Submitted on Tue, 2018-04-24 13:28
หมอหทัย เตือนสติสมคิด อย่าเร่งเข้าร่วมการเป็นหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ระบุผลกระทบนโยบายสาธารณะรุนแรง จี้เปิดงานวิจัย

24 เม.ย.2561 รายงานข่าวแจ้งว่า ตามที่ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯด้านเศรษฐกิจเร่งให้กระทรวงพาณิชย์เตรียมการเข้าร่วมการเป็นหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ตามที่ ปรากฏข่าวว่ามีการลงนามในความตกลง ซึ่งมีประเทศสมาชิกรวม 11 ประเทศ เมื่อวันที่ 8 มี.ค. 2561 แล้วนั้น โดยวันศุกร์ที่ 20 เม.ย.นี้ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศได้นัดหารือกับภาคส่วนต่างๆ เพื่อเร่งให้ไทยเข้าร่วมได้ในปลายปีนี้
นพ.หทัย ชิตานนท์ ประธานสถาบันส่งเสริมสุขภาพไทยและประธานคณะกรรมการกำกับทิศศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ ได้ทำหนังสือเปิดผนึกถึงรองนายกฯด้านเศรษฐกิจเพื่อเตือนสติ ตนได้นำส่งจดหมายเปิดผนึกถึง รองนายกฯสมคิด เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 19 ที่ผ่านมา กรณีที่ท่านรองฯมีความคิดที่จะนำประเทศไทยเข้าร่วมความตกลง CPTPP โดยเนื้อหาของจดหมายมีว่า
“กระผมมีความกังวลเป็นอย่างยิ่งต่อท่าทีของท่านในฐานะรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจที่ท่านมีการแสดงเจตจำนงจะนำประเทศไทยเข้าร่วมในความตกลง THE COMPREHENSIVE AND PROGRESSIVE AGREEMENT FOR TRANS-PACIFIC PARTNERSHIP (CPTPP) ที่มีประเทศสมาชิก 11 ประเทศ
โดยที่ประเทศไทยมี FTA กับกลุ่มประเทศ CPTPP ไปแล้ว 8 ประเทศ ประกอบกับบรรดาความตกลงทั้งหลายภายใต้ CPTPP ประเทศไทยก็มิได้มีส่วนร่วมในการร่างข้อบทมาตั้งแต่ต้นจึงอาจส่งผลกระทบต่อการกำหนดนโยบายสาธารณะที่จะมีผลไปชั่วลูกชั่วหลานซึ่งต้องมีการศึกษาผลดีผลเสียอย่างละเอียด
ไม่ใช่เพียงนำผลประโยชน์เฉพาะหน้าแค่การส่งออกสินค้าระยะสั้นๆมาพิจารณาเป็นหลักเท่านั้น ในระยะยาวประเทศไทยอาจเสียเปรียบมากกว่าได้ประโยชน์และที่สำคัญผลการศึกษาวิจัยด้านผลกระทบต่อประเทศไทยก็ยังมีไม่มากและขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมด้วย
การเข้าร่วมความตกลง CPTPP ของประเทศไทยอาจจะไม่ได้เป็นประโยชน์กับประเทศไทย ตามที่ท่านแสดงเจตจำนงไว้ กระผมจึงใคร่ขอให้ท่านทบทวนท่าทีของท่านใหม่ เพื่อมิให้ความตั้งใจของท่านสวนกับกระแสความเป็นจริงของโลก”
ทั้งนี้ นพ.หทัย ได้มีหนังสือถึง กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศอีกฉบับ กรณีที่กรมเจรจาฯมีการเปิดเผยผลการศึกษาของสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ที่หนุนไทยเข้าร่วมความตกลง TPP หลังผลการศึกษาพบว่าช่วยดันเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น 0.77% แต่กลับไม่ปรากฏว่ามีการเผยแพร่รายงานการศึกษานี้ต่อสาธารณชนให้รับทราบแต่อย่างใด จึงอยากขอให้กรมเจรจาฯเปิดเผยงานวิจัยชิ้นนี้ให้สาธารณะรับรู้ เพราะเป็นเรื่องผลประโยชน์ของประเทศชาติ
"งานศึกษานี้ใช้ภาษีของประชาชน สาธารณชนจึงมีสิทธิตรวจสอบความถูกต้อง เพราะสถาบันฯที่จัดทำมีความเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์กับธุรกิจส่งออก" ประธานสถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย กล่าว