Skip to main content
sharethis
คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม.รังสิต เตือนรีบกลับคืนสู่ประชาธิปไตยเพื่อสามารถเริ่มกระบวนการทำข้อตกลงการค้าเสรีไทยสหรัฐฯ ได้ คาดการณ์มาตรการกีดกันการค้าเพิ่มเติมภายใต้มาตรา 232 จากสหรัฐฯ จะส่งผลกระทบต่อภาคส่งออกและเศรษฐกิจไทย ส่วนการปรับเพิ่มภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมยังมีผลกระทบต่อไทยไม่มาก ให้จับตาผลกระทบการเพิ่มภาษีนำเข้าสินค้าเกษตรในอนาคต
 
11 มี.ค. 2561 ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยว่าประเทศไทยควรรีบกลับคืนสู่ประชาธิปไตยและจัดการเลือกตั้งโดยเร็วเพื่อลดการสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจการค้าและการลงทุน เพื่อสามารถเริ่มกระบวนการทำข้อตกลงการค้าเสรีไทยสหรัฐฯได้ เริ่มกระบวนการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีกับอียูได้ และอาจช่วยลดผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้าทั้งการตั้งกำแพงภาษีและการกำหนดโควต้าภายใต้มาตรา 232 ตามกฎหมายการค้าสหรัฐฯว่าด้วยการปกป้องการนำเข้าสินค้าที่ก่อให้เกิดความไม่มั่นคงหรือเป็นภัยคุกคามต่อชาติ ซึ่งตนคาดการณ์ว่าจะมีการทะยอยประกาศมาตรการกีดกันการค้าเพิ่มเติมอีกเพื่อแก้ปัญหาการขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ คาดการณ์มาตรการกีดกันการค้าเพิ่มเติมจากสหรัฐฯจะส่งผลกระทบต่อภาคส่งออกและเศรษฐกิจไทยมากขึ้น ขอเตือนให้จับตาผลกระทบการเพิ่มภาษีนำเข้าสินค้าเกษตรหรือมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดสินค้าเกษตรหรืออาหารบางตัว 
 
ส่วนการปรับเพิ่มภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมยังมีผลกระทบต่อไทยไม่มาก เนื่องจากมูลค่าส่งออกของไทยไปสหรัฐฯอยู่ที่ประมาณ 10,000 ล้านบาท หรือ คิดเป็นปริมาณเหล็กประมาณ 380,000 ล้านต้นส่วนใหญ่เป็น ท่อเหล็กรีดเย็นและเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี ส่วนผลกระทบทางอ้อมจะเกิดจากการตัดราคาเหล็กเพื่อทุ่มตลาดของผู้ผลิตส่งออกรายใหญ่ เนื่องจากมีการประเมินว่า หากนโยบายขึ้นภาษีมีการบังคับใช้ตามที่ประกาศเอาไว้อาจทำให้เหล็กล้นตลาดส่งออกไปสหรัฐฯไม่ได้ประมาณ 27 ล้านตัน ประเทศที่อาจตัดราคาขายเหล็กเพื่อทุ่มตลาดส่วนใหญ่อยู่ในเอเชีย ไม่ว่า จะเป็น จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ไต้หวัน เวียดนาม และ อินเดีย และคาดว่า มาตรการขึ้นภาษีนี้จะส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมเหล็กในวงกว้าง ขณะเดียวกัน ในระยะสั้น อุตสาหกรรมที่ใช้เหล็กเป็นวัตถุดิบจะได้ประโยชน์หากราคาเหล็กในตลาดโลกลดลง
 
ดร.อนุสรณ์ กล่าวว่าหากไทยกลับคืนสู่ประชาธิปไตยและสามารถเริ่มกระบวนการเจรจา FTA ไทย-สหรัฐฯได้ก็จะสามารถลดและขจัดอุปสรรคทั้งภาษีและไม่ใช่ภาษีก็จะสร้างโอกาสทำให้การค้า การลงทุนระหว่างประเทศขยายตัวมากขึ้น เฉพาะในส่วนของภาคเกษตรกรรมนั้นจะทำให้ราคาสินค้าเกษตรไทยปรับตัวในทิศทางดีขึ้น และ การค้าสินค้าเกษตรระหว่างไทยกับสหรัฐฯนั้นเป็นการค้าแบบเกื้อกูลกัน ไทยผลิตสินค้าเกษตรเมืองร้อนได้ดี สหรัฐฯผลิตสินค้าเกษตรเมืองหนาวได้ดี ต่างจากการค้าไทยจีนที่มีลักษณะการแข่งขันกันมากกว่าเพราะมีการผลิตสินค้าคล้ายกันหลายประเภท กลุ่มผู้ผลิตสินค้าเกษตรที่ได้รับประโยชน์ FTA ไทยสหรัฐฯ ได้แก่ เกษตรกรปลูกข้าวจำนวน 3.7 ล้านครัวเรือน ชาวไร่อ้อย 0.2 ล้านครัวเรือน เกษตรกรปลูกยางพารา เกษตรกรที่เลี้ยงกุ้ง กลุ่มอุตสาหกรรมอาหารทะเล เป็นต้น กลุ่มผู้ผลิตสินค้าเกษตรที่เสียประโยชน์ เช่น ถั่วเหลือง ข้าวโพด มันฝรั่ง วัวนม วัวเนื้อ เป็นต้น
 
ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม.รังสิต กล่าวถึงภาระและต้นทุนของการดำเนินนโยบายขึ้นภาษีการนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมจะต้องถูกแบกรับโดยผู้บริโภค อุตสาหกรรมอื่นๆที่ต้องใช้เหล็กและอะลูมิเนียมเป็นวัตถุดิบในการผลิตโดยเฉพาะอุตสาหกรรมรถยนต์และก่อสร้างในสหรัฐฯซึ่งมีความต้องการใช้เหล็ก 26% และ 40% ของปริมาณอุปสงค์เหล็กในสหรัฐฯตามลำดับ มาตรการดังกล่าวจะกดดันให้อัตราเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้น แรงกดดันเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นจะเป็นปัจจัยที่ทำให้การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯอาจปรับตัวสูงขึ้นและเร็วขึ้นกว่าที่คาด และจะส่งต่อความผันผวนของตลาดการเงินโลก  
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net