Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis





จากคำกล่าวที่ว่า “ความเกลียดชังมีอยู่จริง” ของคุณวรรณพงษ์ ยอดเมือง สมาชิกสมาคมฟ้าสีรุ้ง หนึ่งในผู้เข้าร่วมเสวนา ในงานเสวนาเวทีสาธารณะ “อุ้ม ซ้อมทรมาน ฆาตกรรม: อาชญากรรมแห่งความเกลียดชังต่อ ทอม และความหลากหลายทางเพศ” ในวันพฤหัสบดีที่ 19 มกราคม 2559 เวลา 14.00-16.00 น. ณ โรงแรมเอเชีย กรุงเทพฯ เป็นถ้อยคำที่สามารถยืนยันให้เห็นถึงปรากฏการณ์ความรุนแรงอันมีสาเหตุมาจากความเกลียดชังที่กระทำต่อบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศได้เป็นอย่างดี โดยความเกลียดชังที่ว่านี้ อาจไม่มีเหตุผลอื่นใดที่มากไปกว่าการที่บุคคลผู้ถูกเกลียดชัง มีพฤติกรรมหรือการกระทำบางอย่าง ที่ถูกมองเห็นว่า มีผิดแผกและแตกต่างไปจากบรรทัดฐานทางสังคม โดยเฉพาะยิ่ง บรรทัดฐานในเรื่องเพศแบบหญิงชาย ที่อาจนำไปสู่การก่ออาชญากรรมว่าด้วยความเกลียดชังทางเพศ

อาชญากรรมแห่งความเกลียดชัง (hate crime) เป็นอาชญากรรมที่ถูกกระตุ้นจากอคติ เกิดขึ้นจากการที่ผู้กระทำผิด ได้ก่ออาชญากรรมอย่างจงใจ ต่อบุคคลที่เขาเห็นว่าสมควรได้รับ หรือเห็นว่ามีพฤติกรรมอันไม่ถูกต้อง เหมาะสม ผ่านการกระทำความรุนแรงทางกาย เช่น การทำร้ายร่างกายจนถึงแก่ชีวิต รวมไปถึงการข่มขู่ คุกคามให้เกิดความหวาดกลัว ที่มีต่อกลุ่มคนจำนวนหนึ่งที่ถูกมองเห็นว่า มีความแตกต่างจากกลุ่มคนส่วนใหญ่ในสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มคนผู้มีรสนิยมทางเพศ หรืออัตลักษณ์ทางเพศ ที่ไม่สอดคล้องกับเพศทางชีววิทยาหรือเพศกำเนิด อันได้แก่ เลสเบี้ยน, เกย์, และคนรักสองเพศ ซึ่งมักจะเป็นกลุ่มคนที่ถูกกระทำความรุนแรงมากที่สุด รองจาก กลุ่มผู้มีความแตกต่างทางด้านเชื้อชาติและศาสนา (Michelle A. Marzullo and Alyn J. Libman, 2009, p.5)

จากรายงานของสำนักงานสอบสวนกลางสหรัฐอเมริกา หรือเอฟบีไอ (Federal Bureau of Investigation : FBI) ในปี ค.ศ. 2007 พบว่า เลสเบี้ยน เกย์, และคนรักสองเพศ จำนวน 1,265 ราย ถูกกระทำความรุนแรงอันเนื่องมาจากความเกลียดชัง เหตุเพราะ มีรสนิยมทางเพศที่แตกต่างจากบรรทัดฐานทางสังคมหรือบรรทัดของรักต่างเพศ ซึ่งผู้ได้รับความรุนแรงเหล่านี้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นจาก ปี ค.ศ. 2006 ถึง 6 เปอร์เซ็นต์ โดยที่ 27 เปอร์เซ็นต์ จากทั้งหมดของบุคคลที่ถูกกระทำความรุนแรงคือ เลสเบี้ยน (Michelle A. Marzullo and Alyn J. Libman, 2009, p. 2)

เช่นเดียวกับ รายงานขององค์การต่อต้านความรุนแรงแห่งชาติ (National Coalition of Anti-Violence Programs : NCAVP) ที่ทำการสำรวจปรากฏการณ์ความรุนแรงแห่งความเกลียดชังจากการต่อต้านคนข้ามเพศ อันได้แก่ เลสเบี้ยน, เกย์, คนรักสองเพศ, คนข้ามเพศ, และเควียร์ ในปี ค.ศ. 2013 พบว่า ผู้หญิงข้ามเพศ จำนวน 72 เปอร์เซ็นต์ มักจะถูกฆาตกรรม จากกลุ่มคนที่เห็นว่าพวกเธอเป็นพวกผิดปกติทางเพศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้หญิงข้ามเพศผิวสี และเลสเบี้ยนผิวสี

บทความเรื่อง “Corrective Rape” of Lesbian in the Era of Transformative Constitutionalism in South Africa ที่เขียนโดย R Koraan และ A Geduld (2015) ได้ชี้ให้เห็นถึงรูปแบบของอาชญากรรมแห่งความเกลียดชัง ที่กระทำต่อผู้หญิงรักเพศเดียวกัน หรือที่เรียกว่า เลสเบี้ยนในสังคมแอฟริกาใต้ ผ่านปรากฏการณ์ที่เรียกว่า corrective rape หรือการข่มขืนเพื่อความถูกต้อง ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อแก้ไข ปรับเปลี่ยน เพื่อให้ผู้หญิงรักเพศเดียวกันหันกลับมามีรสนิยมรักต่างเพศแบบชายคู่หญิงตามปกติ โดยผู้ที่กระทำความรุนแรงดังกล่าวเกิดจากกลุ่มคนที่เกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน ซึ่งจากการศึกษาของ R Koraan และ A Geduld ในบทความนี้ พบว่า การข่มขืนเพื่อความถูกต้อง หรือ corrective rape เป็นคำที่ใช้อ้างอิงถึงการข่มขืนผู้หญิง เพื่อ “แก้ไขปัญหา” การเป็นเลสเบี้ยน ในช่วง 15 ปี ที่ผ่านมา โดยมีเลสเบี้ยนที่ถูกฆาตกรรมเป็นจำนวน 31 ราย ทั้งนี้ เลสเบี้ยนจำนวน 10 เปอร์เซ็นต์ของทั้งหมด จะถูกข่มขืนเพื่อแก้ไขและปรับเปลี่ยนให้กลายเป็นผู้หญิง ซึ่งปรากฏการณ์การข่มขืนเพื่อความถูกต้องนี้ แพร่กระจายอยู่ในสื่อทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสื่อของประเทศแอฟริกาใต้ที่การเป็นคนรักเพศเดียวกันไม่ได้รับการยอมรับ

สอดคล้องกับ งานศึกษาของ Ines Gontek ในบทความเรื่อง “Sexual Violence Against Lesbian Women in South Africa” ที่พบว่า ภายใต้บริบทการต่อต้านคนรักเพศเดียวกันในแอฟริกาใต้ จะเต็มไปด้วยโครงสร้างชายเป็นใหญ่และบรรทัดฐานรักต่างเพศ ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่ทำให้เลสเบี้ยนต้องใช้ชีวิตด้วยความยากลำบาก และแม้ว่าจะมีกฎหมายคุ้มครองคนรักเพศเดียวกันในแอฟริกาใต้ แต่ทว่า สังคมที่ประกอบไปด้วยบรรทัดฐานของรักต่างเพศก็ยังคงทำให้คนรักเพศเดียวกันได้รับผลกระทบ

นอกจากนี้ งานศึกษาของ Breen และ Nel ยังอธิบายเพิ่มเติมว่า เลสเบี้ยนแอฟริกันที่อาศัยอยู่ในเมืองจะเสี่ยงต่อการถูกข่มขืนและฆาตกรรม เนื่องจากพวกเขาได้ท้าทายบรรทัดฐานเรื่องเพศสถานะในสังคม ดังนั้น การข่มขืนเพื่อความถูกต้องนี้ จึงเป็นความโหดร้ายอย่างยิ่ง ยกตัวอย่างเช่น ข่าวความรุนแรงที่ปรากฏในสื่อ ซึ่ง Noxolo Nogwaza เลสเบี้ยน อายุ 24 ปี ได้ถูกฆาตกรรมนอกเมืองโจฮันเนสเบิร์ก เมื่อวันที่ 24 เมษายน ค.ศ. 2011 โดยเธอถูกข่มขืนและถูกแทงด้วยเศษแก้ว ยิ่งไปกว่านั้น เธอยังถูกทุบหัวและหน้า ซึ่งขณะนี้ยังไม่สามารถหาตัวผู้กระทำผิดได้ นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 28 มีนาคม ค.ศ. 2011 ร่างของ Nokuthula Rdebe ถูกพบอยู่ที่ตึกร้างแห่งหนึ่งในเมือง Thokoza ทางตะวันออกของโจฮันเนสเบิร์ก โดยที่ใบหน้าของเธอถูกคลุมด้วยถุงพลาสติกและถูกดึงกางเกงลง และเช่นเดียวกัน ฆาตกรยังคงไม่ถูกจับกุม

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการชี้ให้เห็นถึงอัตราความรุนแรงที่เพิ่มสูงขึ้นจากการต่อต้านคนข้ามเพศ ซึ่งบ่อยครั้งอาชญากรรมแห่งความเกลียดชังหรือความรุนแรงอันเนื่องมาจากความเกลียดชัง จากการมีเพศสถานะและเพศวิถีที่แตกต่างนี้ได้นำไปสู่การสูญเสียชีวิต ไม่เว้นแม้แต่ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับบุคคลที่มีเพศสรีระเป็นหญิง แต่สวมบทบาทเป็นชาย และมีเพศวิถีแบบหญิงรักหญิง หรือที่คนในสังคมไทยเรียกว่า “ทอม” (tom)

เมื่อมองย้อนกลับมาในสังคมไทย ปรากฏการณ์ทางสังคมที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมแห่งความเกลียดชัง (hate crime) หรือการใช้ความรุนแรงจากความเกลียดชัง (hate violence) อันเนื่องมาจากการต่อต้านกลุ่มคนผู้มีรสนิยมทางเพศ หรืออัตลักษณ์ทางเพศที่แตกต่างกับเพศทางชีววิทยา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บุคคลที่ถูกเรียกว่า ทอม ก็ปรากฏให้เห็นอย่างต่อเนื่องและไม่มีทีท่าว่าจะลดลงแต่อย่างใด

จากงานศึกษาของ กฤตยา อาชวนิจกุล เลขาธิการสมาคมเพศวิถีศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ทำการสำรวจ การปรากฏตัวของอาชญากรรมแห่งความเกลียดชัง พบว่า ในช่วงเดือนสิงหาคม ปี พ.ศ. 2549 - เดือนเมษายน ปี พ.ศ. 2559 มีข่าวความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับทอมจำนวน 11 ราย โดยรูปแบบการก่อคดีประกอบไปด้วย การข่มขืนและรัดคอจนเสียชีวิต การเผาทั้งเป็น การใช้ถุงพลาสติกครอบศีรษะและฟันด้วยมีด (กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล, 2016) ยกตัวอย่างเช่น ข่าวอาชญากรรมที่เกิดขึ้นใน ปี พ.ศ. 2554 ภายใต้หัวข้อเรื่อง “รวบ 4 มือโหดรุมฆ่าทอมเหตุหวงลูกสาว” ที่แม่ของดี้ได้วางแผนฆาตกรรมทอมร่วมกับชายคนหนึ่งที่ต้องการให้ลูกสาวของเธอมีความสัมพันธ์ด้วย โดยที่ความรุนแรงดังกล่าวเกิดขึ้นจากเหตุแห่งความเกลียดชังอันเนื่องมาจากความเชื่อที่ว่า ทอมเป็นบุคคลที่ผิดปกติทางเพศ ไม่สมควรแก่การคบหา, และ ข่าว ใน ปี พ.ศ. 2559 ในหัวข้อ “หนุ่มคลั่ง! หึงอดีตแฟนหนีไปคบสาวหล่อ เลยตามมาแทงทอมคู่ขาจนสิ้นใจ” ที่ชายคนหนึ่งมีปากเสียงอย่างรุนแรงกับอดีตแฟนสาว ขณะเดียวกันทอมคนรักปัจจุบันของเธอเข้ามาห้ามปราม จนเป็นให้ชายคนดังกล่าวบันดาลโทสะแทงทอมเสียชีวิต รวมไปถึง ข่าวการใช้ความรุนแรงอันเนื่องมาจากความเกลียดชัง (hate violence) ที่เกิดขึ้นใน ปี พ.ศ. 2558 ภายใต้หัวข้อเรื่อง “แจ้งจับสารวัตรทำร้ายทอม ทั้งเตะ-ปืนตบหัวแตก-กักขัง ฉุนคบแฟนสาว” ที่สารวัตรนายหนึ่งเกิดความไม่พอใจที่ทอมคนดังกล่าว ไปคบหากับอดีตแฟนของตน จึงได้พาชายจำนวน 5 คน เข้าไปรุมทำร้ายร่างกายทอม จนกระทั่งได้รับบาดเจ็บที่ใบหน้า และศีรษะเป็นบาดแผลหลายแห่ง โดยที่เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นมาจากความคิดที่ว่า ทอมได้ไปท้าทายความเป็นลูกผู้ชายด้วยการแย่งคนรักไปจากตน ซึ่งการกระทำดังกล่าวมีขึ้นเพื่อปกป้องแห่งสถานะความเป็นชายของตนเอง ไม่ต่างจากคำกล่าวที่มักได้ยินอยู่อย่างทั่วไปในสังคมไทยว่า “ลูกผู้ชายฆ่าได้หยามไม่ได้”

แต่ทั้งนี้ เราไม่อาจพิจารณาหรือเหมารวมได้ว่า ข่าวฆาตกรรมไปจนกระทั่งการทำร้ายร่างกายต่อทอมทุกข่าวที่กระทำโดยบุคคลที่มีเพศสถานะเป็นชายนั้น เป็นอาชญากรรมแห่งความเกลียดชัง (hate crime) หากแต่ต้องพิจารณาเป็นกรณีไป เพราะแต่ละข่าวต่างยังคงมีปัจจัยและเงื่อนไขอันจะนำพาไปสู่เหตุการณ์ที่แตกต่างกันอยู่เสมอ แต่อย่างน้อยที่สุด ตัวอย่างปรากฏการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นต่อบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศทั้งในสังคมไทยและต่างประเทศ จะสามารถอธิบายให้เกิดความเข้าใจและเห็นภาพว่า “ความเกลียดชังมีอยู่จริง” ดังคำกล่าวของผู้เข้าร่วมเสวนาท่านนั้น ได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น




เกี่ยวกับผู้เขียน: อาทิตยา อาษา กำลังศึกษาอยู่ในระดับชั้นปริญญาโท สตรี เพศสถานะ และเพศวิถีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net