Skip to main content
sharethis

ดิแอตแลนติควิเคราะห์การเลือกตั้งล่าสุดในเกาหลีใต้ ถึงแม้ผู้นำคนถัดไปของเกาหลีใต้มีแนวโน้มที่จะเป็นสายสันติ แต่ท่าทีของรัฐบาลสหรัฐฯ ในปัจจุบันก็อาจเป็นปัญหาท้าทาย<--break- />

เกาหลีใต้มีการเลือกตั้งในวันที่ 9 พ.ค. นี้ โดยนับเป็นช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อเนื่องจากกำลังเกิดวิกฤตคาบสมุทรเกาหลีที่ผู้คนจับตามองว่าสหรัฐฯ รวมถึงประเทศพันธมิตรของสหรัฐฯ จะมีท่าทีอย่างไรเกี่ยวกับเกาหลีเหนือ หลังจากที่มีการพยายามกดดันกันด้วยการแสดงแสนยานุภาพของอาวุธกันมาก่อนหน้านี้แล้ว

แน่นอนว่าในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดของเกาหลีใต้นี้คงหลีกเลี่ยงจะพูดถึงเรื่องนโยบายต่อเกาหลีเหนือไปไม่ได้ โดยทั่วไปแล้วกลุ่มอนุรักษ์นิยมในเกาหลีใต้มักจะมีท่าทีเรียกร้องให้ใช้กำลังกับเกาหลีเหนือ ส่วนสายเสรีนิยมมักจะใช้แนวคิดแบบ "นโยบายอาทิตย์ฉายแสง" ของอดีตประธานาธิบดีคิมแดจุง ที่เน้นการผ่อนคลายความตึงเครียดกับเกาหลีเหนือ และพยายามใช้สันติวิธีเพื่อชักจูงเกาหลีเหนือมากกว่า

จากประวัติการเลือกตั้งในเกาหลีใต้ตั้งแต่ช่วงศตวรรษ 1990 พวกเขามักเลือกรัฐบาลอนุรักษ์นิยมกับเสรีนิยมสลับกัน ทำให้การดำเนินนโยบายต่อเกาหลีเหนือสับเปลี่ยนไปมาด้วย จะมีก็แต่ พัก กึนเฮ อดีตประธานาธิบดีคนล่าสุดที่ดูเหมือนจะผสมเอาทั้งสายใช้กำลังและสายสันติวิธีไว้ด้วยกันในแบบที่เธอเรียกตัวเองว่า "การเมืองความเชื่อใจ" (Trust politic) ที่มุ่งเน้นการเปลี่ยนแปลงบรรยากาศของความหวาดระแวงและความขัดแย้งมาสู่ความเชื่อมั่นและความเชื่อใจ แต่โลกก็รู้ว่าคำประกาศของ พัก กึนเฮ มีสิ่งที่เป็นสาระสำคัญอยู่น้อย หลังจากที่มีเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับ ชเวซุนซิล คนทรงเจ้าเพื่อนสนิทของเธอที่คอยช่วยแก้คำปราศรัยให้

ดิแอตแลนติครายงานว่าการถอดถอน พัก กึนเฮ เนื่องด้วยเรื่องอื้อฉาวดังกล่าวนี้ยังทำให้เกิดกระแสเสรีนิยมในการเมืองเกาหลีใต้ขณะที่เรื่องอื้อฉาวก็ส่งผลทำให้ฝ่ายอนุรักษ์นิยมแปดเปื้อนไปด้วย เมื่อพิจารณาจากการที่พรรคฝ่ายเสรีนิยมแพ้ไปด้วยคะแนนไม่มากในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา และผลโพลในปัจจุบันก็ออกมาว่า มุน แจอิน จากพรรคประชาธิปไตยเกาหลี หรือพรรคมินจู ซึ่งเป็นพรรคสายเสรีนิยมมีคะแนนนำ จึงมีโอกาสสูงที่ประธานาธิบดีคนต่อไปของเกาหลีใต้จะเป็น มุน แจอิน

มุนแจอิน เคยทำงานเป็นเสนาธิการในรัฐบาลเสรีนิยมของ โน มูฮยอน มาก่อนจึงมีความเป็นไปได้ที่เขาจะดำเนินนโยบายต่อเกาหลีเหนือในแบบเสรีนิยมด้วยการเน้นปลดอาวุธนิวเคลียร์เกาหลีเหนือ ผ่านการเจรจาหารือ 6 ฝ่าย อย่างในช่วงต้นศตวรรษที่ 2000 เน้นส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมและการกีฬา มีกระบวนการรวมประเทศอย่างค่อยเป็นค่อยไปผ่านระบบตลลาดเดี่ยว แต่เรื่องนี้ก็มีปัญหาความท้าทายจากท่าทีของสหรัฐฯ ต่อเกาหลีเหนือในปัจจุบัน ในฐานะที่สหรัฐฯ เป็นพันธมิตรที่สำคัญที่สุดของเกาหลีใต้

ท่าทีของรัฐบาลสหรัฐฯ ยุคโดนัลด์ ทรัมป์ ดูมีท่าทีแข็งกร้าวต่อเกาหลีเหนือมากกว่ารัฐบาลก่อน มีการประกาศว่า "ยุคสมัยแห่งการอดกลั้นเชิงยุทธศาสตร์หมดลงไปแล้ว" นอกจากนี้ทรัมป์ยังสร้างความขุ่นเคืองให้กับชาวเกาหลีใต้ด้วยการบอกว่าจะสั่งให้เกาหลีใต้จ่ายเงินค่าติดตั้งระบบป้องกันขีปนาวุธข้ามทวีปในชั้นบรรยากาศหรือ THAAD ถึง 1,000 ล้านดอลลาร์ เรื่องการติดตั้ง THAAD เองก็กลายเป็นประเด็นที่พูดถถึงกันในการเลือกตั้งครั้งนี้เช่นกัน

ดิแอตแลนติคมองว่าถ้าหาก มุน แจอิน ชนะ จะกลายเป็นการที่สายสันติในเกาหลีต้องเผชิญกับสายใช้กำลังแบบสหรัฐฯ เรื่องนี้เทียบได้กับสมัยของ คิม แดจุง และ โน มูฮยอน ที่เป็นผู้นำในยุคเดียวกับจอร์จ ดับเบิลย บุช ซึ่งนโยบายของ คิม แดจุง ก็ได้รับการสนับสนุนจากบุชเป็นอย่างดี

แต่ในสมัยของ โน มูฮยอน หลังเหตุโจมตี 9-11 บุชก็เริ่มประกาศว่าเกาหลีเหนือคือ "อักษะแห่งความชั่วร้าย" ขณะเดียวกัน โน มูฮยอน ก็อาศัยช่วงกระแสต่อต้านสหรัฐฯ ภายในเกาหลีใต้จากเหตุการณ์ที่มีรถหุ้มเกราะของสหรัฐฯ ชนเด็กนักเรียนเกาหลีใต้เสียชีวิต 2 ราย โดยอาศัยจุดนี้หาเสียงจนชนะ แต่ในปี 2004 โน มูฮยอน ถึงขั้นเคยบอกว่า คิมจองอิล ผู้นำเกาหลีเหนือในขณะนั้น "มีเหตุผลที่ดีที่เขาต้องการอาวุธนิวเคลียร์" ทำให้ โน มูฮยอน ดูเป็นคนคาดเดาไม่ได้ในสายตาสหรัฐฯ

อย่างไรก็ตาม ไมเคิล กรีน ผู้อำนวยการอาวุโสด้านกิจการเอเชียของสภาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ สมัยบุชเปิดเผยว่าในแง่การทำงานแล้วเกาหลีใต้ในยุค โน มูฮยอน ยังไปกันได้ด้วยดีกับบุช โดยที่ โน มูฮยอน เคยขอให้สหรัฐฯ อย่าเปิดฉากสงครามคาบสมุทรเกาหลี ขณะเดียวกันเกาหลีใต้ก็ทำตัวเป็นพันธมิตรที่ดีด้วยการส่งทหารจำนวนมากไปช่วยสร้างอิรักขึ้นใหม่หลังสหรัฐฯ บุกอิรักแม้ว่าจะมีการต่อต้านจากในเกาหลีใต้เอง ทำให้บุชให้ค่า โน มูฮยอน มากกว่าผู้นำฝรังเศสและเยอรมนีในยุคนั้นเสียอีก

ในยุคต่อๆ มาเกาหลีใต้ได้ผู้นำที่ท่าทีก้าวร้าวต่อเกาหลีเหนือมากขึ้น แต่สหรัฐฯ กลับได้สายที่ก้าวร้าวน้อยกว่าอย่าง บารัก โอบามา ก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนไปมากในแง่ผลลัพธ์ของคาบสมุทรเกาหลี

ดิแอตแลนติคมองว่าไม่ว่าจะมีการท้าทาย ยั่วยุ กันระหว่างสองผู้นำเกาหลีอย่างใดก็ตาม ทั้งคู่ต่างก็ไม่ต้องการให้เกิดสงครามเต็มรูปแบบ และไม่ว่ารัฐบาลเกาหลีใต้-สหรัฐฯ จะแสดงออกสายใช้กำลังหรือสายสันติอย่างไรก็ตามพวกเขาก็ไม่ได้เป็นไปตามที่แสดงออกเช่นนั้นทั้งหมด ในสมัยของ คิม แดจุง และ โน มูฮยอน พวกเขาโต้ตอบการที่กองทัพเรือเกาหลีเหนือรุกล้ำน่านน้ำทะเลเหลืองด้วยกำลังจนสังหารลูกเรือของเกาหลีเหนือไปจำนวนมาก ขณะที่ในสมัยของ ลี มยอกบัก ที่เป็นสายก้าวร้าวกลับแค่โจมตีเกาหลีเนือด้วยวาจาหลังเกาหลีเหนือใช้เรือดำน้ำจมเรือเกาหลีใต้ทำให้ลูกเรือเสียชีวิต 46 นาย ตัว มุน แจอิน ก็เคยให้สัมภาษณ์กับวอชิงตันโพสต์ว่า เขาเชื่อว่าทรัมป์น่าจะเป็นคนที่ดุมีเหตุผลมากกว่าที่มองเห็นภายนอก

ดิแอตแลนติคสรุปว่าสิ่งที่อันตรายจริงๆ ไม่น่าจะเป็นคำพูดที่แสดงความเป็นศัตรูต่อกันแต่เป็น "มือที่ไม่นิ่งพอ" สงครามจะเกิดไม่ใช่เพราะโวหารแข็งกร้าวของพวก "สายเหยี่ยว" แต่เป็นการคำนวนที่ผิดพลาดหรือการจับสัญญาณผิด เช่น ในกรณีที่รัฐบาลทรัมป์ส่งเรือบรรทุกเครื่องบินคาร์ล วินสัน ไปก็ถือเป็นข้อผิดพลาดในแบบที่ชวนให้เกาหลีเหนือเข้าใจผิดๆ จนเพิ่มความตึงเครียดและอาจจะเริ่มโจมตีเกาหลีใต้ก่อน พวกเขาจึงเสนอให้รัฐบาลใหม่ของเกาหลีใต้ควรจะส่งเสริมการสื่อสารและความร่วมมือที่ดีขึ้นระหว่างสองประเทศพันธมิตร

 

 

เรียบเรียงจาก

The Korean Peninsula's Other High-Stakes Drama, The Atlantic, 05-05-2017

https://www.theatlantic.com/international/archive/2017/05/north-korea-south-korea-kim-jong-un-nuclear-trump/524910/

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net