ปัญหาวิธีสร้างพุทธศาสนาสมัยใหม่ของพุทธทาสภิกขุ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

พุทธศาสนาสมัยใหม่ หรือแนวคิดความเป็นสมัยใหม่แบบพุทธ (Buddhist Modernism) คือพุทธศาสนาที่ถูกสร้างขึ้นใหม่ในยุคอาณานิคม การสร้างขึ้นใหม่ หมายถึง การปฏิรูปองค์กรหรือสถาบันพุทธศาสนาให้สอดรับกับกฎเกณฑ์ของรัฐสมัยใหม่ และปฏิรูปการตีความพุทธศาสนาใหม่ ซึ่งเป็นผลของการปะทะกับภูมิปัญญาและวัฒนธรรมตะวันตก เช่นปรัชญามนุษยนิยมและวิทยาศาสตร์ รวมทั้งอิทธิพลแนวคิดเชิงปฏิรูปของศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนท์เป็นต้น

การแพร่เข้ามาของปรัชญาความคิดและความรู้สมัยใหม่จากตะวันตก ทำให้เกิดคำถามต่อความเชื่อ ประเพณีพิธีกรรมทางพุทธศาสนาว่าเป็นเรื่องไร้เหตุผล งมงาย หรือเป็นไสยศาสตร์ นักคิดที่พยายามสร้างพุทธศาสนาสมัยใหม่หรือตีความคำสอนพุทธศาสนาให้ทันสมัย ได้โต้แย้งด้วยข้ออ้างที่ว่า ความเชื่อ ประเพณีพิธีกรรมที่ไร้เหตุผลต่างๆ ในพุทธศาสนาที่ยึดถือต่อๆ กันมานั้น เป็นสิ่งที่เพิ่มเติมเข้ามาทีหลัง ไม่ใช่หลักพุทธธรรมที่แท้จริง

ส่วนหลักพุทธธรรมที่แท้จริง คือหลักคำสอนที่มีความเป็นเหตุผล เป็นวิทยาศาสตร์ กระทั่งตีความว่าพุทธธรรมดั้งเดิมสนับสนุนเสรีภาพ ความเสมอภาค ภราดรภาพ จนเกิดแนวคิดประชาธิปไตยแบบพุทธ (Buddhist democracy) สังคมนิยมแบบพุทธ (Buddhist socialism) ผ่านการตีความของปัญญาชนชาวพุทธหัวก้าวหน้าในอินเดีย ศรีลังกา พม่า เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม อีกด้านหนึ่งของความเป็นสมัยใหม่แบบพุทธ ก็คือการรับอิทธิพลแนวคิดชาตินิยม (nationalism) ในยุคสมัยใหม่ ทำให้เกิดการสร้างแนวคิดหรืออุดมการณ์พุทธชาตินิยม (Buddhist nationalism) ดังที่เกิดขึ้นในศรีลังกา พม่า ไทย และที่อื่นๆ แนวคิดพุทธชาตินิยมได้อ้างอิงว่าพุทธศาสนาคือรากฐานทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของชาติ ส่งผลให้พุทธศาสนาถูกอ้างอิงเพื่อกีดกันและตั้งข้อรังเกียจชนกลุ่มน้อยอื่นๆ ที่ไม่ใช่ชาวพุทธ เช่น กีดกันชาวทมิฬในศรีลังกา กีดกันชาวมุสลิมโรฮิงญาในพม่า หรือกำลังตั้งข้อระแวงชาวมุสลิมในไทยเป็นต้น

ฉะนั้น แนวคิดหรืออุดมการณ์พุทธชาตินิยมจึงสะท้อนสภาวะขัดแย้งกับความเป็นสมัยใหม่ (modernity) ในด้านที่เน้นความเสมอภาคหรือการเคารพสิทธิมนุษยชน พุทธศาสนาในยุคสมัยใหม่จึงมีทั้งด้านที่เป็นและไม่เป็นสมัยใหม่ภายในตัวเอง

ในด้านที่เป็นสมัยใหม่ นักคิดชาวพุทธตีความพุทธศาสนาให้เข้ากับปรัชญา วิทยาศาสตร์ ความรู้สมัยใหม่ พร้อมกับอ้างหลักการประชาธิปไตยเพื่อบรรลุเป้าหมายที่ไม่เป็นประชาธิปไตย เช่นอ้างว่าชาวพุทธคือคนส่วนใหญ่ของประเทศ เพื่อเรียกร้องให้รัฐอุปถัมภ์ คุ้มครอง และส่งเสริมพุทธศาสนาเป็นพิเศษ หรือเพื่อให้บัญญัติพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติในรัฐธรรมนูญ การปรับตัวของวิถีชีวิตนักบวชก็ต้องเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกทางวัตถุ เทคโนโลยี สิทธิทางการศึกษา ฯลฯ ในโลกสมัยใหม่ แต่ขณะเดียวกันก็สะท้อนให้เห็นด้านที่ไม่เป็นสมัยใหม่ เพราะไม่จำเป็นที่องค์กรหรือสถาบันพุทธศาสนาต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองให้อยู่ภายใต้หลักประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน

หรือเพื่อประโยชน์และความมั่นคงของ “ชาติ” (?) และ “พุทธศาสนา” (?) ก็จำเป็นต้องละเมิดสิทธิของคนส่วนน้อยในสังคม หรือกระทั่งต้องรักษาระบบความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ระหว่างรัฐกับศาสนาที่ขัดหลักเสรีภาพและประชาธิปไตยสมัยใหม่เอาไว้ต่อไป เป็นต้น

กล่าวเฉพาะการสร้างพุทธศาสนาสมัยใหม่ในสยามไทย ด้วยการปฏิรูปในเชิงความคิดและองค์กร เริ่มมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4, รัชกาลที่ 5 ถึงจุดสูงสุดในสมัยรัชกาลที่ 6 ที่สถาปนาอุดมการณ์พุทธชาตินิยมขึ้นและมีอิทธิพลมาจนปัจจุบัน แต่การทำให้พุทธศาสนามีความเป็นสมัยใหม่ในเชิงความคิดยังดำเนินต่อมาโดยนักคิดชาวพุทธที่มีชื่อเสียง เช่นการสร้างพุทธศาสนาสมัยใหม่ด้วยการปฏิรูปการตีความพุทธศาสนาให้ทันสมัยของพุทธทาสภิกขุ ซึ่งเห็นได้ใน 2 วิธีการหลักๆ คือ

1. วิธีการตีความแบบยึดความคิด ความรู้สมัยใหม่เป็นเกณฑ์ แล้วเลือกและปรับเนื้อหาคำสอนพุทธศาสนาให้สอดคล้อง เข้ากันได้ หรือตอบสนองต่อปัญหาวิถีชีวิตในยุคสมัยใหม่ โดยวิธีการนี้สามารถที่จะตัดเนื้อหาคำสอนที่ไม่มีเหตุผลในพระไตรปิฎกและอรรถกถา รวมทั้งประเพณีพิธีกรรมบางส่วนทิ้งเลยก็ได้ (หมายถึงไม่เอามาสอนและปฏิบัติ)

เช่น พุทธทาสเสนอไว้ในหนังสือ “พุทธทาสลิขิต” ว่า ในการเสนอคำสอนพุทธศาสนาแก่คนสมัยใหม่ที่คุ้นเคยกับวิทยาศาสตร์ จะตัดเนื้อหาในพระไตรปิฎกส่วนที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ตามหลักวิทยาศาสตร์ทิ้งเลยก็ได้ เช่นในธัมมจักกัปปวัตตนสูตรตอนท้ายเรื่องที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการนับชั้นเทวดาตัดทิ้งได้เลย คงไว้แต่เนื้อหาที่เป็นเหตุเป็นผล คือคำอธิบายเรื่องทุกข์และทางดับทุกข์ก็พอ นอกจากนี้พุทธทาสยังแจกแจงรายละเอียดว่า มีสูตรไหนบ้างที่ควรตัดทิ้งหรือไม่จำเป็นต้องนำมาสอน เพราะไม่มีเหตุผล ไม่เป็นวิทยาศาสตร์

เมื่อพูดถึงเรื่องการเวียนว่ายตายเกิด ก็เน้นการเกิดความรู้สึกว่ามีตัวกู ของกูซึ่งพิสูจน์ได้ด้วยประสบการณ์ตรงว่า เมื่อเกิดความรู้สึกเช่นนั้นและกระทำอะไรลงไปด้วยความรู้สึกเช่นนั้นแล้วก่อให้เกิด “ทุกข์” อย่างไร ขณะเดียวกัน นิพพานก็คือความดับตัวกูของกู หรือสภาวะ “จิตว่าง” จากความรู้สึกว่ามีตัวกู ของกู นิพพานจึงเป็นความจริงเชิงประจักษ์ที่เกิดขึ้นได้ที่นี่เดี๋ยวนี้ ไม่ใช่ผลของการบำเพ็ญบารมียาวนานเป็นแสนๆ ชาติอย่างที่สอนกันสืบๆ มา

จะเห็นว่าวิธีการตีความพุทธศาสนาที่เน้นความเป็นเหตุผล เป็นวิทยาศาสตร์ในแง่นี้ คือการตีความพุทธศาสนาใน “มิติปัจเจก” ซึ่งแสดงถึงความกล้าหาญท้าทายประเพณีความเชื่อในพุทธศาสนาไทยที่มีมาแต่เดิม และมีลักษณะก้าวหน้า เพราะเป็นการทำให้พุทธศาสนามีลักษณะเปิดกว้างต่อการศึกษาเรียนรู้ของปัจเจกบุคคล หรือเป็นการทำให้ “นิพพาน” ที่แต่ก่อนถือว่าเป็นของสูงสงวนไว้สำหรับชนชั้นปกครองที่เป็นพระโพธิสัตว์และพระสงฆ์ที่ปฏิบัติเพื่อความหลุดพ้นกลายเป็น “ของสาธารณ์” ที่คนธรรมดาไม่ว่าพระหรือฆราวาสก็เข้าถึงได้เสมอกัน โดยเน้นให้เห็นลักษณะเป็นเหตุผลและพิสูจน์ได้ด้วยประสบการณ์ตรงอย่างเป็นพิเศษ

2. วิธีตีความแบบตั้งคำถามต่อความคิดสมัยใหม่เพื่อเสนอหลักการที่ดีกว่าของพุทธศาสนา น่าสังเกตว่านี่เป็นการตีความ “มิติทางสังคม” ของพุทธศาสนาโดยตั้งคำถามต่อแนวคิดสมัยใหม่ คือแนวคิดเสรีประชาธิปไตยและสังคมนิยม เพื่อเสนอแนวคิด “ธรรมิกสังคมนิยมเผด็จการโดยธรรม” 

แน่นอน การตั้งคำถามต่อแนวคิดสมัยใหม่ ไม่ใช่ปัญหา เพราะแนวคิดสมัยใหม่ก็มีจุดอ่อนให้ตั้งคำถามได้อยู่แล้ว แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าเมื่อตั้งคำถามต่อแนวคิดสมัยใหม่แล้ว แนวคิดพุทธศาสนาที่เสนอมาแทนนั้นมีเหตุผลหรือแนวปฏิบัติที่ชัดเจนเป็นไปได้และเหนือกว่าอย่างไร

สิ่งที่เราได้เห็นคือ แนวคิดธรรมิกสังคมนิยมเผด็จการโดยธรรม ก็คือแนวคิดที่เสนอว่า “ควรใช้ระบบเผด็จการโดยคนดีเพื่อสร้างประโยชน์สุขแก่คนส่วนใหญ่” ซึ่งไม่มีรูปแบบที่ชัดเจนในทางปฏิบัติว่า จะได้คนดีมาอย่างไร และขอบเขตอำนาจเผด็จการโดยคนดีก็ไม่ชัดเจนว่าแค่ไหนอย่างไร อีกทั้งข้อเสนอดังกล่าวนี้นอกจากจะเป็นการตั้งคำถามต่อความคิดสมัยใหม่แล้ว ยังเป็นการยืนยันการปกครองแบบ “พ่อปกครองลูก” ของสยามไทยตามที่เชื่อกันในประวัติศาสตร์กระแสหลัก จึงทำให้การตีความพุทธศาสนาในมิติทางสังคมของพุทธทาสขัดกับความเป็นสมัยใหม่ หรือไม่มีความเป็นสมัยใหม่

ฉะนั้น พุทธศาสนาสมัยใหม่ที่สร้างขึ้นผ่านการปฏิรูปการตีความพุทธศาสนาของพุทธทาส จึงมีความเป็นสมัยใหม่เฉพาะพุทธศาสนาในมิติปัจเจก แต่พุทธศาสนาในมิติทางสังคมกลับมีลักษณะอนุรักษ์นิยม ไม่เป็นสมัยใหม่

จึงไม่แปลกที่วาทกรรมการเมืองเชิงศีลธรรมที่เน้นเผด็จการโดยคนดีของพุทธทาสจะถูกนำมาอ้างอิงสนับสนุนการต่อสู้ทางการเมืองที่ชูอุดมการณ์อนุรักษ์นิยมอย่างเข้มข้นกว่าสิบปีมานี้

คุณูปการในการปฏิรูปการตีความพุทธศาสนาของพุทธทาสจึงอยู่ที่การทำให้พุทธศาสนาในมิติปัจเจกก้าวหน้า แต่พุทธศาสนาในมิติทางสังคมแบบการตีความของพุทธทาสเป็นปัญหาที่จำเป็นต้องตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์ ไม่ใช่เพียงนำมาอ้างอิงใช้ในทางการเมืองเสมือนเป็นคำตอบสำเร็จรูปอย่างที่นิยมทำตามๆ กัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท