นิธิ เอียวศรีวงศ์: ‘การเมือง’และ‘ไม่การเมือง’

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

ถ้านิยามการเมืองว่าคือการแย่งและรักษาอำนาจกันระหว่างคนในวงการเมือง การ “ไม่การเมือง” มีความสำคัญอย่างยิ่งในการบริหารบ้านเมืองจริงอย่างที่คณะรัฐประหารทุกชุดย้ำพูด

ยึดอำนาจกันทีไรก็มักกล่าวว่า นักการเมืองและการเล่นการเมืองทำให้บ้านเมืองเสียหาย ต้องหยุดเล่นการเมืองกันเสียที เพื่อฟื้นฟูบ้านเมือง หรือปฏิรูปบ้านเมือง ภายใต้อำนาจของทหารซึ่งไม่มี “การเมือง”

แต่ตรงกันข้ามกับที่คณะรัฐประหารพูด ในระบอบที่อ้างว่า “ไม่การเมือง” ที่สุดนั่นแหละ ที่มักจะ “การเมือง” ที่สุด คือดึงเอากลไกรัฐที่ควรอยู่นอกการแย่งและรักษาอำนาจกันในวงการเมือง เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการแย่งและรักษาอำนาจ หรือเข้ามาเป็น “การเมือง” หมดเลย

กองทัพซึ่งตามหลักการแล้วไม่เกี่ยวอะไรกับการแย่งหรือรักษาอำนาจเลย กลับกลายเป็นตัวเอกในการเล่น “การเมือง” ตำรวจตามเข้ามาอีกทั้งกอง เพราะตำรวจเป็นหน่วยถืออาวุธเหมือนกัน กองทัพที่ยึดอำนาจจึงวางใจไม่ได้ ต้องเข้าไปกำกับควบคุม ทางตรงหรือทางอ้อมไว้ให้มั่นคง หาก ผบ.ตร.มาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหาร จะหวังให้ตำรวจไม่เป็นเครื่องมือทางอำนาจให้แก่คณะรัฐประหารย่อมเป็นไปไม่ได้ ไล่ไปตามกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบจนถึงคุก

ราชการทั้งระบบกลายเป็น “การเมือง” ไปหมด ที่ควรเตือนนักการเมืองในเครื่องแบบด้วยข้อมูลรอบด้าน และเหตุผลที่ดี ก็ไม่กล้าเตือน ร้ายไปกว่าไม่กล้าเตือนก็คือกระโดดโลดเต้นตาม “นโยบาย” ที่เห็นอยู่แล้วว่าผิด เพื่อนักการเมืองในเครื่องแบบจะได้มองเห็นตัว และบันดาลให้ก้าวหน้าได้เร็วกว่าเพื่อน

องค์กรอิสระ ซึ่งหลายองค์กรน่าจะเป็นหลักให้แก่บ้านเมือง แม้ในยามที่ไม่เป็นประชาธิปไตย เพื่อป้องกันมิให้บ้านเมืองเสียหายด้วย “การเมือง” มากเกินไป กลับลงมาเล่น “การเมือง” เสียเอง หรือลงมามีส่วนร่วมในการแย่งและรักษาอำนาจทางการเมืองของคณะรัฐประหาร

อะไรที่ควรมองเห็นก็ไม่เห็น อะไรที่เห็นอยู่โต้งๆ ก็ทำตาเหล่เสีย

ในการรัฐประหารครั้งสุดท้ายนี้ แม้แต่มหาวิทยาลัยก็ไม่เว้น ทั้งๆ ที่มหาวิทยาลัยเป็นหน่วยงานที่อำนาจรัฐ (ไม่ว่าจะมาจากการเลือกตั้งหรือรัฐประหาร) เอื้อมไปไม่ถึง หรือถึงก็ไม่สะดวกดายนัก แต่มหาวิทยาลัยกลับพยายามไปประสานทางการเมืองกับนักการเมืองในเครื่องแบบ

ไม่เหลืออะไรที่ “ไม่การเมือง” ในเมืองไทยอีกเลย

หากนิยามการเมืองอย่างที่คณะรัฐประหารทุกชุดเข้าใจ ความ “ไม่การเมือง” ของหน่วยงานที่เป็นกลไกของรัฐนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะพวกเขามีทั้งข้อมูลรอบด้านกว่านักการเมือง (ทั้งในและนอกเครื่องแบบ) และทั้งประสบการณ์จริงในการปฏิบัติตามนโยบายมากกว่า เขาจึงอาจช่วยถ่วงดุลการวางนโยบายของนักการเมืองได้ดี จุดอ่อนของพวกเขาอยู่ที่ว่ามักจะคิดอะไรนอกกรอบไม่เป็น เพราะระบบเองก็ไม่ส่งเสริมให้เขาคิดอะไรนอกกรอบมากนัก ซึ่งก็ถูกแล้ว เนื่องจากพวกเขาไม่ได้รับผิดชอบต่อประชาชน จึงไม่ควรคิดหรือทำอะไรที่ต้องเสี่ยงต่อผลประโยชน์ส่วนรวมมากไปกว่าที่เคยทำมาแล้ว

นักการเมืองเข้ามาถ่วงดุลการคิดอะไรแคบๆ ของพวกเขา

จริงอยู่ ถึงที่สุดแล้ว กลไกรัฐต้องตอบสนองต่อนโยบายของนักการเมือง (แม้แต่ที่ได้อำนาจจากการรัฐประหาร) แต่พวกเขาสามารถท้วงติงได้แต่ต้น เพื่อให้นักการเมืองคิดใหม่ หรือเมื่อปฏิบัติตามนโยบายแล้ว เกิดผลเสียอย่างไร ก็พวกเขาอีกนั่นแหละที่จะแจ้งให้นักการเมืองรู้ เพื่อปรับปรุงแก้ไขก่อนจะสายเกินไป

จริงอยู่อีกเหมือนกันที่กลไกรัฐในประเทศไทยไม่ได้ทำอย่างนั้น แม้ภายใต้ระบอบปกครองที่เป็นประชาธิปไตยก็ตาม ทั้งนี้ เพราะกลไกรัฐเหล่านี้ล้วนถูกสร้างขึ้นในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ไม่ว่าจะเป็นระบบราชการพลเรือน, กองทัพ, หรือระบบศาล จึงเป็นส่วนหนึ่งของ “การเมือง” มาแต่ต้น รวมทั้งเคยชินกับการเชื่อมโยง “การเมืองภายใน” ของหน่วยงานเข้ากับ “การเมือง” ระดับชาติด้วย เพื่อสร้างความก้าวหน้าในหน้าที่การงานของแต่ละคน

เปรียบเทียบกับกลไกรัฐในอีกหลายประเทศ ที่ประคองตัวได้อย่างสมดุลระหว่างการต้องปฏิบัติตามนโยบายและการท้วงติง เช่น ประเทศอังกฤษ ทั้งนี้ เพราะกลไกรัฐเหล่านั้นล้วนเกิดและพัฒนาขึ้นภายใต้ระบอบประชาธิปไตย

ในสหรัฐ แม้รัฐธรรมนูญอนุญาตให้นักการเมืองเข้ามาแทรกแซงกลไกรัฐได้สูงกว่าอังกฤษ แต่ระบบราชการก็ยังมีความเป็นตัวของตัวเอง ดังจะเห็นได้ดีในช่วงนี้ซึ่งต้องอยู่ภายใต้ประธานาธิบดีที่กำลังวาง “กรอบ” การทำงานใหม่ ซึ่งหลายคนคิดว่าจะให้ผลร้ายมากกว่าผลดี

โดยสรุปก็คือ การรักษากลไกรัฐให้ “ไม่การเมือง” (หากนิยาม “การเมือง” อย่างที่คณะรัฐประหารและผู้สนับสนุนเข้าใจ) เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดขึ้นได้ในเมืองไทย แต่ต้องใช้เวลาและยุทธวิธีที่แนบเนียน ความเป็นอิสระเฉยๆ อย่างที่ให้แก่ระบบตุลาการอาจไม่ช่วยนัก จำเป็นต้องคิดถึงกลวิธีอื่นๆ อีกมาก

และตรงกันข้ามกับที่เข้าใจ การรัฐประหารเสียอีกที่ทำให้กลายเป็น “การเมือง” กันไปหมด เพราะจะหานโยบายอะไรของคณะรัฐประหารที่สำคัญยิ่งไปกว่า รักษาอำนาจของตนเอาไว้ได้เล่า จำเป็นต้องดึงพลังของกลไกรัฐมาใช้ในทางการเมืองก็ดึง

อย่าลืมว่า ยิ่ง “การเมือง” กันมาก ก็ยิ่งทำให้ระบอบรัฐประหารยั่งยืนมากขึ้น เพราะกลไกรัฐต่างๆ เข้าไป “การเมือง” กับคณะรัฐประหารมากเสียจน สูญเสียความชอบธรรมทางอำนาจของตนไป หากไม่มีคณะรัฐประหารคอยปกป้องไว้ ก็ต้องรับผิดชอบต่อกฎหมาย, ความชอบธรรม, และ/หรือประชาชนผู้ตื่นรู้ ซึ่งมีแต่จะเพิ่มจำนวนมากขึ้น

เราจะป้องกันมิให้เกิดรัฐประหารซ้ำซากในเมืองไทยได้ ไม่ใช่ด้วยการเขียนรัฐธรรมนูญที่ยกอำนาจให้แก่กลุ่มคนที่มีศักยภาพในการทำรัฐประหาร ซึ่งเท่ากับทำให้ระบอบรัฐประหารกลายเป็น “สภาพปกติธรรมดาใหม่” ของสังคม แต่เราต้องปรับปรุงแก้ไขมิให้กลไกรัฐ และสถาบันต่างๆ กลายเป็นลูกกะโล่ของคณะรัฐประหารต่างหาก ใครก่อรัฐประหารขึ้น เขาก็จะถูกโดดเดี่ยว ทั้งจากตัวระบบและจากการไม่ยอมรับของสังคม

 

ที่มา: https://www.matichon.co.th/news/801120

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท