การสอบบาลีสนามหลวงบริสุทธิ์ยุติธรรมจริงหรือ?

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ผมไม่ได้มีเจตนาจะใส่ร้ายกระบวนการตรวจข้อสอบบาลีนะครับ แต่ต้องการแย้งข้อเสนอของหลายคนที่ว่า การสอบบาลีสนามหลวงเป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ยุติธรรม เที่ยงตรง ไร้การทุจริตใดๆ ซึ่งประเสริฐกว่าการสอบในทางโลกทุกอย่าง โดยเสนอว่า เป็นธรรมชาติที่ผู้สอบแม้จะเป็นพระเณรจะพยายามหาทางทุจริต และที่สำคัญ การตรวจข้อสอบด้วยคนซึ่งมีวิจารณญาณต่างกัน ย่อมส่งผลลัพธ์ที่ต่างกันและผลที่ออกมาจึงคาดเดาได้ยาก 

วิธีทุจริตในการสอบ

สิ่งแรกที่ต้องยอมรับร่วมกันคือ พระเณรก็เป็นมนุษย์ทั่วไปและผู้เรียนทุกคนล้วนอยากสอบผ่านในระดับนั้นๆ จึงเป็นเรื่องปกติมากหากจะมี “บางคน” หาวิธีการทุจริตเพื่อให้ตนสมความปรารถนา แต่หากเชื่อว่าพระเณรทุกรูปล้วนเป็นอรหันต์ไร้กิเลส ก็ไม่จำต้องเสียเวลาอ่านข้อความด้านล่างนี้อีก (อิอิ)

ต้องยอมรับว่า แม่กองบาลีมีความรัดกุมมากในการป้องกันการทุจริต ตั้งแต่การส่งตัวแทนแม่กองจากส่วนกลางไปเปิดข้อสอบในต่างจังหวัด (เพราะเชื่อว่า หากแต่ละจังหวัดทำกันเอง จะทุจริตให้คนของตนสอบผ่าน) ตลอดจนขั้นตอนการตรวจที่มีเฉพาะหมายเลยบนกระดาษคำตอบ โดยไม่มีชื่อผู้สอบปรากฏอยู่ ฯลฯ

แต่ช่องทางในการทุจริตของผู้สอบเอง (ย้ำว่า เป็นเรื่องของผู้สอบ มิใช่แม่กองบาลี) ยังมีกลาดเกลื่อน เช่น

1. แอบพกหนังสือถ่ายเอกสารแบบย่อเข้าไปในห้องสอบ ซึ่งจะหยิบมาดูขณะเขียนข้อสอบในห้องหรือขออนุญาตไปเปิดอ่านในห้องน้ำก็ขึ้นอยู่กับระดับความเข้มข้นของกรรมการคุมสอบ พฤติกรรมนี้ยังพบได้แม้แต่เปรียญเอก พระอาจารย์ของผมเล่าว่า ราวสองปีที่แล้ว ท่านคุมสอบประโยค ป.ธ. 8 นักเรียนคนหนึ่งทำหนังสือเล่มเล็ก (ที่ผ่านการถ่ายเอกสารย่อ) หล่นขณะเดินมาส่งข้อสอบ ท่านเล่าเรื่องนี้เพื่อเตือนว่าพวกเราไม่ควรทำ แต่สิ่งที่ผมอยากให้คิดต่อคือ นี่คือหนึ่งในจำนวนนักเรียนที่ซวยมาก และน่าจะมีคนที่ทำแบบนี้และโชคดีด้วย (อิอิ)

2. เขียนตามลำตัว แขน ขาและสบงจีวรด้านใน เพราะจีวรที่พระเณรห่มจะปกปิดได้มิดชิดมาก และอาจมีความเชื่อร่วมกันว่า พระเณรย่อมไม่ทุจริตในการสอบ ผมเข้าสนามสอบมานับ 10 ครั้ง ไม่เคยพบว่ากรรมการขอให้เลิกจีวรขึ้นหรือใช้มือลูบคลำหาหลักฐานที่แอบซ่อนใดๆ (แต่ขอไม่บอกว่าผมพกไปบ้างหรือไม่ อิอิ) การทำเช่นนี้ วิธีการก็คล้ายกับข้อแรก คือจะเปิดดูในห้องสอบหรือห้องน้ำก็แล้วแต่ความสะดวก

3. ต่อให้ไม่พกอะไรไปเลย แต่เวลาเพียง 5 นาทีของการพูดคุยกับเพื่อนขณะเดินไปห้องน้ำก็เพียงพอสำหรับการถามประโยคยากๆ หรือที่ช่ำชองกว่านั้น อาจนัดกับเพื่อนไว้ก่อนว่า ให้ช่วยเขียนคำตอบใส่กระดาษร่างและส่งให้กันเมื่อออกไปห้องน้ำ

นี่เป็นวิธีที่พอนึกได้ตอนนี้ครับ เราจะพบว่า พระเณรจำนวนไม่น้อย (โดยเฉพาะประโยค 4 ลงมาซึ่งสอบในต่างจังหวัด) จะเป็นมหาเปรียญโดยที่ไม่มีภูมิรู้เรื่องบาลีเลย ย้ำอีกทีว่า แค่บางท่านนะครับ ไม่ใช่พระเณรทุกรูป แต่ทั้งนี้ ชาวพุทธก็เชื่อว่า อย่าไปสงสัยหรือวิจารณ์อะไร เพราะแทนที่ท่านจะรับกรรมเพียงคนเดียว เราก็พลอยรับกรรมจากการวิพากษ์ท่านด้วย (อิอิ)

แรงจูงใจสำคัญที่ทำให้ท่านเหล่านี้กล้าเสี่ยง ก็เป็นไปตามที่ผมเคยเสนอว่า “บาลีในไทยเป็นศาสนศึกษา ไม่ใช่ภาษาศาสตร์” ดังนั้น ชาวพุทธจึงไม่คาดหวังให้มหาเปรียญช่ำชองเรื่องภาษา เขาพอใจที่จะฟังการเทศน์ที่เก่งกล้าของท่านมากกว่า ท่านจึงแทบไม่ต้องเกรงว่าจะมีญาติโยมมาทดสอบภูมิรู้ (พอๆกับพระที่ซื้อ ดร. อิอิ)

การตรวจข้อสอบเที่ยงตรงมากแค่ไหน?

นักเรียนบาลีมักข่มชาวโลกว่า การเรียนและสอบของตนมีความบริสุทธิ์ยุติธรรมมากกว่า ตรงที่ผู้ตรวจไม่ทราบว่าตนกำลังตรวจของใครอยู่ จึงไม่สามารถเลือกที่รักได้ ตรรกะอันนี้ใช้ไม่ได้ครับ เพราะการสอบในที่อื่นๆ เช่น มหาวิทยาลัยหลายที่ก็ใช้วิธีเขียนรหัสตัวเลขเหมือนกัน

อยากให้คิดว่า การตรวจข้อสอบซึ่งเป็นข้อเขียน และตรวจโดย “คน” เป็นสิ่งที่หาความเที่ยงตรงได้ยาก เพราะแต่ละท่านจะมีวิจารณญาณที่แตกต่างกัน บางท่านพอใจกับคำตอบแบบนี้ อีกท่านไม่พอใจ การตรวจจึงหนีเรื่อง “ดวง” แบบความเชื่อคนไทยไปไม่ได้ นักเรียนบาลีมักจะพูดเป็นเชิงอธิษฐานว่า “ขอให้ข้อสอบตนไปตกกับกรรมการที่ใจดี” หรือบางท่านเชื่อว่า “การแผ่เมตตาให้กรรมการจะมีผลต่อการตรวจ”

ระดับมาตรฐานของผู้ตรวจแต่ละคนไม่เท่ากัน นี่ไม่ใช่การทุจริต แต่เป็นวิจารณญาณส่วนตัวดังที่กล่าวแล้ว มนุษย์มีความเป็น subjective ที่มองโลกและตีความต่างกันได้ นักเรียนบางท่านนำกระดาษร่างมาให้อาจารย์ที่สำนักตรวจ ได้คำตอบว่า “ไม่ผ่าน” แต่ผลสนามหลวงออกมาในทางที่ตรงกันข้ามเป็นต้น สิ่งนี้มีปรากฏให้เห็นทั่วไป หรือบางท่านสอบสนามวัดได้คะแนนน้อย แต่สามารถสอบผ่านสนามหลวงได้

เพื่อนที่ทำหน้าที่ตรวจข้อสอบของผมเล่าว่า ท่านจะอ่านจนจบเพื่อดูภาพรวมก่อน จากนั้นหากเห็นว่าไม่รุนแรงมากก็อาจจับที่ผิดให้น้อยลง บางที่ควรตัด 6 คะแนนก็ตัดแค่ 1 หรือ 3 คะแนน หากเห็นว่ามีภูมิที่พอจะผ่านในชั้นนั้นๆ (ต่อให้เขียนผิดพลาดมากกว่าที่กำหนด) ก็จะให้ผ่านเพราะถือว่าผู้สอบจะได้มีโอกาสไปพัฒนาต่อยอดทักษะในประโยคถัดไป

ด้วยเหตุนี้ (เป็นต้น) จึงเป็นธรรมดาอีกเช่นกันที่เราจะพบว่า นักเรียนบางท่านตั้งใจอ่านและมีสติปัญญามากกว่า แต่กลับสอบตก ขณะที่อีกท่านมีน้อยกว่าและสอบผ่าน เมื่อเป็นเช่นนี้ เราจะยอมรับไหมครับว่าการตรวจข้อสอบบาลีสนามหลวงมีความสุจริตเที่ยงธรรม (หรือเราควรยกให้เป็นเรื่องของบุญวาสนาที่สั่งสมมา? อิอิ)

ความเที่ยงตรง บริสุทธิ์ ยุติธรรม ในการตรวจข้อสอบโดยคนซึ่งมีชีวิตจิตใจจึงเป็นสิ่งที่หามาตรวัดหรือประเมินได้ยาก (ยกเว้นว่า ท่านจะทุจริตถึงขั้นที่ผู้สอบทำถูกไวยากรณ์แต่ยังตรวจให้เป็นผิด เป็นต้น ซึ่งไม่แน่ใจว่าจะฟ้องร้องให้พิจารณาข้อสอบใหม่ได้หรือไม่) และไม่ควรตั้งธงว่า พระสงฆ์จะมีความเที่ยงตรงในการตรวจมากกว่าฆราวาส (ผู้ซึ่งถูกพระสงฆ์มองว่ากิเลสหนากว่า อิอิ) ข้อสอบประเภทอัตนัยหรือข้อเขียนจึงเป็นการตกลงร่วมกันว่าจะยกอำนาจการตัดสินใจให้กับกรรมการ

ผมไม่ได้เสนอว่า การตรวจข้อสอบบาลีมีการทุจริตนะครับ แต่เราควรเลิกอ้างหรือภาคภูมิใจว่า กระบวนการสอบบาลีของเราประเสริฐกว่าวิชาทางโลกอื่นๆ เพราะการตรวจที่เป็น subjective จะออกมาในรูปแบบนี้ ไม่มีทางที่จะทำให้ทุกคนพึงพอใจหรือรู้สึกเที่ยงธรรมทั้ง 100% ได้ การจะให้เที่ยงตรงเป็นที่ยอมรับของทุกคนไม่ขึ้นกับกิเลสคนเลยต้องใช้วิธีปรนัยหรือฝนคำตอบแล้วตรวจด้วยเครื่องจักรเท่านั้นครับ
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท