Skip to main content
sharethis

หลังอิสราเอลโจมตีโรงเรียนอัลทาบินที่ถูกใช้เป็นสถานพักพิงสำหรับพลเรือนชาวปาเลสไตน์ผู้ลี้ภัยสงคราม จนทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 100 ราย แม้รัฐบาลอิสราเอลจะอ้างว่าโจมตีเพื่อสังหารกลุ่มฮามาสและกลุ่มนักรบจีฮัด แต่ก็ถูกตั้งคำถามว่าการโต้ตอบแบบไม่ได้สัดส่วนอิสราเอลจนทำให้พลเรือนที่ไม่มีอาวุธต้องรับเคราะห์จำนวนมากนั้นถูกต้องหรือไม่

หลังอิสราเอลโจมตีเป้าหมาย 2 ครั้งที่ผ่านมาจนมีพลเรือนเสียชีวิตรวมแล้วอย่างน้อย 190 ราย ทั้งกรณีโรงเรียนอัลทาบินที่ถูกใช้เป็นสถานพักพิงผู้ลี้ภัยสงครามและเมื่อกรกฎาคมที่ผ่านมาที่อัลมาวาซี อิสราเอลอ้างความชอบธรรมการโจมตีของตัวเองในทั้งสองครั้งว่า เป็นการโจมตีใส่เป้าหมายกลุ่มติดอาวุธฮามาสและจีฮัด และในกรณีหลังยังทำให้เป้าหมายที่เป็นผู้บัญชาการฮามาสเสียชีวิต 2 ราย

ตั้งแต่เริ่มสงครามมาอิสราเอลได้สังหารชาวปาเลสไตน์ไปแล้วเกือบ 40,000 รายในกาซ่า มีผู้บาดเจ็บอีกหลายหมื่นราย แม้ว่ารัฐบาลอิสราเอลจะยังโต้แย้งยอดผู้เสียชีวิต แต่อิสราเอลแสดงท่าทีชัดเจนว่าต้องการทำลายล้างกาซ่าและการสังหารพลเรือนเป็นผลที่จะเกิดขึ้นตามมาเมื่อโจมตีใส่กลุ่มฮามาสอยู่แล้ว อีกทั้งกลุ่มฮามาสเคยโจมตีอิสราเอลทำให้มีผู้เสียชีวิตราว 1,139 รายจึงเป็นเรื่องสมเหตุสมผล

อย่างไรก็ตาม กลุ่มฮามาสปฏิเสธว่าไม่ได้ใช้สถานที่ของพลเรือนเป็นที่ปฏิบัติการ อีกทั้งยังเคยปฏิเสธว่า 1 ใน 2 ผู้บัญชาการของกลุ่มยังไม่เสียชีวิต แต่ไม่ว่าอิสราเอลจะโจมตีเป้าหมายสำเร็จอย่างที่อ้างหรือไม่ อิสราเอลก็ถูกตั้งคำถามถึงความได้สัดส่วนว่าพร้อมจะสังหารหมู่พลเรือนจำนวนมากแค่ไหนเพื่อสังหารเป้าหมายผู้นำฮามาส 1 คน

ไม่ได้มีหลักการคำนวนความได้สัดส่วนที่ชัดเจนในกฎหมายมนุษยธรรมนานาชาติ (IHL) แต่คณะกรรมการกาชาดสากล (ICRC) มีหลักคิดว่า การโจมตีใดๆ ก็ตามที่อาจจะสร้างความสูญเสียแก่ชีวิตของพลเรือน การบาดเจ็บของพลเรือน หรือความเสียหายต่อทรัพย์สินของพลเรือนโดยไม่ได้ตั้งใจในระดับที่ "มากเกินไปเมื่อเทียบกับการที่จะได้รับความได้เปรียบทางการทหารโดยตรงอย่างเป็นรูปธรรมนั้น เป็นสิ่งที่ถูกสั่งห้ามไว้"

ยุทธศาสตร์การทหารของอิสราเอลใช้ความรุนแรงแบบไม่ได้สัดส่วน

ทาริค เคนนีย์-ชาวา นักวิจัยด้านนโยบายที่องค์กรเครือข่ายนโยบายปาเลสไตน์อัลชบากา กล่าวว่า กองทัพอิสราเอลล้มเหลวทั้งในเรื่องการช่วยเหลือตัวประกันและในเรื่องการขจัดฮามาสให้สิ้นซาก การโจมตีอย่างหนักของรัฐบาลอิสราเอลเป็นสิ่งที่ทำให้รัฐบาลอิสราเอลและกองทัพมีอะไรไว้ให้อ้างได้ว่าเป็น "ชัยชนะ" ในกรณีที่พวกเขาสามารถทำให้เหล่าผู้นำฮามาสเสียชีวิตได้จริงจนมีพลเรือนจำนวนมากเสียชีวิต โดยอ้างว่าวิธีการทำลายล้างอย่างหนักในระดับที่ไม่มีใครทำได้มากขนาดนี้นับเป็น "ยุทธศาสตร์การป้องปรามแบบของอิสราเอล" หรือที่อิสราเอลเรียกมันว่า “หลักนิยมดาฮิเยห์"

ในสงครามปี 2549 ระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มติดอาวุธฮิชบอลเลาะห์ในเลบานอน กองทัพอิสราเอลได้ใช้มาตรการโต้ตอบแบบไม่ได้สัดส่วนเช่นกัน โดยการวางเป้าโจมตีย่านชุมชนและทำลายโครงสร้างพื้นฐานของพลเรือนในฐานะที่เป็นยุทธวิธีเพื่อกดดันศัตรู ยุทธศาสตร์แบบนี้ถูกเรียกว่า "หลักนิยมดาฮิเยห์" แต่หลักนิยมนี้ก็ถูกตั้งคำถามว่าได้ผลจริงหรือไม่

ฮานี อวาด นักวิจัยของศูนย์อาหรับเพื่อการศึกษาและวิจัยนโยบาย กล่าวว่า "กลุ่มคนพื้นถิ่นจะทำการต่อต้านผู้ล่าอาณานิคมให้นานที่สุดตราบใดที่พวกเขายังมีความหวังเล็กๆ น้อยๆ ที่จะขับไล่ผู้ล่าอาณานิคมออกไปได้" ความเชื่อแบบนี้เองที่ทำให้กองทัพอิสราเอลมองว่า "เป็นเรื่องจำเป็นที่จะโต้ตอบการกระทำที่ดูเป็นการต่อต้านใดๆ ก็ตาม ด้วยกำลังที่หนักแน่น ที่ระดับถึงตาย และในระดับล้างผลาญ จนกระทั่งคนพื้นถิ่นหมดหวังและยอมรับการอ้างกรรมสิทธิ์และความต้องการของกลุ่มผู้ล่าอาณานิคม"

นับตั้งแต่ที่เริ่มมีสงครามกาซ่า กองทัพอิสราเอลก็ทำลายบ้านเรือน, โรงเรียน, มหาวิทยาลัย, โรงพยาบาล และสถานที่ทางวัฒนธรรม จนราบเป็นหน้ากลอง ในระดับที่ถูกเรียกว่าเป็น "การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์" และ "การทำลายล้างแหล่งที่อยู่อาศัยและโครงสร้างพื้นฐานในวงกว้าง" แบบที่เรียกว่า "domicide" รายงานของสหประชาชาติระบุว่าในช่วงระหว่างวันที่ 7 ต.ค. 2566 - 31 พ.ค. 2567 มีสิ่งก่อสร้างมากกว่าร้อยละ 55 ถูกทำลายโดยอิสราเอล

อิสราเอลอ้างว่าการทำลายล้างสิ่งก่อสร้างเหล่านี้เป็นเรื่องจำเป็นสำหรับการโจมตีเป้าหมายบุคคลสำคัญของฮามาสในกาซ่า

อิฮับ มาฮาร์เมห์ นักวิจัยที่ศูนย์อาหรับเพื่อการศึกษาและวิจัยนโยบายในโดฮากล่าวว่า ไม่ว่าอิสราเอลจะอ้างว่าเหล่าผู้นำฮามาสอยู่ในพื้นที่เหล่านั้นอย่างไร แต่การสังหารพลเรือนก็เป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ ทั้งการโจมตีเป้าหมายเป็นรถพยาบาล และการโจมตีเป้าหมายบุคลากรป้องกันฝ่ายพลเรือน

แหล่งข่าวในกองทัพอิสราเอลให้สัมภาษณ์ถึงหลักปฏิบัตินี้ในนิตยสาร +972 เมื่อเดือน เม.ย. ที่ผ่านมาว่า นับตั้งแต่ 7 ต.ค. 2566 เป็นต้นมา ทหารอิสราเอลได้รับคำสั่งให้สังหารพลเรือนมากถึง 20 ราย เพื่อที่จะสังหารนักรบฮามาสระดับล่างคนเดียว และอาจสูงถึงหลายร้อยคนได้เพื่อที่สังหารระดับผู้บัญชาการ แหล่งข่าวรายนี้มองว่าไม่เคยมีนโยบายที่กำหนดสัดส่วนสูงในระดับนี้มาก่อนในช่วงประวัติศาสตร์อันใกล้ทั้งของอิสราเอลหรือแม้กระทั่งกองทัพสหรัฐฯ ก็ตาม

เชน ดาร์ซี ศาสตราจารย์ที่ศูนย์ไอริชเพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งมหาวิทยาลัยกัลเวย์ กล่าวว่าคงไม่มีทนายความด้านมนุษยธรรมนานาชาติรายใดที่มองว่าสิ่งที่อิสราเอลทำเป็นการโต้ตอบที่ได้สัดส่วน ปฏิบัติการเหล่านั้น "สิ่งที่เกิดนี้อาจนับได้ว่าเป็นอาชญากรรมสงคราม"

'แรงจูงใจจากการลอยนวลไม่ต้องรับผิด'

แม้ว่าจะมีกลุ่มหรือบุคคลในระดับนานาชาติประณามอิสราเอลที่โจมตีสถานที่พักพิงที่มีพลเรือนอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก แต่นักวิเคราะห์มองว่าพันธมิตรของอิสราเอลหรือประชาคมนานาชาติมีความพยายามอย่างเป็นรูปธรรมที่จะเปลี่ยนแปลงยุทธวิธีของอิสราเอลเพียงแค่เล็กน้อยเท่านั้น

ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา คาริม ข่าน อัยการศาลอาญาระหว่างประเทศกำลังขอหมายจับนายกรัฐมนตรีอิสราเอล เบนจามิน เนทันยาฮู และรัฐมนตรีกลาโหมของอิสราเอล โยอาฟ กัลแลนต์ ในข้อกล่าวหาก่ออาชญากรรมสงครามและอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ แต่ก็ส่งผลน้อยมากที่จะทำให้อิสราเอลเปลี่ยนแปลงยุทธศาสตร์การรบ อิสราเอลยังคงโจมตีพลเรือนต่อไปด้วยระดับความรุนแรงเท่าเดิม

มาฮาร์เมห์กล่าวว่า "อิสราเอลยังก่อเหตุฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ซ้ำๆ ได้นั้น แสดงให้เห็นว่าพวกเขาได้รับการยกเว้นไม่ต้องรับผลของการกระทำจากการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศและกฎหมายสิทธิมนุษยชน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสหรัฐฯ ยังให้การสนับสนุนอย่างแน่วแน่ รวมถึงการจัดหาอาวุธทำลายล้างระดับสูงให้ด้วย"

นักวิเคราะห์มองว่าจนกว่าชาติพันธมิตรอย่างสหรัฐฯ จะทำให้อิสราเอลต้องรับผิดจากการกระทำของตัวเองได้ การโจมตีที่ทำให้พลเรือนเสียชีวิตเป็นจำนวนมากจะยังเกิดขึ้นต่อไป

เคนนีย์-ชาวา กล่าวว่า "อิสราเอลได้แรงจูงใจเพราะไม่ต้องรับผิด ... อิสราเอลไม่ต้องเผชิญกับผลกระทบใดๆ เลยในการสังหารหมู่พลเรือนชาวปาเลสไตน์ ดังนั้นแล้วพวกเขาก็มีความฮึกเหิมในการที่จะก่อเหตุโจมตีอย่างโหดเหี้ยมที่สุดตามใจชอบ เพราะรู้ว่าจะไม่มีใครทำให้พวกเขาต้องรับผิด"

 

เรียบเรียงจาก

Israel, civilian deaths and the question of proportionality, Aljazeera, 12-08-2024

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก

https://en.wikipedia.org/wiki/Domicide 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net