Skip to main content
sharethis

นับตั้งแต่มีการประกาศใช้มาตรา 44 เมื่อคืนวันที่ 15 ก.พ. ปิดล้อมวัดพระธรรมกาย กระทั่ง 10 มี.ค. ดีเอสไอยกเลิกการปิดล้อม แต่จนถึงปัจจุบัน คสช. ยังคงมาตรา 44 เพื่อควบคุมพื้นที่ ดำเนินคดีแล้ว 46 คดี ออกหมายเรียก 317 คน เรียกรายงานตัวมากกว่า 80 คน ในจำนวนนี้เป็นพระสงฆ์ 14 รูป ถอดพระออกจากสมณศักดิ์ 2 รูป ระดมค้นหาพื้นที่เป้าหมายหลายแห่ง แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่พบตัวพระธัมมชโย ไม่มีใครทราบว่าพระธัมมชโยอยู่ที่ไหน และจะใช้มาตรา 44 จนถึงเมื่อไหร่

 

ความคืบหน้าและเหตุการณ์สำคัญหลังประกาศใช้มาตรา 44
ก่อนและหลังการปิดล้อมวัดพระธรรมกาย

คลิกที่นี่เพื่อดูภาพขนาดใหญ่

คลิกที่นี่เพื่อดูภาพขนาดใหญ่

นับตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ใช้มาตรา 44 ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. 5/2560 กลางดึกวันที่ 15 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยมีเป้าหมายเพื่อควบคุมพื้นที่และให้เจ้าหน้าที่ดีเอสไอเข้าไปตรวจค้น พร้อมทั้งควบคุมตัวพระธัมมชโย อดีตเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญา คดีพิเศษที่ 27/2559 โดยถูกกล่าวหาว่า สบคบและร่วมกันฟอกเงินและร่วมกันรับของโจร

การประกาศใช้มาตรา 44 ดังกล่าว นำมาสู่การปิดล้อมและเผชิญหน้ากับพระและศิษย์วัดพระธรรมกาย โดยนอกจากเหตุการตรวจค้นจุดต่างๆ ในวัดและพื้นที่ใกล้เคียง ตลอดจนเหตุเผชิญหน้าและการกระทบกระทั่งแล้ว ยังมีผู้เสียชีวิต 2 ราย โดยหนึ่งรายเสียชีวิตเนื่องจากผูกคอตายประท้วงบนเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์มือถือเรียกร้องให้ คสช. ยกเลิกการใช้มาตรา 44 และอีกหนึ่งราย เป็นศิษย์วัดที่เสียชีวิตเนื่องจากป่วยด้วยโรคหอบหืดกำเริบ โดยทางวัดแถลงว่ารถกู้ชีพมาไม่ทันเนื่องจากติดด่าน ขณะที่ดีเอสไอแถลงแก้ข่าวว่ารถกู้ชีพเข้าที่เกิดเหตุได้ภายใน 10 นาที

อนึ่งนับตั้งแต่หลังวันที่ 10 มี.ค. ดีเอสไอแถลงยกเลิกมาตรการปิดล้อมวัดพระธรรมกาย และ แต่ยังคงตรึงกำลังเจ้าหน้าที่โดยรบุว่าเพื่อเฝ้าระวังมือที่สาม และจนถึงปัจจุบัน (16 มี.ค.) รัฐบาล คสช. ยังคงบังคับใช้มาตรา 44 อยู่ มีการดำเนินคดีแล้ว 46 คดี มีบุคคลถูกออกหมายเรียก 317 คน มีการเรียกบุคคลรายงานตัว 80 คน ในจำนวนนี้เป็นพระสงฆ์ 14 รูป นอกจากนี้ยังถอดพระออกจากสมณศักดิ์ 2 รูป

และตั้งแต่ที่มีการประกาศใช้มาตรา 44 มีการระดมเจ้าหน้าที่เพื่อค้นหาหลายวันและหลายพื้นที่เป้าหมาย แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่พบตัวพระธัมมชโย อดีตเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย และไม่มีใครทราบว่าพระธัมมชโยปัจจุบันอยู่ที่ไหน

ความคืบหน้าและเหตุการณ์สำคัญหลังประกาศใช้มาตรา 44
ก่อนและหลังการปิดล้อมวัดพระธรรมกาย

ที่มา: เรียบเรียงจาก เว็บไซต์ข่าวสด, เว็บไซต์บีบีซีไทย, เพจดีเอสไอ และเว็บไซต์ราชกิจจาบุเบกษา

15 ก.พ. 2560 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศใช้มาตรา 44 ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. 5/2560 กลางดึก ควบคุมพื้นที่รอบวัดพระธรรมกาย ให้อธิบดีดีเอสไอรับผิดชอบปฏิบัติการ

16 ก.พ. 2560 กำลังผสมดีเอสไอ ตำรวจ ทหาร 4,200 นาย ปิดถนนรอบวัดพระธรรมกายตั้งแต่เช้าตรู่ เข้าตรวจค้นภายในวัดพระธรรมกายด้านโซนเอและโซนซี 196 ไร่ ไม่พบพระธัมมชโย

17 ก.พ. 2560 กำลังผสมดีเอสไอตรวจค้นพื้นที่โซนบี 2,000 ไร่ โดยเฉพาะทางเดินใต้อาคารภาวนา 60 ปี แต่สุดท้ายเจออุโมงค์ตัน

18 ก.พ. 2560 ศิษย์วัดพระธรรมกายใช้โซเชียลมีเดียชักชวนให้ญาติโยมมาที่วัดเพื่อเรียกร้องให้ยกเลิกการใช้มาตรา 44

19 ก.พ. 2560 เกิดเหตุเผชิญหน้าระหว่างเจ้าหน้าที่ดีเอสไอและพระสงฆ์

อธิบดีดีเอสไอ ออกคำสั่งให้ทุกคนออกจากวัดพระธรรมกายก่อนเวลา 15.00 น. และเรียกพระธัมมชโยและพระสงฆ์ของวัดธรรมกายรวม 14 รูป ให้มารายงานตัวก่อนเวลา 18.00 น. แต่ไม่มีพระสงฆ์รูปใดมารายงานตัว

20 ก.พ. 2560 เจ้าหน้าที่เผชิญหน้ากับพระสงฆ์และศิษย์วัดพระธรรมกายแต่ไม่มีเหตุปะทะ ด้านวัดพระธรรมกายเรียกร้องให้ยกเลิกการใช้มาตรา 44 เสียก่อนจึงจะยอมเจรจาด้วย

21 ก.พ. 2560 ดีเอสไอเจรจาขอตรวจค้นวัดพระธรรมกายในโซนบี 2,000 ไร่ พระทัตตชีโว รองเจ้าอาวาสปฏิเสธ

ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการปิดล้อมวัดพระธรรมกายเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่เปิดเส้นทาง

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยืนยันว่าจะไม่ยกเลิกการใช้มาตรา 44 จนกว่าพระธัมมชโยจะมอบตัว

22 ก.พ. 2560 ผู้ว่าราชการ จ.ปทุมธานี ออกคำสั่งให้ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 6 คน ออกนอกพื้นที่

พระสงฆ์วัดพระธรรมกาย 7 รูป อดอาหารเรียกร้องให้ยกเลิกมาตรา 44

23 ก.พ. 2560 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ระบุว่าผ่านไป 1 ปียังจับพระธัมมชโยไม่ได้ ก็จะยังปิดล้อมวัดพระธรรมกายต่อไป

ตำรวจคุมตัวพระสงฆ์ 6 รูป และบุคคลอีก 20 คนมาสอบสวน อ้างว่าเข้าข่ายขัดขวางการปฏิบัติงานเจ้าหน้าที่

24 ก.พ. 2560 ดีเอสไอ ประสาน กสทช. ตัดสัญญาณโทรศัพท์และอินเตอร์เน็ตรอบวัดพระธรรมกาย

พระมหานพพร ปุญญชโย 1 ใน 14 รูป ที่ถูกเรียกให้มารายงานตัวเมื่อ 19 ก.พ. มารายงานตัวต่อดีเอสไอ

25 ก.พ. 2560 หัวหน้า คสช. ใช้มาตรา 44 ปลดพนม ศรศิลป์ จากตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และตั้งให้ พ.ต.ท.พงศ์พร พราหมณ์เสน่ห์ ผู้บัญชาการสำนักคดีภาษีอากร ดีเอสไอ มาดำรงตำแหน่ง

อนวัช ธนเจริญณัฐ อายุ 64 ปี ผูกคอเสียชีวิต หลังปีนขึ้นไปบนเสาส่งโทรศัพท์เรียกร้องให้เลิกใช้มาตรา 44

28 ก.พ. 2560 ฌาปนกิจศพ อนวัช ธนเจริญณัฐ ที่วัดเขียนเขต (พระอารามหลวง) ต.บึงยี่โถ อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี

1 มี.ค. 2560 พัฒนา เชียงแรง อายุ 48 ปี ลูกศิษย์วัดพระธรรมกาย เสียชีวิตด้วยโรคหอบหืด ที่แฟลตเจ้าหน้าที่วัดพระธรรมกาย ด้านหลังวัด เนื่องจากไม่สามารถนำรถกู้ชีพเข้าไปช่วยได้ทันเวลาเพราะติดด่านทหาร ขณะที่ดีเอสไอปฏิเสธว่ารถกู้ชีพสามารถเข้าที่เกิดเหตุได้ภายใน 10 นาที

4 มี.ค. 2560 ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ถอดถอนสมณศักดิ์พระเทพญาณมหามุนี หรือพระไชยบูลย์ ธัมมชโยเหตุไม่ยอมมอบตัวตามหมายเรียก และได้หลบหนีคดีร่วมกันฟอกเงิน สมคบกันฟอกเงิน และรับของโจรตามที่ศาลอาญาอนุมัติหมายจับ

5 มี.ค. 2560 ศิษย์วัดพระธรรมกายจัดงานบูชาข้าวพระที่ตลาดกลางคลองหลวง พร้อมกับกิจกรรมภายในวัดพระธรรมกาย ทั้งนี้ตลอดช่วงที่มีการปิดล้อม พระสงฆ์และศิษย์วัดพระธรรมกายที่เข้าไปในวัดพระธรรมกายไม่ได้จะรวมตัวกันที่ตลาดกลางคลองหลวง และร่วมกันสวดมนต์ภาวนาทุกวัน

8 มี.ค. 2560 พระปลัดเสกสรรค์ อัตตทโม พระลูกวัดพระธรรมกาย มาที่ สภ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี รับทราบข้อกล่าวหาฐานฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 5/2560 และพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหายุยง ปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญา ม.116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ รวมทั้งสิ้น 3 ข้อหา

มีเยาวชนอายุ 14 ปี ถูกควบคุมตัวที่สถานพินิจฯ หลังชูป้ายค้านมาตรา 44

พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ระบุว่า ตำรวจดำเนินคดีต่อวัดพระธรรมกายแล้ว 340 คดี และออกหมายจับไปแล้ว 20 คดี

ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ถอดถอนสมณศักดิ์พระราชภาวนาจารย์ หรือพระเผด็จ ทัตตชีโว

9 มี.ค. 2560 พระสนิทวงศ์ วุฑฒิวังโส ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารองค์กร วัดพระธรรมกาย มาที่กองบังคับการปราบปราม เข้าพบพนักงานสอบสวนตามหมายจับศาลอาญา ข้อหาหมิ่นประมาท, ข้อหายุยงปลุกปั่น มาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ โดยให้ประกันตัวในวงเงิน 400,000 บาท

ศรวรรณ ศิริสุนทรินทร์ หรือ “ป้าเช็ง” เจ้าของตลาดกลางคลองหลวง เข้าพบดีเอสไอ โดยยืนยันว่าให้ใช้พื้นที่จัดทำบุญเมื่อ 5 มี.ค. ที่ผ่านมาจริง เพราะเป็นลูกศิษย์ของทุกศาสนาจึงอนุญาต

10 มี.ค. 2560 ดีเอสไอตรวจค้นอาคารบุญรักษาไม่พบสิ่งผิดปกติ

พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีดีเอสไอ แถลงยุติการปิดล้อมวัดพระธรรมกาย โดยจะร่วมกับวัดรื้อถอนสิ่งกีดขวางโดยรอบเพื่อให้วัดเข้าสู่สภาพปกติโดยเร็ว จะยุติการเข้าตรวจค้นวัด แต่ยังคงตรึงกำลังทุกจุดเหมือนเดิม แต่ลดจำนวนลงเพื่อป้องกันมือที่สาม

และหากวัดเข้าสู่สภาพปกติจะเสนอ รมว.ยุติธรรม ยกเลิกการใช้ ม.44 รวมถึงเปิดให้ใช้สัญญาณโทรศัพท์ตามปกติ

ขณะที่การตรวจค้นตั้งแต่วันที่ 16 ก.พ. ที่ผ่านมา มีคดีอาญาเกิดขึ้นจำนวน 43 คดี มีบุคคลถูกออกหมายเรียก 316 คน และ เรียกรายงานตัว 80 คน

12 มี.ค. 2560 ช่วงเช้าตรู่เจ้าหน้าที่ดีเอสไอและเจ้าหน้าที่ตำรวจ นำหมายค้นศาลจังหวัดธัญบุรี ลงวันที่ 11 มี.ค.60 เข้าตรวจสอบ “อารามปริสุทโธ” เลขที่ 12/19 ถนนมงคลเศรษฐี ต.คลองสาม อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี อยู่เลยวัดพระธรรมกายด้านประตู 1 ราว 2 กิโลเมตร โดยอยู่นอกพื้นที่ประกาศใช้ ม.44 ผลการค้นหาไม่พบพระธัมมชโย พบเพียงเสื้อยืดแขนยาวสีเหลือง 2 ตัว

13 มีนาคม 2560 พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบก ในฐานะโฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เปิดเผยว่า ยังไม่มีการยกเลิกการบังคับใช้มาตรา 44 แต่ผ่อนคลายให้ภายในวัดพระธรรมกายปฏิบัติศาสนกิจตามปกติ คนภายนอกเข้าไปในพื้นที่วัดได้

“ข่าวสด” เผยว่า มีการประชุมเจ้าหน้าที่ 3 ฝ่าย ทหาร ตำรวจ และดีเอสไอ เพื่อเตรียมเข้าตรวจสอบสาขาวัดพระธรรมกายในภาคเหนือ โดยเฉพาะ จ.เชียงใหม่ เพื่อติดตามหาตัวพระธัมมชโยว่าหลบซ่อนอยู่ที่ไหน รวมทั้งบ้านพักของลูกศิษย์ด้วย

14 มี.ค. 2560 พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ รองโฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ กล่าวว่ามิวสิควิดีโอเพลงแปลงเนื้อหาเกี่ยวกับวัดพระธรรมกาย หากเจ้าของลิขสิทธิ์ได้รับความเสียหายก็แจ้งความได้ ส่วนเนื้อหาเพลงหากเข้าข่ายยุยงปลุกปั่นจะดำเนินคดีทันที

พระสงฆ์วัดพระธรรมกาย 10 รูป จาก 14 รูป ที่ถูกดีเอสไอสั่งให้มารายงานตัวเมื่อ 19 ก.พ. และไม่ยอมมารายงานตัว เดินทางมารับทราบข้อกล่าวหาที่ สภ.คลองห้า จ.ปทุมธานี ส่วนพระอีก 3 รูป ได้แก่ พระทัตตชีโว อ้างว่าอาพาธ และอีก 2 รูปคือพระมหาสมชาย ฐานวุฑโฒ และพระครูใบฎีกา อำนวยศักดิ์ มุนิสโก ระบุว่าจะเดินทางมารับทราบข้อกล่าวหาภายหลัง ส่วนพระธัมมชโย อดีตเจ้าอาวาส ยังไม่ปรากฏตัว

กองบังคับการปราบปรามแจ้งข้อกล่าวหาลีลาวดี วัชโรบล อดีต ส.ส.เพื่อไทย ลูกศิษย์วัดพระธรรมกาย ข้อหายุยงปลุกปั่นตามมาตรา 116 พร้อมเปิดเผยว่ามีการดำเนินคดีแล้ว 46 คดี อยู่ในความรับผิดชอบกองปราบ 4 คดี สภ.คลองหลวง 28 คดี และ สภ.คลองห้า 14 คดี

16 มี.ค. 2560 พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ รองโฆษกดีเอสไอ เผยออกหมายเรียกบุคคลแล้ว 317 ราย เข้าพบแล้ว 171 ราย

 

วัดพระธรรมกายใหญ่แค่ไหน

 

ขนาดของวัดพระธรรมกายและเปรีบเทียบกับสถานที่ต่างๆ คลิกที่นี่เพื่อดูภาพขนาดใหญ่

ที่ตั้งของวัดพระธรรมกายตั้งอยู่ที่ ต.คลองสาม อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี เริ่มต้นก่อตั้งเมื่อ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2513 โดยใช้ชื่อ "ศูนย์พุทธจักรปฏิบัติธรรม" และต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น "วัดวรณีธรรมกายาราม" ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น "วัดพระธรรมกาย" จนถึงปัจจุบัน และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2522

แม่ชีจันทร์ ขนนกยูง และศิษยานุศิษย์วัดพระธรรมกายในยุคบุกเบิก (ที่มา: DMCTV)

โดยแม่ชีจันทร์ ขนนกยูง พระธัมมชโย และศิษยานุศิษย์ ได้สร้างวัดพระธรรมกายขึ้นภายใต้แนวคิด “สร้างวัดให้เป็นวัด สร้างพระให้เป็นพระ และสร้างคนให้เป็นคนดี” และยึดหลักปฏิรูปเทส 4 ของพระพุทธเจ้า ได้แก่ อาวาสเป็นที่สบาย อาหารเป็นที่สบาย บุคคลเป็นที่สบาย และธรรมะเป็นที่สบาย โดยมุ่งจูงใจคนให้อยากเข้าวัดปฏิบัติธรรม

แต่เดิมวัดพระธรรมกายมีขนาด 196 ไร่ และในปี 2527 ได้มีแนวคิดขยายพื้นที่ไปทางด้านตะวันตกของที่ดินเดิมอีก 2,000 ไร่ ทำให้ปัจจุบันมีขนาด 2,196 ไร่ หรือ 3,513,600 ตารางเมตร หรือ 3.15 ตารางกิโลเมตร โดยมีขนาดพื้นที่ใหญ่กว่ารัฐวาติกัน ที่มีขนาด 440,000 ตารางเมตร หรือ 0.44 ตารางกิโลเมตร รวมทั้งใหญ่กว่า มัสยิดอัลฮะรอม นครเมกกะ ประเทศซาอุดิอาระเบีย ที่มีขนาด 400,000 ตารางเมตร หรือ 0.40 ตารางกิโลเมตร

 

สถานที่สำคัญในวัดและพื้นที่เป้าหมายของดีเอสไอ

คลิกที่นี่เพื่อดูภาพขนาดใหญ่

สถานที่สำคัญในวัดพระธรรมกายและข้างเคียง และพื้นที่เป้าหมายในการตรวจค้นของดีเอสไอในช่วงปิดล้อมวัดพระธรรมกาย

อุโบสถวัดพระธรรมกาย

ก่อสร้างปลายปี พ.ศ. 2520 เสร็จสมบูรณ์เมื่อวันศุกร์ที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2525 เป็นสถาปัตยกรรมแบบไทยประยุกต์ มีวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหารเป็นต้นแบบ การออกแบบยึดหลักความแข็งแรง คงทน เรียบง่าย มีช่อฟ้าคู่ หลังคาโค้ง ภายในอุโบสถรองรับพระภิกษุเข้าร่วมประกอบสังฆกรรมพร้อมกันได้ครั้งละ 200 รูป โดยเว็บไซต์วัดพระธรรมกายระบุว่าอุปสมบทพระภิกษุแล้วหลายหมื่นรูป

ล่าสุด มีแผนขยายพื้นที่เป็น “อุโบสถพระไตรปิฎก” เพื่อรองรับจำนวนพระสงฆ์ที่เพิ่มมากขึ้น โดยเพิ่งมีการประกอบพิธีโปรยรัตนชาติและปิดทองเสามงคลสร้างอุโบสถพระไตรปิฎก เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2560

มหาวิหารคุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง

เป็นวิหารสีทองทรงพีระมิดหกเหลี่ยม สูง 29 เมตร ตั้งบนเกาะแก้วกลางน้ำอยู่ใกล้อุโบสถวัดพระธรรมกาย ตอกเสาเข็มต้นแรกวันที่ 14 มีนาคม 2545 และยกยอดมหาวิหารวันที่ 10 กันยายน2546 ตรงกับวันครบรอบ 3 ปีของการละสังขารของแม่ชีจันทร์ ขนนกยูง ผู้ก่อตั้งวัดพระธรรมกาย และวางรากฐานด้านงานจัดการและงานบุญของวัด โดยมหาวิหารหลังนี้สร้างขึ้นรำลึกถึงแม่ชีจันทร์และประกาศเกียรติคุณที่แม่ชีจันทร์ ที่มีต่อพระพุทธศาสนาและชาวโลก

หอฉันคุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง

สร้างขึ้นเพื่อเป็นสถานที่ฉันภัตตาหารของพระภิกษุ สามเณร เพื่อระลึกถึงพระคุณของแม่ชีจันทร์ ขนนกยูง ที่ได้สร้างโรงครัวและโรงทานขึ้น ณ วัดพระธรรมกาย เพื่อให้พระภิกษุ สามเณร มีภัตตาหารฉันโดยไม่ต้องออกบิณฑบาต จะได้มีเวลาปฏิบัติสมณกิจได้อย่างเต็มที่ หอฉันดังกล่าวตอกเสาเข็มต้นแรกวันที่ 19 มกราคม 2546 และทำพิธีเปิดป้ายมงคลหอฉันวันที่ 19 มกราคม 2547 สามารถรองรับพระภิกษุ สามเณร ได้ถึง 6,000 รูป

อาคาร 100 ปีคุณยายอาจารย์ฯ

อาคาร 100 ปีคุณยายอาจารย์ฯ หรือชื่อเต็มคือ “อาคาร 100 ปีคุณยายอาจารย์ฯ เพื่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนา วิชชาธรรมกายไปทั่วโลก” รูปทรงกลมของอาคารยังสื่อถึงการเผยแผ่พระพุทธศาสนา วิชชาธรรมกาย เพื่อนำพาชาวโลกทุกคนให้เข้าถึง "ดวงธรรม" และ "พระธรรมกายภายใน" และใช้เป็นสถานที่เรียนพระปริยัติธรรม เป็นศูนย์กลางการศึกษาภาษาบาลีของโลก และเป็นศูนย์กลางงานอบรมศีลธรรม

สำหรับอาคาร 100 ปีคุณยายอาจารย์ฯ เริ่มสร้างตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายน 2553 โดยในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2558 สำนักข่าวอิศรา เคยไปตรวจสอบอาคารดังกล่าวซึ่งในเวลานั้นยังอยู่ระหว่างก่อสร้าง หลังมีข่าว “ศุภชัย ศรีศุภอักษร” อดีตประธานสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น เซ็นจ่ายเช็คเงินสดให้กับ พระธมฺมชโย จำนวน 15 ฉบับ วงเงินกว่า 714 ล้านบาท และเงินดังกล่าวถูกนำไปใช้ก่อสร้างอาคาร "100 ปีคุณยาย" ซึ่งมีวงเงินลงทุนถึง 3 พันล้านบาท

ปัจจุบัน “อาคาร 100 ปี คุณยาย” ยังไม่เปิดใช้อาคารเต็มที่ โดยอยู่ในขั้นตอนทดสอบระบบ อย่างไรก็ตาม “อาคาร 100 ปีคุณยาย” ก็ตกเป็นเป้าหมายการตรวจค้นของกรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอด้วยเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2560 และวันที่ 10 มีนาคม 2560 เนื่องจากในอาคารมีห้องควบคุมที่ใช้สังเกตการณ์จากกล้องวงจรปิดกว่า 200 ตัว และชั้น 15 ของอาคารสามารถมองเห็นความเคลื่อนไหวของเจ้าหน้าที่ได้ทั้งหมด โดยต่อมาพระสนิทวงศ์ วุฑฒิวังโส ผอ.สำนักสื่อสารองค์กร วัดพระธรรมกาย ชี้แจงกับหนังสือพิมพ์ไทยรัฐว่าห้องสังเกตการณ์ หรือห้องมอนิเตอร์กล้องวงจรปิดอยู่ที่ชั้น 1 ของอาคาร ส่วนชั้น 6 ที่เจ้าหน้าที่เชื่อว่าเป็นที่หลบซ่อนของพระธัมมชโยก็เป็นเพียงห้องประชุมเท่านั้น

อาคารดาวดึงส์

กรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอ เคยเชื่อว่าเป็นที่พักของพระธัมมชโย แต่จากการตรวจค้นในวันแรกและวันที่สอง คือวันที่ 16 และ 17 กุมภาพันธ์ ไม่พบพระธัมมชโย จึงมีการอายัดอาคารดาวดึงส์ และอาคารบ้านพักโดยรอบ 15 หลัง และตรวจยึด “เครื่องไฮเปอร์แบริค แชมเบอร์” ซึ่งมีการส่งมอบจากโรงพยาบาลยันฮี โดยเจ้าหน้าที่พบว่าอุปกรณ์ดังกล่าวใช้การได้ แต่ไม่ได้ใช้งานนานแล้ว ด้านพระสนิทวงศ์ วุฑฒิวังโส ฝ่ายสื่อสารองค์กร วัดพระธรรมกาย ชี้แจงว่าใช้สำหรับรักษาอาการอุดตันของเส้นเลือดที่ขาของพระธัมมชโย (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

อาคารบุญรักษา

เริ่มต้นก่อสร้างขึ้นในปี 2557 เพื่อใช้เป็นสถานรักษาพยาบาล อยู่ในพื้นที่ 57 ไร่ สูง 7 ชั้น 135 ห้อง อาคารอยู่ระหว่างการก่อสร้างและตกแต่งภายใน ถูกตรวจค้นในวันที่ 10 มีนาคม 2560 แต่ไม่พบสิ่งผิดปกติ

มหาวิหารพระมงคลเทพมุนี

มหาวิหารพระมงคลเทพมุนีมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 108 เมตร ก่อสร้างเมื่อ 3 มีนาคม 2539 เสร็จสิ้นเมื่อ 10 ตุลาคม 2546 ตรงกับวันเกิดของพระมงคลเทพมุนี (สด จันทสโร) หลวงพ่อวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ โดยยังเป็นที่ประดิษฐานรูปหล่อทองคำแท้ขนาดหนึ่งเท่าครึ่งขององค์จริงของพระมงคลเทพมุนี มหาวิหารดังกล่าวก่อสร้างขึ้นโดยดำริของพระธัมมชโย เพื่อรำลึกถึงพระมงคลเทพมุนี ผู้คนพบ “วิชชาธรรมกาย” โดยออกแบบให้รูปทรงของวิหารอยู่เหนือกาลเวลา ไม่ว่าในปัจจุบันหรืออนาคตจึงออกแบบเป็นรูปทรงกลม ซึ่งเป็นรูปทรงของดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และดวงดาว

สภาธรรมกายสากล วัดพระธรรมกาย

เป็นศาลาอเนกประสงค์ขนาดใหญ่ 2 ชั้น มีพื้นที่ 126 ไร่เศษ หรือขนาดใหญ่กว่าสนามหลวงเกือบ 2 เท่า ชั้นบนเป็นสถานที่ทำสมาธิภาวนาและฟังธรรมในวันอาทิตย์และวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา รองรับคนได้ประมาณ 300,000 คน และมีรัตนบัลลังก์เป็นที่นั่งสำหรับพระภิกษุกว่าพันรูป

ส่วนชั้นล่างเป็นลานจอดรถยนต์ และมีศูนย์ประชุมประกอบด้วยห้องประชุมหลายขนาด ตั้งแต่ 500 คนขึ้นไป สำหรับใช้อบรมศีลธรรม และยังมีศูนย์เด็กเพื่อดูแลเด็กเล็กที่ติดตามผู้ปกครองมาวัด โดยมีอาสาสมัครเป็นพี่เลี้ยงคอยดูแล

มหาธรรมกายเจดีย์

เป็นเจดีย์ทรงครึ่งวงกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง 194.4 เมตร สูง 32.4 เมตร ตอกเสาเข็มต้นแรกวันที่ 8 กันยายน 2538 หล่อองค์พระประจำตัวครั้งสุดท้ายวันที่ 22 เมษายน 2553 โดยมหาธรรมกายเจดีย์มีรูปแบบเดียวกับมหาวิหารพระมงคลเทพมุนี และเป็นรูปทรงเดียวกับสถูปสาญจี ที่ประเทศอินเดีย โดยผู้ร่วมสร้างมหาธรรมกายเจดีย์ จะได้รับการระบุชื่อในพระธรรมกายประจำตัวปรากฏอยู่ที่ฐานเจดีย์ โดยในเว็บไซต์ของวัดระบุว่าบรรจุไว้ 1,000,000 องค์ นอกจากนี้ยังระบุว่าออกแบบด้วยหลักวิศวกรรมและใช้วัสดุพิเศษเพื่อให้อยู่คงทนกว่า 1,000 ปี

สำหรับมหาธรรมกายเจดีย์มีส่วนที่เป็นวงแหวนล่างสุดของเจดีย์ใช้เป็นที่นั่งของพระภิกษุ 10,000 รูป ส่วนบริเวณรอบมหาธรรมกายเจดีย์มี “ลานธรรม” ใช้เป็นที่ประกอบศาสนพิธี รองรับประชาชนได้ 400,000 คน

มหารัตนวิหารคด

เป็นอาคารขนาดใหญ่ 2 ชั้น สร้างขึ้นรอบลานธรรม สถาปัตยกรรมเน้นความเรียบง่าย ใช้งานได้อย่างคุ้มค่า และคงทนถาวร สถาปนาขึ้นเมื่อวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2547 โดยพื้นที่มหารัตนวิหารคดสามารถรองรับประชาชนได้ 600,000 คน หากรวมกับพื้นที่ในลานธรรมก็จะสามารถรองรับได้ถึง 1,000,000 คน โดยวัดพระธรรมกายมักใช้พื้นที่บริเวณมหาธรรมกายเจดีย์ และมหารัตนวิหารคดจัดกิจกรรมทางพุทธศาสนา

อาคาร 60 ปีพระราชภาวนาวิสุทธิ์

ด้านหลังของมหาธรรมกายเจดีย์ เป็นบริเวณที่เรียกว่า “อาคาร 60 ปีพระราชภาวนาวิสุทธิ์” เป็นอาคารปฏิบัติธรรมพร้อมที่พัก โดยในเว็บไซต์วัดพระธรรมกายระบุว่า เพื่อใช้รองรับผู้เชี่ยวชาญในการปฏิบัติธรรม อยู่ปฏิบัติธรรมอย่างต่อเนื่องระยะยาว จำนวน 500 คน ตลอดทั้งโครงการมีเนื้อที่ 358,853 ตารางเมตร หรือประมาณ 225 ไร่

อาคารหลักมีลักษณะเป็นทรงโดมพร้อมเชิงลาด เหมือนรูปทรงของมหาธรรมกายเจดีย์ โครงสร้างทำจากคอนกรีตผสมชนิดพิเศษเสริมเหล็ก มีแผ่นโลหะสแตนเลสเคลือบอนุภาคทองคำแท้ประกอบปิดรอบนอก ภายในประดิษฐานองค์พระธรรมกายทองคำบริสุทธิ์เป็นพระประธาน ภายนอกประดิษฐานพระธรรมกายขนาดเล็กทำจากซิลิกอนบรอนซ์เคลือบอนุภาคทองคำ 300,000 องค์ ซึ่งหล่อขึ้นเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2547 และมีพิธีประดิษฐานองค์พระรอบอาคารเมื่อ 27 สิงหาคม 2547 มีอาคารที่พักทางด้านทิศตะวันออก และตะวันตก

ขณะเดียวกันเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2560 พ.ต.ต.สุริยา สิงหกมล รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ร่วมกับพระสนิทวงศ์ วุฑฒิวังโส ผอ.ฝ่ายสื่อสารองค์กรวัดพระธรรมกาย ได้นำสื่อมวลชนตรวจสอบพื้นที่ใต้บ่อน้ำพุ ความสูง 12 ชั้น ซึ่งตั้งอยู่หลังพื้นที่ด้านหลัง “อาคาร 60 ปีพระราชภาวนาวิสุทธิ์” หลังมีข้อมูลระบุว่าเป็นอุโมงค์ลับ แต่หลังจากการตรวจสอบแล้ว ต่อมาเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ ไทยรัฐออนไลน์รายงานคำแถลงของ พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ รองโฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ ที่ระบุว่าอุโมงค์ใต้ “อาคาร 60 ปี พระราชภาวนาวิสุทธิ์” เป็นอุโมงค์ที่ใช้บำบัดน้ำเสีย โดยมีทางเดินลงไป และมีทางแยกออกไปซ้ายและขวา แต่ละฝั่งยาว 1.5 กิโลเมตร แต่เป็นอุโมงค์ตัน ไม่ใช่ทางหลบหนี

 

พื้นที่ภายนอกวัดพระธรรมกาย

บ้านสวนตะวันธรรม

เป็นกลุ่มอาคารชุด 5 หลัง อยู่นอกวัดพระธรรมกาย โดยตั้งอยู่ทางทิศเหนือของวัดพระธรรมกาย โดยเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2560 ไทยรัฐออนไลน์ รายงานว่า เจ้าหน้าที่ดีเอสไอได้เข้าตรวจค้นกลุ่มอาคารดังกล่าว แต่ไม่พบตัวพระธัมมชโย พบเพียงพระสงฆ์สัญชาติพม่า 3 รูป ที่ระบุว่ามาปฏิบัติธรรมที่วัดพระธรรมกาย เจ้าหน้าที่จึงประสานตำรวจตรวจคนเข้าเมืองมาตรวจสอบ

ตลาดกลางคลองหลวง

ศิษย์วัดพระธรรมกายรวมตัวทำกิจกรรมคู่ขนานในช่วงที่เจ้าหน้าที่กำลังผสมดีเอสไอปิดล้อมวัดพระธรรมกาย (ที่มา: เพจคนวัดจัดเต็ม)

บริเวณตลาดที่เยื้องกับหน้าวัดพระธรรมกาย กลายเป็นจุดรวมตัวของศิษยานุศิษย์ที่ไม่สามารถเข้าไปในวัดพระธรรมกาย ในช่วงที่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ-ทหารปิดล้อมวัดพระธรรมกาย โดยมีการรวมตัวกันหนาแน่นในช่วงเย็น นอกจากนี้เมื่อวันอาทิตย์ที่ 5 มีนาคมก็มีการจัดกิจกรรมบูชาข้าวพระคู่ขนานไปกับภายในวัดพระธรรมกายอีกด้วย

อารามปริสุทโธ

ตั้งอยู่ที่ ถ.มงคลเศรษฐี ต.คลองสาม อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี อยู่เลยวัดพระธรรมกายด้านประตู 1 ราว 2 กิโลเมตร โดยอยู่นอกพื้นที่ประกาศใช้มาตรา 44 เจ้าหน้าที่ดีเอสไอและตำรวจอ้างว่ามีการเข้าออกอย่างผิดปกติของพระผู้ใหญ่วัดพระธรรมกาย จึงเข้าตรวจค้นเมื่อเช้าตรู่วันที่ 12 มีนาคม โดยนำหมายค้นจากศาลจังหวัดธัญบุรี ลงวันที่ 11 มี.ค. 60 เข้าตรวจสอบพบเพียงเสื้อยืดแขนยาวสีเหลือง 2 ตัว และเอกสารเกี่ยวกับการแถลงข่าวเรื่องวัดพระธรรมกาย แต่ไม่พบพระธัมมชโย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net