Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

ต่อจากยุคดิจิตัลหรือยุค 4.0 คือยุคอะไรมีใครรู้บ้าง?

บางคนบอกว่า คือยุค AI (Artificial Intelligence) หรือ “ยุคปัญญาประดิษฐ์” ซึ่งก็อาจจะเป็นอย่างนั้นจริงๆ ในเมื่อองค์กรทั้งขนาดเล็ก กลางและใหญ่ ต่างพากันทยอยปรับตัวหันมาใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์กันมากขึ้น ดังองค์กรขนาดใหญ่อย่างธนาคารพาณิชย์ของไทยเริ่มดำเนินการกันอยู่ในขณะนี้ด้วยการโละพนักงานและยุบสาขาทิ้ง

นี่นับเป็นความเปลี่ยนแปลงของ“ธุรกิจเสือนอนกิน”ของไทยขนานใหญ่ เห็นชัดอย่างเป็นรูปธรรม แม้ในเวลาที่ธุรกิจประเภทนี้ยังมีผลประกอบการกำไรอย่างมหาศาลต่อปีอยู่ก็ตาม

แน่นอนว่า การเปลี่ยนแปลงทำนองนี้ ไม่ใช่เรื่องใหม่ในอเมริกาที่มีเทรนด์เทคโนโลยีที่ล้ำหน้าไปกว่าไทย หากปัญหาที่ไทยเราควรย้อนดูตัวเองก็คือ ภาพรวมในด้านการเมือง ด้านเศรษฐกิจและด้านสังคมของเราในอนาคตควรจะเป็นอย่างไร ซึ่งนั่นหมายความว่าเราควรเตรียมตัวรับสถานการณ์ในอนาคตข้างหน้าอย่างไรด้วย ในยุค AI ดังกล่าว

หลายคน รวมถึงรัฐบาลอาจมองไม่ออกว่า AI ส่งผลกระทบอะไรบ้างในอนาคต ที่สำคัญเราเตรียมตัวรับมือกับมันอย่างไร ในด้านไหนบ้าง

เมื่อเทคโนโลยีที่มีศักยภาพเกินสมองหรือความคิดและเกินกว่ากำลังกายของมนุษย์ถูกนำมาทดแทน ทำให้คุณค่าในทางเศรษฐกิจของมนุษย์ต้องพลอยอ่อนด้อยลงไปด้วยอย่างแน่นอน มิเช่นนั้นคงไม่มีการนำเทคโนโลยีเหล่านี้มาใช้แทนคน ซึ่งก็หมายความว่าแรงงานคนมีความสำคัญน้อยลงตามลำดับ

นัยสำคัญของการลดหรือโละพนักงานขององค์กรต่างๆแล้วเสริมด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์แทนคนก็คือ มีแนวโน้มของการที่คนหรือแรงงานเดิมจะต้องตกงานมากขึ้น

คำถามก็คือ แล้วอะไรของคนล่ะ ที่วิเศษหรือดีกว่าเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ คำถามทำนองนี้นับว่ามีมานานหลายปีในสังคมอเมริกัน เพราะนับวันพวกเขายิ่งเห็นความก้าวไกลของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์มากขึ้นทุกวัน ชนิดที่แม้แต่เดี๋ยวนี้ปัญญาประดิษฐ์ยังสามารถจับความคิดหรือความรู้สึกของคนได้ด้วยซ้ำ

ปัญญาประดิษฐ์ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทุกวงการ ไล่ตั้งแต่วงการศึกษาตลอดถึงวงการอุตสาหกรรมต่างๆ โดยเฉพาะในวงการศึกษาในอเมริกาเองที่เป็นฐานของทุกวงการเองได้ตั้งคำถามว่า “ตอนนี้มนุษย์มีอะไรดีกว่าเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์” หากเมื่อได้คำตอบแล้ว ก็จะสามารถกำหนดจุดเพื่อสร้างฐานการพัฒนาการศึกษาได้ถูกต้องและถูกทาง

หลังเกิดซิลิคอนวัลเลย์ได้ไม่นาน วงการศึกษาอเมริกันเจอเข้ากับตอใหญ่เช่นกัน  มหาวิทยาลัยในเบย์แอเรีย ซาน ฟรานซิสโก 2-3 แห่ง ได้ลงมือสำรวจและวิจัยอย่างจริงจังถึงปัญหาและผลกระทบต่อการเรียนการสอนของครูและเด็กนักเรียน โดยเฉพาะเมื่อนักเรียนหลายคนไม่เคยเข้ามหาวิทยาลัย หรือบางคนเข้ามหาวิทยาลัยแล้วแต่เรียนไม่จบ โดยที่นักเรียนเหล่านั้นได้กลายเป็นผู้ประสบความสำเร็จในชีวิต สร้างนวัตกรรมหรือ AI แบบดีเลิศเสียด้วยซ้ำ ภาวการณ์เช่นนี้มีให้เห็นมากมายในอเมริกา

แน่นอนว่า มันส่งผลกระทบต่อการวางระบบการเรียนการสอนของครูและฝ่ายจัดการศึกษาที่ตอนต่อมาได้เน้นการให้นักเรียนเป็นศูนย์กลางอย่างมีนัยสำคัญ ครูเป็นแค่ผู้ประคับประคองและออกแบบโครงการหรือโครงงานให้นักเรียนทำ และคอยดูผลว่ามันจะออกมาอย่างไร

ประเด็นสำคัญที่กลายมาเป็นหัวใจของระบบการศึกษาอเมริกันเลยก็คือ “ความสามารถของผู้เรียนคือทักษะในการคิดวิเคราะห์” ซึ่งผู้บริหารการศึกษาอเมริกันเชื่อว่าระบบเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ไม่สามารถมีให้ได้  การคิดวิเคราะห์ของผู้เรียนคือศักยภาพของมนุษย์ที่จะนำไปต่อยอดวิทยาการแขนงต่างๆ รวมทั้งแขนงเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์นั่นแหละ

น่าสังเกตว่าผู้สอน หรือครู หรือผู้บริหารการศึกษาของไทยสนใจการคิดวิเคราะห์ได้ของนักเรียนไทยกันมากน้อยขนาดไหน เพราะการวิเคราะห์ได้คือตัวก่อกำเนิดนวัตกรรมในสาขาต่างๆ  

มีใครสามารถจะเข้าใจได้บ้างว่า ความขัดแย้งหรือเห็นไม่ลงกันระหว่างเด็กนักเรียนกับครู เป็นสาเหตุที่ทำเกิดนวัตกรรมที่มาจากการคิดวิเคราะห์ที่ต่างกันระหว่างผู้เรียนกับผู้สอน

ในโลก 4.0 จึงต้องทำใจเสมอเลยว่า ผู้เรียนกับผู้สอนมีฐานแห่งความรู้เสมอกัน

ปัญหาคือ แล้วบทบาทของผู้สอนควรเป็นอย่างไร?

ในการพูดให้กำลังใจนักเรียน ที่โรงเรียนย่านไทสัน คอนเนอร์ รัฐเวอร์จิเนียคราวหนึ่ง บารัค โอบามา อดีตประธานาธิบดีอเมริกันกล่าวว่า ครูคอยทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง ไม่ใช่คนสอน ไม่ใช่คนที่คอยป้อนความรู้ให้กับเด็ก ซึ่งที่จริงมันก็คือ ครูเท่ากับคนทำหน้าที่ต่อจิ๊กซอว์ให้กับเด็ก ครูควรเป็นผู้ดูมากว่าผู้ให้โอวาท ท่ามกลางข้อมูลที่ล้นทะลักและปัญญาประดิษฐ์ที่หลากหลายจำนวนมาก

และดังที่กล่าวไปแล้ว ระบบปัญญาประดิษฐ์มีข้อด้อยตรงที่ไม่สามารถวิเคราะห์ได้แบบมนุษย์ ถูกป้อนหรือโปรแกรมให้รับคำสั่งแบบทื่อๆ เพียงอย่างเดียว

แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าระบบปัญญาประดิษฐ์นั้นถูกพัฒนาก้าวไกลออกไปมากขึ้น แม้จนถึงขณะนี้มันได้ถูกนำมาใช้งานแทนแรงงานคนมากขึ้นเรื่อยๆ นั่นก็แสดงว่า โครงสร้างขององค์กรแบบเดิมๆ กำลังถูกทยอยเปลี่ยนนับแต่นี้

ยิ่งในเมืองไทยเมื่อสถาบันการเงินขนาดใหญ่หลายๆ แห่งเริ่มขยับก็จะเห็นได้ชัดมากขึ้นว่า ความต้องการแรงงานมนุษย์น้อยลงตามลำดับ ระบบปัญญาประดิษฐ์ถูกนำมาทดแทนแรงงานคน ปัญหาที่ตามมาคือ แรงงานคนตกงาน ตามด้วยภาวะเศรษฐกิจของประเทศระส่ำ โดยที่แรงงานที่ผลิตออกมาจากสถานศึกษาเอง ก็ยังเป็นแบบเดิม ไร้อัตลักษณ์ ไร้การสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ เพราะไม่สามารถคิดวิเคราะห์ด้วยตัวเองได้

เราอาจจะเห็นภาพแรงงานแบบ 3.0 เดินเข้าแถวอย่างเป็นระเบียบ เข้าโรงงานอุตสาหกรรมที่มีสายพานการผลิตแบบเดิมๆ เหมือนเมื่อสองทศวรรษที่ผ่านมา โดยที่หาเฉลียวใจไม่ว่า โรงงานอุตสาหกรรมในปัจจุบันนั้น ได้นำเอาระบบปัญญาประดิษฐ์มาใช้กันส่วนใหญ่แล้ว ความต้องการแรงงานมนุษย์จึงเหลือน้อยกว่าเมื่อก่อนมาก ระบบสายพานการผลิตเช่นปัจจุบัน Man Power แทบไม่มีความจำเป็นเลย โลกอนาคตอนุญาตให้โรงงานแม้ขนาดใหญ่เพียงใดก็ตามมีมนุษย์ทำงานแค่ 4-5 คนเท่านั้น

ปัญหาคือ เราพร้อมที่สอนคนให้คิดวิเคราะห์เป็น อันเป็นสิ่งเดียวที่คนเหนือกว่าเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์แล้วหรือยัง?

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net