครอง LGBTQ+ ให้เกิดความเท่าเทียม เพื่อเปิดประเทศสู่การเป็นฮับ LGBTQ+”

เบสท์ อธิบายว่าเศรษฐกิจสีรุ้งอย่าง Drag Queen ได้รับการสนใจไปทั่วโลก และหากทำให้ประเทศไทย ได้รับการจดจำและยอมรับว่า เป็น LGBTQ+ heaven จะต้องมีกฎหมายและการสร้างความเข้าใจในสังคมกันในระยะยาว และเป็นสิ่งที่พรรคไทยสร้างไทยกำลังผลักดันเพิ่มเติมอยู่

“ประเทศไทยจะได้แค่ชื่อไม่ได้แต่ต้องมีกฎหมายรับรองด้วย” เบสท์กล่าว

เบสท์อธิบายเหตุผลว่า แม้ในสังคมยังมีคนที่ไม่เห็นด้วยกับการจัดงานนี้ก็ขอขอบคุณที่ไม่คัดค้านการจัดงาน การเป็น LGBTQ+ เป็นสิทธิ์ของทุกคนและทุกคนสามารถเป็นได้ และงานนี้เป็นโอกาสและพื้นที่ให้ชุมชน LGBTQ+ ให้มีโอกาสเท่าเทียมกัน และความหลากหลายของเพศเป็นธรรมชาติของโลก และเป็นส่วนหนึ่งของสังคมโลก

LQBTQ หรือผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศก็เป็นมนุษย์เช่นกัน

ตัวแทนจากมูลนิ SWING

ตัวแทนจากมูลนิธิ SWING ซึ่งทำงานประเด็นพนักงานบริการและความเท่าเทียมทางเพศ ได้กล่าวว่า “รู้สึกดีใจที่เข้าร่วมงานนี้และได้เห็นคนที่หลากหลายมาเข้าร่วมงานนี้” และกล่าวถึงงานในครั้งนี้ว่าเป็นโอกาสที่ดีที่จะประชาสัมพันธ์และรณรงค์ว่า LQBTQ+ ก็เป็นมนุษย์ อยากให้สังคมเกิดความเท่าเทียมในฐานะมนุษย์ด้วยกันอย่างเป็นรูปธรรม ตัวแทนของมูลนิธิ SWING ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า “ แม้เราจะเป็นส่วนหนึ่งเล็กๆ ในงานที่ยิ่งใหญ่ครั้งนี้แต่ก็หวังว่าจะได้ส่งต่อสิทธิและความเท่าเทียม และสิ่งดีๆให้กับสังคมต่อไป”

มู่หลาน เผ่านมงู

มู่หลานสาวร่างใหญ่ไซส์ยุโรป โครงหน้าโหนกทรงเพชร ดวงตาเรียวเล็ก จู๋เมล็ดแอลมอนด์ หรือมู่หลาน ได้กล่าวว่า “วันนี้มาในธีมเผ่านมงูค่ะ” และอธิบายว่า ทุกวันนี้เราสามารถกำหนดเพศของตนเองได้โดยไม่ต้องยึดโยงกับเพศกำเนิดของตนเอง โดยไม่ต้องคำนึงถึงมาตรฐานความงามว่าการเป็นกระเทยจะต้องผ่าตัดศัลยกรรมแปลงเพศเท่านั้น เพศกระเทยก็สามารถมีอวัยวะเพศตามเพศกำเนิดได้และสามารถมีหน้าอกตามที่ต้องการแต่ละคนต้องการได้ จึงเป็นที่มาของ ‘เผ่านมงู’ และตนก็นิยามตนเองว่าเป็นเพศกระเทย แต่เป็นกระเทยที่มีงูมีนมและภาคภูมิใจในสรีระเรือนร่างของตัวเอง 

“อยากบอกทุกคนว่าไม่ต้องเขินอายกับรูปร่างสรีระของตนเองอีกต่อไปเพราะเผ่านมงูมาแล้วค่ะ” 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net