Skip to main content
sharethis

แรร์ไอเท็ม ผลโหวตสิ่งของแห่งปี 2017 'หมุดหน้าใส' ที่มาแทนหมุดคณะราษฎร เป็นอันดับ 1 ตามด้วย 'นาฬิกาหรู' ของ พล.อ.ประวิตร และกล้องวงจรปิดวิสามัญ 'ชัยภูมิ ป่าแส' ที่จนถึงทุกวันนี้สาธารณชนยังไม่เห็น แต่แม่ทัพภาพที่ 3 บอกว่า "ณ เวลานั้นอาจกดออโต้ได้"

29 ธ.ค. 2560 จากกรณีที่ประชาไทชวนแฟนเพจเฟซบุ๊กร่วมโหวตไอเท็มหรือสิ่งของแห่งปี 2017 ตั้งแต่วันที่ 25 - 28 ธ.ค. ที่ผ่านมา ผลปรากฎว่ามีผู้โหวตให้ หมุดหน้าใส เป็นอันดับ 1 คือ 694 โหวต รองลงมาคือ นาฬิกาลุงป้อม ได้ 424 โหวต และ กล้องวงจรปิดวิสามัญชัยภูมิ ได้ 235 โหวต ส่วน เรือดำน้ำจีน และ บัตรคนจน ตามมาเป็นอันดับที่ 4 และ 5

หมุดหน้าใส 

กรณีการหายไปของ ‘หมุดคณะราษฎร’ และถูกแทนที่ด้วย ‘หมุดหน้าใส’ ณ บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า เมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา นำมาสู่การตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นฝีมือของใครและมีวัตถุประสงค์อย่างไร ซึ่งก็ไม่ยังมีคำตอบ แต่ผู้ที่เรียกร้องและทวงถามกลับถูกเจ้าหน้าที่รัฐคุกคาม ทั้งถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจติดตาม บางรายครอบครัวถูกกดดัน บางรายถูกเจ้าหน้าที่ไปหาแม่ที่ที่ทำงานเพื่อเก็บข้อมูลส่วนตัว บางวงเสวนาถูกเจ้าหน้าที่สั่งงด ไปจนถึงการควบคุมตัว ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญ นักเคลื่อนไหวทางสังคม หลังไปยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อขอให้ดำเนินการตรวจสอบการเปลี่ยนหมุดฯ การคุมตัวนักกิจกรรมและอดีตนักโทษการเมืองอย่าง เอกชัย หงส์กังวาน เข้าค่ายทหาร หลังประกาศจะนำหมุดคณะราษฎรจำลองกลับไปติดที่เดิม หรือการเอาผิดทางกฎหมาย อย่างที่วัฒนา เมืองสุข นักการเมืองพรรคเพื่อไทย ถูกดำเนินคดี ด้วยข้อหานำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ จากการโพสต์ว่าหมุดดังกล่าวเป็นโบราณวัตถุ

ภาพหมุดใหม่ จากเฟซบุ๊กแฟนเพจ หมุดคณะราษฎร

มีการวิเคราะห์ว่า การหายไปของหมุดคณะราษฎร อันเป็นสัญลักษณ์ของการเริ่มต้นประชาธิปไตยไทยและการปรากฏหมุดหน้าใสคือการพยายามลบล้างประวัติศาสตร์การอภิวัฒน์ของคณะราษฎร บ้างก็ว่าหมุดหน้าใสคือสัญลักษณ์ของการเริ่มต้นกลับไปสู่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยามใหม่อีกครั้งหนึ่ง แต่นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักประวัติศาสตร์ เขียนไว้ในบทความ 'หมุดหาย อะไรโผล่' เห็นแย้งแนวคิดดังกล่าวข้างต้นว่า โอกาสที่จะเกิดเช่นนั้น เป็นไปได้ยากมากหรือเป็นไปไม่ได้เอาเลย เหตุผลก็เพราะว่า เมื่อระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ถูกโค่นล้มไปแล้ว ก็ไม่พบในสังคมใดเลยว่า ระบอบนี้จะสามารถฟื้นตัวขึ้นได้ใหม่ แต่ไม่จำเป็นว่าการโค่นล้มของระบอบนี้จะนำมาซึ่งระบอบประชาธิปไตย ในหลายต่อหลายครั้งมักนำมาซึ่งระบอบสมบูรณาญาสิทธิ์มากกว่า พร้อมชี้ว่า หมุดคณะราษฎรเป็นสัญลักษณ์การสิ้นสุดของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยาม ไม่ใช่การสิ้นสุดของสถาบันกษัตริย์ เมื่อเอาหมุดนั้นออกไป ก็ไม่ทำให้สมบูรณาญาสิทธิราชย์ฟื้นคืนชีพขึ้นได้ ตรงกันข้าม เพื่อให้หมุดนั้นสูญหายไปชั่วนิรันดร์อย่างไม่มีวันหวนคืนกลับมาได้อีก กลับทำให้ต้องพึ่งพิงสมบูรณาญาสิทธิ์นายพลมากขึ้น จนทำให้สมบูรณาญาสิทธิ์นายพลเริ่มมีความชอบธรรมในตัวเอ

นาฬิกาลุงป้อม

นาฬิกาข้อมือราคาแพง ยี่ห้อริชาร์ด มิลล์  ปรากฎขึ้นมาหลังจาก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สวมใส่ถ่ายรูปหมู่คณะรัฐมนตรีเมื่อ 4 ธ.ค.ที่ผ่านมา จนเกิดการตั้งข้อสังเกตุในโซเชียลเน็ตเวิร์ก พร้อมทั้งตรวจสอบพบว่าไม่มีในรายการทรัพย์สินที่แจ้งต่อ คณะกรรมการป้องกันะละกราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นั้น โดยที่ต่อมา พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า นาฬิกาและแหวนเป็นของเก่าเก็บที่มีมานานแล้ว ที่ผ่านมาสวมแหวนวงนี้มาโดยตลอด มีน้ำหนักเพียง 1 กะรัต แต่เมื่อวานนี้เป็นเรื่องบังเอิญที่แหวนกระทบกับแสงแดดจนเกิดแสงสะท้อนต่อหน้าสื่อมวลชนพอดี หลังกระแสวิพากษ์วิจารณ์ สื่อมวลชนได้สอบถาม พล.อ.ประวิตร ถึงกรณีดังกล่าว ซึ่งตอบกลับมาว่า จะชี้แจงให้ ป.ป.ช. โดยไม่ต้องตอบสื่อมวลชน 

นอกจากนาฬิกาที่ปรากฎในภาพถ่ายนั้นแล้ว ผู้ใช้เฟซบุ๊กยังมีการนำภาพ พล.อ.ประวิตร ในวาระอื่นๆ ซึ่งปรากฎเห็นนาฬิกาอีกหลายเรือน อีกด้วย และ 7 ธ.ค. ที่ผ่านมา ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้ยื่นร้องเรียนต่อ ป.ป.ช.ให้ตรวจสอบกรณีดังกล่าว โดย ศรีสุวรรณ ระบุว่า ทรัพย์สินดังกล่าวไม่ปรากฎในเอกสารบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน ซึ่งได้รายงานไว้ต่อ ป.ป.ช. เมื่อครั้งเจ้ารับตำแหน่งทางการเมืองเมื่อวันที่ 7 ต.ค. 57 อันอาจขัดต่อ พ.ร.บ. ป.ป.ช. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 32 มาตรา 33 และมาตรา 34 ประกอบมาตรา 66 ซึ่ง ป.ป.ช. จะต้องดำเนินการไต่สวนและยื่นฟ้องเป็นคดีฐานจงใจไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อป.ป.ช. หรือจงใจยื่นบัญชีฯด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ โดยต้องเสนอเรื่องให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองวินิจฉัยโดยเร็วต่อไป

ศรีสุวรรณ ชี้ด้วยว่า นอกจากกรณีนี้อาจมีลักษณะจงใจยื่นบัญชีฯด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบแล้ว ยังอาจเข้าข่าย การร่ำรวยผิดปกติ ตามมาตรา 66 อีกด้วยเนื่องจากตามเอกสารบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน ซึ่ง พล.อ.ประวิตร ได้รายงานไว้ต่อ ป.ป.ช. เมื่อครั้งเจ้ารับตำแหน่งทางการเมืองเมื่อวันที่ 7 ต.ค.57 นั้นพบว่ามีบัญชีเงินฝากในธนาคารมากถึงกว่า 53 ล้านบาท ซึ่งรวมทรัพย์สินอื่น ๆ แล้วมีมูลค่ามากกว่า 87 ล้านบาท ซึ่งไม่ปรากฏที่มาของเงินในบัญชีธนาคารและทรัพย์สินอื่น ๆ ทั้งนี้หากจะประมาณการจากการที่พล.อ.ประวิตรรับราชการทหารมาประมาณ 40 ปีและเป็นนักการเมืองมา 2 สมัยและไม่ได้มีธุรกิจใดๆ เลยนั้นก็ไม่น่าที่จะมีรายได้มากมายถึงขนาดนี้

กล้องวงจรปิดวิสามัญชัยภูมิ

กล้องวงจรปิด กลายเป็นหลักฐานที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมจำนวนมาก จากกรณีของ ชัยภูมิ ป่าแส นักกิจกรรมชาวลาหู่ อายุ 17 ปี ที่ถูกเจ้าหน้าที่ทหารวิสามัญฆาตกรรม ณ ด่านตรวจบ้านรินหลวง ต.เมืองนะ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ในวันที่ 17 มี.ค.ที่ผ่านมา แต่ปัจจุบันคดีนี้กำลังอยู่ระหว่างไต่สวนการตาย ซึ่งทางสุมิตรชัย หัตถสาร ทนายความศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น และทนายความของครอบครัวชัยภูมิ กล่าวว่า จนถึงตอนนี้ยังไม่เห็นภาพจากกล้องวงจรปิด โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจเคยได้ฮาร์ดดิสก์กล้องวงจรปิดจากทหารแล้วแต่ก็เปิดนำภาพออกมาไม่ได้ และได้พยายามขอให้ทหารส่งมาใหม่ตั้งแต่ก่อนที่เรื่องจะถึงอัยการแล้ว โดยต้นปีหน้า สุมิตรชัย จะขอให้ศาลออกหมายขอภาพจากกล้องวงจรปิดไปยังหน่วยที่ตั้งอยู่ ณ ที่เกิดเหตุ และทำสำเนาให้กับ พล.ท.วิจักขฐ์ สิริบรรสพ แม่ทัพภาพที่ 3 ที่เคยระบุว่าได้เห็นภาพจากกล้องวงจรปิดแล้ว จนกระทั้งบอกว่า  "ถ้าเป็นผม ณ เวลานั้นอาจกดออโต้ได้"

เรือดำน้ำจีน

ช่วงเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา รัฐบาลการจัดซื้อเรือดำน้ำจากประเทศจีน ซึ่งระบุเป็นเอกสารลับในราคากว่า 3.6 หมื่นล้านบาท จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสังคม ซึ่ง พล.อ.ประวิตร อธิบายว่า ทางคณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติจัดซื้อเรือดำน้ำมานานแล้ว  ซึ่งไม่ได้เป็นการอนุมัติเงียบอย่างที่กล่าวอ้างกันแต่อย่างใด โดยการจัดซื้อเรือดำน้ำนั้นมีความจำเป็นอย่างมาก เพราะทางกองทัพเรือมีความต้องการมานานแล้ว เพื่อจะได้ใช้เป็นยุทธศาสตร์ 200 ไมล์ทะเลทางทะเลฝั่งทะเลอันดามันของประเทศไทย เพื่อปกป้องดูแลทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลของชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น มาเลเซีย อินโดนิเซีย สิงคโปร์ และเวียดนาม ซึ่งเป็นประเทศติดกับทะเลต่าง ๆ ก็ต้องจัดหาเรือดำน้ำไว้เพื่อปกป้องผลประโยชน์ทางทะเลของประเทศ เช่นกัน

นอกจากกระแสวิพากษ์วิจารณ์เรื่องความโปร่งใส ในประเด็นรัฐบาลไม่เปิดเผยข้อมูลรายละเอียดการจัดซื้อเรือดำน้ำจากจีนนั้น เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัย สถาบันเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) ชี้ว่าถือว่ามีปัญหาเรื่องความโปร่งใสแล้ว

ยังมีการตั้งคำถามถึงความจำเป็นในการจัดซื้อด้วย เช่น 26 เม.ย.ที่ผ่านมา ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในฐานะอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงกรณีนี้ว่า การจัดซื้อดังกล่าวต้องคำนึงถึงว่าเมื่อมีเม็ดเงินจำกัด ฝ่ายบริหารต้องพิจารณาว่าจะใช้อะไรเป็นอย่างแรก เพราะทราบว่ารัฐบาลมีความจำเป็นถึงขนาดจะยอมยกเลิก 30 บาท แต่กลับไปซื้อเรือดำน้ำตรงนี้ก็ต้องพิจารณาว่าอะไรเร่งด่วนกว่ากัน และอะไรคือความคุ้มค่า ในภาวะเช่นนี้ ทั้งนี้ ในฐานะเคยเป็นอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมก็เข้าใจในเรื่องความต้องการที่จะมีเรือดำน้ำไว้เพื่อป้องกันประเทศเพื่อความมั่นคง แต่วันนี้บ้านเมืองยังอยู่ในสภาวะปกติ อาจมีบางส่วนที่สามารถที่จะชะลอได้ แล้วนำงบประมาณนั้นไปใช้ในสิ่งที่เร่งด่วนกว่า ซึ่งในวันข้างหน้าหากมีงบประมาณและมีความสามารถในการหารายได้มากขึ้น มีงบประมาณเหลือเพียงพอ ก็สามารถที่จะซื้อสิ่งที่ต้องการหรือต้องใช้ในอนาคตได้ เพราะการซื้อเรือดำน้ำเป็นการซื้อที่มีภาระผูกพันในอนาคต เป็นภาระด้านงบประมาณรายจ่ายต่อปี ค่าบำรุงรักษา จึงเป็นภาระระยะยาว ยังไม่รวมถึงค่าบำรุงรักษา การฝึกยุทโธปกรณ์ต่างๆ และจำนวนเรือดำน้ำ ซึ่งต้องดูประกอบว่าน่านน้ำที่ต้องการจะต้องใช้กี่ลำ เท่าที่ทราบต้องมีเป็นชุดไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถทำงานป้องกันได้ ถ้าสั่งมาเพื่อทดสอบอย่างเดียวก็สามารถซื้อในช่วงที่ไม่เกิดภาวะเร่งด่วนหรือว่ารัฐมีเงินงบประมาณเหลือเพียงพอที่จะใช้ในส่วนนั้นได้ ดังนั้นสิ่งหนึ่งการใช้งบประมาณจะต้องคำนึงว่าเงินอะไรที่ใช้เร่งด่วนก็ต้องใช้สิ่งนั้นก่อน โดยเฉพาะความเป็นอยู่ เรื่องความจำเป็นในการบริหารบ้านเมืองและเรื่องปากท้องของพี่น้องประชาชนจากนั้นสิ่งที่อยากได้ ก็จะเป็นความสำคัญอันดับสองรองลงมา ซึ่งฝ่ายบริหารเท่านั้นที่ต้องใช้ดุลยพินิจในการตัดสินใจเรื่องนี้ 

บัตรคนจน 

โครงการประชารัฐสวัสดิการการให้ความช่วยเหลือผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือที่เรียกกันว่า ‘บัตรคนจน’ ของรัฐบาล คสช. มีประชาชนซึ่งลงทะเบียนไว้กว่า 11 ล้านคนที่ได้รับบัตรดังกล่าว พร้อม 2 สิทธิพิเศษคือ มาตรการลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนและมาตรการช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ซึ่งมาตรการหลังเป็นการเปลี่ยนจากการไม่ต่ออายุมาตรการรถเมล์และรถไฟฟรีที่ให้แก่ประชาชนทุกคน มาเป็นการช่วยเหลือเฉพาะผู้มีบัตรดังกล่าว
ที่มาภาพประกอบ: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์
 
ข้อวิพากษ์วิจารณ์หนึ่งของ ‘บัตรคนจน’ คือข้อกังวลว่านี่คือการนำร่องเพื่อบ่อนทำลายแนวคิด ‘รัฐสวัสดิการ’ ที่วางบนฐานความคิดว่าทุกคนในสังคมไม่ว่าจะยากดีมีจนมีความเท่าเทียมกันและต้องสามารถเข้าถึงสิทธิของตนได้ โดยรัฐต้องเป็นผู้จัดสรรให้ไปสู่ ‘รัฐสังคมสงเคราะห์’ หรือการช่วยเหลือเฉพาะกลุ่ม ข้ออ้างหนึ่งที่รัฐใช้กับนโยบายนี้คือวาทกรรมว่าคนรวยแอบมาใช้สวัสดิการดังกล่าว ซึ่งนอกจากเชิงแนวคิดจะมีปัญหาแล้ว ในเชิงเทคนิคก็ยังมีปัญหาด้วย ดังที่สมชัย จิตสุชน นักวิชาการจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยหรือทีดีอาร์ไอ วิจารณ์ช่องโหว่ของนโยบายดังกล่าวในบทความ ‘จนไม่จด คนจดกลับไม่จน’ พร้อมเสนอว่าการทำให้เป็นสิทธิแบบถ้วนหน้าเป็นวิธีที่ช่วยเหลือประชาชนได้ผลที่สุดที่จะทำให้ช่วยเหลือคนจนได้โดยไม่ตกหล่น พร้อมโต้วาทกรรมคนรวยแอบมาใช้สวัสดิการด้วยว่า รวยจริงๆ คงไม่มาใช้ ยกเว้นแต่ชนชั้นกลาง อย่างไรก็ตาม หากจะรั่วไหลก็ยังดีกว่าช่วยได้ไม่ทั่วถึง
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net