Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ที่มาของภาพลายมือข้างบนจากเพจ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ (https://th-th.facebook.com/buddhadasaarchives/photos/a.310319065534/10154153959905535/?type=3&theater ) โดยเพจดังกล่าวให้เกร็ดความรู้ทางประวัติศาสตร์ว่า

"คนดีสำคัญกว่าทุกสิ่ง

พุทธทาสลิขิตข้อธรรม บันทึกนึกได้เอง : ว่าด้วยชีวิตสังคม การเมือง สันติภาพ และหลักคิดสำคัญ เป็นลายมือที่ท่านพุทธทาสเขียนในระหว่างปี พ.ศ.2495 ในลักษณะอนุทินประจำวัน ทำอะไร ที่ไหน

เริ่มเขียนเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2495 ที่นายกุหลาบ สายประดิษฐ์ และนายวิลาส มณีวัตร ไปขอพักศึกษาธรรมที่สวนโมกข์ กับบันทึกกิจสำคัญ ๆ จนกระทั่งถึงกลางเดือนกรกฎาคม จึงเน้นเรื่องการบรรยายธรรม และสิ้นสุดการบันทึกทอดกฐินสามัคคีปากน้ำเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม ซึ่งเป็นกฐินครั้งแรกและครั้งเดียวของสวนโมกข์” 

จะเห็นว่า พุทธทาสเสนอไอเดีย “คนดีสำคัญกว่าทุกสิ่ง” เพื่อเป็นคำตอบทางการเมืองในช่วงทศวรรษ 2490 ซึ่งเป็นช่วงประวัติศาสตร์การสิ้นสุดอำนาจนำทางการเมืองของคณะราษฎรฝ่ายปรีดี พนมยงค์ แทนที่ด้วยยุค “เชื่อผู้นำชาติพ้นภัย” ของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่ตามมาด้วยยุค “ข้าพเจ้าขอรับผิดชอบแต่ผู้เดียว” ของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งเป็นช่วงเวลาของการเริ่มต้นการเพิ่มอำนาจนำทางการเมืองในรัฐธรรมนูญแก่สถาบันกษัตริย์มากขึ้น ภายใต้ชื่อ “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” และเพิ่มมากขึ้นอีกทั้งอำนาจนำทางการเมืองและวัฒนธรรมในยุคจอมพลสฤษดิ์เป็นต้นมา อันเป็นลักษณะเด่นชัดของการเพิ่มอำนาจมากขึ้นของสถาบันกษัตริย์ผ่าน “ประเพณีการทำรัฐประหาร” สืบเนื่องมาจวบปัจจุบัน

ก่อนหน้านั้น ในยุคคณะราษฎรที่ฝ่ายปรีดียังมีอำนาจนำทางการเมือง ซึ่งเป็นยุคเริ่มต้นของความฝันที่จะสร้างประชาธิปไตยให้เป็นจริง พุทธทาสได้แสดงปาฐกถาเรื่อง “พุทธธรรมกับเจตนารมณ์ของประชาธิปไตย” โดยตีความพุทธศาสนาสนับสนุนหลักเสรีภาพ ความเสมอภาค ภราดรภาพ และยืนยันมติเสียงข้างมากตามระบอบประชาธิปไตย ครั้นในยุค “เชื่อผู้นำชาติพ้นภัย” พุทธทาสก็เสนอไอเดีย “คนดีสำคัญกว่าทุกสิ่ง” เป็นคำตอบทางการเมือง ข้ามมาถึงยุครอยต่อระหว่างเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ 14 ตุลา 16 กับ 6 ตุลา 19 พุทธทาสก็เสนอไอเดีย “ธัมมิกสังคมนิยมเผด็จการโดยธรรม” เพื่อเป็น “ทางเลือกที่สาม” ระหว่างอุดมการณ์แบบเสรีประชาธิปไตยกับสังคมนิยม

ดูเผินๆ เหมือนพุทธทาสไม่มีจุดยืน หรือตีความพุทธธรรมในทางการเมืองแบบลื่นไหลไปตามสถานการณ์ แต่หากไปอ่านคำบรรยายของท่านอย่างละเอียดแล้วจะพบว่า พุทธทาสมีจุดยืนอย่างมั่นคง คือจุดยืนที่ถือว่า “พุทธธรรมหรือพุทธศาสนาอยู่สูงกว่าการเมือง” ซึ่งเป็นจุดยืนแบบนักคิดทางศาสนายุคกลาง หรือเป็นการเดินตามประเพณีทางปัญญาแบบยุคกลาง ที่ถือว่าหลักคำสอนศาสนาอยู่สูงกว่าหรือเหนือกว่าลัทธิการเมืองทุกรูปแบบ

อย่างไรก็ตาม ในยุโรปยุคกลางมีความซับซ้อนอยู่ ขณะที่นักคิดชื่อใหญ่ๆ อย่างโธมัส อไควนัส, ออกัสติน ยืนยันว่า หลักปรัชญาการเมืองแบบคริสต์และอำนาจศาสนจักรควรนำทางหรืออยู่เหนืออำนาจรัฐทางโลก แต่ก็มีนักบวชและฆราวาสสายปฏิรูปไม่เห็นด้วย เสนอว่า อำนาจรัฐทางโลกควรเหนือกว่าศาสนจักร แม้แต่มาร์ติน ลูเธอร์ ผู้นำสำคัญในการปฏิรูปคริสต์ศาสนาจนทำให้เกิดนิกายโปรเตสแตนท์ ก็เห็นว่าศาสนจักรควรอยู่ใต้อำนาจรัฐ

หลังการปฏิรูปคริสต์ศาสนา เมื่อแนวคิดมนุษยนิยมโลกวิสัย (secular humanism) และเสรีนิยม (liberalism) แพร่ขยายมากขึ้น ก็เกิดความคิดว่าศาสนาและศาสนจักรไม่ควรมีอำนาจชี้นำทางการเมืองและมีอำนาจเหนือหรือควบคุมการเมืองอีกต่อไป ศาสนาต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของการเมืองแบบโลกวิสัย จึงนำมาสู่การปฏิวัติล้มอำนาจกษัตริย์และศาสนจักร แทนที่รัฐคริสเตียนด้วยระบอบเสรีประชาธิปไตยและรัฐโลกวิสัย

จากนั้นศาสนาก็อยู่ใต้การควบคุมของการเมืองแบบสมัยใหม่ คือศาสนาถูกทำให้กลายเป็นความเชื่อส่วนบุคคลที่อยู่ภายใต้หลักเสรีภาพทางศาสนา จะนำหลักศาสนามาใช้เป็นอุดมการณ์ของรัฐ การบัญญัติกฎหมาย การบังคับเรียนศาสนา และอื่นๆ ในลักษณ์บังคับหรือฝืนเจตจำนงอิสระของปัจเจกบุคคลไม่ได้ เท่ากับว่าศาสนาถูกแยกออกไปจากการเมือง หรือหากจะเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมือง ก็เกี่ยวข้องได้ภายใต้กรอบกติกาแบบเสรีประชาธิปไตยและหลักการโลกวิสัยอนุญาตให้ทำได้เท่านั้น

ปัญหาของพุทธทาสคือ การที่ท่านเสนอความคิดเรื่องศาสนากับการเมืองบนจุดยืนแบบยุคกลาง คือการยืนยันว่า ศาสนาหรือธรรมะของศาสนาคือความจริงสูงสุด หรือ absolute truth ที่อยู่สูงกว่า เหนือกว่าลัทธิปรัชญาการเมืองหรือระบอบการปกครองใดๆ บนสมมติฐานที่ว่า ระบอบการปกครองแบบใดๆ ไม่ว่าราชาธิปไตย, ประชาธิปไตย, สังคมนิยม หรือเผด็จการรูปแบบใดๆ ไม่อาจดีได้ด้วยตัวมันเอง ต้องเป็นระบอบที่ประกอบด้วยธรรม หรือมีธรรมเท่านั้นจึงจะดีได้” หรือพูดกลับกันว่า “ระบอบการปกครองแบบไหนๆ ก็ดีได้ถ้ามีธรรมะหรือปกครองโดยธรรม”

ปกครองโดยธรรม ก็คือปกครองโดยคนดี โดยพุทธทาสสรุปว่า “ธรรมะในศาสนาเท่านั้นที่จะทำให้คนดี หาใช่ลัทธิการเมืองแต่ลัทธิใดไม่เลย” ซึ่งถ้ามองจากทัศนะแบบมนุษยนิยมโลกวิสัยและเสรีนิยม หรือแม้แต่ทัศนะแบบสังคมนิยม ย่อมถือข้อสรุปของพุทธทาสทั้งล้าหลังและไร้เดียงสา เพราะโดยข้อเท็จจริงแล้ว คนไม่มีศาสนาจำนวนมากต่างหากที่เป็นคนดีที่มี “common sense” เคารพหลักเสรีภาพ ความเสมอภาค ประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชนชัดเจนกว่า ขณะที่คนดีแบบศาสนา แม้แต่ผู้เคร่งศีลธรรมศาสนาก็มักจะขาดสามัญสำนึกและละเมิดหลักการพื้นฐานดังกล่าว

บางทีการเถียงกันว่า พุทธทาสสนับสนุนเสรีประชาธิปไตยหรือไม่ หรือสนับสนุนอุดมการณ์แบบสังคมนิยมหรือไม่ อาจเป็นการเถียงที่ไม่ตรงประเด็น หรือไม่ตรงกับเจตนารมณ์และจุดยืนในการเสนอความคิดศาสนากับการเมืองของพุทธทาสเลย เพราะเจตนารมณ์และจุดยืนของพุทธทาสชัดเจนตั้งแต่แรกว่า ธรรมะหรือศาสนาอยู่สูงกว่าการเมือง หรืออยู่เหนือการเมืองในความหมายว่าศาสนาและธรรมะต้องคอยกำกับควบคุมการเมือง หรือนำการเมืองให้เป็นการเมืองที่ถูกต้อง พูดอีกอย่างพุทธทาสไม่ได้สมาทานอุดมการณ์ทางการเมืองสมัยใหม่แบบใดๆ ตั้งแต่แรกแล้วจึงตีความพุทธธรรมมาสนับสนุน แต่ท่านสมาทานแนวคิดที่ว่าการเมืองต้องอยู่ใต้ธรรมหรือศาสนา ถ้าเป็นการเมืองที่อยู่ใต้ธรรมหรือศาสนาแล้วจะเป็นระบอบไหนก็ดีหมด

ที่มาของความคิดแบบพุทธทาส คือคำสอนในสูตรต่างๆ ในไตรปิฎก เช่น อัคคัญญสูตร, จักกวัตติสูตร ซึ่งเมื่อว่าตาม “ท้องเรื่อง” ในสูตรนั้นๆ อย่างตรงไปตรงมาแล้ว ก็เป็นเรื่องที่พุทธะสอนคุณธรรมแก่ผู้ปกครองใน “บริบท” ของสังคมสมัยโบราณ หรือในระบบราชาธิปไตยแบบโบราณ ในประวัติศาสตร์มีรัฐพุทธแบบอโศกและที่อื่นๆ นำคำสอนดังกล่าวมาประยุกต์ใช้ รวมทั้ง “รัฐศักดินาแบบพุทธไทย” แต่นอกจากหลักฐานเกี่ยวกับความอลังการของปราสาทราชวังกับวัดและศาสนสถานแล้ว ก็ไม่พบว่ารัฐพุทธศาสนาที่ใช้ “ธรรม” ในการปกครองจะทำให้เกิดความดีงามใดๆ ที่แสดงให้เห็นว่าประชาชนมีสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ศักดิ์ศรีของมนุษย์และมีความเป็นอยู่ที่ดีด้านอื่นๆ เทียบเท่ากับสังคมประชาธิปไตยสมัยใหม่ได้เลย ตรงกันข้ามพุทธศาสนาและการปกครองโดยธรรมกลับรุ่งเรืองถึงขีดสุดในยุคศักดินา เจ้าขุนมูลนาย ไพร่ ทาส ที่มากด้วยการกดขี่รุนแรงมายาวนาน

ดังนั้น การเสนอว่าธรรมะจะสร้างคนดีมาปกครอง แล้วจะเป็นการปกครองที่ดีกว่าระบอบประชาธิปไตยที่ไม่ใช้ธรรมหรือหลักความเชื่อทางศาสนามาปกครองเลย จึงมีปัญหาทั้งในแง่ที่เป็นการเสนอเกินไปจากที่พุทธะเสนอแต่แรก ที่มุ่งสอนคุณธรรมผู้ปกครองในระบบราชาธิปไตยแบบโบราณ และมีปัญหาทั้งในแง่ที่ทำให้เกิดการอ้างธรรม อ้างคนดีให้ความชอบธรรมกับเผด็จการและการทำรัฐประหารจนกลายเป็นประเพณีปฏิบัติผิดๆ ในสังคมไทย

 

    

 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net