ชาวบ้านลุ่มน้ำชีตอนล่าง จัดงานบุญเชิงสัญลักษณ์ สะท้อนปัญหาการบริหารจัดการน้ำ

ชาวบ้านลุ่มน้ำชีตอนล่าง จัดงานบุญกุ้มข้าวใหญ่ แต่ไม่มีข้าวมากุ้ม เพราะโดนน้ำท่วมปี 60 สะท้อนปัญหาการบริหารจัดการน้ำ พร้อมจัดเวทีเสวนาขาวบ้าน คุยปัญหาผลกระทบจากการสร้างเขื่อน

เมื่อวันที่ 2 มี.ค. 2561 ชาวบ้านลุ่มน้ำชีตอนล่าง จ.ร้อยเอ็ด กว่า 100 คน “จัดงานบุญกุ้มข้าวใหญ่ลุ่มน้ำชี แต่ไม่มีข้าวกุ้ม” ครั้งที่ 6 ณ วัดบ้านบาก ตำบลโพนเมือง อำเภออาจสามารถ จ.ร้อยเอ็ด

สำหรับงานบุญกุ้มข้าวใหญ่ เป็นงานบุญประเพณีของชาวบ้านในพื้นที่ภาคอีสาน โดยจะจัดหลังจากที่ได้ทำการเก็บกี่ยวผลผลิต จากนั้นจะนำข้าวมานวดที่ลานข้าวก่อนนำข้าวไปเก็บในยุ้งฉาง เรียกว่า บุญคูญลาน โดยจะจัดขึ้นในเดือนยี่ จะมีการนำข้าวที่นวดแล้วมากองรวมกันให่เป็นกองสูง และมีการนิมนต์พระภิกษุสงฆ์ มาเจริญพระพุทธมนต์ จัดน้ำอบ น้ำหอมไว้ประพรมขึงด้ายสายสิญจน์รอบกองข้าว

แต่ในปีนี้มีข้าวเปลือกสามกระสอบเพียงมาเทใส่ในผ้าลาน เพื่อสะท้อนให้เห็นว่าพื้นที่การเกษตรของชาวบ้านที่อยู่ริมแม่น้ำชีหรือที่เรียกว่านาทามในเขต จ.ร้อยเอ็ด ได้รับผลกระทบจากการบริหารจัดการน้ำของเขื่อนที่มีอยู่ในลุ่มน้ำชีจนทำให้ข้าวในพื้นที่ทำการเกษตรถูกน้ำท่วมเสียหายอย่างหนักเมื่อปี 60 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ในการจัดงานบุญกุ้มข้าวใหญ่ในครั้งนี้ยังมีเวทีสัมมนาทางวิชาการในประเด็น ปัญหาผลกระทบการบริหารจัดการน้ำและทิศทางแนวโน้มในการแก้ไขปัญหา

อมรรัตน์ วิเศษหวาน ตัวแทนชาวบ้านลุ่มน้ำชี จ.ร้อยเอ็ด กล่าวว่า เดิมพื้นที่ทำการเกษตรลุ่มน้ำชีก่อนการสร้างเขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนยโสธร-พนมไพร เขื่อนธาตุน้อย ชาวบ้านเรียกว่าพื้นที่นาทามซึ่งน้ำจะท่วมถึงในช่วงฤดูน้ำหลาก หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า น้ำสระหัวข้าว น้ำจะไหลจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำอย่างรวดเร็วประมาณไม่กี่วันน้ำก็ลด ชาวนาแถบลุ่มน้ำชีก็ได้เก็บเกี่ยวข้าว เรามองว่าเป็นเรื่องปกติของธรรมชาติ ประเพณีบุญกุ้มข้าวใหญ่ในแต่ละหมู่บ้านก็ได้ข้าวมากุ้มรวมกันทุกปีชาวบ้านก็มีความสุข แต่หลังจากมีการสร้างเขื่อนเสร็จในลุ่มน้ำชีประมาณปี 2543 น้ำชีก็เริ่มเอ่อเข้าท่วมพื้นที่การเกษตร ในบางปีที่ฝนตกน้อยน้ำยังเอ่อท่วมพื้นที่การเกษตรของชาวบ้าน

“ฉันก็ยังไม่รู้ว่ามีการสร้างเขื่อนในลุ่มน้ำชี แต่ได้ยินพี่น้องเขาบอกว่ามีการสร้างฝายยางกั้นแม่น้ำชี ในความคิดก็คงจะเป็นฝายขนาดเล็ก แต่ปรากฏการณ์น้ำท่วมเริ่มติดต่อกันเข้ามาหลายปี จึงได้พากันไปดูว่ามันเป็นฝายยาง อย่างที่เขากล่าว่ามาหรือเปล่า พอไปเห็นแค่นั้นแหละโอ้มันเป็นเขื่อน เพราะว่ามันมีประตูเปิดปิด ควบคุมน้ำ มันไม่ใช่ฝายยาง” อมรรัตน์ กล่าว

เธอ กล่าวต่อว่า ในการจัดงานบุญกุ้มข้าวใหญ่ของชาวบ้านลุ่มน้ำชี จ.ร้อยเอ็ด วันนี้เป็นครั้งที่ 6 ปีนี้พี่น้องไม่มีข้าวมากุ้มรวมกัน เพราะปี 60 ที่ผ่านมาพื้นที่ทำการเกษตรของชาวบ้านที่ติดลุ่มน้ำชีหลายหมู่บ้านถูกน้ำท่วมประมาณ 3-4 เดือน ต้นข้าวเสียหายหมด ที่ผ่านมาถึงปัจจุบันซึ่งพื้นที่การเกษตรเสียหายก็เกิดจากการบริหารจัดน้ำของภาครัฐ

นิรันดร คำนุ อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวว่า  กรณีบุญกุ้มข้าวใหญ่ของพี่น้องลุ่มน้ำชีตอนล่าง : "บุญกุ้มข้าวแต่บ่มีข้าวกุ้ม" ในวันนี้คงเป็นกระบวนการต่อสู้อย่างยาวนานของพี่น้องลุ่มน้ำชีตอนล่างต่อกรณีการเรียกร้องสิทธิ์ซึ่งได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาของภาครัฐ ตั้งแต่ยุคการเริ่มดำเนินโครงการ โขง ชี มูล ในเขตลุ่มน้ำชี ช่วงปี พ.ศ.2543 เป็นต้นมา พี่น้องไทบ้านลุ่มน้ำชีได้ผ่านกระบวนการต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิของตนเอง จนเกิดการหล่อหลอมชุดประสบการณ์ตลอดจนเกิดผลพวงการผลิตวิธีการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาแบบใหม่ๆ ที่ใช้ต้นทุนทางสังคมเดิมเสริมประสานยุทธวิธีใหม่ๆ ในการทำงานร่วมกันอยู่ตลอดเวลา

เขา กล่าวต่อว่า จากบทเรียนที่ผ่านมาชาวบ้านถูกยื้อเวลาในการแก้ไขปัญหาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และบทเรียนการเจรจาต่อรองในเวทีต่างๆ ทั้งระดับจังหวัด ระดับประเทศ ได้มีส่วนสำคัญในการเพิ่มพูนทักษะการสื่อสารเรื่องราวสภาพปัญหาของแกนนำพี่น้องไทบ้านลุ่มน้ำชีตอนล่าง ให้สามารถลำดับเรื่องราว และเลือกใช้วิธีการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาให้เกิดการพัฒนามากขึ้นเรื่อยๆ

เขาเห็นว่า งานบุญกุ้มข้าวใหญ่ครั้งนี้ ซึ่งเป็นวิถีของอารยชนไทบ้านลุ่มน้ำชีตอนล่าง เลือกที่จะใช้เป็นเครื่องมือเพื่อสื่อสารกับมวลสมาชิก และสังคม ให้รับรู้ และทำความเข้าใจปัญหาจาก รัฐภัย หรือภัยผลกระทบที่เกิดขึ้นจากโครงการพัฒนาของภาครัฐ และสะท้อนผ่านกิจกรรมหนึ่งในงาน บุญกุ้มข้าวที่ชาวบ้านไม่มีข้าวจะมาร่วมกุ้ม เพราะช่วงปี 60 ที่ผ่านมานั้น น้ำได้ท่วมขังในพื้นที่ทางการเกษตรในพื้นที่ลุ่มน้ำชีตอนล่างอย่างยาวนาน จนผลผลิตข้าวเสียหายหนักไม่สามารถเก็บเกี่ยวข้าวได้ทั้งหมด และบางพื้นที่ไม่มีข้าวเหลือให้เก็บเกี่ยว ปรากฏการณ์ดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงความล่าช้าตามกลไกและวิธีการแก้ไขปัญหาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งใช้เวลายาวนานผ่านการบริหารงานมาหลายรัฐบาลนับตั้งแต่ปี 2545 เป็นต้นมา จวบจนถึงปัจจุบัน แต่จากความยาวนานของการต่อสู้เรียกร้องของไทบ้านลุ่มน้ำชีตอนล่างนี้เอง ได้ทำให้เกิดการหลอมรวม อุดมการณ์ของไทบ้านลุ่มน้ำชีที่แน่วแน่ชัดเจนในการต่อสู้เรียกร้องสิทธิ์เพื่อตนเองและสิทธิ์ที่จะต้องส่งผลถึงลูกหลานได้ในอนาคต

ด้านสิริศักดิ์ สะดวก ผู้ประสานงานศูนย์พิทักษ์สิทธิการจัดการทรัพยากรชุมชนลุ่มน้ำชีตอนล่าง กล่าวว่า ที่ผ่านมาชาวบ้านลุ่มน้ำชีตอนล่างได้รวมกลุ่มเรียกร้องสิทธิ์เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาแก้ไขปัญหาตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมา แต่สิ่งที่ชาวบ้านได้รับจากการเรียกร้องก็คือ การแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาฯและคณะอนุกรรมการฯ แม้ขณะในปัจจุบันก็ยังไม่มีการดำเนินการประชุมเพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาให้กับชาวบ้าน ในขณะที่ชาวบ้านก็สะท้อนปัญหาว่าพื้นที่การเกษตรที่ถูกน้ำท่วมมีสาเหตุมาจากการสร้างเขื่อนกันในแม่น้ำชี ทำให้น้ำไม่ไหลแบบธรรมชาติที่เคยเป็น

“สิ่งที่ชาวบ้านสะท้อนมาแบบนี้ภาครัฐจะต้องพิสูจน์โดยต้องรีบศึกษาผลกระทบทางด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม เพราะอนุกรรมการฯก็ตั้งขึ้นมาแล้วควรที่จะทำตามบทบาทหน้าที่ ที่ผ่านมาเขื่อนที่สร้างในลุ่มน้ำชีภายใต้โครงการโขง ชี มูล ก็ยังไม่มีการศึกษาผลกระทบทางด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมเลย ฉะนั้นภาพในการจัดงานบุญกุ้มข้าวใหญ่ลุ่มน้ำชี ครั้งที่ 6 แต่บ่มีข้าวกุ้ม ซึ่งแสดงให้เห็นเป็นนัยสำคัญว่าประเพณีที่เราอยากสืบทอด ประเพณีที่เรากำลังฟื้นฟูร่วมกันของกลุ่มจะเหลือเพียงแค่ชื่อโดยที่ไม่มีผลผลิตข้าวมาตุ้มโฮมกันเหมือนที่ผ่านมา” สิริศักดิ์ กล่าว

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท