ทนายคนดำเปิดใจ-รู้สึกอย่างไรที่ต้องว่าความให้พวกเหยียดผิว

อาบรี คอนเนอร์ เป็นทนายความจากองค์กรสหภาพเสรีภาพพลเมืองอเมริกัน (ACLU) องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่ให้ความสำคัญเรื่องการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพประชาชนอเมริกัน ขณะเดียวกันเธอก็เป็นคนดำที่เคยต้องทำหน้าที่เป็นทนายความให้กับคนขาวที่เป็นพวกเหยียดผิวแบบสุดโต่ง ในการอ้างเสรีภาพในการแสดงออกให้กับคนเหล่านี้ คนที่พร้อมจะกดขี่ ทำร้าย หรือไล่เธอออกจากประเทศ เธอจะจัดการกับความรู้สึกย้อนแย้งในตัวเองนี้อย่างไร

2 ก.ย. 2560 บทความในนิตยสาร Yes! โดย อาบรี คอนเนอร์ หญิงคนดำที่ทำงานเป็นทนายความจากองค์กรสหภาพเสรีภาพพลเมืองอเมริกัน (ACLU) ระบุถึงเรื่องที่เธอต้องเผชิญกับความรู้สึกชัดแย้งในตัวเองระหว่างหลักการสองอย่างและความรู้สึกของเธอเอง กับการที่เธอต้องทำหน้าที่ว่าความแก้ต่างให้กับ ผู้ที่ยุยงให้เกิดความเกลียดชัง ชักจูงผู้คนให้ต่อต้านการมีอยู่ของคนดำ และโหยหาอดีตอันหอมหวานที่พวกเขาทำให้คนดำอยู่ต่ำกว่ามนุษย์คนขาวอย่างถูกกฎหมาย

คอนเนอร์เท้าความว่าองค์กรสหภาพเสรีภาพพลเมืองอเมริกันที่ทำงานเกี่ยวกับสิทธิพลเมืองมีประวัติเคยเคลื่อนไหวในหลายๆ ด้นเพื่อสร้างความเป็นธรรมทางเชื้อชาติสีผิวมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นการร่วมกับสมาคมเพื่อความก้าวหน้าของคนผิวสีแห่งชาติสหรัฐฯ (NAACP) ต่อสู้เพื่อโรงเรียนที่ไม่แบ่งแยกเชื้อชาติสีผิวตั้งแต่สมัย 60-70 ปีที่แล้ว เคยช่วยผลักดันยกเลิกกฎหมายยืนยันตัวตนที่เข้มงวดสำหรับผู้มีสิทธิเลือกตั้งในรัฐเพนซิลเวเนียและอาร์แคนซอ

อย่างไรก็ตามการตัดสินใจของ ACLU สาขาเวอร์จิเนียที่ให้มีการคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของกลุ่มเหยียดผิวแบบสุดโต่งที่ก่อความรุนแรงจนมีผู้เสียชีวิตในช่วงเดือน ส.ค. ที่ผ่านมานั้น ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ทั้งจากประชาชนภายนอกและจากภายในองค์กรเอง

แน่นอนว่า ACLU เองมีจุดยืนว่าสิ่งใดก็ตามที่เป็นภัยต่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นจะเป็นสิ่งที่สกัดกั้นสิทธิของกลุ่มคนที่ถูกกดขี่ได้ด้วยเช่นกัน นั่นทำให้ ACLU มีจุดยืนคุ้มครองสิทธิตามรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ ให้กับแม้แต่กลุ่มเหยียดผิวหัวรุนแรงอย่างคูคลักซ์แคลนและกลุ่มสร้างความเกลียดชังอื่นๆ ในอดีตและจะยังคงจุดยืนนี้ต่อไป แม้กระทั่งในช่วงที่ผ่านมาในเหตุการณ์ที่ชาร์ล็อตตส์วิลล์และอีกหลายๆ ที่ของสหรัฐฯ

คอนเนอร์ เปิดใจว่าในฐานะที่เธอเป็นทนายความพิทักษ์รัฐธรรมนูญ เธอสนับสนุนบทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 1 ที่ว่าด้วยเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และเห็นด้วยว่าควรมีการสนับสนุนให้อดกลั้นต่อความคิดที่แตกต่าง สร้างพื้นที่ให้กับความแตกต่าง แต่ในขณะเดียวกันการทำเช่นนี้ก็สร้างความขัดแย้งภายในตัวเองเพราะบางส่วนหนึ่งในกลุ่มเหยียดผิวเหล่านี้เป็นที่คนส่งเสริมการไม่อดกลั้นต่อความต่าง และเป็นคนที่ไม่ยอมรับการมีอยู่ของตัวเธอ

นั่นทำให้คอนเนอร์ต้องกลับมาทบทวนตัวเองว่าการเป็นคนดำที่คุ้มครองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นนั้นควรเป็นอย่างไร โดยเฉพาะเมื่อความคิดเห็นบางส่วนเหล่านี้กลายเป็นการคุกคามการมีตัวตนอยู่ของคนดำอย่างเธอและของคนอื่นๆ ที่ไม่ใช่คนขาว

อย่างไรก็ตามช่วงที่เพิ่งมีเหตุการณ์ชาร์ล็อตต์สวิลล์ไม่นาน ACLU ก็มีการปรับนโยบายเข้มงวดกับการรับคดีจากกลุ่มเหยียดผิวสุดโต่งมากขึ้นเป็นรายเคสไป รวมถึงมีกฎเพิ่มเติมว่าจะไม่ว่าความให้กับกลุ่มสร้างความเกลียดชังที่มีอาวุธ ซึ่งคอนเนอร์ชื่นชมการเปลี่ยนแปลงนี้

แต่ถึงที่สุดแล้วคอนเนอร์ก็ไม่เชื่อว่าการปล่อยให้มีวาจาแบ่งแยกสร้างความเกลียดชังจากพวกเหยียดผิวจะทำให้ชีวิตของคนดำอย่างเธอดีขึ้น พวกผู้นำขบวนการคนขาวเหยียดผิวเองก็ยอมรับตรงๆ พวกเขาอ้างใช้ "เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น" แบบผิดๆ เพื่อทดสอบว่าจะทำอะไรรุนแรงมากขึ้นโดยไม่ต้องรับผิดชอบทางกฎหมายได้หรือไม่

แน่นอนว่าการคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตามหลักการก็เป็นประโยชน์สำหรับคำดำเอง คอนเนอร์เล่าว่าเธอก็เคยว่าความคุ้มครองเสรีภาพในการที่เด็กนักเรียคนหนึ่งจะนำเสนอเรื่องราวของ Black Lives Matter ลงในสมุดพกของตน ซึ่ง Black Lives Matter เป็นขบวนการเรียกร้องให้เคารพชีวิตคนดำหลักจากที่มีเหตุการณ์ตำรวจสังหารหรือใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุกับคนดำ รวมถึงคุ้มครองสิทธิในการที่จะจัดแสดงภาพวาดเดือนประวัติศาสตร์คนดำได้แม้ว่าจะมีบางคนไม่ชอบ

"มันรู้สึกดีเมื่อฉันได้ใช้มาตรา 1 เป็นเครื่องมือในการทำให้เกิดความเท่าเทียมกันสำหรับประชาชนคนผิวสี" คอนเนอร์กล่าว

คอนเนอร์เล่าว่าตัวเธอเองก็เคยมีประสบการณ์ที่คนบ้านใกล้เรือนเคียงกลายเป็นสมาชิกกลุ่มสร้างความเกลียดชัง เคยเห็นพวกคูคลักซ์แคลนเดินขบวนแทรกผ่านขบวนพาเหรดรำลึกถึงมาร์ติน ลูเทอร์ คิง (นักสู้เพื่อสิทธิพลเมืองและสิทธิคนผิวสี) การที่มีกระแสปกป้องธงสมาพันธรัฐผุดขึ้นมาอีกครั้งในสหรัฐฯ ทำให้เธอรู้สึกหนักอกและเหนื่อยใจที่ต้องแทรกผ่านพื้นที่ของผู้คนเหล่านี้เพราะสัญลักษณ์ของธงสมาพันธรัฐนั้นในประวัติศาสตร์เป็นสัญลักษณ์ของการลดทอนความเป็นมนุษย์ของคนดำ

เรื่องนี้ทำให้คอนเนอร์ต้องพูดคุยเปิดอกกับคนในสำนักงานเธอเองกับการให้ทนายความคนดำว่าความให้พวกคนขาวเหยียดผิวแบบสุดโต่ง เธอบอกอีกว่าทางสำนักงาน ACLU ก็เปิด "พื้นที่ปลอดภัย" (Safe space) ซึ่งหมายถึงพื้นที่ปิดที่คนผู้เสียเปรียบทางสังคมจะแสดงความคิดเห็นของตนเองได้โดยไม่ถูกตัดสินล่วงหน้า ให้เธอได้แสดงความรู้สึกที่ต้องทำงานแบบนี้รวมถึงแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับความรู้สึกร่วมกับเพื่อนร่วมงานคนดำคนอื่นๆ ด้วย

เรียบเรียงจาก

Inside the ACLU: Defending White Supremacists as a Black Attorney, Yes! Magazine, 24-08-2017

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท