ครม.ไฟเขียวปรับอัตราโทษอาญาไม่ร้ายแรงสอดคล้อง รัฐธรรมนูญ ม.77

13 ก.พ.2561 สำนักข่าวไทย รายงานว่า  พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้พิจารณาการกำหนดโทษทางอาญาของกฎหมายให้สอดคล้องกับ ม.77 ของรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้หน่วยงานเปิดรับฟังความคิดเห็นก่อนจะมีการตรากฎหมายขึ้น รวมถึงให้มีกฎหมายเท่าที่จำเป็น โดยเห็นว่าควรปรับโทษทางอาญาที่ไม่รุนแรงให้เป็นโทษอื่น โดยเน้นที่กฎหมายที่กำลังจะตราขึ้นใหม่ และไม่ใช่เรื่องที่กระทบต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชนอย่างร้ายแรง และกระทบกับประชาชน 

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ให้ปรับโทษปรับอาญาเป็นโทษปรับทางปกครอง ซึ่งจะไม่มีการจดบันทึกในประวัติ นอกจากนี้ยังให้พิจารณาปรับโทษที่เท่ากันในความผิดที่มีความรุนแรงต่างกัน และให้แยกโทษนิติบุคคลออกจากโทษของบุคคลธรรมดา โดยให้กฤษฎีกาเป็นผู้ทำกฎหมายกลางเพื่อกำหนดโทษใหม่ที่ใช้แทนโทษทางอาญาเพื่อไม่ต้องแก้กฎหมายทุกฉบับ

พล.ท.สรรเสริญ กล่าวว่า นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ยืนยันในที่ประชุมครม.ว่า เรื่องนี้ไม่ได้เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ที่มีฐานะ เพราะได้กำหนดให้ทำได้เฉพาะความผิดที่ไม่ร้ายแรงและไม่กระทบต่อศิลธรรมอันดี ดังนั้นผู้มีรายได้น้อยจึงจะได้รับประโยชน์ด้วยเช่นกัน  ในที่ประชุมนายกรัฐมนตรี เป็นห่วงว่าสังคมจะตั้งข้อสังเกตว่าเอื้อประโยชน์ต่อคนบางกลุ่มโดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีสตางค์หรือไม่  ซึ่งนายวิษณุ เครืองาม ระบุว่าต้องเป็นเรื่องไม่ร้ายแรงและไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดีและมีผลต่อส่วนรวมเท่านั้น โดยครม.มีมติเห็นชอบซึ่งถือเป็นกระบวนการปฎิรูปกฎหมาย 

สำหรับรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 77 บัญญัติไว้ว่า

มาตรา 77 รัฐพึงจัดให้มีกฎหมายเพียงเท่าที่จําเป็น และยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมาย ที่หมดความจําเป็นหรือไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ หรือที่เป็นอุปสรรคต่อการดํารงชีวิตหรือการประกอบอาชีพ โดยไม่ชักช้าเพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ประชาชน และดําเนินการให้ประชาชนเข้าถึงตัวบทกฎหมายต่าง ๆ ได้โดยสะดวกและสามารถเข้าใจกฎหมายได้ง่ายเพื่อปฏิบัติตามกฎหมายได้อย่างถูกต้อง

ก่อนการตรากฎหมายทุกฉบับ รัฐพึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง วิเคราะห์ ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบ รวมทั้งเปิดเผยผลการรับฟังความคิดเห็น และการวิเคราะห์นั้นต่อประชาชน และนํามาประกอบการพิจารณาในกระบวนการตรากฎหมายทุกขั้นตอน เมื่อกฎหมายมีผลใช้บังคับแล้ว

รัฐพึงจัดให้มีการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายทุกรอบระยะเวลาที่กําหนด โดยรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องประกอบด้วย เพื่อพัฒนากฎหมายทุกฉบับให้สอดคล้องและเหมาะสม กับบริบทต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป รัฐพึงใช้ระบบอนุญาตและระบบคณะกรรมการในกฎหมายเฉพาะกรณีที่จําเป็น พึงกําหนดหลักเกณฑ์ การใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ของรัฐและระยะเวลาในการดําเนินการตามขั้นตอนต่าง ๆ ที่บัญญัติไว้ ในกฎหมายให้ชัดเจน และพึงกําหนดโทษอาญาเฉพาะความผิดร้ายแรง

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท