Skip to main content
sharethis

อัยการจังหวัดสงขลา มีความเห็นสั่งฟ้องแกนนำต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา 16 คน ในข้อขัดขวางการจับกุมของเจ้าหน้าที่รัฐ ทำร้ายร่างกายเจ้าหน้าที่่รัฐ พกพาอาวุธในที่สาธารณะ กีดขวางการจราจร และฝ่าฝืน พ.ร.บ. การชุมนุมในที่สาธารณะ

(แฟ้มภาพ) หลังเรือนจำ จ.สงขลาปล่อยตัว 15 แกนนำต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินแล้ว เมื่อวันที่ 29 พ.ย.60 (ภาพจากเฟสบุ๊คแฟนเพจ หยุดถ่านหินสงขลา )

12 ม.ค. 2561 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ อัยการจังหวัดสงขลา มีความเห็นสั่งฟ้องแกนนำต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา 16 คน ในข้อขัดขวางการจับกุมของเจ้าหน้าที่รัฐ ทำร้ายร่างกายเจ้าหน้าที่่รัฐ พกพาอาวุธในที่สาธารณะ กีดขวางการจราจร และฝ่าฝืน พ.ร.บ. การชุมนุมในที่สาธารณะ จากกรณีที่แกนนำทั้ง 16 คน เข้าร่วมกิจกรรม “เดิน...เทใจให้เทพาหยุดโรงไฟฟ้าถ่านหิน” เมื่อช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยอัยการได้นัดแกนนำทั้ง 16 คน มารายงานตัว และสอบคำให้การอีกครั้งในวันจันทร์ที่จะถึงนี้

กฤษดา ขุนรณงค์ ทนายความของผู้ต้องหาในคดี กล่าวว่า ในเบื้องต้น ทั้ง 16 คนได้ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา และให้การเพิ่มเติมว่าทางผู้ชุมนุมไม่ได้ละเมิด พ.ร.บ. การชุมนุมฯ เนื่องจากเป็นการชุมนุมโดยสงบ และมีการแจ้งล่วงหน้าอย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่เป็นฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐเองที่เข้ามาขัดขวางและจับกุมผู้ชุมนุม ส่วนข้อกล่าวพกพาอาวุธก็ไม่เป็นความจริง เพราะฝ่ายผู้ชุมนุมใช้เพียงด้ามธงในการป้องกันตัวเองจากเจ้าหน้าที่รัฐเท่านั้น

“ส่วนตัวคิดว่าการดำเนินคดีในครั้งนี้ไม่น่าจะมีผลลบต่อการเคลื่อนไหวต่อต้านโรงไฟฟ้ามากนัก เพราะทางชาวบ้านก็ยืนยันในสิทธิ์ตรงนี้ ไม่ได้รู้สึกหวาดกลัวอะไร และยืนยันว่าจะสู้คดีจนถึงที่สุด” กฤษดากล่าว

กฤษดา กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้ชุมนุม 15 คนได้รับสิทธิ์ในการประกันเป็นที่เรียบร้อยแล้วตั้งแต่ถูกปล่อยตัวเมื่อวันที่ 29 พ.ย. มีเพียง มุสตารซีดีน วาบา หรือ แบมุส ซึ่งไม่ได้อยู่ในการฝากขังร่วมกับอีก 15 คน จึงจำเป็นต้องมายื่นประกันตัวในวันนี้ โดยบรรจง นะแส นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย ได้ยื่นหลักทรัพย์เป็นสลากออมสินมูลค่า 90,000 บาท และศาลให้ประกันตัว

Patani Society รายงานวา เมื่อวันที่ 11 ม.ค.ที่ผ่านมาแบมุสและพวกที่ถูกจับกุมได้เข้ายื่นหนังสืออัยการสงขลาเพื่อขอความเป็นธรรมแต่อัยการยังไม่พิจารณาหนังสือขอความเป็นธรรมดังกล่าว วันนี้อัยการดำเนินการส่งฟ้องศาล 
รายละเอียดของหนังสือที่ยื่นขอความเป็นธรรม 

โดยมีรายละเอียดดังนี้ : 

ข้าพเจ้าทั้ง 17 คน ดังมีรายชื่อท้ายหนังสือฉบับนี้ ได้ถูกจับกุมและแจ้งข้อกล่าวหาว่ากระทำความผิดต่อกฎหมายฐาน “ร่วมกันปิดกั้นทางหลวง หรือกระทำด้วยประการใด บนทางหลวงในลักษณะที่อาจเกิดอันตรายหรือเสียหายแก่ยานพาหนะหรือบุคคล เดินขบวนในลักษณะที่เป็นการกีดขวางการจราจร ร่วมกันตั้งแต่สามคนขึ้นไปต่อสู้ขัดขวางการจับกุม 

และร่วมกันทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ โดยมีและใช้อาวุธ ร่วมกันพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้าน ทางสาธารณะ โดยไม่มีเหตุอันสมควร และ ในความผิดฐานเป็นแกนนำหรือได้เข้าร่วมชุมนุมไม่เป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมาย ชุมนุมโดยไม่แจ้งการชุมนุมต่อผู้รับแจ้งก่อนเริ่มเวลาชุมนุมไม่น้อยกว่ายี่สิบสี่ชั่วโมง และไม่ได้รับอนุญาตให้ผ่อนผัน กลุ่มผู้ชุมนุมได้เดินแถว เดินเป็นขบวนแห่ หรือเดินเป็นขบวนใดๆ นอนขวางช่องทางเดินรถ ในลักษณะกีดขวางการจราจร ก่อให้เกิดความไม่สะดวกแก่ประชาชนที่สัญจร และเป็นการปิดกั้นทางหลวง หรือกระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะในการคุ้มครองความสะดวกของประชาชนในการใช้ที่สาธารณะ และการดูแลการชุมนุมสาธารณะ” เหตุเกิดเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2560 นั้น

​ข้าพเจ้าทั้ง 17 ขอเรียนว่า ข้าพเจ้าทั้งหมดเป็นประชาชนที่มีภูมิลำเนาในพื้นที่จังหวัดสงขลา ปัตตานีและสตูล ซึ่งจะได้รับผลกระทบโดยตรงจากโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ที่มีขนาดกำลังการผลิตมากถึง 2,200 เมกะวัตต์ เนื่องจากโครงการนี้เป็นโครงการขนาดใหญ่และจะมีผลกระทบในวงกว้าง ข้าพเจ้าและชาวบ้านตลอดทั้งชุมชนในพื้นที่ต่าง ๆ จึงได้เริ่มศึกษาข้อมูลผลดีและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตของชุมชน มาตั้งแต่ปี ๒๕๕๗ โดยได้รวมตัวกันในนาม “เครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน” มีวัตถุประสงค์ในการศึกษาและเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการให้กับชาวบ้านในพื้นที่ ตลอดถึงนำเสนอข้อกังวลหรือข้อเรียกร้องต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและรัฐบาล 

แต่ที่ผ่านมาหน่วยงานเจ้าของโครงการและรัฐบาลยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับการรับฟังความคิดเห็นอย่างจริงจังโดยเฉพาะในเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1 (ค.1) และเวทีรับฟังความคิดเห็น ครั้งที่ 3 (ค.3) ได้มีการกีดกันขัดขวางไม่ให้ผู้เห็นต่างเข้าร่วมเวทีไปแสดงความคิดเห็นและแสดงเหตุผลในการคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน โดยใช้รถหุ้มเกราะ เฮลิคอปเตอร์ รั้วลวดหนาม และกำลังทหารจำนวนมาก 

มีการจัดตั้งเกณฑ์คนมาสนับสนุนโรงไฟฟ้าถ่านหินและแจกข้าวสารแก่ผู้เข้าร่วมเวที ซึ่งข้าพเจ้าทั้งหมดเห็นว่าเป็นกระบวนการรับฟังความคิดเห็นที่ไม่ถูกต้องและไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งการรับฟังความคิดเห็นดังกล่าวเป็นขั้นตอนหนึ่งของการจัดทำรายงานการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) 

อีกทั้ง ปรากฏว่า เนื้อหาในรายงาน EHIA ก็มีข้อมูลที่ไม่ถูกต้องตามข้อเท็จจริงและสภาพพื้นที่ ซึ่งข้าพเจ้ากับพวกและเครือข่ายได้ร่วมกันคัดค้านด้วยการยื่นหนังสือถึงหน่วยงานต่างๆเพื่อแสดงเหตุผลคัดค้านมาโดยตลอด ซึ่งแม้เครือข่ายฯ ได้พยายามยื่นหนังสือขอให้ทบทวนแก้ไขหลายครั้งแต่ไม่ได้รับความสนใจอย่างจริงจัง และปรากฏว่า คณะกรรมการผู้ชำนาญการซึ่งมีหน้าที่พิจารณาได้อนุมัติผ่านความเห็นชอบรายงานการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ไปในที่สุด ทั้งๆที่ยังมีข้อโต้แย้งทางวิชาการในหลายประเด็น

​ต่อมา ข้าพเจ้าและเครือข่ายฯ ทราบว่า นายกรัฐมนตรีจะเดินทางมาประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่จังหวัดสงขลา ในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2560 เห็นว่า เป็นโอกาสที่ชาวบ้านจะได้ยื่นหนังสือและชี้แจงข้อเรียกร้องโดยตรงกับนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และมีอำนาจในการตัดสินใจโครงการ 

โดยตกลงที่จะเดินเท้าจากอำเภอเทพา ตั้งแต่วันที่ 24 พฤศจิกายน 2560 เพื่อจะได้ให้ข้อมูลกับชุมชนต่างๆ ตลอดเส้นทางที่เดินผ่านด้วย โดยข้าพเจ้าทั้งหมดเห็นว่า การเดินเท้าเพื่อยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรีไม่ใช่การชุมนุม แต่เป็นการใช้สิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 43 (3) ในการที่จะยื่นข้อเสนอต่อหน่วยงานของรัฐให้ดำเนินการใด ๆ อันจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนหรือชุมชนหรืองดเว้นการกระทำใดๆอันจะกระทบต่อความเป็นอยู่อย่างสงบสุขของประชาชนหรือชุมชน อันถือเป็นสิทธิที่สามารถกระทำได้ตามกฎหมาย 

แต่เมื่อได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ตำรวจว่า การเดินเท้าเพื่อไปยื่นหนังสือดังกล่าวเข้าข่ายการชุมนุมสาธารณะตาม พรบ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 ข้าพเจ้าและเครือข่าย ฯ ก็ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมาย ทั้งในการแจ้งการชุมนุม แจ้งรายละเอียดการเดินทาง และได้ยื่นขอผ่อนผันต่อเจ้าหน้าที่อย่างครบถ้วน โดยมอบหมายให้ นายเอกชัย อิสระทะ และ นายปาฏิหาริย์ บุญรัตน์ เป็นผู้ดำเนินการแจ้งการชุมนุม​ข้าพเจ้าทั้งหมด

ขอเรียนว่า ตลอดระยะเวลาการเดินเท้าจากอำเภอเทพา ตั้งแต่วันที่ 24 จนถึงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2560 เป็นไปอย่างสงบ เปิดเผย มีเพียงการแจกเอกสารข้อมูล ป้ายผ้าและธงขนาดเล็ก เพื่อเขียนข้อความรณรงค์เท่านั้น ซึ่งการเดินก็เป็นลักษณะแถวตอนเรียงหนึ่ง มิได้กีดขวางหรือเป็นอันตรายกับการจราจรแต่อย่างใด โดยในระหว่างการเดินทางก็ได้ประสานเจ้าหน้าที่เพื่ออำนวยความสะดวกด้วยดีมาโดยตลอด 

ส่วนเหตุคดีนี้นั้น เกิดจากการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐละเมิดต่อกฎหมายโดยมีวัตถุประสงค์เพียงเพื่อจะปิดกั้น กดดัน ข้าพเจ้าและชาวบ้านคนอื่นๆ ไม่ให้เข้าพบและยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรี โดยในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2560 ช่วงเวลาประมาณก่อนเที่ยง หลังจากที่ข้าพเจ้ากับพวกได้เดินเท้ามาโดยสงบเหมือนเช่นวันก่อนๆ ได้มีการใช้กำลังเจ้าหน้าที่หลายร้อยนายตั้งแถวปิดการจราจรบริเวณด้านข้างมหาวิทยาลัยราชภัฎสงขลาขัดขวางมิให้ข้าพเจ้าและชาวบ้านคนอื่น ๆ เดินเท้าต่อไป ตามที่ได้แจ้งและตกลงกันไว้ 

ข้าพเจ้าและชาวบ้านคนอื่นๆ มิได้มีการทำร้ายร่างกายเจ้าหน้าที่ตามที่ถูกกล่าวหา หากแต่กลับปรากฏว่า มีการสั่งการให้ใช้กำลังจำนวนมากเข้าจับกุมข้าพเจ้ารวมทั้งชาวบ้านคนอื่นๆ โดยไม่มีอำนาจ ไม่มีเหตุอันสมควรและไม่ได้แจ้งเหตุให้ข้าพเจ้าทราบ ทำให้ข้าพเจ้าและชาวบ้านคนอื่น ๆหลายคนได้รับบาดเจ็บจากการใช้กำลังเข้าจับกุมดังกล่าว

​ข้าพเจ้าทั้งหมดขอเรียนว่า การจับกุมและแจ้งข้อกล่าวหาว่าข้าพเจ้าร่วมกันตั้งแต่สามคนขึ้นไปต่อสู้ขัดขวางการจับกุม และร่วมกันทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ โดยมีและใช้อาวุธนั้นเป็นข้อกล่าวหาที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริงอีกทั้งการกล่าวหาว่าข้าพเจ้าทั้งหมดเป็นแกนนำจัดการชุมนุมหรือเข้าร่วมการชุมนุมสาธารณะที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่สงบและมีอาวุธ นั้น 

ก็เป็นการตั้งข้อกล่าวหาที่เกินเลยต่อความเป็นจริง บิดเบือนเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 ซึ่งในประเด็นเกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะ ข้าพเจ้าทั้งหมดเคยขอให้พนักงานสอบสวนสอบสวนพยานบุคคลซึ่งเป็นเชี่ยวชาญในประเด็นดังกล่าวเพิ่มเติม เพื่อประกอบการพิจารณา แต่พนักงานสอบสวนกลับไม่ดำเนินการใด แล้วส่งฟ้องข้าพเจ้าต่อพนักงานอัยการ

​ข้าพเจ้าจึงเรียนมาเพื่อร้องขอความเป็นธรรมจากท่าน เพื่อขอให้ท่านได้โปรดมีคำสั่งให้พนักงานสอบสวนดำเนินการสอบสวนเพิ่มเติมพยาน ดังต่อไปนี้

1. ผศ.ดร. จันทร์จิรา เอี่ยมมยุรา อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
​2. รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

​นอกจากนี้ ข้าพเจ้าขอให้ท่านสอบสวนถึงความเป็นมาของการลุกขึ้นมาต่อสู้คัดค้านโครงการของข้าพเจ้ากับพวก เพื่อให้เห็นถึงมูลเหตุที่จำเป็นจะต้องเดินทางด้วยเท้าเพื่อไปยื่นหนังสือให้นายกรัฐมนตรี โดยขอให้ท่านมีคำสั่งให้สอบสวนเพิ่มพยาน ดังต่อไปนี้

​1. ดร.สมพร ช่วยอารีย์ อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
​2. ดร.อาภา หวังกียรติ อาจารย์ประจำวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิยาลัยรังสิต
​4. นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ
​5. นายสุทธิชัย งามชื่นสุวรรณ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่

​ด้วยข้อเท็จจริงและเหตุผลดังที่ได้กราบเรียนมาข้างต้นข้าพเจ้าทั้ง 17 คนจึงมิได้กระทำความผิดหรือมีเจตนากระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหา การจับกุมและตั้งข้อกล่าวหามิได้ตั้งอยู่บนฐานของข้อเท็จจริงและหลักกฎหมาย การดำเนินการของเจ้าหน้าที่เป็นเพียงเพื่อประสงค์จะปิดกั้นการใช้สิทธิของชุมชน 

ซึ่งจะเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ ข้าพเจ้าทั้งหมดมิได้กระทำความผิดในลักษณะเป็นอาชญากร การจับกุมดำเนินคดีข้าพเจ้าทั้งหมดไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสาธารณะหรือประเทศชาติแต่อย่างใด 

จึงขอให้ท่านโปรดมีคำสั่งให้สอบสวนพยานบุคคลเพิ่มเติม และขอให้พิจารณามีคำสั่งไม่ฟ้องคดีนี้ อันจะเป็นการรักษาเจตนารมณ์ของการบังคับใช้กฎหมาย คุ้มครองสิทธิของประชาชนและสิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและดำรงไว้ซึ่งการให้ความยุติธรรมต่อประชาชนตามกฎหมายต่อไป

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net