ลาวเขื่อนแตกอพยพใหญ่-พบมีสัญญาป้อนไฟฟ้าไทย 27 ปีหลังสร้างเสร็จ

เกิดน้ำท่วมฉับพลันที่ลาวตอนใต้ เหตุจาก "เขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย" ที่กำลังก่อสร้างแตก ภาครัฐเร่งอพยพประชาชน พบเป็นเขื่อนผลิตไฟฟ้าลงทุนโดยเกาหลีใต้-ไทย-ลาว "ราชบุรีโฮลดิ้ง" ถือหุ้น 25% โดยมี 4 สถาบันการเงินไทยให้สินเชื่อก่อสร้าง 2.2 หมื่นล้านบาทได้แก่กรุงไทย เอ็กซิมแบงก์ กรุงศรีอยุธยา และธนชาต หากก่อสร้างเสร็จจะมีกำลังผลิต 410 เมกะวัตต์ โดยตามสัญญาจะขายไฟฟ้าให้ กฟผ. 370 เมกะวัตต์ เป็นเวลา 27 ปี

ที่มา: สำนักข่าวสารประเทศลาว

24 ก.ค. 2561 กรณีสำนักข่าวสารประเทศลาว รายงานข่าวพาดหัวว่า "เขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าเซเปียน-เซน้ำน้อยแตกภาครัฐเร่งเข้าช่วยเหลือขนย้ายประชาชน" โดยระบุว่าเนื่องจากเกิดฝนตกติดต่อกันหลายวัน ส่งผลให้เขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้า "เซเปียน-เซน้ำน้อย" แตกเมื่อเวลา 20.00 น. วันที่ 23 ก.ค. โดยที่ตั้งเขื่อนอยู่ที่เมืองสะหนามไซ แขวงอัตตะปือ ทางตอนใต้ของลาว

ไทยรัฐซึ่งอ้างสำนักข่าวเอบีซีลาว ระบุว่า สันเขื่อนบางส่วนของเขื่อนที่กำลังก่อสร้างอยู่เกิดพังลง ทำให้บริษัท PNPC ผู้ก่อสร้างเขื่อนแจ้งประชาชนอพยพขึ้นที่สูง

โดยในรายงานของสำนักข่าวสารประเทศลาว น้ำได้ไหลทะลุลงมาตามลำน้ำเซเปียนเข้าท่วมบ้านเรือนและที่ดินเพาะปลูกของประชาชน ทำให้มีผู้เสียชีวิตและสูญหายจำนวนมาก "ท่านนาง บุนนาน" หัวหน้าแผนกแถลงข่าว วัฒนธรรม และท่องเที่ยว แขวงอัตตะปือ แจ้งกับสำนักข่าวสารประเทศลาวว่า รัฐบาลได้ระดมกำลังฝ่ายปกครอง ทหาร ตำรวจ รวมทั้งกำลังพลจากกองพลที่ 5 ให้ความช่วยเหลือในการเคลื่อนย้ายประชาชนออกจากพื้นที่ภัยพิบัติอย่างเร่งด่วน รวมทั้งส่งเฮลิคอปเตอร์ไปสมทบเพื่อกอบกู้ ช่วยเหลือประชาชนอีกด้วย ส่วนความเสียหายยังไม่สามารถประเมินได้

ขณะที่บ่ายวันนี้ (24 ก.ค.) วอยซ์ออนไลน์ สัมภาษณ์ท่านคำม่วน เลขาคณะรับผิดชอบแก้ไขสภาพฉุกเฉินแขวงอัตตะปือ โดยระบุว่ามีประชาชนต้องอพยพกว่า 4,282 คน และพื้นที่ 8 หมู่บ้านที่ถูกน้ำท่วม ได้รับความเสียหาย 100% เนื่องจากน้ำท่วมสูงและไหลแรง ประกอบกับฝนยังคงตกต่อเนื่อง

ราชบุรีโฮลดิ้งถือหุ้น 25% ร่วมทุนเกาหลีใต้ รัฐวิสาหกิจลาวก่อสร้างเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย

แผนที่แสดงที่ตั้งเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย ทางน้ำผ่าน และจุดติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (ที่มา: PNPC)

แผนที่แสดงที่ตั้งเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย ทางน้ำผ่าน และจุดติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (ที่มา: PNPC)

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับผู้ลงทุนในโครงการเขื่อนผลิตไฟฟ้าเซเปียน-เซน้ำน้อยคือ บริษัท ไฟฟ้า เซเปียน-เซน้ำน้อย จำกัด (PNPC) เป็นการร่วมทุนของบริษัทข้ามชาติ 4 แห่ง ประกอบด้วย บริษัท SK Engineering and Construction จำกัด ถือหุ้น 26% บริษัท Korea Western Power จำกัด ถือหุ้น 25% บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ถือหุ้น 25% และ Lao Holding State Enterprise ถือหุ้น 24% (อ่านรายละเอียด)

สำหรับบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ โดยมีการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ถือหุ้นอยู่ 45%

4 สถาบันการเงินไทยให้กู้สร้างเขื่อน 22,000 ล้านบาท

อนึ่งเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2557 ยอง จู ชอย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไฟฟ้า เซเปียน-เซน้ำน้อย (PNPC) เปิดเผยว่าประสบความสำเร็จในการจัดหาเงินกู้ 700 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 22,000 ล้านบาท เพื่อใช้พัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำดังกล่าว โดยมีกำลังติดตั้ง 410 เมกะวัตต์ จะผลิตกระแสไฟฟ้าจำหน่าย 1,860 กิกะวัตต์-ชั่วโมงต่อปี (อ่านรายละเอียด) โดยในเว็บไซต์ของบริษัท PNPC ระบุว่าจะเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ภายในปี  2562

สำหรับสถาบันการเงิน 4 แห่งที่ให้เงินกู้ก่อสร้างโครงการในรูปแบบสินเชื่อร่วม (Syndication loan) ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา และธนาคารธนชาต

โดยตามสัญญากระแสไฟฟ้า 370 เมกะวัตต์ จะจำหน่ายให้กับ กฟผ. โดยมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 27 ปี ส่วนกำลังการผลิตที่เหลือจะผลิตไฟฟ้าจำหน่ายรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าภายในประเทศลาว

ราชบุรีโฮลดิ้ง ชี้แจงสันเขื่อนส่วน D แตกร้าว เร่งประเมินความเสียหาย

ล่าสุดมติชนออนไลน์ รายงานคำชี้แจงของกิจจา ศรีพัฆฒางกุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรี โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ระบุว่าบริเวณที่เสียหายคือสันเขื่อนเก็บน้ำส่วน D โดยในการก่อสร้าง มีการทำเขื่อนกั้นช่องเขา 5 เขื่อนเพื่อเก็บน้ำ โดยเขื่อนส่วน D เกิดแตกร้าว เนื่องจากมีปริมาณน้ำอยู่ในเขื่อนมากเกินไปจากพายุเข้ามามากทำให้เกิดฝนตกหนักต่อเนื่อง ทำให้มวลน้ำราว 600 ล้านลูกบาศก์ไหลท่วมบ้านเรือนในเมืองสะหนามไซ  แขวงอัตตาปือ ขณะนี้อยู่ระหว่างการประเมินว่ามีคนสูญหายหรือไม่ และความเสียหายต่างๆ ที่เกิดขึ้น

ส่วนการซ่อมเขื่อนคงต้องปล่อยให้น้ำไหลออกจากเขื่อนดังกล่าวให้เหลือน้อยที่สุดเพื่อที่จะเข้าไปดำเนินการแก้ไข โดยบริษัทกำลังประเมินว่าโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเซเปียน-เซน้ำน้อยจะสามารถจ่ายไฟเชิงพาณิชย์ หรือ COD ได้ตามกำหนดในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 หรือไม่ แต่บริษัทฯ คาดว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อการจ่ายไฟเชิงพาณิชย์ โดยขณะนี้ได้สั่งให้ผู้รับเหมาเกาหลีเร่งดำเนินการแก้ไขโดยด่วน ก่อนประเมินความเสียหายจากเหตุการณ์เพื่อให้ผู้รับเหมาและบริษัทประกันรับผิดชอบต่อไป

สถานทูตไทยที่เวียงจันทน์ประกาศระดมความช่วยเหลือ

ขณะเดียวกันสถานเอกอัครราชทูต ณ เวียงจันทน์ ได้ออกประกาศลงวันที่ 24 ก.ค. เชิญชวนร่วมบริจาคเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม ในแขวงอัตตะปือและแขวงจำปาศักดิ์ สปป.ลาวด้วย

สันเขื่อนลาวแตก องค์กรแม่น้ำนานาชาติชี้เป็นบทเรียนเรื่องออกแบบเขื่อนและการเตือนภัย

ขณะเดียวกันองค์กรแม่น้ำนานาชาติ (International Rivers) ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมกรณีเขื่อนแตกที่แขวงอัตตะปือ โดยชี้ว่าชาวบ้านกว่า 4,000 ครอบครัว หรืออาจถึง 6,600 ครอบครัว ที่สญเสียบ้านเรือนเนื่องจากน้ำท่วมนั้น "ชาวบ้านจำนวนมากเหล่านี้ได้ถูกอพยพมาที่อยู่ใหม่ก่อนหน้านี้ หรือที่ผ่านมาได้รับผลกระทบด้านการทำมาหากินเนื่องจากการก่อสร้างเขื่อน มาในคราวนี้ยังต้องได้รับผลกระทบอย่างใหญ่หลวง ต้องสูญเสียบ้านเรือน ทรัพย์สิน และสมาชิกในครอบครัวไป"

บทเรียนที่สำคัญก็คือ "ยังมีความเสี่ยงที่สำคัญจากการออกแบบเขื่อน ซึ่งไม่สามารถรับมือกับสภาพอากาศที่เลวร้ายและอุบัติภัยได้ อย่างกรณีที่เกิดฝนตกหนักมากๆ ปัจจุบันความผันผวนด้านสภาพอากาศที่ยากต่อการพยากรณ์และรุนแรง เกิดขึ้นบ่อยครั้งมากในลาวและในภูมิภาคนี้ อันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาวะภูมิอากาศ ทั้งยังแสดงให้เห็นข้อบกพร่องของระบบเตือนภัยสำหรับการสร้างและการเดินเครื่องเขื่อน เนื่องจากมีการเตือนภัยที่ดูเหมือนจะล่าช้ามากและไม่มีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ประชาชนไม่ได้รับการแจ้งเตือนล่วงหน้ามากเพียงพอเพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อตนเองและครอบครัว"

"ทั้งสองประเด็นต่างทำให้เกิดคำถามสำคัญเกี่ยวกับมาตรฐานของเขื่อนและความปลอดภัยของเขื่อนในประเทศลาว รวมทั้งความเหมาะสมของโครงการเหล่านี้ในการรับมือกับสภาพภูมิอากาศและความเสี่ยงที่เกิดขึ้น ทั้งยังมีคำถามเกี่ยวกับบทบาทและความรับผิดชอบ การตรวจสอบได้และความสามารถในการบริหารจัดการและรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉิน ในโครงการที่เป็นของและดำเนินการโดยเอกชนร่วมกับหน่วยงานของรัฐบาล เนื่องจากในปัจจุบันมีการก่อสร้างหรือมีแผนที่จะก่อสร้างโครงการพลังงานไฟฟ้ากว่า 70 แห่งตลอดทั่วสปป.ลาว โดยส่วนใหญ่เป็นโครงการของและดำเนินการโดยบริษัทเอกชน (ในรูปแบบสัญญา BOT) เหตุการณ์ครั้งนี้จึงทำให้เกิดคำถามสำคัญเกี่ยวกับการวางแผนและการบริหารจัดการเขื่อน ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการตรวจสอบโดยทันที" องค์กรแม่น้ำนานาชาติระบุ (อ่านรายละเอียด)

ฝนตกหนักลาวตอนเหนือได้รับผลกระทบ แขวงอุดมไซอพยพ 102 ครอบครัว

นอกจากนี้ หนังสือพิมพ์เวียงจันใหม่ ได้รายงานด้วยว่าจากสถานการณ์ฝนตกติดต่อกันเป็นเวลาหลายวัน ทำให้เกิดน้ำท่วมที่แขวงอุดมไซ ทางตอนเหนือของลาว โดยเมืองที่ได้รับผลกระทบได้แก่ เมืองปากแบง เมืองนาหม้อ เมืองหล้า  และเมืองหุน โดยแผนกแรงงานสวัสดิการสังคม แขวงอุดมไซแจ้งด้วยว่ามี 10 หมู่บ้าน ในพื้นที่ 4 เมืองที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม มีผู้ได้รับกระทบ 524 คน รวม 102 ครอบครัว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท