สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ: เรื่องพุทธแท้-พุทธเทียม

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

ฝ่ายที่โจมตีฝ่ายวัดพระธรรมกาย มักจะอ้างว่า คำสอนแบบธรรมกายไม่ใช้พุทธ อันที่จริงควรกล่าวให้ชัดเจนว่า คำสอนของฝ่ายธรรมกายมีความแตกต่างกับความเชื่อพุทธกระแสหลักของชนชั้นนำไทย แต่กระนั้น ความเชื่อพุทธหลักในสังคมไทยที่อธิบายกันว่าเป็น “พุทธเถรวาท” นั้น เป็นพุทธของแท้หรือไม่ ในทางประวัติศาสตร์ถือว่ายังเป็นปัญหาที่จะต้องพิจารณา

ทั้งนี้ ศาสนาพุทธถือกันว่าเริ่มต้นมาจากคำสอนของพระพุทธเจ้า แต่ต้องเข้าใจว่า ในสมัยที่พระพุทธองค์ยังคงพระชนม์ชีพ มิได้มีผู้ใดบันทึกคำสอนอย่างเป็นทางการ เพียงแต่เชื่อกันว่า พระอานนท์ ซึ่งเป็นพุทธอนุชา ได้จดจำคำสอนของพระองค์ไว้ได้ทั้งหมด ดังนั้น หลังจากที่พระพุทธองค์เสด็จปรินิพพานไปแล้ว 3 เดือน จึงเกิดการสังคยานาคำสอนของพระพุทธเจ้าที่กรุงราชคฤห์ โดยมีพระมหากัสสปะเป็นประธาน  ร่วมด้วยพระอรหันต์ 500 รูป ประชุมกันอยู่ 7 เดือน พระอานนท์จะเป็นผู้สาธยายหลักธรรมของพระพุทธเจ้า ที่จะเรียกกันว่า พระสูตร ส่วนพระอุบาลีเป็นผู้วิสัชณาพระวินัย พระภิกษุรูปอื่นแสดงความเห็นให้มีข้อยุติร่วมกัน แล้วทั้งหมดท่องจำไว้

ในระยะต่อมา ได้มีพระสาวกสำคัญ นำเอาหลักธรรมในพระสูตรไปแต่งขยายความเพิ่มเติมให้ชัดเจน ในส่วนนี้ จะเรียกว่า พระอภิธรรม จากนั้น จึงได้รวมพระสูตร พระวินัย และพระอภิธรรม ไว้ด้วยกัน เรียกว่า “พระไตรปิฎก” และถือเป็นพระคัมภีร์หลักของศาสนาพุทธ และนับกันว่า การสังคยานาที่นำโดยพระมหากัสสปะนี้ เป็นการสังคยาพระไตรปิฎกครั้งแรก

แต่พระไตรปิฎก ก็มีข้อกังขาบางประการ ตั้งแต่มีการตั้งคำถามว่า เมื่อไม่ได้มีการบันทึกคำสอนของพระพุทธเจ้า จะเชื่อได้หรือไม่ว่า พระอานนท์ถ่ายทอดคำสอนได้ถูกต้อง ในข้อนี้ พุทธบริษัทรุ่นหลังต้องยอมรับตามพระอานนท์ มิฉะนั้น ก็ไม่อาจเข้าถึงคำสอนของพระพุทธเจ้าได้ ปัญหาต่อมา คือเรื่องพระอภิธรรมว่า จะสามารถนับเข้าเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าได้หรือไม่ พระภิกษุรูปสำคัญที่ก่อให้เกิดพระอภิธรรม คือ พระสังคีติกาจารย์ อ้างว่า พระอภิธรรมเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าแน่แท้ เพราะได้ทรงเทศนาโปรดพระพุทธมารดา และเทพเจ้าทั้งปวงบนสวรรค์ จึงตกหล่นจากความทรงจำของพระอานนท์ ด้วยคำอธิบายเช่นนี้ พุทธบริษัทในสมัยนั้น จึงยอมรับว่า พระอภิธรรมเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า อย่างไรก็ตาม ประเด็นเรื่องพระอภิธรรมนี้ นำมาสู่การแยกนิกายของพุทธศาสนาในระยะแรก เพราะจะเกิดนิกาย เรียกว่า สรวาสติวาท ซึ่งเป็นนิกายนับถือพระอภิธรรมอย่างยิ่ง กับนิกายเสาตรนติกะ ซึ่งปฏิเสธพระอภิธรรมทั้งหมด

ปัญหาใหญ่ประการต่อมา ที่นำมาสู่การแตกแยกนิกาย คือปัญหาเรื่องพระวินัยที่ทรงบัญญัติไว้สามารถแก้ไขได้หรือไม่ เรื่องนี้ พระอานนท์ได้ทูลถามพระพุทธเจ้า และได้รับคำตอบว่า สิกขาบทนั้นแก้ไขได้ ในส่วนที่เป็นสิกขาบทเล็กน้อย แต่ต่อมา พระมหากัสสปะได้อธิบายว่า แม้ว่าพระพุทธองค์จะบอกว่า สิกขาบทแก้ได้ แต่ไม่ได้บอกว่าบทไหนแก้ได้บ้าง จึงมีมติว่า ให้คงคำสอนไว้ทุกบทไม่ให้แก้จะดีกว่า

เมื่อเวลาผ่านมาแล้ว 110 ปี ได้มีกลุ่มพระภิกษุวัชชีบุตรเสนอให้แก้พระวินัยเล็กน้อย 10 ข้อ โดยอธิบายว่า พระพุทธองค์ยินยอมให้แก้ไขสักขาบทได้ แต่ผู้ที่ห้ามแก้ไขคือพระมหากัสสปะต่างหาก เหตุการณ์นี้กลายเป็นกรณีใหญ่ นำมาสู่การสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่สอง โดยพระเจ้ากาลาโศก แห่งมคธเป็นผู้สนับสนุน พระสัพพกามีเป็นประธาน มีภิกษุ 700 รูปเข้าร่วม กลุ่มนี้จะเรียกว่า “เถรวาท” และลงมติว่า ฝ่ายวัชชีบุตรนั้นผิดวินัย แต่ฝ่ายวัชชีบุตร ก็ทำสังคยานาของฝ่ายตน มีภิกษุเข้าร่วมนับหมื่นรูป กลุ่มนี้ จะเรียกว่า “มหาสังฆิกะ” ซึ่งถือเป็นนิกายอาจาริยาวาท ในขณะนั้น ฝ่ายเถรวาทเป็นเสียงข้างน้อยในคณะสงฆ์

ในตำนานฝ่ายบาลีเล่าว่า ผลจากการแตกแยกนี้ ทำให้พุทธบริษัทแตกนิกายออกไปถึง 18 นิกาย นิกายที่ใหญ่ที่สุด คือ มหาสังฆิกะ ซึ่งมีการเพิ่มเติมพระอภิธรรม พระวินัย และ ชาดก เข้าไปจำนวนมาก เพื่อที่จะสั่งสอนผู้คนด้วยวิธีการที่กว้างขวางกว่าเดิม พระภิกษุอี้จิงที่เข้ามาในแคว้นมคธภายหลังเล่าว่า คัมภีร์ของมหาสังฆิกะมีถึง 300,000 โศลก และแบ่งเป็น 5 ส่วน ที่เพิ่มมาคือ พระสังยุกต์ และ วิทยาธร

นิกายวัชชีบุตร ยืนยันในหลักการว่า พระวินัยแก้ไขได้ตามสภาพของกาลเวลา และสถานที่ที่เปลี่ยนแปลงไป การคงพระวินัยแบบเดิมไม่ยอมเปลี่ยน ถือว่าขัดต่อมติของพระพุทธองค์ ต่อมา คัมภีร์ของนิกายนี้ ยกย่องธรรมะของพระสารีบุตร และพระราหุล คัมภีร์สำคัญ คือ สารีปุตตธรรม แม้ว่าจะยังยึดหลักอนิจจัง แต่ก็คือว่า ในวัฏสังสาร สังขารบางทีก็ตั้งอยู่ได้ชั่วคราว หรืออยู่ในช่วงที่ยาวมาก เช่น ปฐพีสามารถตั้งอยู่ได้เป็นกัปป์

นิกายเถรวาท ถือว่า ยึดตามหลักการเดิมของพระมหากัสสปะ คือ พระวินัยแก้ไขไม่ได้ และพระไตรปิฎกมีองค์สาม โดยยอมรับพระอภิธรรมไว้ด้วย แต่ที่นิกายทั้งหลายมีความแตกต่างกันไม่มากนัก คือ เรื่องสภาวะของพระพุทธเจ้า คือถือว่าสภาวะของพระพุทธเจ้าย่อมเป็นโลกกุตตระ ทรงทำอริยาบทเช่นมนุษย์ แต่จะไม่มีการเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า ทรงสรงน้ำชำระกาย แต่ไม่มีเหงื่อไคลหรืออาจม ทรงทำความสะอาดพระทนต์ แต่ไม่มีกลิ่นปากหรือขี้ฟัน พระโอษฐ์จะหอมเหมือนดอกบัว กินอาหาร แต่ไม่มีความหิว เมื่อนิทราก็ไม่มีความหลับไม่มีพระสุบิน ทรงมีรูปขันธ์ แต่อยู่เหนือรูปขันธ์ ไม่ทรงแปดเปื้อนโลก เพราะไม่มีตัณหาอุปทาน พระพุทธวัจนะทุกคำเป็นประโยชน์ต่อเวไนยสัตว์เสมอ เป็นสัจวาที ไม่มีประโยคไร้สาระ ทางฝ่ายอาจาริยาวาทจะเน้นลักษณะภาวะเช่นนี้ ส่วนฝ่ายเถรวาทก็อธิบายด้วยคัมภีร์มหาปุริสลักษณะ

ในสมัยพระเจ้าอโศก ซึ่งขึ้นครองราชย์ที่เมืองปาฎลีบุตรราว พ.ศ.273 พระองค์เป็นผู้สนับสนุนนิกายเถรวาท ทางฝ่ายตำนานบาลีเล่าว่า พระองค์ดำเนินการจับพระภิกษุนอกรีตสึกถึง 60,000 รูป ซึ่งอาจตีความได้ว่า พระองค์ใช้อำนาจรัฐจับพระสงฆ์นิกายที่คิดต่างสึกนั่นเอง พระสงฆ์นิกายอื่นจึงต้องหนีออกจากอาณาจักรไปอยู่เมืองอื่น จากนั้น พระองค์ก็นิมนต์ให้พระโมคคัลลีบุตรติสสะ ผู้นำฝ่ายเถรวาท มาทำสังคยานาพระไตรปิฎกเป็นครั้งที่สามเมื่อสำเร็จแล้ว ก็ได้มีการส่งสมณทูตไปยังดินแดนต่างๆ เพื่อเผยแพร่ศาสนา โดยมีคณะหนึ่ง นำโดยพระโอรสของพระองค์ คือ พระมหินทรไปเผยแพร่หลักธรรมเถรวาทที่สังกา ดังนั้น คณะสงฆ์ฝ่ายลังกาจึงรับหลักธรรมของเถรวาท ต่อมา หลักธรรมนี้ก็แผ่เข้าสู่เมืองมอญ นครศรีธรรมราช พม่า ล้านนา และสยาม ศาสนาพุทธในไทยจึงยึดหลักการเถรวาทตามแบบลังกามาตั้งแต่ครั้งนั้น

จึงต้องขอสรุปว่า พุทธเถรวาทแบบสยามก็เป็นเพียงพุทธนิกายหนึ่ง ที่มีกรอบการอธิบายของตนเองชุดหนึ่ง ส่วนใครจะอธิบายว่า นี่เป็นพุทธแท้ และถ้าคิดแบบอื่นจะเป็นพุทธเทียม ก็แล้วแต่การตีความครับ

 

 

หมายเหตุ: เผยแพร่ครังแรกใน โลกวันนี้วันสุข ฉบับ 607 วันที่ 11 มีนาคม 2560

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท