ครม. ไฟเขียว 5 เมกะโปรเจ็กต์ EEC วงเงิน 6.5 แสนล้าน - 7​ โครงการจัดการน้ำ 3.1 หมื่นล้าน

ครม.เห็นชอบเมกะโปรเจ็กต์ 5 โครงการ ศูนย์ซ่อมอากาศยาน สนามบินอู่ตะเภา ท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือมาบตาพุด วงเงินรวม 6.5 แสนล้าน คาดได้ผู้ลงทุนเดือน ก.พ. ปีหน้าเป็นต้นไป พร้อมทั้งอนุมัติ 7 โครงการจัดการน้ำ งบฯกว่า 3.1 หมื่นล้าน

ภาพจากเว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล

30 ต.ค.2561 วันนี้ ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย ณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงมติ ครม.สัญจร จ.เชียงราย ว่า ครม. เห็นชอบเมกะโปรเจ็กต์ 5 โครงการ ตามที่กระทรวงคมนาคม คือ ศูนย์ซ่อมอากาศยาน สนามบินอู่ตะเภา ท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือมาบตาพุด รวมทั้งรับทราบผลสรุปโครงการและรายละเอียดขอบเขตการประกวดราคา (TOR) โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) 5 โครงการ วงเงินรวม 6.5 แสนล้านบาท ซึ่งจะได้ผู้ลงทุนเดือน ก.พ. ปีหน้าเป็นต้นไป

"ดังนั้น ตอนนี้โครงการหลัก 5 โครงการของอีอีซีผ่าน ครม. หมดแล้ว ทั้ง 5 โครงการ รัฐบาลจะเป็นผู้ลงทุน 2 แสนล้านบาท มีการประเมินเป็นผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ 8.2 แสนล้านบาท จะมีการสร้างงาน 4 หมื่นคนต่อปี และไม่ว่าจะมีรัฐบาลไหนเข้ามาถือว่ารัฐบาลนี้ได้ตั้งต้นแล้ว" ณัฐพร กล่าว

สำหรับ รายละเอีกยเพิ่มเติมที่ ครม.มีมติอนุมัติตามที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกเสนอมีดังนี้

  1. อนุมัติหลักการโครงการจำนวน 4 โครงการ ได้แก่ โครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง  ระยะที่ 3  และโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด  ระยะที่ 3 ตามที่คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกได้มีมติเห็นชอบ   และมอบหมายให้น่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องให้เป็นไปตามกรอบระยะเวลาที่กำหนด  ทั้งนี้  ให้ดำเนินการด้วยความถูกต้อง โปร่งใส เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย  ระเบียบ  และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัดด้วย
  2. อนุมัติกรอบวงเงินค่าใช้จ่ายของโครงการซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง  ระยะที่ 3 และให้การท่าเรือแห่งประเทศไทยร่วมลงทุนกับเอกชนและกู้เงินเพื่อดำเนินโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3  ตามที่คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกได้มีมติเห็นชอบ 
  3. สำหรับโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ในส่วนของขอบเขตงานที่ต้องมีการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA)  ให้กองทัพเรือดำเนินการให้เป็นไปตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม  ทั้งนี้ ให้เร่งดำเนินการจัดทำรายงานฯ ให้แล้วเสร็จโดยเร็วเพื่อให้สามารถลงนามในสัญญาร่วมลงทุนได้ ภายในระยะเวลาที่กำหนด  และให้กองทัพเรือประสานการรถไฟแห่งประเทศไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดเพื่อให้เกิดการบูรณาการและทำให้การดำเนินโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกและโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน มีความสอดคล้อง เชื่อมโยง และเป็นไปในทิศทางเดียวกันต่อไป
  4. ในการดำเนินโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ให้การท่าเรือแห่งประเทศไทยประสานการรถไฟแห่งประเทศไทยเพื่อเตรียมความพร้อมเกี่ยวกับระบบการขนส่งทางรางเพื่อรองรับการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง เช่น การจัดหาหัวรถจักร จัดเตรียมบุคลากรให้เพียงพอ เป็นต้น เพื่อให้การดำเนินโครงการฯ บรรลุตามวัตถุประสงค์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ  และรองรับการขนส่งตู้สินค้าผ่านทางรถไฟที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอนาคต
  5. ในส่วนของการขยายพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดให้ครอบคลุมพื้นที่โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด  ระยะที่ 3 ให้การนิคมอุตสาหกรรมจัดทำรายละเอียดการดำเนินการเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบตามมาตรา 66 แห่งพระราชบัญัติการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย  พ.ศ. 2522 ก่อนที่จะดำเนินโครงการท่าเรือมาบตาพุดฯ ต่อไป

7​ โครงการจัดการน้ำ งบ​กว่า 3.1 หมื่นล้าน

พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง ในฐานะโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุม ครม. ด้วยว่า ที่ประชุมรับทราบผลการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำซึ่งได้รายงานการอนุมัติ 7 โครงการสำคัญเพื่อเร่งดำเนินการต่อไปในเรื่องการบริหารจัดการน้ำอย่างครบวงจร วงเงินงบประมาณ​ 31,474 ล้านบาท​ ใช้ระยะเวลาก่อสร้าง​ 4-6​ ปี​ ตั้งแต่ปี​ 2562-2567 ได้แก่ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร​ ประกอบด้วย​ 1.โครงการอุโมงค์ระบายน้ำคลองทวีวัฒนา กำหนดแล้วเสร็จในระหว่างปี 2562-2565 ใช้งบประมาณราว 2,274 ล้านบาท 2.โครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำคลองแสนแสบ ก่อสร้างตั้งแต่ปี 2562-2566 ใช้งบประมาณ 1,751 ล้านบาท ส่วนอีก 4 โครงการเป็นของกรมชลประทาน ประกอบด้วย 1.คลองระบายน้ำบางบาล-บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา ระยะเวลาก่อสร้างตั้งแต่ปี 2562-2566 งบประมาณราว 21,000 ล้านบาท 2.ประตูระบายน้ำลำน้ำพุง-น้ำก่ำ​ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.สกลนคร งบประมาณ 2,100 ล้านบาท 3.ประตูระบายน้ำบ้านก่อ จ.สกลนคร งบประมาณ 1,249 ล้านบาท ก่อสร้างตั้งแต่ปี 2562-2566 และ 4.โครงการอ่างเก็บน้ำลำสะพุง จ.ชัยภูมิ งบประมาณ 3,100 ล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้างตั้งแต่​ 2562-2567 และ​ 7.โครงการสำรวจความสูงของภูมิประเทศด้วยแสงเลเซอร์ ระยะที่ 2 ระยะเวลาดำเนินการ 4 ปี (‭2562 - 2565‬) โดยให้กรมแผนที่ทหารดำเนินการและเสนอของบประมาณจากรัฐบาลต่อไป

โฆษกรัฐบาลกล่าวต่อว่า​ นอกจากนี้นายกรัฐมนตรีได้สั่งการด้วยว่าโครงการบริหารจัดการน้ำโครงการขนาดใหญ่ที่มีการผูกพันงบประมาณหลายปีงบประมาณ​ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปจัดทำงบประมาณในระยะปีแรกที่สามารถดำเนินการได้ก่อน ส่วนที่เหลือนำไปบรรจุไว้ในแผนแม่บทและกำหนดเป้าหมายในแต่ละปีเพื่อไม่ให้เกิดภาระผูกพันงบประมาณมากเกินไป ส่วนโครงการที่มีความสำคัญเร่งด่วน หากไม่สามารถจัดสรรงบประมาณตามปกติได้โดยเฉพาะโครงการขนาดใหญ่ ให้มอบให้สำนักบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง และสำนักงบประมาณพิจารณาแหล่งเงินกู้เพื่อดำเนินการในโครงการตามความเหมาะสม

 

ที่มา เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล ฐานเศรษฐกิจ และมติชนออนไลน์

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท