Skip to main content
sharethis

20 ก.ค. 2561 ฮอลลี นอร์ตัน นักโบราณคดีวิทยาและมานุษยวิทยาผู้เน้นศึกษาเรื่องความรุนแรงทางการเมือง เขียนบทความเกี่ยวกับประเด็นการพรากลูกจากอกพ่อแม่ที่เกิดขึ้นกับผู้อพยพเข้าเมืองเม็กซิโก-สหรัฐฯ โดยเน้นมุมมองด้านมานุษยวิทยา

นอร์ตันระบุว่าคุณไม่จำเป็นต้องเป็นนักมานุษยวิทยาก็คงรู้สึกได้ถึงความน่าขยะแขยงของนโยบายกีดกันผู้อพยพจากรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ โดยเฉพาะการพรากลูกจากพ่อแม่ผู้ปกครองที่พรมแดนระหว่างเม็กซิโก-สหรัฐฯ อย่างไรก็ตามเธอต้องการนำเสนอมุมมองในฐานะนักมานุษยวิทยา

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับการแยกเด็กจากพ่อแม่ที่ข้ามพรมแดนนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในปี 2557 ซึ่งนอร์ตันระบุว่ามันแสดงให้เห็นว่าทั้งรัฐบาลและคนทั่วไปในสหรัฐฯ มองเรื่องนี้ด้วยมุมมองคับแคบอย่างไร รวมถึงแสดงให้เห็นการที่ประเทศร่ำรวยยังขาดความรู้ในการจัดการเรื่องผู้ลี้ภัย

นักมานุษยวิทยาคนอื่นอย่าง ซูซาน เทอริโอ เคยบอกว่าผู้อพยพเหล่านี้มักจะถูกมองข้ามเพราะว่าพวกเขาไม่ได้ตรงกับกรอบภาพลักษณ์ของ "เหยื่อที่ดี" และทำให้คนรู้สึกสงสัยในสถานะความเป็นผู้ด้อยโอกาส ลอเรน ไฮด์บริงค์ ก็เสนอไปในทางเดียวกันว่าเด็กที่เป็นผู้ลี้ภัยจะมีสถานะที่ในสายตาคนทั่วไปมองว่าคลุมเครือ เพราะความเป็นเด็กผู้ลี้ภัยจะเป็นการท้าทายภาพความเป็นเด็กในอุดมคติของผู้คนที่มองว่าเด็กจะต้องไม่เคยตกระกำลำบาก เพราะเด็กผู้ลี้ภัยไม่ตรงกับบรรทัดฐานทางสังคมที่ว่าเด็กจะต้องดูไร้เดียงสา ซึ่งนักวิชาการทั้งสองคนนี้ได้ดำลึกลงไปในโลกของเด็กที่ถูกคุมขัง กักกัน และต้องผ่านศาลคนเข้าเมือง ทำให้พวกเขามีวัยเด็กต่างจากคนที่ไม่ต้องผ่านอะไรเช่นนี้ นอกจากนี้ยังมีเด็กผู้อพยพจำนวนมากที่ถูกพรากจากผู้ปกครอง ถูกละทิ้ง ถูกข่มเหงรังแก และหายสาบสูญ

มีนักมานุษยวิทยารายหนึ่งคือ เจสัน เดอ ลีออน จากมหาวิทยาลัยมิชิแกนเคยเปิดโครงการในปี 2556 เกี่ยวกับ "ผู้อพยพเข้าเมืองที่ไม่มีเอกสารรับรองจากทางการ" เพื่อศึกษาทำความเข้าใจผู้อพยพข้ามแดนเม็กซิกัน-สหรัฐฯ ผ่านประสบการณ์ชีวิตจริงของพวกเขาเอง นอกจากนี้ลีออนยังใช้ความรู้ทางชาติพันธุ์วรรณาในเม็กซิโกและโบราณคดีในแอริโซนาในการทำความเข้าใจวัฒนธรรมการอพยพย้ายถิ่นฐานและประสบการณ์ของผู้อพยพเหล่านี้ในที่ๆ ทำให้พวกเขาต้องหลบๆ ซ่อนๆ

ผู้ศึกษาวิจัยเหล่านี้พบว่าผู้อพยพจะเดินทางผ่านทะเลทรายโดยที่ละทิ้งหรือสูญเสียสิ่งที่พวกเขาเคยเป็นเจ้าของไป และสิ่งของต่างๆ ที่พวกเขาทิ้งไว้ทำให้นักโบราณคดีเล็งเห็นว่ามันสามารถเล่าเรื่องราวทางวัฒนธรรมและเรื่องราวของปัจเจกบุคคลหนึ่งๆ ได้

เรื่องที่ดูเล็กๆ น้อยๆ อย่างขวดบรรจุน้ำของผู้อพยพก็กลายเป็นวัตถุสำคัญสำหรับผู้ศึกษาวัฒนธรรม เช่น เดอ ลีออน ค้นพบสิ่งที่เรียกว่า "พัฒนาการขวดน้ำของผู้อพยพ" ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้อพยพเริ่มใช้ที่บรรจุน้ำเปลี่ยนไปอย่างไร โดยจัดแสดงเป็นรูปภาพตั้งแต่ขวดน้ำใสขาดแกลลอน ตามมาด้วยขวดน้ำแกลลอนแบบทาสีดำ ขวดน้ำแบบหุ้มพลาสติกสีดำ จนกระทั่งกลายเป็นขวดน้ำที่ทำจากพลาสติกสีดำ สาเหตุที่พวกเขาพรางขวาดน้ำเหล่านี้เพราะพวกเขาต้องใช้ชีวิตแบบพรางตัว เรื่องนี้ยังแสดงให้เห็นอีกว่าบุคคลเหล่านี้ไม่ใช่แค่ว่าจู่ๆ คิดจะเดินทางก็ทำแต่ต้องเผชิญความยากลำบากในการเดินทางข้ามพรมแดนและต้องอาศัยความมุ่งมั่นหรือถึงขั้นตัดสินใจหนีตายจากที่แห่งเดิมถึงยอมเผชิญความยากลำบากเหล่านี้

แต่ก็ใช่ว่าทุกคนจะสามารถข้ามแดนได้สำเร็จและรอดปลอดภัย เรื่องนี้จึงกลายเป็นหน้าที่ของนักนิติมานุษยวิทยาผู้ตรวจสอบเกี่ยวกับความตายของคนที่ข้ามแดนมาไม่สำเร็จ พวกเขาค้นพบว่าการสร้างสิ่งกีดขวางต่างๆ รอบแอริโซนาทำให้้เป็นการกีดขวางผู้คนที่พยายามเดินทางข้ามแดน อีกทั้งภูมิประเทศทะเลทรายอันโหดร้ายก็ไม่ปรานีต่อคนข้ามแดนเหล่านี้ มีการสำรวจจากนักวิชาการและองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรพบว่ามีผู้เสียชีวิตในการพยายามข้ามแดนช่วงปี 2543-2558 ในเขตแอริโซนาอยู่ระหว่าง 2,200 - 2,649 ราย มากกว่าที่หน่วยงานตระเวนชายแดนของสหรัฐฯ ประเมินไว้ อีกทั้งในบางพื้นที่อาจจะมีผู้เสียชีวิตมากกว่านี้สองเท่าและประเมินลำบากว่ามีผู้เสียชีวิตที่เป็นเด็กจำนวนมากเท่าใด

เรื่องเหล่านี้ทำให้นอร์ตันวิพากษ์ทั้งรัฐบาลสหรัฐฯ และสังคมอเมริกันว่า ดรามาล่าสุดเกี่ยวกับการพรากลูกจากผู้อพยพสหรัฐฯ สะท้อนให้เห็นเรื่องการเหยียดเชื้อชาติสีผิวของชาวอเมริกันเอง เป็นความเชื่อผิดๆ แบบที่ซ้อนทัศนคติแบบความเป็นเจ้าอาณานิคมว่าเจ้าของทวีปอเมริกามีแต่คนขาวเท่านั้น มันแสดงให้เห็นอีกว่าในขณะที่มีโวหารเรื่องการปกป้องเด็กที่ "บริสุทธิ์ไร้เดียงสา" แต่ก็มีการเลือกปฏิบัติว่าจะใช้คุณค่าแบบเดียวกันนี้กับใคร 


เรียบเรียงจาก

What anthropologists can tell you about the US border immigration crisis, The Guardian, 18-07-2018
https://www.theguardian.com/science/2018/jul/18/what-anthropologists-can-tell-you-about-the-us-border-immigration-crisis
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net