Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เห็นสื่อบางค่าย และคนบางฝ่ายเชียร์การใช้ ม.44 และการระดมกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหารร่วม 6,000 นาย ปิดล้อมและตรวจค้นวัดพระธรรมกาย ที่เผชิญหน้ากับมวลชนจำนวนมากที่เสี่ยงต่อการปะทะและความรุนแรง ทำให้นึกถึงปี 2553 ที่มีสื่อและกลุ่มคนบางฝ่ายเชียร์ให้ล้อมปราบคนเสื้อแดง ดูเหมือนหลายปีมานี้ กลุ่มชนชั้นนำที่กุมอำนาจรัฐกลุ่มเดิม สื่อ และคนกลุ่มเดิมๆ จำนวนไม่น้อยไม่ได้เรียนรู้อะไรเลยจากบทเรียนที่ผ่านมา

ตรงกันข้ามพวกเขายิ่งเดินหน้าใช้อำนาจที่ไม่เป็นประชาธิปไตยต่อไปอย่างเข้มข้นมากขึ้น ภายใต้ธงปฏิรูปประเทศและปฏิรูปพุทธศาสนา ที่ต้อง “เอานักการเมืองไม่ดีออกไปจากการเมือง และขจัดลัทธินอกรีต เอาพระไม่ดีออกไปจากวงการสงฆ์” โดยอ้างว่า การกระทำทั้งหมดของพวกเขา “ไม่เกี่ยวกับการเมือง” แต่เป็นการบังคับใช้กฎหมาย คนทำผิดต้องไม่มีใครอยู่เหนือกฎหมาย ต้องล้างการเมือง ล้างศาสนาให้สะอาด แก้ปัญหาความแตกแยก สร้างความสงบสุข ปรองดอง

แต่ทั้งหมดนั้นไม่เกี่ยวกับการเมืองจริงหรือ หากเป็นเรื่องไม่เกี่ยวกับการเมือง ก็คือไม่เกี่ยวกับการเมืองตามครรลองประชาธิปไตยเท่านั้น ทว่าเป็นการเมืองในวาระปฏิรูปประเทศและปฏิรูปพุทธศาสนาภายใต้อำนาจที่ไม่เป็นประชาธิปไตย จึงเป็นการเมืองของฝ่ายทำรัฐประหารและฝ่ายสนับสนุนรัฐประหารให้จัดการเด็ดขาดกับขั้วการเมืองที่ถูกทำรัฐประหาร และกลุ่มศาสนาที่ตีความคำสอนและมีแนวปฏิบัติต่างจากพวกตน ซึ่งพวกตนกล่าวหาว่าเป็นพวกสัทธรรมปฏิรูป หรือลัทธินอกรีต ที่เป็นอันตรายต่อพุทธศาสนา และความมั่นคงของรัฐ และกล่าวหามาตลอดว่ากลุ่มศาสนาดังกล่าวสนับสนุนฝ่ายการเมืองที่ถูกทำรัฐประหาร

แม้จะอ้างว่า การตรวจค้นวัดพระธรรมกายต้องการจับกุมพระธัมมชโย ผู้ต้องหาคดีเกี่ยวพันกับการทุจริตที่ไม่ยอมมอบตัวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เจ้าหน้าที่รัฐจึงจำเป็นต้องทำให้ “กฎหมายเป็นกฎหมาย” จะปล่อยให้ใคร หรือลัทธิใดอยู่เหนือกฎหมายไม่ได้

เป็นความจริงว่า รัฐที่ปกครองโดยกฎหมาย จะปล่อยให้ใครอยู่เหนือกฎหมายไม่ได้ แต่รัฐที่ปกครองโดยกฎหมายที่ยึดหลักนิติรัฐ (rule of law, state under law) นั้นถือว่า กฎหมายต้องมีที่มาที่ชอบธรรม คือเป็นกฎหมายที่บัญญัติขึ้นผ่านกระบวนการที่เป็นประชาธิปไตย, ตัวเนื้อหาของกฎหมายต้องอยู่บนหลักการปกป้องสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของปัจเจกบุคคล และกลไกอำนาจรัฐทั้งหมดที่เกี่ยวกับการปกครอง และการบังคับใช้กฎหมาย เช่น กระบวนการยุติธรรม การตีความกฎหมายต้องเป็นอิสระ หรือเป็นกลาง ที่อธิบายได้ว่าสามารถอำนวยความยุติธรรมแก่ทุกคนบนหลักความเสมอภาคต่อหน้ากฎหมายได้อย่างแท้จริง โดยนัยนี้รัฐเสรีประชาธิปไตยเท่านั้นจึงสามารถจะมีหลักนิติรัฐได้

แต่ปัจจุบัน รัฐไทยอยู่ใต้อำนาจรัฐบาลที่มาจากรัฐประหาร ซึ่งเรียกตนเองว่าเป็น “รัฏฐาธิปัตย์” ที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จ ไม่มีระบบรัฐสภาคานอำนาจ และถ่วงดุลตรวจสอบ การบัญญัติและการบังคับใช้กฎหมายจึงไม่ได้มีหลักนิติรัฐรองรับ ฉะนั้น ตัวเนื้อหากฎหมาย (เช่น ม.44 เป็นต้น) และการตีความ บังคับใช้กฎหมายจึงไม่มีหลักประกันใดๆ ว่า ต้องอยู่บนหลักการเคารพสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของปัจเจกบุคคล และอยู่บนหลักความเสมอภาคทางกฎหมาย กรณีตัวอย่างที่ชัดเจนคือ การจับกุมและถอนสิทธิ์ประกันตัว “ไผ่ ดาวดิน” เป็นต้น

ภายใต้สภาวการณ์เช่นนี้ ถ้าคุณเป็นพระธัมมชโยและชาวธรรมกายจะตัดสินใจอย่างไร แน่นอน เมื่อว่าโดยหลักการแล้ว ไม่ว่าใครก็ตามที่ถูกตั้งข้อหาเกี่ยวพันกับเรื่องทุจริต ก็ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ไม่ว่าจะอยู่ในยุครัฐบาลประชาธิปไตยหรือรัฐบาลที่ไม่เป็นประชาธิปไตยก็ตาม เพราะเป็นข้อกล่าวหาเรื่องการทำผิดกฎหมายปกติ ไม่ใช่ข้อกล่าวหาทางการเมือง

แต่คำถามก็คือ กรณีคดีพระธัมมชโยและวัดพระธรรมกาย ไม่มีการกล่าวหา แรงจูงใจ กลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง วาระทางการเมือง และอำนาจทางการเมืองอยู่เบื้องหลังจริงหรือ ผู้ที่ติดตามข่าวสารมาตลอด ไม่จำเป็นต้องเป็น “นักวิเคราะห์” ผู้เชี่ยวชาญ ก็น่าจะพอมองออกว่าเป็นเรื่องที่มีความเป็นการเมืองเกี่ยวข้องหรือไม่ อย่างไร

แม้แต่ในสถานการณ์ปิดล้อมวัดพระธรรมกายขณะนี้ ก็มีความสับสนในฝ่ายอำนาจรัฐ และฝ่ายผู้สนับสนุนให้อำนาจรัฐจัดการ เช่น ขณะที่อ้างว่าใช้ ม.44 เพื่อจับกุมพระธัมมชโย แต่ผู้มีอำนาจในรัฐบาลก็ให้สัมภาษณ์สื่อว่า “ทำไมเราต้องไปนับถือพระหรือวัดที่สอนผิดหลักพุทธศาสนา” ขณะเดียวกันกลุ่มเคลื่อนไหวเรียกร้องให้อำนาจรัฐจัดการพระธัมมชโยมาตลอด ก็ออกมาเรียกร้องผ่านสื่อให้ใช้อำนาจรัฐ “ล้างลัทธิธรรมกาย” บางคนก็ชี้เป้าให้ตรวจค้นแหล่งเก็บทองคำ และเงินสดของวัดพระธรรมกาย เป็นต้น

ภายใต้สภาวการณ์ที่รัฐไทยไม่มีหลักนิติรัฐเป็นหลักประกันสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน ถ้าคุณเป็นพระธัมมชโยและชาวธรรมกายที่ถูกปิดล้อมด้วยกองกำลังร่วม 6,000 นาย ถูกตั้งข้อหากว่า 300 คดี คุณจะเชื่อมั่นว่ามีกระบวนการยุติธรรมที่เป็นอิสระ (จากวาระการเมืองทางศาสนาและการเมืองทางโลก) ที่ให้ความยุติธรรมแก่คุณในมาตรฐานเดียวกับคนอื่นๆหรือไม่ และจะตัดสินใจอย่างไร

ตัวผมเองคงไม่สามารถจะให้คำตอบแทนใครได้ ที่ห่วงมากที่สุดคือ กลัวว่าสถานการณ์จะนำไปสู่การเกิดความรุนแรงตามมา ซึ่งจะกลายเป็นประวัติศาสตร์อัปยศอีกหน้าหนึ่งของสังคมไทย ที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น

ถึงที่สุดแล้ว สมมติว่ารัฐบาล คสช.ใช้ ม.44 จัดการพระธัมมชโยและขจัดลัทธิธรรมกายได้ตามข้อเรียกร้องของฝ่ายเชียร์อยู่ในขณะนี้ แล้วไงต่อ สิ่งที่เราสามารถเห็นได้ ก็คงจะคล้ายๆ ที่นักวิชาการท่านหนึ่งตั้งข้อสังเกตต่อกรณีค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ที่รัฐบาลยอมรับฟังการต่อรองของมวลชน และสมมติว่ารัฐบาลยอมทำตามข้อเรียกร้องของมวลชน ก็จะเกิดบรรทัดฐานในทัศนะของมวลชนเหล่านั้นว่า รัฐบาลจากรัฐประหารรับฟังปัญหาของประชาชนดีกว่ารัฐบาลจากการเลือกตั้ง เช่นเดียวกันหากรัฐบาล คสช.จัดการกับพระธัมมชโยและวัดพระธรรมกายได้ตามข้อเรียกร้องของอีกฝ่าย บรรทัดฐานใหม่ที่ตามมาคือ รัฐบาลเผด็จการถ้ารู้จักใช้อำนาจ “เผด็จการโดยธรรม” ก็สามารถล้างลัทธินอกรีต ทำให้พุทธศาสนาสะอาดบริสุทธิ์ได้ดีกว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

ก็แปลว่า สำหรับคนอีกฝ่ายหนึ่ง หรือคนส่วนหนึ่งในประเทศนี้ จะยังคงสนับสนุนความชอบธรรมของอำนาจรัฐบาลจากรัฐประหารอยู่ต่อไป ปัญหาของรัฐบาลเผด็จการที่มีคุณธรรมคือ การไม่เคารพสิทธิ เสรีภาพ(ปลอมๆ) หรือการไม่รับฟังปัญหา และไม่ทำตามข้อเรียกร้องของฝ่ายตัวเองเท่านั้น ส่วนการไม่เคารพสิทธิและเสรีภาพ ไม่ฟังเสียง ไม่ทำตามข้อเรียกร้องของฝ่ายอื่นไม่ใช่ปัญหา ยิ่งกว่านั้น รัฐบาลเผด็จการที่มีคุณธรรมจะต้องทำตามข้อเรียกร้องของฝ่ายตัวเองด้วย แม้ว่าจะเป็นข้อเรียกร้องที่ไม่เคารพสิทธิและเสรีภาพของฝ่ายอื่นก็ตาม เช่นข้อเรียกร้องให้จัดการกับธรรมกายเป็นต้น

ที่น่าเศร้าคือ บรรทัดฐานแบบเดียวกันนี้ได้เป็นบรรทัดฐานของสื่อมวลชนด้วย ดังที่เราเห็นองค์กรสื่อออกมาเรียกร้องไม่ให้ออกกฎหมายที่มีเนื้อหาลิดรอนเสรีภาพของสื่อ แต่สื่อหลายสำนักก็ไม่เคยสนใจปกป้อง หรือตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์ในกรณีที่รัฐละเมิดสิทธิและเสรีภาพของคนอื่น ฝ่ายอื่น ที่เกิดขึ้นเป็นรายวันในระยะหลายปีมานี้ ซ้ำร้ายสื่อบางสำนักยังออกมามาเชียร์การใช้ ม.44 จัดการกับธรรมกาย เหมือนที่เคยเชียร์ให้ปราบคนเสื้อแดงในปี 2553 อีกด้วย

จึงดูเหมือนว่าสังคมเราไม่ได้เกิดการเรียนรู้จากบทเรียนที่ผ่านมา เรายังก้าวต่อไปด้วยก้าวที่ผิดพลาด ด้วยมายาคติความสงบสุข ปรองดอง ภายใต้อำนาจปืน

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net