Skip to main content
sharethis

ชวนดูนิทรรศการ 100 ปีชาตกาล นายผี ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติที่จัดแสดงจนถึง 8 เม.ย. นี้ ทั้งนี้ 100 ปีผ่านไป ‘นายผี’ นามปากกาของอัศนี พลจันทร อาจไม่คุ้นหูของเด็กรุ่นใหม่ แต่ย้อนไปในยุครัฐประหาร 2490 เขาคือนักเขียนฝีปากร้าย มันสมองของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ผู้แต่งเนื้อเพลง "เดือนเพ็ญ" โดยตลอด 69 ปีที่เขามีชีวิต ได้ฝากงานเขียนรวมกว่า 400 เรื่องไว้ให้แวดวงวรรณกรรม

เดือนเพ็ญ สวยเย็นเห็นอร่าม นภาแจ่มนวลดูงาม เย็นชื่นหนอยามเมื่อลมพัดมา...

คือเนื้อร้องอันคุ้นเคยของเพลง ‘เดือนเพ็ญ’ หรือ ‘คิดถึงบ้าน’ ขับร้องโดยวง ‘คาราวาน’ แต่อาจมีน้อยคนที่รู้ว่าผู้ประพันธ์เนื้อเพลงคือ ‘นายผี’ หรือ อัศนี พลจันทร ที่ประพันธ์ขึ้นด้วยความรู้สึกคิดถึงบ้าน โดย หงา คาราวาน อธิบายถึงที่มาของเพลงนี้ว่า

“...ที่สนามรบก่อนเกิดศึกใหญ่ (หมายถึงยุทธการล้อมปราบคอมมิวนิสต์ในเขตน่านเหนือ) ผมได้พบญาติพี่น้องซึ่งเป็นสายทางเขา (นายผี) เพลง 'คิดถึงบ้าน' ถูกร้องให้ผมฟังโดยหมอตุ๋ย สหายหญิงผิวคล้ำคนภาคกลางแถบราชบุรีซึ่งเป็นญาติของเขา และบอกว่าเป็นเพลงที่นายผีแต่งขึ้น ตั้งแต่พลัดบ้านพลัดเมืองไปอยู่ที่กรุงปักกิ่ง เป็นเวลาเกือบ 30 ปีมาแล้ว”

ชวนดูงานนิทรรศการ 100 ปี ชาตกาล นายผี (อัศนี พลจันทร) ที่ห้อง Meeting Room 1 ในสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งที่ 46 ตั้งแต่วันที่ 29 มีนาคม - 8 เมษายน 2561 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ริเริ่มโดยสำนักงานธรรมศาสตร์สัมพันธ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

100 ปีผ่านไป ชื่อ ‘นายผี’ อาจไม่คุ้นหูของเด็กรุ่นใหม่ แต่ย้อนไปในทศวรรษ 2490 เขาคือนักเขียนฝีปากร้าย สมัยจอมพล ป. เขาคืออัยการผู้ซื่อตรงที่ทำคดีทุจริตจัดซื้อลวดหนามของน้องชายจอมพล ป. ต่อมาในสมัยจอมพลสฤษดิ์ เขาคือหัวสมองของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย และตลอด 69 ปีที่เขามีชีวิต เขาได้ฝากงานเขียนรวมกว่า 400 เรื่องไว้ให้วงการวรรณกรรมไทย

 

จากลูกขุนนางใหญ่ สู่นักเขียนฝีปากกล้า อัยการผู้ซื่อตรง และนักปฏิวัติ

‘นายผี’ เป็นหนึ่งในนามปากกาของ อัศนี พลจันทร เขาเกิดเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2461 ที่ตำบลท่าเสา อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี เป็นบุตรคนเดียวของพระมนูกิจวิมลอรรถ (เจียร พลจันทร) กับนางสอิ้ง พลจันทร และเติบโตมาในบ้านรั้วใหญ่ของขุนวิเศษธานีผู้เป็นปู่กับย่าซึ่งสืบตระกูลมาจากพระยาพล อดีตผู้รั้งเมืองกาญจนบุรี ในวัยเด็ก อัศนีได้ฟังเรื่องความทุกข์ยากของผู้คนจากชาวจีนที่มาเช่าที่ดินของปู่กับย่าของเขาเพื่อปั้นโอ่งขาย ทำให้เขาถอดเครื่องประดับราคาแพงทิ้งข้างทางหลายต่อหลายครั้ง

อัศนีในวัยมัธยมออกจากบ้านรั้วใหญ่เข้ามาเรียนต่อในกรุงเทพฯ จนจบปริญญาตรีจากมหวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง แล้วเข้าสู่อาชีพนักเขียน เขามีฝีปากร้ายเป็นที่ร่ำลือทั้งทางชอบและชัง

ต่อมาอัศนีสอบรับราชการเป็นอัยการตามคำขอของครอบครัว แม้ได้รับเงินเดือนน้อย เขาก็ยังคงปฏิเสธไม่รับมรดกจากคุณย่าที่เสียชีวิตลง เพราะมองว่าส่วนหนึ่งของมรดกมาจาก “น้ำเหลืองผีซึ่งเป็นแรงงานของทาสในบ้าน”

เขาถูกย้ายไปประจำที่ปัตตานีหลังทำคดีทุจริตจัดซื้อลวดหนามของน้องชายจอมพล ป. พิบูลสงคราม เขาไม่เพียงช่วยเหลือขาวบ้านที่ถูกรังแกแต่ยังศึกษาหาความรู้ทุกด้านแล้วเขียนบทบรรณาธิการและสารคดีเกี่ยวกับหัวเมืองภาคใต้ เช่น “ศาสนาอิสลามว่าด้วยอะไร” “ความเปนจริงในศาสนาอิสลาม” “บริเวณ 7 หัวเมือง” ฯลฯ เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจผู้คนและพื้นที่นี้

ภายหลังจากรัฐประหาร 2490 อัศนีหันมาเขียนนิทานการเมืองและเรื่องสั้นที่พูดถึงการต่อสู้ทางชนชั้นอย่างชัดเจน จนอาจนับเป็นสัญญาณแรกๆ ที่บ่งชี้ถึงการตัดสินใจเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ตามคำเชิญของ ทรง นพคุณ เลขาธิการพรรคฯ ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์มหาชนรายสัปดาห์ ซึ่งมีอัศนีเป็นนักเขียนคนหนึ่งด้วย ประกอบกับบริบททางการเมืองหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนในเดือนตุลาคม 2492 ก็ได้สะเทือนต่อความคิดของอัศนีเช่นกัน

หลังกบฎสันติภาพปี 2495 อัศนีตัดสินใจเด็ดขาด ลาออกจากราชในวันสิ้นปีนั้น แล้วเดินทางไปเวียดนามและจีนเพื่อบุกเบิกงานเผยแพร่แนวคิดของพรรค ผลงานที่สถานีวิทยุเสียงประชาชนแห่งประเทศไทย (สปท.) นั้น เล่ากันว่าเคยทำให้จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ขุ่นเคืองถึงกับเตะวิทยุเมื่อได้ฟังการกระจายเสียงของ สปท. เลยทีเดียว

ต่อมาฝ่ายนำของ พคท. แตกแยกกันทางความคิด แต่เมื่อย้ายฐานที่มั่นกลับมาที่ภูพยัคฆ์ จังหวัดน่าน อันเป็นศูนย์กลางของ พคท. ในตอนนั้น สหายนำทั้งหมดรวมทั้งอัศนีก็ได้กลับมารวมตัวกัน จนกระทั่ง พคท. ล่มสลายหลังนโยบาย 66/2523 [1] ในปี 2526 อัศนีไม่ยอมจำนนต่อทางการ จึงนำสหายส่วนหนึ่งเข้าไปขอความช่วยเหลือจากลาว แต่ถูกกักตัวไว้จนกระทั่งล้มป่วยและเสียชีวิตในปี 2530 ด้วยวัย 69 ปี

 

นาม ‘นายผี’ และผลงานรวมกว่า 400 เรื่อง

อัศนีเคยอธิบายนามปากกา ‘นายผี’ ไว้ว่าเขาไม่ได้ชื่อผี แต่เป็นพระศิวะผู้เป็นนายแห่งผี และเขาจะมาแก้เก่งเหล่าภูตผีในสังคมไทย” และยังอธิบายซ้ำว่า เขาคือปีศาจบดี เพราะ “นาย คือ บดี ผี คือ ปิศาจ”

ท่ามกลางสถานการณ์การเมืองที่ผันผวนภายหลังการเปลี่ยนแปลง 2475 ตลอดจนการเมืองโลกหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เขาเริ่มเขียนกาพย์กลอนตั้งแต่ปี 2484 ควบคู่ไปกับการรับราชการจนถึงปี 2495 ก่อนที่เขาจะเดินทางไปปักกิ่งในรายปี 2497 เพื่อศึกษาทฤษฎีการเมือง อัศนีได้เขียนงานวิพากษ์วิจารณ์สังคมและการเมืองสยามทุกรูปแบบ โดยอาศัยความจัดเจนทางภาษาแปรมาเป็นกาพย์กลอนราว 350 เรื่อง บทความ 70 เรื่อง และนิทานการเมืองกับเรื่องสั้นอีก 50 เรื่อง ภายเวลา 20 ปี (ระหว่างปี 2484-2504)

เขาเคยรวบรวมกาพย์กลอนของตนเองพร้อมด้วยไขคำศัพท์ไว้และมอบหมายให้วิมล พลจันทร ภรรยา ดำเนินการจัดพิมพ์เป็นหนังสือ แต่ต้นฉบับดังกล่วสูญหายไปในระหว่างที่วิมลต้องระเหเร่ร่อนและดูแลลูกๆ 4 คน

ปี 2501 อัศนีกลับมาเมืองไทยจึงติดต่อสำนักพิมพ์อักษรวัฒนาและจัดพิมพ์ กาพย์กลอนนายผี และ สิลปาการแห่งการพย์กลอน เป็นรูปเล่มสำเร็จครั้งแรก แต่ต่อมา อารีย์ พื้นนาค เจ้าของสำนักพิมพ์ถูกจับในข้อหาคอมมิวนิสต์ และถูกศาลทหารตัดสินจำคุก 6 ปี อัศนีจึงต้องเดินทางออกจากประเทศไปอีกครั้ง ก่อนที่เขาจะติดต่อให้ภรรยาและลูกสาวติดตามไปในภายหลัง

เมื่อวิมล พลจันทร ลงจากฐานที่มั่นจังหวัดน่านในปี 2526 ได้รวบรวมต้นฉบับลายมือเท่าที่พบเหลืออยู่ราว 20 เรื่อง และพิมพ์เป็นหนังสือ รำฤกถึงนายผีจากป้าลม ในปี 2533 หลังจากนั้นก็ได้สืบค้นผลงานของอัศนีเพิ่มเติมจากหอสมุดแห่งชาติอย่างยากลำบาก จนสามารถจัดทำต้นร่างกาพย์กลอนมากกว่า 300 เรื่อง

แต่วิมลก็มาล้มป่วยและเสียสละไปเมื่อปี 2545 โดยไม่ทันจัดพิมพ์เป็นรูปเล่มได้สำเร็จ บุตรสาวคือ วิมลมาลี พลจันทร จึงรับช่วงดูแลให้มีการจัดพิมพ์กาพย์กลอนนายผีพร้อมไขคำตามเจตนารมณ์ของผู้เขียนเพื่อให้อนุชนได้ศึกษาต่อไป

โดยในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งนี้ ผลงานของนายผีผู้อ่านสามารถหาซื้อได้ที่บูธสำนักพิมพ์อ่าน ห้อง S39 โซน C2

 

หมายเหตุ

[1] คำสั่ง 66/2523 เป็นนโยบายสมัยรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ใช้การเมืองนำการทหาร “ยุติสถานการณ์สงครามปฏิวัติของคอมมิวนิสต์” โดยใช้วิธีทางการเมืองนำการทหาร ขจัดการขยายแนวร่วม พคท.ในเมือง พร้อมเสนอว่ารัฐบาลจะขจัดความไม่เป็นธรรม สนับสนุนประชาธิปไตย ปฏิบัติต่อผู้เข้ามอบตัวอย่าง “เพื่อนประชาชนร่วมชาติ”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net