Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

“3 ปีที่ผ่านมาเป็นจังหวะและโอกาสเปิดที่สุด ทุกอย่างพร้อมจะเปลี่ยน เพราะฉะนั้นถ้าเราต้องการจะช่วยให้ประเทศเปลี่ยนแปลง เราก็ต้องลงสนาม เข้ามาช่วย เป็นจังหวะที่ดีที่สุดที่จะช่วยประเทศ ถ้าอยากจะทำอะไรให้สำเร็จก็ต้องทำช่วงนี้ ถ้าช่วงนี้ทำไม่สำเร็จ ช่วงต่อไปอย่าไปคิด เพราะช่วงต่อไปจะยากกว่านี้มาก ถ้าเป็นนักธุรกิจ ครั้งนี้เป็นโอกาสที่ดีที่สุดในการตัดสินใจเพื่อช่วยเปลี่ยนแปลงประเทศ”

ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี 

(มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 22-28 ธ.ค. 60)
 

เหตุใดและทำไม นักเศรษฐศาสตร์ นักกฎหมาย นักรัฐศาสตร์ และผู้เชี่ยวชาญด้านวิชาชีพและนักเทคนิคจำนวนมาก ต่างเต็มใจสนับสนุนและยอมทำงานรับใช้ใกล้ชิดกับรัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจอย่างเสมอมา โดยที่ไม่ได้รู้สึกตะขิดตะขวงใจเลย

เหตุใดและทำไม รัฐราชการจึงเพิ่มขนาดใหญ่ขึ้นและขยายขอบเขตอำนาจมากขึ้นทุกครั้งเมื่อเกิดการปฏิวัติรัฐประหาร

เหตุผลสำคัญก็คือ ผลประโยชน์ต่างตอบแทน เพราะรัฐบาลเผด็จการทหารจำเป็นต้องพึ่งพา พึ่งพิง และใช้กลไกรัฐราชการในการขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศ ทั้งการควบคุมดูแลความสงบเรียบร้อย การป้องกันการต่อต้านจากประชาชน รวมทั้งเป็นเครื่องมือในการปกครองคนให้เชื่อฟังและคล้อยตามถึงสาเหตุในการปฏิวัติรัฐประหารด้วย อีกทั้งหากรัฐราชการให้การสนับสนุนรัฐบาลเผด็จการทหารแล้ว ก็จะถือเป็นข้ออ้างสำคัญที่สร้างความชอบธรรมเพื่อจะตอบคำถามของสังคมได้ด้วย ตัวอย่างผลประโยชน์ต่างตอบแทน เช่น การแต่งตั้งนักวิชาการ , บุคคลทั่วไป , นักธุรกิจ , ข้าราชการพลเรือนและทหาร เข้าเป็นส่วนหนึ่งในแม่น้ำ 5 สาย อันได้แก่ 

1. สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)

2. คณะรัฐมนตรี (ครม.)

3. สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)

4. คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ

5. คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

นอกจากนี้ยังมีคณะกรรมการยิบย่อยอื่นๆ ที่แต่งตั้งตามมาอีกมากมาย เช่น สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) , คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป) เป็นต้น อีกทั้งเต็มไปด้วยแผนงาน , คณะกรรมการ , สโลแกน คำขวัญ คำปลอบขวัญ หรือคำชวนฝันจรรโลงใจ ที่สวยหรูแต่ปฏิบัติได้ยากในสถานการณ์ปัจจุบัน และที่สำคัญก็คือ การโยกย้ายคนในเครือข่ายของตนลงในตำแหน่งที่มีความสำคัญและมีอำนาจ และโยกย้ายคนของฝ่ายตรงข้ามเข้ากรุเพื่อไม่ให้มีอำนาจใดๆ

น่าแปลกใจที่บรรดาข้าราชการประจำและนักวิชาการส่วนใหญ่ที่เป็นชนชั้นนำของประเทศ มักเชื่อเสมอมาว่า ช่วงเวลารัฐบาลเผด็จการทหารจะเป็นช่วงเวลาพิเศษที่เป็นจังหวะเหมาะสมและโอกาสเปิดที่จะเข้ามาทำประโยชน์เพื่อบ้านเมือง ด้วยการนำความรู้ ความสามารถ เข้ามาพัฒนาและเปลี่ยนแปลงประเทศให้เกิดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างเห็นผลภายในระยะเวลาอันสั้น

แต่ก็มีคำถามเกิดขึ้นมากมายในใจของใครหลายคนว่า เหตุใดนักเศรษฐศาสตร์จึงชอบทำงานร่วมกับรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง อีกทั้งหลีกเลี่ยงไม่ยอมวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลทหารเหมือนกับที่เคยวิจารณ์รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หนึ่งในนักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำคนหนึ่ง เคยให้สัมภาษณ์กับเว็บไซต์ 101 One-on-One ว่า “นักเศรษฐศาสตร์มีเครื่องมืออย่างหนึ่งที่สำคัญคือ ‘Cost-Benefit Analysis’ คือ การวิเคราะห์ต้นทุนกับประโยชน์ ถ้าประโยชน์ไม่มี แต่ต้นทุนมันเยอะ นักเศรษฐศาสตร์หลายคนก็จะบอกว่า ลูกยังเล็ก ถ้าวิจารณ์ทหารมากเกินไป ต้นทุนที่ตกกับครอบครัวจะสูงไป”

ในแวดวงวิชาการนั้น เศรษฐศาสตร์ถือเป็นราชินีแห่งสายสังคมศาสตร์ เพราะเป็นศาสตร์เชิงเทคนิคที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลและสมการคณิตศาสตร์จำนวนมาก โดยที่สังคมภายนอกเข้าใจได้ยากเนื่องจากมีความยุ่งยากสลับซับซ้อน และก็มีเพียงนักเศรษฐศาสตร์เท่านั้นที่สามารถอธิบายความหมายให้เข้าใจอย่างถ่องแท้และลึกซึ้งได้ ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่เชื่อมั่นอย่างบริสุทธิ์ใจว่า ตัวเองมีความรอบรู้และมุ่งมั่นตั้งใจดี ดังนั้นการชี้นำสังคม การนำเสนอและผลักดันนโยบายเศรษฐกิจในช่วงสภาวะพิเศษเช่นในรัฐบาลเผด็จการทหารจะสามารถแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างของประเทศที่เรื้อรังมานานได้อย่างรวดเร็วและง่ายดายขึ้น โดยที่ไม่ถูกตรวจสอบจากระบอบรัฐสภาและภาคประชาสังคม แต่ความตั้งใจดีนี้อาจก่อให้เกิดผลเสียตามมาอย่างประเมินค่ามิได้เช่นกัน ดังตัวอย่าง การละเมิดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน , การสร้างความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจอย่างจงใจ (โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่เอื้อประโยชน์ให้เฉพาะกลุ่มทุนบางกลุ่ม โดยถ่ายโอนเงินงบประมาณภาครัฐเข้าสู่กระเป๋าของกลุ่มทุนรัฐชาติขนาดใหญ่ โดยไม่ผ่านมือประชาชน) เพราะในรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะมีระบบตรวจสอบ , ถ่วงดุล , คานอำนาจ จากภาคการเมืองและสังคม ซึ่งจะทำให้นโยบายเกิดความชอบธรรม มีความรอบคอบ และรัดกุมมากขึ้น พร้อมทั้งเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ต่อคนส่วนใหญ่ของประเทศ และไม่ให้ผลประโยชน์ดังกล่าวนั้นตกอยู่กับกลุ่มทุนเพียงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่อยู่เบื้องหลังการปฏิวัติรัฐประหารมาทุกยุคทุกสมัย

หรือมองอีกมุมหนึ่ง นักเศรษฐศาสตร์ไม่สามารถผลักดันนโยบายทางเศรษฐกิจตามแนวคิดของตนเองผ่านระบอบการเมืองและนักการเมืองได้ในสภาวะปกติ เพราะต้องมีการเจรจาต่อรองผลประโยชน์ซึ่งกันและกัน การเมืองในระบอบรัฐสภาจึงกลายเป็นอุปสรรคสำคัญประการหนึ่งที่นักเศรษฐศาสตร์ส่วนหนึ่งรังเกียจเดียดฉันท์ อึดอัดไม่สบายใจ ดังนั้นนักเศรษฐศาสตร์จึงมีความยินดีปรีดา รู้สึกเป็นมิตร และผ่อนคลายมากขึ้นที่จะผลักดันนโยบายทางเศรษฐกิจผ่านรัฐบาลเผด็จการทหาร และรัฐบาลเผด็จการทหารเองก็ให้เกียรติพร้อมจะรับฟังและให้การยอมรับนับถือ เนื่องจากตนเองไม่มีความเชี่ยวชาญทางเศรษฐกิจที่มากพอ

ดังนั้นการนิยามความหมายของกลุ่มบุคคลที่เป็นอภิสิทธิ์ชนเหล่านี้ก็เพื่อพยายามเข้าใจลักษณะ แนวคิด และวิธีการเข้าสู่อำนาจ รวมทั้งจุดมุ่งหมายในการรับใช้รัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ดังนี้


1. เศรษฐศาสตร์จัดให้

กลุ่มบุคคลหรือสถาบันวิจัยผู้เชี่ยวชาญเรื่องเศรษฐกิจที่มักนำความรู้และเทคนิคงานวิจัยมารองรับและตอบสนองต่อผู้มีอำนาจในช่วงรัฐบาลที่ฝ่ายตนเองสนับสนุน โดยนำเสนอข้อมูลเพียงบางส่วนหรือบางแง่มุมเพื่อชี้นำ ชักจูงสังคมให้คล้อยตามแบบมีวาระซ่อนเร้น โดยใช้ความรู้วิชาการทำลายฝ่ายตรงข้ามอย่างแนบเนียน เช่น การเลือกเสนอมุมมองเกี่ยวกับผลเสียของนโยบายจำนำข้าว เป็นต้น กลุ่มคนเหล่านี้จะออกมาวิพากษ์วิจารณ์นโยบายเศรษฐกิจอย่างดุเด็ดเผ็ดร้อนโดยอ้างอิงหลักวิชาตามทฤษฎี แต่ถ้าเป็นรัฐบาลที่มาจากฝ่ายเดียวกันและทำนโยบายคล้ายคลึงกัน เช่น นโยบายประกันราคาข้าว เป็นต้น ก็จะนิ่งเงียบ ไม่ต่อต้าน หรือออกมาเสนอแนะและวิจารณ์อย่างพอเป็นพิธีเพื่อสร้างภาพความเป็นกลางทางวิชาการ

จากรายงานของ เอกสิทธิ์ หนุนภักดี เรื่อง ทีดีอาร์ไอกับการเมืองของวาทกรรมเศรษฐกิจไทย ให้ความชัดเจนว่า สถาบันวิจัยบางแห่งมีท่าทีเชิงลบต่อการเมืองและนักการเมือง แต่ไม่มีท่าทีเช่นนี้ต่อคณะนายทหารที่เข้ามาแสวงหาอำนาจทางการเมือง กลุ่มคนหรือสถาบันวิจัยเหล่านี้สามารถทำงานร่วมกับรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งได้อย่างคุ้นเคยและสนิทใจ โดยไม่รู้สึกต่อต้านแต่อย่างใด ส่วนอุดมการณ์ของตลาดแข่งขันเสรีนั้นจะถูกหยิบยกขึ้นมาใช้เป็นครั้งคราว เพื่อสร้างความชอบธรรมในการนำเสนอนโยบาย หรือเพื่อการโต้แย้งถกเถียงกันมากกว่าที่จะยึดมั่นในหลักปรัชญาแบบเศรษฐกิจแข่งขันเสรีอย่างเคร่งครัดอันเป็นไปตามทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ที่ร่ำเรียนกันมา

สถาบันวิจัยบางแห่งก็กลายมาเป็นสถาบันวิจัยเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของกลุ่มทุนรัฐชาติขนาดใหญ่ ด้วยการใช้หลักวิชาการมาข่มขู่สังคมให้หวาดกลัว เช่น โครงการรับจำนำข้าว เป็นนโยบายที่จะทำลายอุตสาหกรรมการส่งออกข้าวของประเทศไทย รวมทั้งบิดเบือนและแทรกแซงกลไกการกำหนดราคาข้าวอีกด้วย กล่าวอีกนัยหนึ่ง มีจุดยืนอยู่ข้างกลุ่มทุนและพร้อมจะแก้ต่างให้กับกลุ่มทุนเสมอ พร้อมทั้งสร้างให้สถาบันของตนเองกลายเป็นมาตรวัดความถูกต้องชอบธรรมทางนโยบาย หรือเป็นศาลยุติธรรมที่คอยตัดสินนโยบายของหน่วยงานรัฐว่าเป็นนโยบายที่เหมาะสมหรือไม่ รวมทั้งใช้ความเห็นในงานวิจัยเป็นปัจจัยชี้ขาดในประเด็นสำคัญทางคดีของนักการเมืองมาหลายครั้ง เช่น คดียึดทรัพย์ของอดีตนายกรัฐมนตรี คุณทักษิณ ชินวัตร , คดีแปลงค่าสัมปทานกิจการโทรคมนาคมเป็นภาษีสรรพสามิต หรือการประมูลคลื่นความถี่ 3G เป็นต้น

การวิจารณ์นโยบายประชานิยมว่า แจกไม่เลือกและแถมไม่อั้น เป็นนโยบายที่ตอบสนองความต้องการของประชาชนในระยะสั้น แต่จะส่งผลเสียต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว ประชานิยมจึงทำมาเพื่อแลกกับคะแนนเสียงทางการเมืองเท่านั้น โดยไม่มีหลักวิชาการใดๆ มารองรับความถูกต้อง อีกทั้งชาวบ้านทั่วไปยังรู้ไม่เท่าทันเล่ห์เหลี่ยมนักการเมืองอีกด้วย มองเพียงว่านักการเมืองหาปลามาให้ แต่ไม่ได้สอนวิธีจับปลา แต่ในอีกมุมหนึ่ง กลับเพิกเฉยและนิ่งเงียบ แต่ให้การสนับสนุนนโยบายประชารัฐของรัฐบาลอย่างเต็มใจ นั่นเท่ากับว่า เป็นการสร้างสังคมสองมาตรฐานทางวิชาการเศรษฐศาสตร์อย่างแท้จริง

สิ่งซ่อนเร้นในอคติของกลุ่มคนเหล่านี้ที่เกี่ยวกับนโยบายประชานิยม นั่นก็คือ มักจะมองว่า การกระตุ้นเศรษฐกิจจากรากหญ้าโดยการให้เงินทุนอุดหนุนโดยตรง หรือสนับสนุนการประกอบกิจการของรายย่อยนั้น ไม่ถูกต้องตามหลักการ ไม่เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากประชาชนไม่มีศักยภาพเพียงพอที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้ ดังนั้นนโยบายที่ถูกต้องที่สุดก็คือ การพัฒนาต้องเกิดจากระดับบนด้วยการขับเคลื่อนภาคเศรษฐกิจขนาดใหญ่เสียก่อน หลังจากนั้นจึงค่อยไหลรินไปยังภาคเศรษฐกิจรายย่อยข้างล่างต่อไป ซึ่งทฤษฎีนี้เป็นแนวคิดเก่าที่มีมานานตั้งแต่ยุคสงครามเย็น และปัจจุบันถือได้ว่าล้าสมัยไปมากแล้ว

นักเศรษฐศาสตร์ผู้สมาทานระบอบเผด็จการทหารจะเชื่อว่า ประเทศสามารถพัฒนาและสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ พร้อมทั้งแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างของประเทศได้ โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาระบอบประชาธิปไตยแต่อย่างใด เพราะเชื่อมั่นว่า ระบอบพรรคการเมืองจะทำให้ประเทศอ่อนแอ และจะทำให้ประชาชนมีอำนาจต่อรองทางเศรษฐกิจมากเกินไป ดังนั้นจึงต้องมีมาตรการข่มขู่ประชาชนให้กลัวและชวนให้เชื่อเพื่อที่จะผลักดันวาระเศรษฐกิจบางอย่างหรือนโยบายที่ต้องการนำเสนอ ด้วยการอ้างอิงหลักวิชาการ ข้อมูล ผลงานวิจัย รวมทั้งตัวเลขต่างๆ ที่สังคมไม่อาจเข้าใจได้โดยง่าย ทั้งนี้เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือเชิงนโยบาย และสร้างภาพความหวาดกลัวให้สังคมให้เห็นถึงอันตรายที่กำลังจะมาถึง หากไม่ยอมรับนโยบายดังกล่าวที่นำเสนอแต่โดยดี


2. เนติบริกร

กลุ่มบุคคลผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายที่คอยสยบยอม รับใช้ใกล้ชิด และให้บริการคำปรึกษาแก่ผู้มีอำนาจทางการเมืองหรือรัฐบาลเผด็จการทหาร จนมีคำกล่าวที่ว่า “เมื่อเสียงปืนดังขึ้น นักกฎหมายต้องนั่งลง” ซึ่งกลุ่มบุคคลเหล่านี้มักแฝงตัวเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัย , นักวิชาการอิสระ , ข้าราชการประจำ รวมทั้งผู้ที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมด้วย จะเห็นเด่นชัดในรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร โดยใช้แง่มุมเล่ห์เหลี่ยมทางเทคนิค และช่องโหว่ทางกฎหมายเพื่อตีความบทบัญญัติให้แปรผันตามธงที่ผู้มีอำนาจตั้งไว้ สามารถอธิบายและสร้างความชอบธรรมให้แก่คณะนายทหารผู้ยึดอำนาจ รวมทั้งกล่าวโทษและโยนความผิดให้แก่ฝ่ายตรงข้ามในนามของกฎหมายได้อีกด้วย ซึ่งมีหลักฐานที่สำคัญก็คือ เงื่อนไขที่วางไว้เป็นกับดักและแอบซ่อนไว้ในบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2560 ที่ถูกตั้งธงไว้ตั้งแต่แรก ไม่ว่าจะเป็นการสร้างระบอบประชาธิปไตยแบบจอมปลอมหรือแบบไทยนิยมยั่งยืนก็ตาม การบั่นทอนความเข้มแข็งและสร้างความอ่อนแอให้แก่พรรคการเมือง การแยกประชาชนออกจากนโยบายสาธารณะของพรรคการเมือง เป็นต้น 

แต่สิ่งที่น่าสงสัยและประหลาดใจก็คือ เพียงเพราะอำนาจและผลประโยชน์บังตาจึงทำให้ความซื่อสัตย์ต่อจรรยาบรรณวิชาชีพต้องเลือนลางจางหายไป มีการตีความเลี่ยงบาลีแบบศรีธนญชัย และทำให้กฎหมายมีการเลือกปฏิบัติจากผู้มีอำนาจ จนไม่อาจดำรงความศักดิ์สิทธิ์ในสายตาประชาชนไว้ได้ เกิดข้อกังขาและคำถามจากสาธารณชนถึงเรื่องความเที่ยงตรง ความยุติธรรม และความเสมอภาคเรื่อยมา เนื่องจากคนเหล่านี้เป็นทั้งผู้เขียนตำราและเป็นผู้สอนวิชากฎหมายในขณะเดียวกันด้วย ซึ่งการขัดกันระหว่างภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติทำให้เกิดการย้อนแย้งเจตนารมย์ของกฎหมายที่คนเหล่านี้ได้เคยพร่ำสอนนักศึกษาในห้องเรียน ดังนั้นวิชากฎหมายที่ขาดซึ่งหลักนิติปรัชญาและแนวคิดพื้นฐานแล้วไซร้ จะนำมาซึ่งความแตกแยกและวุ่นวายแก่บ้านเมืองอย่างต่อเนื่องและยาวนาน และกลายเป็นบาดแผลที่ร้าวลึกอยู่ในใจของคนไทยจนยากต่อการรักษาเยียวยา


3. รัฐศาสตร์บริการ

กลุ่มบุคคลผู้เชี่ยวชาญวิชาการเมืองการปกครองที่ยอมบิดเบือนทฤษฎีหรือให้คำจำกัดความที่ผิดแผกแตกต่างไปจากหลักการรัฐศาสตร์พื้นฐานทั่วไป เพียงเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับกลุ่มต่อต้านรัฐบาล โดยอธิบายปรากฎการณ์ทางการเมืองนอกระบอบรัฐสภาว่า เป็นความชอบธรรมที่ประชาชนทั่วไปสามารถลุกขึ้นมาต่อต้านและล้มล้างรัฐบาลที่ไม่มีความชอบธรรมด้วยวิถีทางต่างๆ ได้ ถึงแม้จะไม่ใช่วิถีทางประชาธิปไตยก็ตามที สุดท้ายก็เปิดช่องและส่งสัญญาณเรียกให้กองทัพออกมาทำการรัฐประหารในที่สุด ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งและแกนนำกลุ่ม กปปส. เคยแสดงทัศนะเกี่ยวกับประชาธิปไตยว่า “หลัก 1 คน 1 เสียง ใช้ไม่ได้กับประเทศไทย หากจะนำมาใช้ก็ต้องปรับเปลี่ยนบริบทให้สอดคล้องกับสังคมไทยเสียก่อน” หรือ “การชุมนุมประท้วงเป็นสิทธิ์ที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ ถือเป็นการทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวมไม่ใช่ส่วนตน จึงเป็นความชอบธรรมในการไล่รัฐบาลที่ขาดความชอบธรรม” เป็นต้น

สุดท้ายนี้ บทสรุปจากรายงานได้สะท้อนข้อเท็จจริงที่ว่า สังคมไทยได้ร่วมกันสร้างวัฒนธรรมการยอมรับการปฏิวัติรัฐประหารขึ้นมาจากการออกมาเป็นแนวร่วมของนักวิชาการ , ข้าราชการประจำ , ชนชั้นนำอนุรักษ์นิยม , กลุ่มทุนผูกขาดขนาดใหญ่ รวมถึงชนชั้นกลางระดับบน โดยการเกื้อหนุนและบิดเบือนหลักการ รวมถึงยินยอมเป็นเครื่องมือรับใช้เพื่อรับรองความถูกต้องชอบธรรมให้กับเผด็จการทหารเพื่อแลกกับผลประโยชน์ต่างตอบแทนในรูปแบบต่างๆ เช่น ตัวเงิน , ตำแหน่งหน้าที่ทางราชการ และนโยบายผูกขาดทางศรษฐกิจ เป็นต้น ถือว่าเป็นการดำรงอยู่เคียงข้างกันอย่างแนบแน่นมายาวนาน เนื่องจากสมประโยชน์ร่วมกันทุกฝ่าย ทั้งนี้ทุกฝ่ายที่ได้ผลประโยชน์ยังต้องการคงสภาพนี้ไว้ให้นานเท่านาน ด้วยการสนับสนุนการสืบทอดอำนาจของระบอบ คสช. ผ่านกลไกรัฐธรรมนูญและระบอบพรรคการเมืองในรูปแบบประชาธิปไตยซ่อนรูปเผด็จการ และด้วยภาพลักษณ์ของคนดี มีคุณธรรม ที่เสียสละเข้ามาเล่นการเมืองตามเสียงเรียกร้องของประชาชนและเพื่อตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน

      
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net