6 ชาติอาหรับตัดสัมพันธ์การทูตกาตาร์ อ้างเหตุอยู่เบื้องหลังกลุ่มหัวรุนแรง กลุ่มการเมืองมุสลิม

ตะวันออกกลางระอุอีก 6 ชาติตัดสัมพันธ์การทูตกาตาร์ ปิดชายแดนบก เรือ อากาศ คนกาตาร์ ทูตกาตาร์ต้องออกจากประเทศภายใน 2 สัปดาห์ กาตาร์โอดพิษข่าวลือ หวั่น ปิดประเทศทำกาตาร์ช้ำ สายการบินขาดทุน หุ้นตก ข้าวยากหมากแพง สมองไหล

กรุงโดฮา ประเทศกาตาร์ เมื่อปี 2555 (ที่มา: UNCTAD/Wikipedia)

5 มิ.ย. 2560 สำนักข่าว อัลจาซีรา ของกาตาร์ รายงานว่า ซาอุดิอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อียิปต์ บาห์เรน เยเมน ลิเบียและมัลดีฟส์ ตัดสัมพันธ์ทางการทูตกับกาตาร์ โดยมีเหตุผลว่าเป็นการปกป้องความมั่นคงของรัฐ โดยสำนักข่าวของรัฐบาลซาอุดิอาระเบีย ระบุต้นเหตุว่า เป็นเพราะกาตาร์ “ให้ที่พักพิงแก่ผู้ก่อการร้ายและกลุ่มลัทธิต่างๆที่มุ่งหวังจะสร้างความไม่มีสเถียรภาพในภูมิภาค”

6 ชาติตัดสัมพันธ์ กาตาร์โอดข่าวลือทำพิษ นานาประเทศวอนมีอะไรค่อยพูดค่อยจา

ประเทศบนคาบสมุทรเปอร์เซียทั้ง 3 ได้แก่ ซาอุดิอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และบาห์เรน ประกาศให้ผู้เดินทางหรือผู้อยู่อาศัยชาวกาตาร์ที่พำนักอยู่ในประเทศทั้งสาม ออกจากประเทศภายในเวลา 2 สัปดาห์ บาห์เรนและซาอุดิอาระเบียยังได้ปิดชายแดนทั้งทางบก ทางเรือ ทางอากาศ ซาอุดิอาระเบียยังเรียกร้องให้ “เหล่าประเทศพี่น้องทั้งหลายทำเช่นเดียวกัน”

ในขณะที่สำนักข่าว เดอะ การ์เดียน ของประเทศอังกฤษ ระบุว่า รัฐบาลลิเบีย มัลดีฟส์ แม้แต่รัฐบาลเยเมน ที่ทุกวันนี้สูญเสียเมืองหลวงไปจากสงครามกลางเมืองก็ได้ประกาศตัดสัมพันธ์กับกาตาร์แล้ว โดยให้เหตุผลว่า กาตาร์ให้การสนับสนุนกลุ่มภราดรภาพมุสลิม (Muslim Brotherhood) กลุ่มผู้ก่อการร้าย อัล เคดา กลุ่มรัฐอิสลามและกลุ่มที่ได้รับการสนับสนุนโดยอิหร่านในจังหวัดคาติฟของซาอุดิอาระเบีย

ในขณะที่บาห์เรน ให้เหตุผลการตัดสัมพันธ์ครั้งนี้ว่าเป็นเพราะได้รับข้อมูลว่ากาตาร์สนับสนุนกลุ่มก่อการร้ายติดอาวุธ ที่มีความเชื่อมโยงกับกลุ่มในอิหร่านให้มาก่อความไม่สงบในบาห์เรน

ทางฝั่งอียิปต์ให้เอกอัครราชทูตจากกาตาร์ออกจากประเทศภายใน 48 ชั่วโมง และสั่งการให้ผู้แทนเอกอัครราชทูตอียิปต์ในบาห์เรนเดินทางกลับมายังกรุงไคโรภายในเวลา 48 ชั่วโมง เช่นเดียวกับบาห์เรนที่จะถอนนักการทูตและปฏิบัติการทางการทูตออกจากกรุงโดฮา ประเทศกาตาร์ภายในระยะเวลาเท่ากัน

ทางด้านซาอุดิอาระเบียแถลงว่า จะไม่นับกองทัพกาตาร์เป็นหนึ่งในพันธมิตรในปฏิบัติการทหารร่วม ในสมรภูมิที่สู้รบกับกลุ่มกบฏที่ได้รับการสนับสนุนโดยอิหร่านในเยเมน

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของกาตาร์กล่าวว่า ตนเสียใจที่ชาติอาหรับมีมาตรการเช่นนั้น และกล่าวว่าการตัดสินใจดังกล่าวเป็นการตัดสินใจที่ “ไม่มีเหตุผล”

“มาตรการดังกล่าวไม่มีเหตุผลและอิงอยู่กับข้อกล่าวหาที่ไม่มีมูลความจริง” เป็นสิ่งที่ระบุในคำแถลงการณ์ ทั้งยังระบุเพิ่มเติมว่าการตัดสินใจดังกล่าว “จะไม่มีผลกับชีวิตประจำวันของประชาชนและผู้พำนักอาศัย”

“เป้าหมายในการบังคับให้มีการคุ้มครองรัฐของพวกเขานั้นชัดเจน แต่การกระทำเช่นว่าก็เป็นการละเมิดอำนาจอธิปไตย [ของกาตาร์] ในฐานะรัฐเอกราชเช่นกัน” แถลงการณ์ได้ระบุเอาไว้

ถึงแม้กาตาร์จะปฏิเสธว่าได้ให้การสนับสนุนกลุ่มหัวรุนแรง แต่ว่ากาตาร์ก็เป็นผู้สนับสนุนด้านการเงินรายสำคัญของกลุ่มฮามาส กลุ่มการเมืองติดอาวุธของชาวปาเลสไตน์บนฉนวนกาซา ตั้งแต่ปี 2555

ในขณะที่ เร็กซ์ ทิลเลอร์สัน รมว.กระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ วอนให้ประเทศในอ่าวเปอร์เซียสามัคคีกันเอาไว้ “แน่นอนว่าเราสนับสนุนให้ทุกฝ่ายมานั่งจัดการความแตกต่างร่วมกัน” ทิลเลอร์สัน กล่าวขณะปฏิบัติภารกิจการเยือนซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย

“ถ้าจะมีบทบาทที่เรา [สหรัฐฯ] จะเล่นได้ในฐานะที่จะช่วยเหลือ ผมคิดว่าการที่สภาความร่วมมือของอ่าว (GCC- Gulf Cooperation Council) คงไว้ซึ่งความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน”

“ทุกฝ่ายที่คุณกล่าวถึงนั้นค่อนข้างที่จะรวมกันเป็นหนึ่งในการต่อต้านการก่อการร้ายและต่อสู้กับกลุ่มรัฐอิสลาม ซึ่งพวกเขาได้แสดงให้เห็นในการประชุมผู้นำที่เมืองริยาดห์” ทิลเลอร์สัน กล่าว

ในขณะที่ ฮามิต อาบูตาเลบี รองเสนาธิการของประธานาธิบดี ฮัสซัน รูฮานี ของอิหร่าน ทวีตว่า “ยุคของการตัดสายใยทางการทูตและปิดชายแดนมันจบแล้ว...มันไม่ใช่วิธีการแก้ไขวิกฤติการ ประเทศเหล่านี้ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากเริ่มต้นการพูดคุยกัน”

กาตาร์โดนกล่าวหาว่าจากประเทศเพื่อนบ้านมาเป็นเวลานานแล้วในประเด็นการสนับสนุนกลุ่มศาสนาอิสลามต่างๆ ซึ่งกลุ่มที่ได้รับความกังวลที่สุดคือกลุ่มนิกายสุหนี่ชื่อกลุ่มภราดรภาพมุสลิม เป็นกลุ่มการเมืองที่ซาอุดิอาระเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์มองว่าเป็นภัยคุกคามกับรัฐของตน

สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และซาอุดิอาระเบียเคยเรียกเอกอัครราชทูตกลับจากกรุงโดฮาแล้วครั้งหนึ่งเม่อปี 2557 หลังได้รับข้อมูลว่ากาตาร์ให้การสนับสนุนรัฐบาลที่จัดตั้งโดยกลุ่มภราดรภาพมุสลิมในอียิปต์ ของประธานาธิบดีโมฮัมเหม็ด มอร์ซี แปดเดือนหลังจากนั้นก็ได้ส่งเอกอัครราชทูตกลับไปประจำการตามเดิมเพราะกาตาร์จัดการให้กลุ่มภราดรภาพมุสลิมบางส่วนออกจากประเทศ อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ในปีดังกล่าวไม่ได้รุนแรงจนถึงขั้นปิดชายแดน

ตัดสัมพันธ์ทูตกระทบเศรษฐกิจหนัก กาตาร์เสี่ยงขาดทุน หุ้นตก อาหารแพง สมองไหล

เดอะ การ์เดียน รายงานว่า จากการตัดสัมพันธ์ทางการทูตครั้งใหญ่ในภูมิภาค ได้ทำให้ตลาดหุ้นกาตาร์ร่วงลงไปถึงร้อยละ 8 และยังระบุว่าราคาน้ำมันขยับตัวสูงขึ้นหลังจากประเทศอ่าวประกาศตัดสัมพันธ์กับกาตาร์

สำนักข่าว บีบีซี ของอังกฤษ รายงานว่า การปิดชายแดนทางอากาศ ทำให้สายการบินเอติฮัด และสายการบินเอมิเรตส์สั่งยกเลิกเที่ยวบินไปโดฮา โดยจะเริ่มยกเลิกเที่ยวบินในวันพรุ่งนี้เช้า ซึ่งสายการบินฟลายดูไบ และแอร์ อราเบีย สั่งยกเลิกเที่ยวบินไปโดฮาเช่นกัน และคาดว่าสายการบินอื่น รวมไปถึง กัลฟ์ แอร์ ของบาห์เรนและ อียิปต์แอร์ของอียิปต์จะทยอยยกเลิกเที่ยวบิน

การปิดชายแดนยังส่งผลให้อากาศยานสัญชาติกาตาร์ไม่สามารถซาอุดิอาระเบีย อียิปต์ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ต้องยกเลิกเที่ยวบินกว่าสิบเที่ยวต่อวัน สร้างความเสียหายให้กับสายการบินเป็นอย่างมาก ล่าสุด สายการบินกาตาร์ แอร์เวย์ส ได้ยกเลิกเที่ยวบินที่จะไป หรือเดินทางออกจากซาอุดิอาระเบียแล้ว โดยมีข้อเสนอให้ผู้โดยสารได้รับการคืนเงินเต็มจำนวน หรือให้จองเที่ยวบินไปที่หมายอื่นที่กาตาร์แอร์เวย์สมี

ในขณะเดียวกัน การปิดชายแดนสร้างอุปสรรคในการนำเข้าอาหารให้กับประเทศที่ปกคลุมไปด้วยผืนทะเลทราย บีบีซี รายงานว่า กาตาร์นำเข้าอาหารกว่าร้อยละ 40 ทางภาคพื้นดินผ่านดินแดนของซาอุดิอาระเบีย การปิดชายแดนจะทำให้กาตาร์ต้องเปลี่ยนวิธีนำเข้าอาหารจากภาคพื้นดินเป็นทางอากาศและทางเรือ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ ส่งผลกระทบต่อชาวกาตาร์ ซึ่งถ้าเหตุการณ์ดำเนินต่อไปจนอัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ อาจส่งผลถึงขั้นเกิดการเรียกร้องให้เปลี่ยนทิศทางนโยบายหรือการเปลี่ยนผู้นำเลยทีเดียว

การปิดชายแดนยังส่งผลให้การนำเข้าวัสดุก่อสร้าง ซึ่งอาจทำให้การก่อสร้างทั้งหลายหยุดชะงักลง ในที่นี้ โครงการก่อสร้างต่างๆที่กำลังจัดทำเพื่อรองรับการเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกในปี 2565 ต้องพักการก่อสร้าง และการเรียกพลงเมืองของตนกลับถิ่นฐานอาจทำให้กาตาร์ขาดทรัพยากรมนุษย์ในหลายสาขาวิชาชีพ ยกตัวอย่างเช่น กาตาร์มีจำนวนพลเมืองสัญชาติอียิปต์ถึง 180,000 คน ตามรายงานล่าสุด ซึ่งจำนวนมากประกอบอาชีพในสายงานแพทย์ วิศวกรรม การก่อสร้างและกฎหมาย ถ้าหากอียิปต์จะเรียกพลเมืองชาวอียิปต์กลับจากกาตาร์ อาจทำให้บรรษัทที่ตั้งในกาตาร์เกิดภาวะสมองไหล

แปลและเรียบเรียงจาก

BBC, Qatar row: Economic impact threatens food, flights and football, 5 Jun. 2017

The Guardian, Gulf plunged into diplomatic crisis as countries cut ties with Qatar, 5 Jun. 2017

Aljazeera, Saudi Arabia, UAE, Egypt, Bahrain cut ties to Qatar, 5 Jun. 2017

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท