รายงานองค์กรสื่อนานาชาติเผย เสรีภาพสื่อไทยรั้งอันดับ 140 จาก 180 ชาติทั่วโลก

องค์กรสื่อไร้พรมแดนจัดทำรายงานดัชนีเสรีภาพสื่อทั่วโลก นอร์เวย์มาอันดับหนึ่ง ไทยรั้งอันดับ 140 รายงานวิเคราะห์ ปีนี้กระแสเกลียดชังสื่อกระจายไปยังประเทศประชาธิปไตยด้วย

เมื่อ 25 เม.ย. 2561 องค์กรสื่อไร้พรมแดน (Reporters Without Borders - RSF) ออกรายงานดัชนีเสรีภาพสื่อประจำปี 2561 จัดอันดับสถานการณ์ด้านเสรีภาพสื่อของ 180 ประเทศทั่วโลก

ผลปรากฏว่าปีนี้ นอร์เวย์ มีสถานการณ์เสรีภาพสื่อดีที่สุดในโลก รองมาคือสวีเดน เนเธอร์แลนด์ ฟินแลนด์และสวิตเซอร์แลนด์ โดยไทยติดอันอับที่ 140 ดีขึ้นจากปีที่แล้วที่ได้อันดับที่ 142 ทาง RSF ให้คำอธิบายประเทศไทยว่าถูก ‘ปิดปากด้วย “สันติภาพและระเบียบ”’ ประเทศที่ถูกปกครองโดยรัฐบาลทหาร คสช. ที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ RSF ขนานนามว่าเป็น ‘นักล่าเสรีภาพสื่อ’ มาตั้งแต่ปีที่แล้ว มีการสอดส่องนักข่าวและนักข่าวพลเมืองตลอดเวลา บ่อยครั้งมีการเชิญตัวมาสอบสวนและควบคุมตัว

รายงานขององค์กรด้านเสรีภาพสื่อยังระบุว่าการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลทหารอาจนำไปสู่การโต้ตอบอย่างรุนแรงจากฝ่ายนิติบัญญัติและระบบยุติธรรมที่ปฏิบัติตามคำสั่งรัฐบาลทหาร พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560 ถูกปรับให้ภาครัฐมีอำนาจในการสอดส่องและเซ็นเซอร์มากขึ้น นอกจากนั้น การผลัดเปลี่ยนรัชกาลไม่ได้ทำให้การใช้ข้อกล่าวหาด้วยกฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ลดลง

สื่อไร้พรมแดน ประณามรัฐบาล คสช. 3 ปี ปิดเสรีภาพสื่อ ปราบนักกิจกรรม

ส่วนอันดับของประเทศในอาเซียน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และพม่ามีอันดับที่สูงกว่าไทย อินโดนีเซียอยู่อันดับ 124 ฟิลิปปินส์อยู่อันดับ 133 พม่าอยู่อันดับ 137 กัมพูชาอยู่อันดับต่ำกว่าไทย อยู่อันดับที่ 142 และมาเลเซียอยู่อันดับ 145 สิงคโปร์อยู่อันดับ 151 และเวียดนามอยู่อันดับ 175 สำหรับประเทศที่มีเสรีภาพสื่อน้อยที่สุดคือเกาหลีเหนือ รั้งท้ายอยู่อันดับที่ 180

RSF วิเคราะห์ว่า ในปี 2561 กระแสความเกลียดชังสื่อได้กระจายตัวไปจากประเทศที่เป็นเผด็จการสู่ประเทศที่เป็นประชาธิปไตยด้วย จำนวนผู้นำที่ได้รับเลือกตั้งเข้ามาอย่างเป็นประชาธิปไตยที่เห็นว่าสื่อคือศัตรู สหรัฐอเมริกาที่รับประกันเสรีภาพสื่อในรัฐธรรมนูญก็อันดับตกลงไปเป็นอันดับที่ 45 ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ พูดว่าสื่อเป็น “ศัตรูของประชาชน” ซึ่งเป็นสิ่งที่โจเซฟ สตาลิน ผู้นำเผด็จการของสหภาพโซเวียตเคยใช้

เส้นแบ่งระหว่างความรุนแรงทางวาจากับทางร่างกายเริ่มหดแคบลง ในฟิลิปปินส์และอินเดีย ประเทศที่มีการโจมตีทางคำพูดต่อสื่อมากก็มีสื่อมวลชนถูกสังหารอย่างน้อยประเทศละสี่คนในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท