Skip to main content
sharethis

ครบรอบ 7 ปีเหตุการณ์สลายการชุมนุมเดือน เมษายน-พฤษภาคม 2553 จนถึงบัดนี้คดีความที่เกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของผู้คนจำนวนมากยังคงไม่คืบหน้า คนส่วนใหญ่อาจลืมเลือนเหตุการณ์ รายละเอียดต่างๆ ไปหมดแล้ว คนรุ่นใหม่ก็เติบโตมาไม่ทันได้ซึมซับบรรยากาศและข้อมูลช่วงที่ยังข้นคลัก บางคนอาจจำได้เพียงลางๆ ตอน “บิ๊ก คลีนนิ่ง เดย์” เราจึงขอทบทวนเหตุการณ์นั้นอีกครั้งผ่านคำอธิบายสั้นๆ ง่ายๆ 10 ข้อ

ก่อนไปถึงตรงนั้น อาจมี “ตัวเลข” ที่สั้นกว่ามากและเป็นการทดสอบความทรงจำหรือความรับรู้ของเราๆ ท่านๆ ได้เป็นอย่างดี ตัวเลขเหล่านี้นำมาจาก “หน้าปก” ของรายงานที่ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุม กรณี เม.ย.-พ.ค.53 หรือ ศปช.รวบรวมและจัดทำไว้ ตีพิมพ์เมื่อปี 2555

3,000 คือกระสุนสำหรับการซุ่มยิงที่กองทัพเบิกไป  (2,120 คือกระสุนที่ใช้  และ 880 คือกระสุนที่ส่งคืน)

117,923 คือจำนวนนัดของกระสุนที่เจ้าหน้าที่ใช้ในการสลายการชุมนุม

700,000,000 คืองบที่ตำรวจใช้กับกำลังพล 25,000 นาย

3,000,000,0000 คืองบที่ทหารใช้กับกำลังพล 67,000 นาย

1,283 คือจำนวนผู้ได้รับบาดเจ็บทั้งหมด

1,763 คือจำนวนคนที่ถูกจับกุมระหว่างการชุมนุมและถูกดำเนินคดี

94 คือจำนวนคนเสียชีวิต

88  คือจำนวนผู้เสียชีวิตที่เป็นผู้ชาย

6 คือจำนวนผู้เสียชีวิตที่เป็นผู้หญิง

10 คือเจ้าหน้าที่รัฐที่เสียชีวิต (ส่วนใหญ่เป็นทหาร ในจำนวนนี้มีตำรวจ 3 นาย)

2 คือสื่อมวลชนที่เสียชีวิต (สัญชาติญี่ปุ่นและอิตาลี)

6 คืออาสากู้ชีพ/อาสาพยาบาลที่เสียชีวิต

32 คือผู้เสียชีวิตที่โดนยิงที่ศีรษะ

12 คืออายุของผู้เสียชีวิตที่อายุน้อยที่สุด

1.  10 เมษาคืออะไร ?

เหตุการณ์ที่เรียกสั้นๆ ว่า 10 เมษานั้นเกิดขึ้นในปี 2553 จุดเริ่มต้นคือการชุมนุมประท้วงของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ ( นปช.) หรือเรียกกันว่า “คนเสื้อแดง” ที่เริ่มตั้งแต่ 12 มีนาคมจบลงในวันที่ 19 พฤษภาคมปีเดียวกัน

หลัง นปช.ชุมนุมได้เกือบเดือน วันที่ 10 เมษายนเป็นวันแรกที่มีการบาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก หลังรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ตัดสินใจเข้าสลายการชุมนุม โดยในขณะนั้นใช้คำว่า “ขอคืนพื้นที่” จากผู้ชุมนุมที่ปักหลักที่สะพานผ่านฟ้าฯ ยาวถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จุดที่มีการปะทะและเสียชีวิตมากคือ ถนนดินสอและแยกคอกวัว (อ่านที่นี่)  ประชาชนถูกยิงด้วยกระสุนความเร็วสูงเสียชีวิตหลายราย จนในช่วงค่ำปรากฏ “ชายชุดดำ” ยิงตอบโต้ทหาร ทำให้นายทหารเสียชีวิต 5 ราย ในจำนวนนั้นมี พ.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม รวมอยู่ด้วย ซึ่งต่อมาได้รับการเลื่อนยศเป็นพลเอก ยอดรวมผู้เสียชีวิตในวันนั้นคือ ประชาชน 20 คน ทหาร 5 นาย (มีผู้เสียชีวิตเพิ่มเติมภายหลังบางแหล่งระบุ 1 คน บางแหล่งระบุ 2 คน)

หลังจากนั้นยังคงมีการชุมนุมของ นปช.ต่อเนื่องไปอีกและการสลายการชุมนุมก็เต็มไปด้วยความรุนแรงยิ่งขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะช่วงวันที่ 13-19 พ.ค.มีประชาชนเสียชีวิตเกือบ 70 คน

2.  ข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมคืออะไร?

ข้อเรียกร้องหลักคือ การเรียกร้องให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นยุบสภา หลังจากดำรงตำแหน่งเมื่อเดือนธันวาคม 2551 การดำรงตำแหน่งของอภิสิทธิ์เป็นผลมาจากการที่ศาลรัฐธรรมนูญพิพากษาให้ยุบพรรคพลังประชาชน (และอีก 2พรรค) ซึ่งมีเสียงข้างมากและเป็นผู้นำรัฐบาลอยู่ในเวลานั้น ทำให้นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ หัวหน้าพรรคพลังประชาชนพ้นจากตำแหน่งนายกฯ นับเป็นการถูกยุบพรรคเป็นครั้งที่สอง หลังจากไทยรักไทยโดนยุบพรรคไปก่อนหน้านี้ครั้งหนึ่งแล้ว

เรื่องนี้เกิดขึ้นท่ามกลางกระแสที่สื่อไทยและสื่อต่างประเทศระบุว่าทหารมีส่วนสำคัญในการผลักดันให้ส.ส.ในสภาเข้าร่วมกับพรรคฝ่ายค้าน ไม่ว่าพรรคชาติพัฒนา พรรคภูมิใจไทย โดยเฉพาะกลุ่มเพื่อนเนวิน (เนวิน ชิดชอบ) ที่เป็นอดีตสมาชิกพรรคพลังประชาชนเดิมเปลี่ยนขั้วมาร่วมกับฝ่ายค้าน กระแสข่าวและความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองดังกล่าวทำให้คนเสื้อแดงซึ่งส่วนใหญ่เป็นฐานเสียงของพรรคพลังประชาชนไม่พอใจและรวมตัวกันประท้วงและเรียกร้องให้เกิดการยุบสภามาโดยตลอด

ปี 2553 ไม่ใช่ปีแรกของการชุมนุม ช่วงสงกรานต์ปี 2552 ก็มีการชุมนุมใหญ่ของคนเสื้อแดงบริเวณทำเนียบรัฐบาลเพื่อเรียกร้องให้นายอภิสิทธิ์ลาออก มีการปะทะกันระหว่างทหารและผู้ชุมนุมที่บริเวณสามเหลี่ยมดินแดง มีผู้ได้รับบาดเจ็บจากการถูกยิงหลายราย ในการปะทะไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต แต่มีรายงานชาวบ้านนางเลิ้งเสียชีวิต 2 ราย ขณะเกิดเหตุชาวนางเลิ้งปะทะกับผู้ชุมนุมเมื่อวันที่ 13 เม.ย. 52 นอกจากนี้ยังมีผู้ชุมนุม นปช. ที่หายตัวไปแล้วพบเสียชีวิตคือ ชัยพร กันทัง อายุ 29 ปี ชาว จ.แพร่ และ นัฐพงษ์ ปองดี อายุ 23 ปี ชาว จ.อุดรธานี อาชีพ รปภ.ของกรุงไทยธุรกิจบริการซึ่งขับรถจักรยานยนต์ไปร่วมชุมนุม แล้วหายตัวไปพร้อมกันตั้งแต่วันที่ 14 เม.ย. 2552 ต่อมาเช้าวันที่ 15 เม.ย. 2552 พบเป็นศพลอยน้ำมาติดอยู่ที่ท่าเรือใต้สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า ฝั่งพระนคร

อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ในปีนั้นจบลงด้วยการที่แกนนำ นปช.ยินยอมสลายการชุมนุม

3.  เหตุการณ์ก่อน 10 เมษา

10 เมษายนเป็นจุดหักเหที่เกิดความรุนแรงครั้งใหญ่ที่สุดในรอบเกือบสองทศวรรษ เหตุการณ์ความรุนแรงนั้นลากยาวไปจนถึงเดือนพฤษภาคม ซึ่งทำให้มียอดรวมผู้เสียชีวิตในการสลายการชุมนุมเกือบร้อยราย ผู้บาดเจ็บนับพันราย

(ศปช.ระบุมีผู้เสียชีวิต 94 รายโดยมีผู้ที่ได้รับบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยหลังการสลายการชุมนุมเสียชีวิตเพิ่มในภายหลัง, คอป.ระบุมีผู้เสียชีวิต 92 ราย ศอฉ.ระบุมีผู้เสียชีวิต 91 ราย)

ก่อนมาถึงจุดนั้น ในวันที่ 24 ก.พ. 53 แกนนำ นปช. ประกาศนัดชุมนุมใหญ่ในวันที่ 12 มีนาคม โดยการนัดหมายเกิดขึ้น 2 วัน ก่อนที่ในวันที่ 26 ก.พ.53 องค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองวินิจฉัยคดียึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี 4.6 หมื่นล้านบาท

การชุมนุมของนปช.เริ่มต้นขึ้นในวันที่ 12 มี.ค.มีความพยายามต่างๆ มากมายในการเรียกร้องให้รัฐบาลยุบสภา รวมถึงเหตุการณ์สำคัญก่อนหน้าวันที่ 10 เมษาเพียง 1 วัน นั่นคือ คนเสื้อแดงจำนวนมากบุกยึดคืน “สถานีไทยคม” ที่ลาดหลุมแก้ว ปทุมธานี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ทหารเข้าคุมและตัดสัญญาณช่องทีวีดาวเทียมพีเพิลชาแนลซึ่งถ่ายทอดสดการชุมนุมของ นปช. ทำให้ทหารถูกประชาชนปลดอาวุธและเดินเท้ากลับขึ้นรถเป็นทิวแถว

เรื่องนี้วาสนา นาน่วม เขียนไว้ในหนังสือลับลวงพรางว่า ฝ่ายทหารรู้สึก “เสียเกียรติเสียศักดิ์ศรีที่ทหารหลายพันคนต้องยอมวางโล่ กระบอง และอาวุธทุกอย่างที่มี ยอมแพ้ต่อผู้ชุมนุมเสื้อแดงที่เวลานั้นยังไม่ปรากฏว่ามีกองกำลังติดอาวุธ ถูกผู้ชุมนุมยึดอาวุธ สั่งการไล่ต้อนให้เดินแถวออกสู่ทุ่งนา” และน่าจะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ผู้นำรัฐบาลและผู้นำกองทัพกู้ศักดิ์ศรีคืนด้วยยุทธการ “ขอคืนพื้นที่” ในวันรุ่งขึ้น

(อ่านรายละเอียดในล้อมกรอบการเคลื่อนไหวของ นปช.ก่อนวันที่ 10 เมษา)

4.   มีคนถูกยิงที่ท้องเสียชีวิต 1 รายตั้งแต่บ่าย

คนส่วนใหญ่คิดว่าเหตุปะทะวันที่ 10 เมษาและทำให้มีคนตายมากมายนั้นเกิดในช่วงค่ำ แต่อันที่จริงแล้ว เค้าลางการสูญเสียมีตั้งแต่ช่วงบ่ายวันเดียวกัน ตรงจุดปะทะระหว่างผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่บริเวณสะพานมัฆวานฯ วันดังกล่าวมีจุดที่ทหารและผู้ชุมนุมเผชิญหน้ากันในหลายจุด ไม่ว่าจะเป็นแยกวังแดง สะพานชมัยมรุเชษฐ หน้ากองทัพภาค1 สนามม้านางเลิ้ง ถนนดินสอ เป็นต้น  “เกรียงไกร คำน้อย” คนขับตุ๊กๆ วัย 23 ปี คือผู้ชุมนุมรายแรกที่ถูกยิงได้รับบาดเจ็บที่สะพานมัฆวานฯ ตั้งแต่ช่วงบ่าย เขาเสียชีวิตในเวลาต่อมา ข้อมูลจากศูนย์การแพทย์ฉุกเฉิน (สพฉ.) ระบุว่าถูกยิงที่สะโพกด้วยอาวุธสงคราม กระสุนฝังในช่องท้อง ต่อมาในปี 2557 ศาลมีคำสั่งในการไต่สวนการตายว่า กระสุนดังกล่าวมาจากฝั่งทหาร

5.  แก๊สน้ำตาจากเฮลิคอปเตอร์-การสลายการชุมนุมเวลากลางคืน

ช่วงราวๆ 4 โมงเย็น เฮลิคอปเตอร์เริ่มโปรยแก๊สน้ำตาบริเวณถนนราชดำเนิน แบ่งเป็น 2 ชุด มีผู้เสียชีวิตจากการโปรยแก๊สน้ำตาดังกล่าวด้วย นั่นคือ ในมนต์ชัย แซ่จอง โดยญาติผู้เสียชีวิตระบุว่ามนต์ชัยอยู่ในพื้นที่ชุมนุมโดยมีโรคประจำตัวอยู่แล้ว และเมื่อโดนแก๊สน้ำตาที่โปรยต่อเนื่องมาจากเฮลิคอปเตอร์ทำให้เขาเริ่มมีอาการราว 1 ทุ่ม หนาวสั่น หัวใจเต้นเร็วผิดปกติจนต้องส่งโรงพยาบาลและเสียชีวิตในช่วงกลางดึกคืนนั้น

หลังการโปรยแก๊สน้ำตา มีการเริ่มต้นใช้กระสุนยางในช่วงเย็น กระสุนยางแม้ไม่มีผลถึงแก่ชีวิตแต่ก็ทำให้มีผู้บาดเจ็บจำนวนมาก หนึ่งในนั้นคือ เบิร์ด หนุ่มวัย 24 ปี ที่วิ่งหลบกระสุนในบริเวณดังกล่าวและโดนกระสุนยางเข้าที่ตาข้างขวาทำให้ตาบอดนับแต่นั้น

6.  จำแนกอาชีพ อายุ และรูกระสุนเข้า

จากรายงานข่าวหลายแหล่งระบุว่า เจ้าหน้าที่ทหารส่วนใหญ่เสียชีวิตจากการ M67 ที่ถูกโจมตีตอบโต้กลับในคืนวันดังกล่าว ขณะที่ประชาชนนั้นส่วนใหญ่เสียชีวิตจากกระสุนและทยอยเสียชีวิตตั้งแต่ เวลา 1-2 ทุ่มเศษ (อ่านรายละเอียด)

กระสุนที่หัว

กระสุนที่อก-ท้อง

หัวใจวายเฉียบพลัน

  อื่นๆ

สวาท วางาม

เทิดศักดิ์ ฟุ้งกลิ่นจันทร์

มนต์ชัย แซ่จอง

อนันต์ สริริกุลวาณิชย์ (กระสุนที่คอ)

อำพน ตติยรัตน์

จรูญ ฉายแม้น

 

บุญจันทร์ ไหมประเสริฐ (หัวเหน่า)

ยุทธนา ทองเจริญพูลพร

คะนึง ฉัตรเท

 

 

ไพรศล ทิพย์ลม

ธวัฒนะชัย  กลัดสุข

 

 

บุญธรรม ทองผุย

ฮิโรยูกิ มูราโมโต

 

 

ทศชัย เมฆงามฟ้า

เกรียงไกร คำน้อย

 

 

วสันต์ ภู่ทอง

สยาม วัฒนนุกูล

 

 

สมิง

สมศักดิ์

 

 

มานะ อาจราญ

นภพล เผ่าพนัส

 

 

รวม 9 ราย

รวม 9 ราย

รวม 1 ราย

รวม 2 ราย


รายละเอียดอื่นๆ ที่น่าสนใจ  เช่น

อาชีพ

พนักงานบริษัท 3 คน

ขับแท็กซี่ 4 คน

ขับรถตุ๊กตุ๊ก 1 คน

รปภ.จุฬาฯ 1 คน

รับเหมาทำอลูมิเนียม 1 คน

ขับรถส่งของ 1 คน

กำลังศึกษา 2 คน

ทำไร่อ้อย 1 คน

ค้าขาย 2 คน

ช่างเย็บผ้า 1 คน

ช่างซ่อมรถโดยสาร 1 คน

นักข่าว (ญี่ปุ่น) 1 คน

เจ้าหน้าห้องแล็บ มหาวิทยาลัย 1 คน

ลูกจ้างชั่วคราว สวนสัตว์ดุสิต 1 คน

7.    ปริศนาชายชุดดำ

ภาพชายชุดดำที่มักปรากฏซ้ำๆ บนหน้าสื่อในช่วงที่หมอกควันเหตุการณ์ยังไม่จางนั้นอาจอยู่ในความทรงจำของใครหลายคน ต่อมาปี 2555 ข่าวสด สัมภาษณ์บุคคลในภาพดังกล่าวว่าเป็นคนเก็บของเก่าที่เข้าร่วมชุมนุมกับ นปช.ด้วยและไม่ได้เป็นชายชุดดำที่เปิดฉากตอบโต้ทหารแต่อย่างใด

ในด้านคดีความนั้น “คดีชายชุดดำ” ตำรวจจับกุมผู้ต้องหาได้ 5 คนหนึ่งในนั้นเป็นหญิง ผู้ต้องหาหลายรายมีการยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่ออัยการสูงสุด ระบุว่า พวกเขาถูกซ้อมในกระบวนการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง (อ่าน) ต่อมาศาลพิพากษายกฟ้องคดีแรก คือ คดีครอบครองระเบิดเตรียมคาร์บอม ส่วนคดีครอบครองอาวุธนั้น ศาลพิพากษาเมื่อเดือนมกราคม 2560 ยกฟ้อง 3 ราย อีก 2 รายมีความผิดฐานครอบครองอาวุธสงคราม ลงโทษจำคุกรายละ 10 ปี โดยศาลไม่เชื่อว่าผู้ต้องหารับสารภาพในชั้นสอบสวนเพราะถูกเจ้าหน้าที่ซ้อม อย่างไรก็ตามศาลสั่งให้ขังจำเลยทั้งหมดไว้ระหว่างอุทธรณ์ โดยจำเลยทั้งหมดถูกจำคุกมาตั้งแต่กันยายน 2557 จนปัจจุบันและศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัวระหว่างต่อสู้คดี  (อ่านสรุปคำพิพากษา)

8. ไต่สวนการตายแล้ว 7 ศพ ศาลสั่งกระสุนมาจากฝั่งทหาร 3 ศพ

การไต่ชันสูตรพลิกศพ หรือที่เรียกภาษาปากว่า “ไต่สวนการตาย” นั้นเป็นกระบวนการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 เพื่อให้ศาลสั่งเบื้องต้นว่า ผู้ตายเป็นใคร ตายที่ไหน เมื่อใด เหตุและพฤติการณ์การตายเป็นอย่างไร ใครกระทำจากนั้นอัยการรวบรวมสำนวนหลักฐานจากพนักงานสอบสวนก่อนส่งฟ้องเป็นคดีอาญา 

เท่าที่ทราบจากรายงานข่าว พบว่า มีการไต่สวนการตายแล้ว 7 ราย โดยศาลสั่งว่ากระสุนที่สังหารผู้ตายมาจาก “ฝั่งทหาร” แต่ไม่ทราบผู้ยิงที่แน่ชัด จำนวน 3 ราย ได้แก่ นายเกรียงไกร คำน้อย, นายจรูญ ฉายแม้น, นายสยาม วัฒนนุกูล  ส่วนอีก 4   รายศาลสั่งว่าไม่ทราบผู้ยิงและไม่ทราบว่ากระสุนมาจากทิศทางใด ได้แก่ นายฮิโรยูกิ มูราโมโต, นายวสันต์ ภู่ทอง, นายทศชัย เมฆงามฟ้า, นายมานะ อาจราญ (ถูกยิงในสวนสัตว์ดุสิตด้วยกระสุนความเร็วสูง)

9.  ไร้หนทางเอาผิดผู้สลายการชุมนุม?

นอกเหนือจากปรากฏการณ์ Big Cleaning Day ที่เกิดขึ้นในวันที่ 23 พ.ค. หลังสลายการชุมนุมที่แยกราชประสงค์ 4 วัน นำโดยผู้ว่าฯ ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร ทีมงานและประชาชนราว 1,000 คน ซึ่ง ศปช.วิจารณ์ว่าอาจเป็นการทำลายพยานหลักฐานที่อาจหลงเหลืออยู่ได้นั้น

หันมองได้ด้านการดำเนินคดี ขณะที่ประชาชนผู้ชุมนุมถูกดำเนินคดีเกือบ 2,000 คน ส่วนใหญ่เป็นคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และมีจำนวนหนึ่งที่เป็นคดีอาวุธและคดีเผาศาลากลาง หลายรายถูกจำคุกมาตั้งแต่ปี 2553 จนถึงปัจจุบัน โทษสูงสุดของคดีเผาศาลากลางที่ศาลพิพากษาคือ จำคุกตลอดชีวิตในกรณีของอุบลราชธานี

ในส่วนของการดำเนินคดีกับกองทัพและผู้นำรัฐบาลหรือผู้เกี่ยวข้องในการสลายการชุมนุมนั้น  เคยมีญาติของนายพัน คำกอง ผู้เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุม(พ.ค.2553) ร่วมกับนายสมร ไหมทอง คนขับรถตู้ที่ถูกทหารยิงแต่รอดชีวิต ร่วมกันเป็นโจทก์ร่วมกับอัยการฟ้องนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นจำเลยในความผิดฐานร่วมกันก่อให้ผู้อื่นฆ่าและพยายามฆ่าคนตายโดยเจตนาเล็งเห็นผล ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 59, 80, 83, 84 และ 288 จากกรณีที่ ศอฉ. มีคำสั่งใช้กำลังเจ้าหน้าที่ในการขอคืนพื้นที่จากการชุมนุมของ นปช. ระหว่าง เม.ย.-พ.ค. 2553

คดีนี้นับเป็นคดีแรกที่อัยการยื่นฟ้อง ส่วนคดีอื่นๆ สำนวนยังคงค้างอยู่ที่ดีเอสไอ อย่างไรก็ตาม คดีตัวอย่างนี้ทั้ง ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ ต่างก็ยกฟ้องจำเลยทั้งสอง โดยศาลชั้นต้นระบุเหตุผลว่า เหตุเกิดในช่วงทั้งสองยังดำรงตำแหน่งทางการเมืองคดีจึงอยู่ในอำนาจศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ศาลอุทธรณ์ให้เหตุผลว่า เรื่องฟังไม่ได้ว่าทั้งสองกระทำในฐานะส่วนตัว ถือเป็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ทางการเมือง ต้องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. เป็นผู้ชี้มูลความผิดและยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ดีเอสไอไม่มีอำนาจในการสอบสวน  (เปิดคำอุทธรณ์ของญาติผู้ตาย)

ต่อมา ป.ป.ช.ก็มีมติว่า ฟังไม่ได้ว่าผู้ถูกกล่าวหาได้ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบในการดำเนินการในเรื่องดังกล่าว โดยมีเจตนาเพื่อให้เกิดความเสียหายกับประชาชนผู้บริสุทธิ์ หรือเป็นผู้ก่อหรือใช้ให้มีการฆ่าผู้อื่น โดยเจตนาเล็งเห็นผลแต่อย่างใด คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงมีมติให้ข้อกล่าวหาตกไป

ล่าสุด ญาติที่เป็นโจทก์ร่วมยังคงฎีกาต่อ และคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกามาราว 1 ปีแล้ว ขณะนี้ยังไม่มีคำพิพากษา ทนายความในคดีนี้ระบุว่า กระบวนการที่ผ่านมาอัยการสูงสุดได้อนุญาตให้ฎีกาแล้ว และศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์รับรองให้ฎีกาได้ ซึ่งกระบวนการทั้งหมดผ่านไปแล้ว คาดว่าน่าจะรอผลคำพิพากษาของศาลฎีกาอีกไม่นาน

แน่นอนว่า นี่เป็นเพียงคดีที่มุ่งฟ้องผู้นำรัฐบาลในเวลานั้น โดยที่ “กองทัพ” ยังไม่เคยก้าวมาสู่ปริมณฑลของ “จำเลย” ในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาแต่อย่างใด

10.  นักโทษการเมือง-“นิรโทษกรรมเหมาเข่ง”-กปปส. และรัฐประหาร

ศปช.ระบุว่า ข้อมูลที่เก็บรวบรวมได้ถึงเมษายน 2555 พบว่ามีผู้ถูกจับกุมจากเหตุการณ์ในช่วงนั้น 1,857 คน เป็นคดีทั้งสิ้น 1,381 คดี ส่วนใหญ่เป็นคดีฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉิน โทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท ศปช.พบข้อมูลด้วยว่าในช่วงหลังการสลายการชุมนุมไม่นานนัก ศาลลงโทษจำคุกจำเลยหลายรายด้วย โดยจำเลยที่รับสารภาพจะถูกจำคุก 6 เดือน ถึง 1 ปี โดยไม่รอลงอาญา ส่วนจำเลยที่ปฏิเสธและต่อสู้คดียาวนานทิ้งห่างช่วงเวลานั้น พบว่า ส่วนใหญ่ศาลจะลงโทษปรับและรอลงอาญาโทษจำคุกเกือบทั้งหมด

กรณีของคดีอาวุธและเผาศาลากลางในจังหวัดต่างๆ ในภาคอีสานนั้นเป็นคดีโทษหนัก คดีอาวุธบางรายก็ถูกจำคุกตั้งแต่ชั้นจับกุม ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุก 38 ปีแต่ศาลฎีกาพิพากษายกฟ้อง เช่นกรณี บัณฑิต สิทธิทุม ผู้ต้องหายิงอาร์พีจีใส่กระทรวงกลาโหม (อ่านที่นี่)

กรณีของการเผาศาลากลาง เช่น จังหวัดอุบล ผู้ต้องขังถูกฟ้อง 21 รายถูกคุมขังอยู่นานนับปีจนบางส่วนได้ประกันตัว มีผู้ต้องขัง 4 รายหนึ่งในนั้นเป็นผู้หญิงที่ถูกขังตั้งแต่วันจับกุมโดยไม่ได้รับการประกันตัว ศาลชั้นต้นสั่งจำคุกพวกเขา 33 ปี 12 เดือนต่อมาศาลฎีกาพิพากษาโทษเหลือ 33 ปี 4 เดือน และพิพากษาแก้ให้จำคุกจำเลยคนอื่นเพิ่มเติม โดยมีบางคนที่ถูกศาลชั้นต้นและอุทธรณ์จำคุก 1 ปีกว่าแต่ศาลฎีกาพิพากษาจำคุกตลอดชีวิต เช่น ดีเจต้อย (อ่านที่นี่)

ศปช.ตั้งข้อสังเกตไว้ก่อนจะมีคำพิพากษาศาลฎีกาว่า การออกหมายจับไม่รัดกุมและไม่ยึดหลักการกฎหมาย หลายกรณีใช้เพียงภาพนิ่งว่าจำเลยอยู่ในที่เกิดเหตุ บางภาพเป็นภาพถ่ายระยะไกล มืด มีการออกหมายจับบุคคลอื่นที่ไม่อยู่ในเหตุการณ์ด้วยโดยตำรวจระบุว่าเคยเห็นเขาในเหตุการณ์ครั้งก่อนๆ กระบวนการจับกุมหลายกรณีเป็นไปโดยมิชอบ เช่น หลอกให้มาตัดหญ้าที่สถานีตำรวจ หรือแจ้งว่าต้องการให้มาให้ปากคำในคดีอื่น ไม่มีการแจ้งสิทธิผู้ต้องหา และบางส่วนยังถูกบังคับข่มขู่ให้รับสารภาพ แม้การรับสารภาพในชั้นจับกุมกฎหมายไม่ให้รับฟังเป็นพยานหลักฐาน แต่การลงลายมือชื่อรับรองว่าเป็นคนเดียวกับในภาพถ่ายแนบท้ายหมายจับเป็นหลักฐานที่ศาลรับฟ้อง

นอกจากนี้ศปช.ยังตั้งข้อสังเกตของการพิจารณาตั้งแต่ศาลชั้นต้น โดยระบุว่า ศาลให้น้ำหนักต่อคำให้การจำเลยในชั้นสอบสวนมากกว่าการเบิกความในศาล ด้วยเหตุผลว่า “ในชั้นศาล จำเลยมีเวลาที่จะคิดปรุงแต่งข้อเท็จจริงให้ตนเองพ้นผิด” โดยไม่ตั้งข้อสงสัยต่อกระบวนการสอบสวน, ศาลให้น้ำหนักพยานหลักฐานโจทก์มากกว่าจำเลย แม้พยานโจทก์จะเบิกความเป็นคุณกับจำเลยก็ไม่ถูกหยิบมาเป็นเหตุประกอบการวินิจฉัย เช่น กรณีเจ้าหน้าที่ฝ่ายข่าว กอ.รมน. ระบุว่าเมื่อมีคนพยายามเผาอาคารกรมธนารักษ์ เขาและจำเลยที่ 12 ไปช่วยกันดับไฟ แต่สุดท้ายศาลยังพิพากษาว่าจำเลยที่ 12 มีความผิดฐานร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์ เป็นต้น

นี่เป็นแค่คดีตัวอย่างที่หยิบยกมา และด้วยเหตุที่มีนักโทษในคดีเกี่ยวพันกับการชุมนุมปี 2553 อยู่ในเรือนจำจำนวนไม่น้อย จึงมีแนวคิดเรื่องการออกกฎหมายนิรโทษกรรม โดย คอป.เคยเสนอไว้ว่า

“คอป. เห็นว่าการเคลื่อนไหวเพื่อผลักดันให้รัฐสภาพิจารณาร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ พ.ศ.... ซึ่งมีผลเป็นการนิรโทษกรรมผู้กระทำผิด เป็นการเร่งรัดกระบวนการปรองดองและกระทบต่อบรรยากาศของการปรองดองในชาติ ซึ่งต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย โดยเฉพาะเหยื่อและผู้เสียหายที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงจากการนิรโทษกรรม คอป. ขอให้ทุกฝ่ายเข้าใจว่าการนิรโทษกรรมไม่ใช่เป้าหมายสุดท้ายของการปรองดอง โดยเฉพาะในขณะที่สังคมมีความขัดแย้งสูงเช่นนี้ การนำการนิรโทษกรรมมาใช้จะต้องระมัดระวังอย่างยิ่ง โดยต้องมีความเหมาะสมในแง่ของเวลา สถานการณ์และกระบวนการ และต้องพิจารณาถึงองค์รวมของหลักความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน...”

กฎหมายนิรโทษกรรมถูกผลักดันชัดเจนในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แต่ก็ถูกกระแสต้านอย่างหนักเมื่อการนิรโทษจะกว้างขวางครอบคลุมคดีของอดีตนายกทักษิณ ชินวัตร, ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุมด้วย รวมถึงคดีทางการเมืองก่อนหน้านั้นในทุกฝ่าย ครอบคลุมเวลาตั้งแต่ปี 19 ก.ย.2549-10 พ.ค.2554 การต่อต้านถูกจุดขึ้น และขยายตัวทั้งจากฝ่ายตรงข้ามและแนวร่วมของพรรคเพื่อไทยเอง จนเกิดการก่อตัวชุมนุมของ กปปส.นำโดยสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคงที่เป็นผู้อำนวยการ ศอฉ.ในการสลายการชุมนุมปี 2553 การชุมของ กปปส.ต่อต้านกฎหมายนิรโทษกรรม ก่อนจะลามมาถึงข้อเรียกร้องเรื่องการปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง การเรียกทหารออกมาจัดการสถานการณ์ปั่นป่วน และลงท้ายด้วยการรัฐประหารโดย คสช.

 

การเคลื่อนไหวช่วงเดือนเมษายน 2553

16 มี.ค. รวมเลือดผู้ชุมนุมที่ร่วมบริจาค เทที่ทำเนียบรัฐบาลและหน้าที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์

20 มี.ค. ผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวนการชุมนุมไปย่านต่างๆ ทั่วกรุงเทพฯ

25 มี.ค. อาสาสมัคร 500 คนรวมตัวโกนศีรษะประท้วงเรียกร้องให้รัฐบาลยุบสภา

28-29 มี.ค. การเจราระหว่างตัวแทนรัฐบาลและตัวแทนผู้ชุมนุม ไม่ประสบผลสำเร็จ ผู้ชุมนุมเสนอยุบสภาใน 2 สัปดาห์ รัฐบาลเสนอ 9 เดือน

3 เม.ย. การชุมนุมเริ่มแบ่งเป็น 2 จุด จุดเดิมที่สะพานผ่านฟ้าลีลาศ และจุดใหม่ สี่แยกราชประสงค์

5 เม.ย. ศาลยกคำร้องที่อภิสิทธิ์ ในฐานะ ผอ.รมน.ยื่นคำร้องให้ศาลสั่งให้ผู้ชุมนุมออกจากแยกราชประสงค์ ศาลระบุว่า การชุมนุมดังกล่าวก่อความเดือดร้อน กระทบต่อความมั่งคงในราชอาณาจักร ใช้สิทธิเสรีภาพเกินขอบเขตของรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตาม ศาลเห็นว่า กอ.รมน.สามารถมีคำสั่งดำเนินการได้เองตาม พ.ร.บ.ความมั่นคงที่ประกาศใช้ ไม่มีความจำเป็นต้องใช้สิทธิทางศาล

6 เม.ย. กำลังตำรวจจำนวนมากเข้าไปในพื้นที่ราชประสงค์เพื่อกดดันผู้ชุมนุม แต่สุดท้ายเจ้าหน้าที่ประชาชนจับไม้จับมือกัน แล้วเดินทางกลับ

7 เม.ย. ผู้ชุมนุมเคลื่อนไปปิดล้อมรัฐสภา ทำให้นายกฯ และคนสำคัญในรัฐบาลต้องไปอยู่ในกรมทหาราบที่ 11

9 เม.ย. กลุ่มผู้ชุมนุมส่วนหนึ่งเคลื่อนไปยังสถานีไทยคม มีการตรวจค้นอาวุธทหารและบุกเข้าไปสถานีได้สำเร็จแม้มีการประทะกันบางส่วนโดยเจ้าหน้าที่ใช้น้ำฉีด แก๊สน้ำตา และกระสุนยาง ผู้ชุมนุมยึดอาวุธทหารเอามากองเพื่อให้สื่อถ่ายรูปและให้เจ้าหน้าที่ทหารระดับปฏิบัติการเดินเรียงแถวขึ้นรถกลับกรมกอง อย่างไรก็ตาม กลางดึกคืนวันนั้น ทหารประมาณ 5,000 นายเข้ายึดสถานีไทยคมไว้ได้ตามเดิม

10 เม.ย. เกิดเหตุการณ์ความรุนแรง มีผู้เสียชีวิตเป็นพลเรือน  ... ราย ทหาร .... ราย

26 เม.ย. ท่ามกลางฝุ่นตลบของสงครามข้อมูลข่าวสาร  พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด นำ “ผังล้มเจ้า” เผยแพร่กับผู้สื่อข่าว

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net