Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

พุทธทาสช่วงที่ศึกษาอยู่ที่วัดปทุมคงคา (ภาพจากวิกิพีเดีย)

เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2560 ที่ผ่านมา เป็นวันครบรอบชาตกาล 111 ปี ของพุทธทาสภิกขุ ผมมีโอกาสไปร่วมกิจกรรม “คิดถึงพุทธทาส 111 ปี” ที่สังฆะวัชรปัญญา อันเป็นชุมชนของผู้ฝึกปฏิบัติในสายธรรมวัชรยานของเชอเกียม ตรุงปะ รินโปเช ที่สืบทอดผ่านประสบการณ์ของธรรมาจารย์เรจินัลด์ เรย์ และอาจารย์วิจักขณ์ พานิช มีบทสนทนาบางแง่มุมที่ผมอยากนำมาเล่าต่อ

นับแต่การปฏิรูปพุทธศาสนาโดย ร.4 จนถึงปัจจุบัน นอกเหนือจากพุทธทาสแล้วยังไม่ปรากฏมีพระ (หรือฆราวาส) รูปใดที่สามารถสร้างผลงานอันมีคุณค่าต่อการศึกษาพุทธศาสนา ที่เป็นทั้งการสร้างความรู้, ความคิด, การวิจารณ์เชิงถอดรื้อ, การสร้างแรงบันดาลใจในการเปลี่ยนแปลง และการเสนอคำสอนพุทธศาสนาที่มีมิติลึกทางจิตวิญญาณและอารมณ์ความรู้สึกไปด้วยพร้อมๆ กัน

โดยการวิเคราะห์ทัศนะและการตีความคำสอนพุทธศาสนาของ ร.4  จากเอกสารบางส่วน นักวิชาการฝ่ายก้าวหน้าในบ้านเรามองสอดคล้องกันว่า การปฏิรูปพุทธศาสนาโดย ร.4 ในมิติทางปัญญา คือการปฏิเสธคัมภีร์ไตรภูมิพระร่วงและอรรถกถา แล้วกลับไปหาคำสอนที่มีเหตุผลในพระไตรปิฎก เพื่อนำมาอ้างอิงว่ามีความทันสมัย เข้ากันได้กับวิทยาศาสตร์ กล่าวกันว่ายุคนั้นมีการเน้นให้เห็นมิติความเป็น “มนุษยนิยม” และ “เหตุผลนิยม” ในพุทธศาสนาชัดเจนขึ้นกว่ายุคก่อนหน้า

แต่อันที่จริงแล้ว ไตรภูมิพระร่วงก็แต่งขึ้นจากข้อมูลในพระไตรปิฎกและอรรถกถาเป็นด้านหลัก อีกทั้งการปฏิรูปพุทธศาสนาต่อเนื่องจาก ร.4 ในสมัย ร.5 กลับเป็นการรักษาคัมภีร์อรรถกถาไว้อย่างมั่นคงในระบบการศึกษาแบบทางการของคณะสงฆ์

กล่าวคือ ระบบการศึกษาบาลี ตั้งแต่เปรียญ 1-2 ถึงเปรียญ 9 กำหนดให้พระเณรเรียนคัมภีร์อรรถกถาเท่านั้น ไม่มีการเรียนพระไตรปิฎกแต่อย่างใด ปัญญาชนพุทธปัจจุบันที่เห็นความสำคัญของพระไตรปิฎก เช่นเสฐียรพงษ์ วรรณปก ถึงขนาดเขียนในคำปรารภของหนังสือ “พระไตรปิฎกวิเคราะห์” ว่า “ถึงจะไม่มีการบรรจุพระไตรปิฎกไว้ในหลักสูตรการศึกษานักธรรม-บาลีของคณะสงฆ์ แต่ฆราวาสอย่างเราๆ ก็ควรจะเห็นความสำคัญของพระไตรปิฎก” ซึ่งสะท้อนว่า การปฏิรูปพุทธศาสนาสมัย ร.4-5 ไม่ได้ปฏิเสธหรือลดความสำคัญของอรรถกถาลง ทั้งยังให้ความสำคัญกับการศึกษาอรรถกถามากกว่าพระไตรปิฎกสืบต่อมาจวบจนปัจจุบันอีกด้วย

ผู้ที่กลับไปหาพระไตรปิฎกอย่างแท้จริง ด้วยการสร้างการศึกษาพุทธศาสนานอกระบบ คือพุทธทาสภิกขุ ในหนังสือ “เล่าไว้เมื่อวัยสนธยา” ท่านพุทธทาสเล่าว่าไม่ชอบวิธีการแปลบาลีแบบทางการในระบบการศึกษาของคณะสงฆ์ที่มีต้นฉบับแปลแบบรักษาโครงสร้างไวยากรณ์และสำนวนแบบโบราณที่คนทั่วไปอ่านไม่รู้เรื่อง แล้วเน้นให้คนเรียนจำและแปลแบบเดียวกัน ท่านต้องการแปลในแบบของตัวเองที่คนอ่านทั่วๆ ไปเข้าใจง่าย

ในยุคนั้นมีนิตยสาร “ธรรมจักษุ” ที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระวชิรญาณวโรรส สนับสนุนให้พระราชาคณะฝ่ายธรรมยุตแปลพระสูตรบางสูตรในพระไตรปิฎกไปลงตีพิมพ์ ที่เริ่มเปิดกว้างให้มีการแปลต่างจากแบบโบราณบ้าง เช่นแบบเก่าพระพุทธเจ้าพูดกับพระมหากัสสปะจะแปลกันว่า “ดูก่อนกัสสปะ” แต่มีพระบางรูปแปลใหม่ว่า “กัสสปะจ๊ะ” ก็ได้ลงในธรรมจักษุ

หากมองการกลับไปหาพระไตรปิฎกเฉพาะตัวบุคคล ท่านพุทธทาสเห็นว่าสมเด็จพระมหาสมณะเจ้าฯ ได้เริ่มต้นไว้ดีในระดับหนึ่ง เช่นการตีความเรื่องราวเชิงปาฏิหาริย์ในพระไตรปิฎกให้เห็นว่ามีแง่คิดที่มีเหตุผลซ่อนอยู่ แต่ก็ไม่มีใครที่กล้าแตะหรือตั้งคำถามและเสนออะไรนอกกรอบที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ วางเอาไว้

ในโลกตะวันตกที่ “ศรัทธา” (faith) กับ “เหตุผล” (reason) หรือศาสนากับปรัชญาปะทะกันมาตลอด การที่ปราชญ์ทางศาสนาจะยืมความคิดทางปรัชญามาอธิบายความเชื่อทางศาสนาถือเป็นเรื่องปกติ เช่นในยุคกลาง God ในมุมองของบรรดาปราชญ์คริสต์มักมีลักษณะเป็นนามธรรมและมีเหตุผลสนับสนุน (justification) ที่รัดกุม ขณะที่ God ในความเชื่อของชาวบ้านทั่วไปมีลักษณะเป็นบุคคลที่มีอำนาจให้คุณและให้โทษแก่ผู้ที่ศรัทธาและนอกรีต อำนาจศาสนจักรก็อยู่บนฐานความเชื่อนี้

หลังการปฏิรูปศาสนาโดยมาร์ติน ลูเธอร์ ที่แยกนิกายโปรเตสแตนท์จากศาสนจักรโรมันคาทอลิก ความเชื่อที่ว่าปัจเจกบุคคลสามารถตีความคัมภีร์จากมุมมองของตนเองได้ และเข้าถึงพระเจ้าได้โดยตรง ไม่ต้องผ่านอำนาจของนักบวชและศาสนจักรจึงเกิดขึ้น และความเชื่อดังกล่าวนี้ก็เป็นเชื้อให้เกิดแนวคิดเสรีนิยม (liberalism) ในเวลาต่อมา เมื่อเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ความเชื่อเรื่องพระเจ้าก็ถูกตีความสนับสนุนสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคมากขึ้น

การกลับไปหาพระไตรปิฎกในสมัย ร.4-5 ไม่ได้ให้กำเนิดไอเดียเสรีภาพของปัจเจกบุคคลในการตีความพระไตรปิฎก เพราะการสร้างคณะสงฆ์แบบทางการของรัฐที่มีอำนาจวินิจฉัยเรื่องถูก,ผิดพระธรรมวินัยในพระไตรปิฎกได้กลายเป็นการสร้างลัทธิยึดติดคัมภีร์ (fundamentalism) ขึ้นมา แม้ไม่ได้มีอำนาจรูปธรรมมากเหมือนศาสนจักรโรมันคาทอลิก แต่ก็ยังคงมีอิทธิพลครอบงำทางความคิด ความเชื่อผ่านระบบการปกครองและระบบการศึกษาของพระสงฆ์ทั่วราชอาณาจักรมาจนถึงปัจจุบัน

มีคนถามท่านพุทธทาสว่า “ความรู้บาลีแค่เพียงเปรียญ 3 ประโยคจะทำอะไรกับการศึกษาพระไตรปิฎกได้” ท่านตอบว่า “ไม่ได้ใช้ความรู้บาลีเพียงอย่างเดียว แต่มันมีวิธีใช้เหตุผลแบบอื่นๆ ด้วย” บนวิธีคิดเช่นนี้ทำให้การกลับไปหาพระไตรปิฎกแบบพุทธทาสไม่ได้ทำให้ท่านกลายเป็น fundamentalist แต่เป็นการกลับไปหาพระไตรปิฎกด้วยวิธีวิพากษ์วิจารณ์เชิงถอดรื้อ (reconstruct) ให้เห็นว่าอะไรคือมายาคติ อะไรคือสาระที่มีประโยชน์ อะไรควรนำมาศึกษา อะไรควรฉีกทิ้ง

ในมุมมองเชิงวิพากษ์แบบพุทธทาส พระไตรปิฎกไม่ใช่ของศักดิ์สิทธิ์ ในแง่หนึ่งพระไตรปิฎกคือแหล่งอ้างอิงทางวิชาการและการปฏิบัติ แต่ธรรมหรือ “ความจริง” ที่พระไตรปิฎกกล่าวถึงก็เป็นของที่มีอยู่นอกพระไตรปิฎก เพราะการบรรลุธรรมอาจเกิดกับคนที่ไม่เคยอ่านพระไตรปิฎกเลย หรือไม่เคยรู้จักคำว่า “พุทธศาสนา” มาก่อนเลยก็ได้

ในทัศนะพุทธทาส โลกกับธรรมไม่ได้แยกขาดจากกัน เหมือนเพชรมีอยู่ในหัวคางคก เราก็เรียนรู้ธรรมได้จากการเข้าใจโลกย์ และ “ธรรม” ย่อมมีความหมายกว้างกว่า “ศาสนา” เพราะศาสนาต่างๆ ก็พูดถึงธรรมในแง่ต่างๆ และนอกคำสอนศาสนาก็มีธรรมอยู่เช่นกัน

เมื่อเป็นเช่นนี้ ธรรมจึงพ้นจากกรอบศาสนาใดศาสนาหนึ่ง เช่นที่ท่านตีความว่า “ธรรมะคือพระเจ้า พระเจ้าคือธรรมะ” ซึ่งเป็นการท้าทายทั้งคนที่นับถือศาสนาที่มีพระเจ้าและศาสนาที่ไม่มีพระเจ้าให้ค้นหา “ความจริง” ที่ข้ามพ้นกรอบความเชื่อของศาสนาใดๆ โดยเฉพาะ

เมื่อมีความจริงที่พ้นกรอบความเชื่อของศาสนาใดศาสนาหนึ่งแล้ว ก็แปลว่ามีความจริงที่พ้นนิกายศาสนาด้วย ดังนั้น พุทธทาสจึงเป็นนักคิดชาวพุทธคนแรกๆ ที่สนับสนุนการก้าวข้ามอคติระหว่างศาสนา/นิกายศาสนาและสนับสนุนการเรียนรู้ข้อดีระหว่างศาสนาและนิกายศาสนา ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการสร้าง “ขันติธรรม” หรือการมีใจเปิดกว้างในการอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรม

คนที่เรียนมาทางปรัชญาย่อมรู้ดีว่า นักปรัชญาต่างๆ ล้วนสร้าง “มโนทัศน์” (concept) บางอย่างที่มี “นิยามเฉพาะ” ขึ้นมาอธิบายความคิดของตัวเอง เช่นเพลโตสร้างมโนทัศน์ Forms, Idea ค้านท์สร้าง Good Will ฟูโกต์สร้าง Biopower เป็นต้น ในหนังสือ “ตามรอยพระอรหันต์” ที่เขียนขึ้นจากพระสูตรสำคัญในพระไตรปิฎกบาลี ในปีแรกที่ออกมาตั้งสวนโมกข์ พ.ศ.2475 (ขณะมีอายุ 26 ปี) พุทธทาสเริ่มสร้างมโนทัศน์ “อริยวิทยาศาสตร์” เพื่ออธิบายความคิดที่ว่า วิธีการปฏิบัติเพื่อบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์มีความเป็นเหตุเป็นผลและพิสูจน์ผลการปฏิบัติได้อย่างวิทยาศาสตร์ แต่เป็นวิทยาศาสตร์ด้านธรรมธรรม

ผู้ที่เคร่งครัดในนิยามของคำว่า “วิทยาศาสตร์” อาจไม่ยอมรับมโนทัศน์ “อริยวิทยาศาสตร์” หรือ “วิทยาศาสตร์ด้านนามธรรม” ของพุทธทาส กระทั่งเห็นเป็นเรื่องตลก แต่ในการศึกษาด้านจิตวิทยาและจิตวิเคราะห์ที่ใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์ก็มากด้วยการสร้างมโนทัศน์ต่างๆ (เช่น id, ego, superego ฯลฯ) ขึ้นมาอธิบายปรากฏการณ์ทางจิต พุทธทาสเองก็มองว่า “กิเลส” เป็นปรากฏการณ์ทางจิตอย่างหนึ่งในระดับสัญชาตญาณหรือ instinct ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงทางธรรมชาติของสิ่งมีชีวิตที่ตรวจสอบได้ และอันที่จริงในการศึกษาพุทธศาสนาในวงวิชาการตะวันตกนั้น การนำความคิดทางวิทยาศาสตร์มาอธิบายคำสอนพุทธศาสนาในเรื่องทุกข์และวิธีปฏิบัติเพื่อดับทุกข์เขาก็ทำกันเป็นเรื่องปกติ (เช่นหนังสือ "สมองแห่งพุทธะ" เป็นต้น)

มองเผินๆ เหมือนพุทธทาสเป็น “นักประดิษฐ์คำ” (ดังพระเซเลบปัจจุบันนิยมทำกัน) แต่ที่จริงแล้วพุทธทาสคือผู้สร้างมโนทัศน์ต่างๆ ขึ้นมาเพื่ออธิบายความคิดสำคัญของพุทธศาสนาในแบบที่ท่านตีความ เพราะมโนทัศน์ต่างๆ ที่ท่านสร้างขึ้นเช่น อริยวิทยาศาสตร์, จิตว่าง, นิพพานที่นี่เดี๋ยวนี้, ตัวกู ของกู, ธรรมิกประชาธิปไตย, ธรรมิกสังคมนิยม,เผด็จการโดยธรรม ฯลฯ ล้วนแต่เป็นมนโนทัศน์ที่บรรจุตัวความคิด คำอธิบายที่มีรายละเอียดมากมายและซับซ้อน เขียนเป็นหนังสือได้เป็นเล่มๆ

อย่างไรก็ตาม ความคิดของพุทธทาสก็เหมือนความคิดของนักคิดอื่นๆ ที่มีทั้งข้อดีและข้อด้อย ผมเห็นด้วยกับความคิดเรื่องศีลธรรมและสิทธิในปรัชญาของค้านท์ ที่ให้เหตุผลได้หนักแน่นว่าศีลธรรมและสิทธิควรวางอยู่บนการเคารพศักดิ์ศรีและอิสรภาพของมนุษย์ แต่ขณะเดียวกันหลักการทางศีลธรรมและหลักสิทธิแบบค้านท์ก็มีปัญหาในการประยุกต์กับสถานการณ์จริงของชีวิตและสังคมในบางเรื่อง ผมเห็นด้วยกับมิลล์ในการอธิบายเรื่องเสรีภาพและอรรถประโยชน์ของส่วนรวม แต่ไม่เห็นด้วยกับความคิดเรื่องการโหวตที่ถือว่าเสียงของคนจนด้อยการศึกษาสำคัญน้อยกว่าเสียงของคนชั้นกลางมีการศึกษา

เช่นเดียวกัน ผมเห็นด้วยกับความคิดพุทธทาสในด้านที่ก้าวหน้าดังที่กล่าวมา (เป็นต้น) แต่ไม่เห็นด้วยกับความคิดทางการเมืองของพุทธทาสที่ไปไม่พ้นอุดมการณ์อนุรักษ์นิยม เพราะความคิดเรื่องสังคมนิยมเผด็จการโดยธรรม โดยหลักการพื้นฐานแล้วดีในแง่ที่ถือว่า “ตามสภาวะภายใต้กฎธรรมชาติ สรรพสิ่งและมนุษย์ดำรงอยู่ได้เพราะอิงอาศัยกันและกันในรูปแบบสหกรณ์ที่เน้นความสำคัญของส่วนรวม” แต่ข้อวิพากษ์เสรีประชาธิปไตยและสังคมนิยม และข้อเสนอในทางปฏิบัติที่ให้ “คนดี” ใช้อำนาจเผด็จการในการปกครองเพื่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ เป็นข้อวิพากษ์และข้อเสนอจากการคิดที่ตื้นเขิน หรือขาดเหตุผลที่รัดกุม

พูดรวมๆ บทบาทและความคิดของพุทธทาสย่อมถูกตีความตามการ “อ่าน” ของแต่ละคนไปอีกนาน และคนที่ “อ่าน” พุทธทาสก็มีตั้งแต่คนแบบ ส. ศิวรักษ์, ประเวศ วะสี, นิธิ เอียวศรีวงศ์,เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง, พระไพศาล วิสาโล, สมณะโพธิรักษ์ ไปจนถึงพุทธะอิสระกระทั่งยันตระ รวมทั้งคนรุ่นใหม่ๆ อย่างวิจักขณ์ พานิช, ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ ฯลฯ แต่ละคนย่อมเห็นแง่มุมต่างๆ ของพุทธทาสตามวิธี “อ่าน” ของตัวเอง

สำหรับผม ความคิด คำสอนพุทธทาส ไม่ใช่สัจธรรมที่เถียงไม่ได้ และเราไม่ได้แสวงหา “แก่นแท้” ของพุทธศาสนาจากคำตอบที่พุทธทาสให้มา แต่วิธีการวิจารณ์เชิงถอดรื้อของพุทธทาสทำให้อำนาจการตีความพระไตรปิฎกไม่ได้ขึ้นกับคณะสงฆ์,ปราชญ์ที่เป็นพระหรือฆราวาสอีกต่อไป ใครๆ ก็มีเสรีภาพและมั่นใจจะศึกษาตีความด้วยตนเองได้

แรงบันดาลใจจากพุทธทาส คือการทำให้เรามองความเป็นไปได้ที่คนในวัยหนุ่ม (หรือวัยหลังหนุ่ม) จะค้นพบว่าตัวเองศรัทธาแน่วแน่ในอะไร, ควรมีชีวิตอยู่เพื่ออะไร และควรเดินไปสู่เป้าหมายอย่างเป็นตัวของตัวเองอย่างไร

ชื่อ “พุทธทาส” จะอยู่คู่กับสังคมไทยไปอีกนานเท่าใดไม่อาจทราบได้ แต่ตราบที่ยังมีการศึกษาพุทธศาสนาอยู่ วลีที่ว่า “พุทธทาสจักอยู่ไปไม่มีตาย” ก็ยังคงเป็นจริงอยู่ เพราะงานอรรถาธิบายพุทธศาสนาแบบพุทธทาสจะยังคงถูกศึกษาต่อไป ทั้งจากมุมที่เห็นด้วยและถกเถียงโต้แย้ง

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net