Skip to main content
sharethis

อ่านเปรียบเทียบรัฐธรรมนูญ 2560 กับฉบับร่างก่อนลงประชามติ โดยมีการแก้ไขบทเฉพาะกาล มาตรา 272 ให้สอดคล้องกับคำถามพ่วง เปิดทางวุฒิสภาสมัยแรกที่มาจากการแต่งตั้งร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี และแก้ไขอีก 7 มาตรา ตามที่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 4 บัญญัติให้นายกรัฐมนตรีขอรับพระราชทานร่างรัฐธรรมนูญคืนมาแก้ไขเพิ่มเติมเฉพาะบางประเด็นได้

โดยมีการตัดมาตรา 5 องค์กรแก้วิกฤต แก้ไขมาตรา 12 คุณสมบัติองคมนตรี มาตรา 15 อำนาจการแต่งตั้งและการให้ข้าราชการในพระองค์พ้นจากตำแหน่ง มาตรา 16 มาตรา 17 การตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์หรือไม่ก็ได้ เมื่อพระมหากษัตริย์จะไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักร มาตรา 19 ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ซึ่งเคยได้รับการแต่งตั้งและปฏิญาณตนมาแล้ว ไม่ต้องปฏิญาณตนที่รัฐสภาอีก และมาตรา 182 เกี่ยวกับเรื่องผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ

พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ (แถวนั่งขวา) พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ (แถวนั่งซ้าย) และคณะองคมนตรีร่วมงานพระราชพิธีประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ที่พระที่นั่งอนันตสมาคม (ที่มา: โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย)

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ในงานพระราชพิธีประกาศใช้รัฐธรรมนูญ โดย พล.อ.ประยุทธ์ จะยังคงมีอำนาจในการบริหารประเทศต่อไปภายหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 โดยตามมาตรา 265 ในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ 2560 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. จะปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ที่ตั้งขึ้นภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรก (ที่มา: โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย)

 

6 เม.ย. 2560 ภายหลังจากที่ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง) ต่อมาผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่ออ่านเนื้อหาในรัฐธรรมนูญ 2560 เปรียบเทียบกับ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ พบว่า นอกจากส่วนของคำปรารภที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมให้สอดคล้องกันแล้ว มีการแก้ไขเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ 2 ส่วน รวมแก้ไขทั้งสิ้น 8 มาตราดังนี้

ส่วนแรก เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมในบทเฉพาะกาล มาตรา 272 เพื่อให้สอดคล้องกับคำถามพ่วงในการลงประชามติ 7 สิงหาคม 2559

และ ส่วนที่สอง เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมหลายมาตรา รวม 7 มาตรา ทั้งนี้เป็นตามที่ระบุไว้ในมาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 4) พุทธศักราช 2560 ที่บัญญัติว่ากรณีที่พระมหากษัตริย์พระราชทานข้อสังเกตว่าสมควรแก้ไขเพิ่มเติมข้อความใดภายในเก้าสิบวัน ให้นายกรัฐมนตรีขอรับพระราชทานร่างรัฐธรรมนูญนั้นคืนมา เพื่อดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมเฉพาะประเด็นตามข้อสังเกตนั้น

โดยในส่วนหลังนี้พบว่ามีการแก้ไขข้อความในรัฐธรรมนูญ ประกอบด้วย มาตรา 5 มาตรา 12 มาตรา 15 มาตรา 16 มาตรา 17 มาตรา 19 และมาตรา 182

โดยเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ 2560 ที่มีการเปลี่ยนแปลงเมื่อเปรียบเทียบกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ มีรายละเอียดดังนี้

 

มาตรา 5 ตัดเนื้อหาที่เกี่ยวกับองค์กรแก้วิกฤต

ในส่วนของมาตรา 5 มีการตัดทอนข้อความเดิมในร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติออกทั้งหมด 4 วรรค ตั้งแต่วรรค 3 จนถึง วรรค 6 โดยแต่เดิม ในมาตรา 5 ของร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ มีเนื้อหาเกี่ยวกับการอุดช่องว่างทางรัฐธรรมนูญและองค์กรแก้วิกฤต ซึ่งเป็นการเพิ่มเติมข้อความซึ่งแต่เดิมไม่เคยระบุทั้งในรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550

โดยมาตรา 5 ของร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ ระบุว่าให้อำนาจประธานศาลรัฐธรรมนูญจัดให้มีการประชุมร่วมระหว่างประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา นายกรัฐมนตรี ประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานศาลรัฐธรรมนูญ และประธานองค์กรอิสระ เพื่อวินิจฉัยในกรณีที่ไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด

โดยข้อความเดิมของมาตรา 5 ร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ ระบุว่า

“มาตรา 5 รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับ หรือการกระทำใด ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ บทบัญญัติหรือการกระทำนั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้

เมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้กระทำการนั้นหรือวินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

เมื่อมีกรณีตามวรรคสองเกิดขึ้น ให้ประธานศาลรัฐธรรมนูญจัดให้มีการประชุมร่วมระหว่างประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา นายกรัฐมนตรี ประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานศาลรัฐธรรมนูญ และประธานองค์กรอิสระ เพื่อวินิจฉัย

ในการประชุมร่วมตามวรรคสาม ให้ที่ประชุมเลือกกันเองให้คนหนึ่งทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมแต่ละคราว ในกรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งใด ให้ที่ประชุมร่วมประกอบด้วยผู้ดำรงตำแหน่งเท่าที่มีอยู่

การวินิจฉัยของที่ประชุมร่วมให้ถือเสียงข้างมาก ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด

คำวินิจฉัยของที่ประชุมร่วมให้เป็นที่สุด และผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระ และหน่วยงานของรัฐ”

 

ขณะที่ข้อความในมาตรา 5 รัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งมีการแก้ไขระบุว่า

“มาตรา 5 รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎหรือข้อบังคับ หรือการกระทำใด ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ บทบัญญัติหรือการกระทำนั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้

เมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้กระทำการนั้นหรือวินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”

 

มาตรา 12 คุณสมบัติองคมนตรี

ในมาตรา 12 เกี่ยวกับคุณสมบัติขององคมนตรี ข้อความเดิมในมาตรา 12 ร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติระบุว่า

“มาตรา 12 องคมนตรีต้องไม่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือดำรงตำแหน่งทางการเมืองอื่น ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ หรือสมาชิกหรือเจ้าหน้าที่ของพรรคการเมือง และต้องไม่แสดงการฝักใฝ่ในพรรคการเมืองใด ๆ”

ส่วนในมาตรา 12 รัฐธรรมนูญ 2560 ระบุว่า

“มาตรา 12 องคมนตรีต้องไม่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือดำรงตำแหน่งทางการเมืองอื่น ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ พนักงานรัฐวิสาหกิจ เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ หรือสมาชิกหรือเจ้าหน้าที่ของพรรคการเมือง หรือข้าราชการเว้นแต่การเป็นข้าราชการในพระองค์ ในตำแหน่งองคมนตรี และต้องไม่แสดงการฝักใฝ่ในพรรคการเมืองใด ๆ”

 

มาตรา 15 การแต่งตั้งและการให้ข้าราชการในพระองค์พ้นจากตำแหน่ง

โดยใน มาตรา 15 ร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ ระบุว่า

“มาตรา 15 การแต่งตั้งและการให้ข้าราชการในพระองค์และสมุหราชองครักษ์พ้นจากตำแหน่ง ให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย

การจัดระเบียบราชการและการบริหารงานบุคคลของราชการในพระองค์ ให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัยตามที่บัญญัติไว้ในพระราชกฤษฎีกา”

ขณะที่ในมาตรา 15 วรรคแรก รัฐธรรมนูญ 2560 ตัดคำว่า “และสมุหราชองครักษ์” ออก ทำให้เนื้อหาในมาตรา 15 ล่าสุด ระบุว่า

“มาตรา 15 การแต่งตั้งและการให้ข้าราชการในพระองค์พ้นจากตำแหน่ง ให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย

การจัดระเบียบราชการและการบริหารงานบุคคลของราชการในพระองค์ ให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัยตามที่บัญญัติไว้ในพระราชกฤษฎีกา”

 

มาตรา 16 เมื่อพระมหากษัตริย์จะไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักร
จะทรงตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์หรือไม่ก็ได้

ในมาตรา 16 ของรัฐธรรมนูญ 2560 มีการแก้ไขตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 4 โดยให้พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์จะทรงตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์หรือไม่ก็ได้ เมื่อไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักร หรือจะทรงบริหารพระราชภาระไม่ได้ด้วยเหตุใดก็ตาม

ทำให้เนื้อหาในมาตรา 16 มีการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาไปจากเดิมเมื่อเทียบกับทั้งร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ หรือรัฐธรรมนูญฉบับที่เคยประกาศใช้มาก่อนหน้านี้

โดยข้อความเดิมในมาตรา 16 ร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ ระบุว่า

“มาตรา 16 ในเมื่อพระมหากษัตริย์จะไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักร หรือจะทรงบริหารพระราชภาระไม่ได้ด้วยเหตุใดก็ตาม จะได้ทรงแต่งตั้งผู้ใดผู้หนึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และให้ประธานรัฐสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ”

ส่วนมาตรา 16 รัฐธรรมนูญ 2560 มีการแก้ไขข้อความเป็น

“มาตรา 16 ในเมื่อพระมหากษัตริย์จะไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักร หรือจะทรงบริหารพระราชภาระไม่ได้ด้วยเหตุใดก็ตาม จะทรงแต่งตั้งบุคคลคนหนึ่งหรือหลายคนเป็นคณะขึ้น ให้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์หรือไม่ก็ได้ และในกรณีที่ทรงแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ให้ประธานรัฐสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ”

 

มาตรา 17 กรณีที่มิได้ทรงแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามมาตรา 16

ในมาตรา 17 รัฐธรรมนูญ 2560 ระบุให้ “คณะองคมนตรีเสนอชื่อบุคคลคนหนึ่งหรือหลายคนเป็นคณะ ตามลำดับที่โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมกำหนดไว้ก่อนแล้วให้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์”

โดยข้อความในมาตรา 17 ร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ ระบุว่า

“มาตรา 17 ในกรณีที่พระมหากษัตริย์มิได้ทรงแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามมาตรา 16 หรือในกรณีที่พระมหากษัตริย์ไม่สามารถทรงแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เพราะยังไม่ทรงบรรลุนิติภาวะหรือเพราะเหตุอื่น ให้คณะองคมนตรีเสนอชื่อผู้ใดผู้หนึ่งซึ่งสมควรดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ต่อรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบ เมื่อรัฐสภาให้ความเห็นชอบแล้ว ให้ประธานรัฐสภาประกาศในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ แต่งตั้งผู้นั้นเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์”

ขณะที่ในมาตรา 17 รัฐธรรมนูญ 2560 ระบุว่า

“มาตรา17 ในกรณีที่พระมหากษัตริย์มิได้ทรงแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ตามมาตรา 16 หรือในกรณีที่พระมหากษัตริย์ไม่สามารถทรงแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เพราะยังไม่ทรงบรรลุนิติภาวะหรือเพราะเหตุอื่น แต่ต่อมาคณะองคมนตรีพิจารณาเห็นว่ามีความจำเป็นสมควรแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์และไม่อาจกราบบังคมทูลให้ทรงแต่งตั้งได้ทันการ ให้คณะองคมนตรีเสนอชื่อบุคคลคนหนึ่งหรือหลายคนเป็นคณะ ตามลำดับที่โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมกำหนดไว้ก่อนแล้วให้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ แล้วแจ้งประธานรัฐสภาเพื่อประกาศในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ แต่งตั้งผู้นั้นขึ้นเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์”

 

มาตรา 19 ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ซึ่งเคยได้รับการแต่งตั้งและปฏิญาณตนมาแล้ว ไม่ต้องปฏิญาณตนที่รัฐสภาอีก

ในมาตรา 19 รัฐธรรมนูญ 2560 มีการเพิ่มเติมข้อความในวรรค 3 ระบุว่า “ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ซึ่งเคยได้รับการแต่งตั้งและปฏิญาณตนมาแล้ว ไม่ต้องปฏิญาณตนอีก”

โดยในมาตรา 19 ร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ ระบุว่า

“มาตรา 19 ก่อนเข้ารับหน้าที่ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ซึ่งได้รับการแต่งตั้งตามมาตรา 16 หรือมาตรา 17 ต้องปฏิญาณตนในที่ประชุมรัฐสภาด้วยถ้อยคำ ดังต่อไปนี้

“ข้าพเจ้า (ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอปฏิญาณว่า ข้าพเจ้าจะจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ (พระปรมาภิไธย) และจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ””

ขณะที่ในมาตรา 19 รัฐธรรมนูญ 2560 ระบุว่า

“มาตรา 19 ก่อนเข้ารับหน้าที่ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ซึ่งได้รับการแต่งตั้งตามมาตรา 16 หรือมาตรา 17 ต้องปฏิญาณตนในที่ประชุมรัฐสภาด้วยถ้อยคำ ดังต่อไปนี้

“ข้าพเจ้า (ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอปฏิญาณว่า ข้าพเจ้าจะจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ (พระปรมาภิไธย) และจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ”

ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ซึ่งเคยได้รับการแต่งตั้งและปฏิญาณตนมาแล้ว ไม่ต้องปฏิญาณตนอีก”

 

มาตรา 182 ผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ

ในมาตรา 182 ของร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ ระบุว่า

“มาตรา 182 บทกฎหมาย พระราชหัตถเลขา และพระบรมราชโองการอันเกี่ยวกับราชการแผ่นดิน ต้องมีรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ เว้นแต่ที่มีบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่นในรัฐธรรมนูญ

ให้ผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการเป็นผู้รับผิดชอบในกิจการทั้งปวงบรรดาที่ได้รับสนองพระบรมราชโองการ”

ทั้งนี้ในวรรค 2 ของมาตรา 182 ไม่เคยมีการระบุเช่นนี้มาก่อนทั้งในรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 โดยเป็นการเพิ่มบทบัญญัติเข้ามาใหม่โดยผู้ร่างรัฐธรรมนูญ

ขณะที่ในมาตรา 182 รัฐธรรมนูญ 2560 มีการแก้ไขโดยตัดวรรค 2 ของมาตรา 182 ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติออก โดยระบุแต่เพียง

“มาตรา 182 บทกฎหมาย พระราชหัตถเลขา และพระบรมราชโองการอันเกี่ยวกับราชการแผ่นดิน ต้องมีรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ เว้นแต่ที่มีบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่นในรัฐธรรมนูญ”

 

มาตรา 272 เพิ่มเนื้อหาจากคำถามพ่วงประชามติ
เปิดทาง 250 ส.ว.แต่งตั้งสมัยแรก ร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี

ในส่วนของมาตรา 272 ในรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งมีการแก้ไขให้สอดคล้องกับคำถามพ่วงในการลงประชามติ โดยผลของมาตรา 272 ทำให้ในกระบวนการเลือกนายกรัฐมนตรีในช่วง 5 ปีแรกนับตั้งแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญ 2560 จะให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 500 คน และสมาชิกวุฒิสภา 250 คน เป็นผู้เลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งในบทเฉพาะกาล มาตรา 269 ระบุว่าวุฒิสมาชิกในวาระเริ่มแรกทั้งหมดจะมาจากการแต่งตั้งของ คสช.

ในมาตรา 272 วรรคสอง ระบุด้วยว่าหากไม่สามารถแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองตามมาตรา 88 ทั้งสองสภาจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกที่มีอยู่ ต้องเข้าชื่อเสนอประธานรัฐสภาขอให้รัฐสภายกเว้นไม่ต้องเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองโดยใช้เสียงข้างมาก 2 ใน 3 ขึ้นไปเพื่อขอยกเว้น และหลังจากนั้นจะสามารถเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีผู้ที่อยู่ในบัญชีรายชื่อพรรคการเมืองตามมาตรา 88 หรือคนนอกบัญชีก็ได้

โดยข้อความเดิมในร่างรัฐธรรมนูญก่อนลงประชามติ ระบุว่า

“มาตรา 272 ในวาระเริ่มแรก เมื่อมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามมาตรา 268 แล้ว หากมีกรณีที่ไม่อาจแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 ไม่ว่าด้วยเหตุใด และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมดเท่าที่มีอยู่เข้าชื่อเสนอต่อประธานรัฐสภาขอให้รัฐสภามีมติยกเว้นเพื่อไม่ต้องเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อ

ที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 ในกรณีเช่นนั้น ให้ประธานรัฐสภาจัดให้มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภาโดยพลัน และในกรณีที่รัฐสภามีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาให้ยกเว้นได้ ให้สภาผู้แทนราษฎรดำเนินการตามมาตรา 159 ต่อไป โดยจะเสนอชื่อผู้อยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 หรือไม่ก็ได้”

ขณะที่ข้อความในมาตรา 272 รัฐธรรมนูญ 2560 ระบุว่า

“มาตรา 272 ในระหว่างห้าปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ การให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีให้ดำเนินการตามมาตรา 159 เว้นแต่การพิจารณาให้ความเห็นชอบตามมาตรา 159 วรรคหนึ่ง ให้กระทำในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา และมติที่เห็นชอบการแต่งตั้งบุคคลใดให้เป็นนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 159 วรรคสาม ต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา

ในระหว่างเวลาตามวรรคหนึ่ง หากมีกรณีที่ไม่อาจแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 ไม่ว่าด้วยเหตุใด และสมาชิกของทั้งสองสภารวมกันจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาเข้าชื่อเสนอต่อประธานรัฐสภาขอให้รัฐสภามีมติยกเว้นเพื่อไม่ต้องเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 ในกรณีเช่นนั้น ให้ประธานรัฐสภาจัดให้มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภาโดยพลัน และในกรณีที่รัฐสภามีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาให้ยกเว้นได้ ให้ดำเนินการตามวรรคหนึ่งต่อไป โดยจะเสนอชื่อผู้อยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 หรือไม่ก็ได้”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net