Skip to main content
sharethis

เมื่อประวัติศาสตร์ไม่ใช่แค่เรื่องท่องจำชื่อ-ตัวเลขไปสอบ นักการศึกษาของสหรัฐฯ เสนอมุมมองเรื่องการศึกษาเกี่ยวกับเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ในยุคที่ผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์กำลังจะจากไป โดยเน้นย้ำความสำคัญว่าการเรียนรู้เรื่องเหล่านี้ไม่เพียงแค่มีความสำคัญทางด้านประวัติศาสตร์ แต่ยังมีความสำคัญแม้กระทั่งในชีวิตประจำวันของเด็กอย่างการต่อสู้กับการถูกข่มเหงรังแก และการจัดการกับเรื่องความเกลียดชังแบบเหมารวม

อนุสรณ์สถานรำลึกเหตุสังหารหมู่โฮโลคอส ที่เบอร์ลิน เยอรมนี
ที่มาของภาพ: Kevin O’Brien/Dodlive

เมื่อไม่นานนี้มีการสำรวจพบว่าเยาวชนยุคมิลเลนเนียลในสหรัฐฯ ถึงร้อยละ 22 ที่ไม่รู้ว่าเคยมีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดขึ้น หรือไม่แน่ใจว่าเกิดขึ้นหรือไม่ นอกจากนี้ร้อยละ 66 ไม่รู้จักค่ายกักกันนาซีที่ชื่อ "ค่ายเอาชวิตซ์" ที่มีการกวาดต้อนและใช้ลงโทษชาวยิวในนั้น

อลัน มาร์คัส ผู้ช่วยศาตราจารย์ด้านศึกษาศาสตร์และหลักสูตรการเรียนการสอนจากมหาวิทยาลัยคอนเนคติคัตกล่าวว่าในฐานะที่เขาเป็นนักวิชาการด้านการเรียนรู้เกี่ยวกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในสงครามโลกครั้งที่ 2 การเรียนรู้ประวัติศาสตร์แค่ในแง่ของข้อเท็จจริงยิบย่อยเป็นแค่เรื่องเล็กน้อยสำหรับเขา สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าคือนักเรียนจะเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้บ้าง และในยุคสมัยที่จำนวนผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์ผู้จะเล่าถึงเรื่องที่เกิดขึ้นในยุคนั้นได้เริ่มเหลือน้อยลงทุกที พวกเขาต้องหาวิธีการในการสอนเรื่องเหล่านี้ใหม่อีกครั้ง

แล้วทำไมนักเรียนถึงควรเรียนเรื่องการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่เคยเกิดขึ้นในอดีตด้วย แซม ไวน์เบิร์ก นักการศึกษาด้านประวัติศาสตร์มองว่าประวัติศาสตร์มีความสามารถในการทำให้คนเราเข้าใจความเป็นมนุษย์มากขึ้น ขณะที่คีธ บาร์ตัน และลินดา เลฟสติก โต้แย้งว่าควรจะส่งเสริมการตัดสินใจอย่างมีเหตุผล ทำให้นักเรียนมีมุมมองต่อความเป็นมนุษย์กว้างขึ้น และส่งเสริมให้มีการเน้นทำเพื่อประโยชน์ต่อสังคม

จากแนวคิดแบบนี้ทำให้ไม่น่าแปลกใจที่สมาชิกสภานิติบัญญัติในหลายรัฐพยายามแก้ปัญหาอาชญากรรมจากความเกลียดชังด้วยการส่งเสริมให้เรียนรู้เหตุการณ์สังหารหมู่หรือฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ จนถึงตอนนี้มี 10 รัฐแล้วในสหรัฐฯ ที่มีกฎหมายบรรจุการเรียนรู้เรื่องประวัติศาสตร์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ลงในแบบเรียน

อย่างไรก็ตามมาร์คัสระบุว่าในแง่วิธีการสอนในตอนนี้อาจจะต้องมีการปรับตัวเนื่องจาก ผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์ที่ให้การศึกษาเรื่องประวัติศาสตร์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เริ่มลดจำนวนลงเรื่อยๆ พวกเขาเหล่านี้มีบทบาทในการสอนทั้งในทางกายภาพ ทางอารมณ์ความรู้สึก และทางข้อมูลความรู้ บุคคลเหล่านี้ยังกลายมาเป็นแรงผลักดันให้สร้างอนุสรณ์สถานและพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ขึ้น

มีการประเมินว่าประชากรผู้รอดชีวิตจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เหล่านี้อาจจะลดลงเหลือราว 67,000 คน ในปี 2563 เนื่องจากอายุขัยของพวกเขา นักประวัติศาสตร์อย่างไวน์เบิร์กมองว่าความทรงจำของผู้ที่มีชีวิตผ่านช่วงนั้นมามีความสำคัญแตกต่างจากความทรงจำที่ผ่านการเรียนรู้เอาทีหลัง ผู้รอดชีวิตเหล่านี้จะสามารถทำให้คนรุ่นหลังเชื่อมโยงตัวเองกับประวัติศาสตร์ได้มากกว่าผ่านปฏิสัมพันธ์โดยตรงร่วมกับคนรุ่นหลัง และทำให้เกิดความรู้สึกเข้าถึงหัวอกผู้อื่นได้

มาร์คัส ระบุว่าเมื่อผู้บอกเล่าความทรงจำผ่านประสบการณ์จริงเหล่านี้ลดลงเรื่อยๆ กลุ่มครู นักพัฒนาหลักสูตรการศึกษา และภัณฑารักษ์ ต่างก็หันมาพัฒนาระบบพิพิธภัณฑ์ที่จะทำให้เกิดการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ได้โดยอาศัยเทคโนโลยี เช่น โครงการฟอร์เอเวอร์โปรเจกต์ ของศูนย์และพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์แห่งชาติอังกฤษ โครงการนี้มีการถ่ายเก็บภาพวิดีโอผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์ในแบบสามมิติเพื่อให้นักเรียนได้รับชมการบอกเล่าเรื่องราวของพวกเขาได้ โดยสามารถให้นักเรียนซักถามและมีรายการคำตอบต่างๆ เตรียมไว้

ในสหรัฐฯ มีโครงการคล้ายๆ กันจากมูลนิธิโชอาห์ ฟาวเดชัน ที่ใช้วิธีการบันทึกวิดีโอผู้รอดชีวิตจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์แบบหลายมิติไว้ ศูนย์แอนน์ แฟรงค์ เพื่อการเคารพกันและกัน ในนิวยอร์กก็พยายามผลักดันโครงการให้มีการสอนเรื่องการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ใน 50 รัฐ ของสหรัฐฯ โดยเชื่อมโยงเหตุการณ์จากอดีตมาจนถึงปัจจุบัน

มาร์คัส ระบุว่าในปัจจุบันการสอนเรื่องเหล่านี้มีความสำคัญมากกว่าในอดีต เพราะมันมีศักยภาพในการส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่คิดว่าจะพัฒนามนุษยชาติอย่างไร ไม่ว่าจะด้วยวิธีการแบบปัจเจกหรือการปฏิบัติการแบบรวมกลุ่ม "การสอบ" ที่แท้จริงสำหรับการเรียนการสอนในเรื่องนี้คือการใช้ชีวิตประจำวันทั่วไป เช่น ถ้าหากพวกเขาพบเห็นคนๆ หนึ่งกำลังถูกข่มเหงรังแก พวกเขาจะทำอย่างไร ถ้าหากมีนักการเมืองที่มีนโยบายส่งเสริมการเหมารวมและความเกลียดชังพวกเขาจะทำอย่างไร

เรียบเรียงจาก

Teaching the Holocaust Will Change After All Survivors Are Dead, Alan Marcus, Yes!, 24-05-2018

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net