Skip to main content
sharethis

7 พ.ย. 2559 บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ระบุว่าการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐใกล้เข้ามาทุกที โดยผลโพลล์ชี้ว่าคะแนนนิยมของ โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งพรรครีพับลิกันเบียดขึ้นมาสูสีกับ ฮิลลารี คลินตัน แห่งพรรคเดโมแครต สร้างความอ่อนไหวต่อตลาดการเงิน สะท้อนความเปราะบางของตลาดการเงินต่อการเข้ามามีบทบาทบริหารประเทศของ โดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งต้องรอบทสรุปที่กำลังจะมาถึงวันที่ 8 พฤศจิกายนนี้

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่าไม่ว่าใครจะได้เป็นผู้นำประเทศสหรัฐคนใหม่ก็อาจจะต้องทำงานร่วมกับสภาคองเกรสที่เสียงส่วนใหญ่มาจากคนละพรรคการเมือง สะท้อนว่านโยบายการบริหารประเทศไม่ว่าจะเป็นของ ฮิลลารี คลินตัน หรือ โดนัลด์ ทรัมป์ จะถูกปรับเป็นลูกผสมระหว่าง 2 ขั้วพรรคการเมือง ซึ่งจะมีผลต่อแนวโน้มการส่งออกของไทยในอนาคตผ่านการเติบโตทางเศรษฐกิจ การปกป้องการค้าของสหรัฐ และกรอบการค้าเสรี TPP ที่อาจถูกทบทวนเปลี่ยนแปลงไป
 
นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าเศรษฐกิจสหรัฐปี 2560 ภายใต้การนำของประธานาธิบดีคนใหม่จะยังคงขยายตัวต่อเนื่องจากปี 2559 ซึ่งจะสนับสนุนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อย่างค่อยเป็นค่อยไป  แม้ในกรณีทรัมป์ เฟดอาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยน้อยกว่าและเงินดอลลาร์อาจจะไม่แข็งค่า ทั้งนี้ การฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจสหรัฐน่าจะเอื้อให้การส่งออกของไทยไปสหรัฐปี 2560 เติบโตร้อยละ 1.3-2.5 หรือมีมูลค่าประมาณ 24,680-24,980 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ต่อเนื่องจากที่คาดว่าจะขยายตัวประมาณร้อยละ 1.3 ในปี 2559
 
โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ผลกระทบที่มีต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ และการค้ากับต่างประเทศรวมถึงกับไทย มีดังนี้
       
1. กรณีที่ ฮิลลารี คลินตัน ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี : เศรษฐกิจของสหรัฐฯ ภายใต้การนำของ ฮิลลารี คลินตัน มีเสถียรภาพมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นการตอบรับในเชิงบวกของตลาดเงินตลาดทุน และผลบวกจากนโยบายเศรษฐกิจ ที่เพิ่มการเก็บภาษีเงินได้ผู้มีรายได้สูงควบคู่กับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่เมื่อหักลบกันแล้วสามารถลดภาระภาคการคลังไปได้พร้อมกัน รวมถึงการปรับเพิ่มรายได้ขั้นต่ำช่วยกระตุ้นการบริโภคในประเทศในระยะสั้น แม้ว่าระยะต่อไปอาจส่งผลต่อต้นทุนการผลิต แต่ในท้ายที่สุดแล้วผลบวกที่เกิดขึ้นน่าจะมากพอที่จะทำให้เศรษฐกิจมีเสถียรภาพอย่างต่อเนื่อง ซึ่งต่างกับกรณีของ โดนัลด์ ทรัมป์ ที่กระตุ้นการบริโภคด้วยการลดภาษีเงินได้ และเพิ่มการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานล้วนฉุดให้ฐานะการคลังมีความน่ากังวลมากขึ้น และเมื่อรวมกับการปกป้องทางการค้าของสหรัฐฯ อย่างสุดขั้ว ยิ่งทวีแรงกดดันต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ อีกทางหนึ่ง ประเด็นสำคัญ ได้แก่
       
2. กรณีที่ โดนัลด์ ทรัมป์ เป็นผู้ชนะการเลือกตั้ง : การค้ากับต่างประเทศ และการค้ากับไทยผกผันตามเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งในกรณีของ โดนัลด์ ทรัมป์ ไม่เพียงกระทบการส่งออกไทยไปสหรัฐฯ แต่จะส่งผลซ้ำเติมการส่งออกของไทยในภาพรวมมากขึ้นอีกทางหนึ่ง จากมาตรการกีดกันทางการค้าแบบสุดโต่งกับสินค้าจากจีน และเม็กซิโก ที่ต่างก็พึ่งพาการส่งออกไปตลาดสหรัฐฯ เป็นอันดับ 1 ด้วยสัดส่วนร้อยละ 18 และร้อยละ 81 ตามลำดับ การกีดกันดังกล่าวส่งผลกระทบผ่านห่วงโซ่การผลิตมายังธุรกิจไทย โดยในกรณีนี้เองสินค้าส่งออกของไทยที่ไปยังตลาดจีนก็มีความเสี่ยงจะได้ผลกระทบมากขึ้น จากที่ในช่วงเวลานี้ก็ถูกฉุดจากเศรษฐกิจจีนที่อยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจและถูกคาดการณ์ว่าจะขยายตัวในอัตราที่ช้าลง
       
3. นโยบายของทั้งคลินตัน และทรัมป์ ต่างมีผลให้ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Trans-Pacific Partnership : TPP) เปลี่ยนไปจากที่ผ่านมา อาจล่าช้าออกไปหรือยกเลิก ซึ่งในประเด็นนี้นับว่าช่วยต่อลมหายใจให้ธุรกิจไทยสามารถปรับกลยุทธ์เพื่อให้แข่งขันได้ในตลาดสหรัฐฯ โดยเฉพาะธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้า เสื้อผ้า อาหาร เป็นต้น ซึ่งในกรณีของ ฮิลลารี คลินตัน อาจปรับเปลี่ยนรูปแบบ TPP ให้เอื้อประโยชน์ต่อธุรกิจสหรัฐฯ มากขึ้น จึงอาจต้องใช้เวลาในการเจรจากับประเทศสมาชิก ทำให้ไทยมีเวลาทบทวนการเข้าร่วมกลุ่มดังกล่าว ขณะที่ในกรณีของ โดนัลด์ ทรัมป์ อาจยกเลิกการจัดทำ TPP เพราะมีแนวทางในการปกป้องการค้าของสหรัฐฯ อย่างชัดเจน
 
 

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net