Skip to main content
sharethis

ผู้ต้องขังเข้าไม่ถึงบริการสุขภาพ ทั้งที่มีสิทธิตามหลักประกันสุขภาพเทียบเท่าประชาชนทั่วไป เหตุระบบไม่เชื่อมโยง สปสช. กำลังผลักดันมาตรการแก้ไข ยกระดับสถานพยาบาลในเรือนจำเป็น รพ.สต. จับคู่กับโรงพยาบาลในพื้นที่ ส่งตรงบริการและองค์ความรู้ให้เรือนจำ

  • การเคลื่อนย้ายผู้ต้องขังในแต่ละวัน ทำให้ผู้ต้องขัง 120,000 คน หรือ 1 ใน 3 ไม่มีสิทธิการรักษาพยาบาล
  • ข้อมูลโรงพยาบาลกับเรือนจำไม่เชื่อมโยง ขาดการทำงานร่วมกัน ทำให้ผู้ต้องขังเข้าไม่ถึงสิทธิการรักษา
  • สปสช. เตรียมยกระดับสถานพยาบาลในเรือนจำเป็น รพ.สต. เชื่อมโยงข้อมูลกับโรงพยาบาลในพื้นที่ พัฒนาการเข้าถึงบริการสาธารณสุขในเรือนจำ

การเข้าถึงบริการสาธารณสุขของผู้ต้องขังในเรือนจำยังมีอุปสรรค ทั้งที่ผู้ต้องขังยังคงมีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลตามสิทธิที่ตนมี เช่น สิทธิตามหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ทว่า สภาพความเป็นจริง แม้งบประมาณรายหัวจะลงไปถึงพื้นที่ แต่บริการสุขภาพไม่ได้ตามเข้าไปในเรือนจำ ถ้าวาดออกมาเป็นแผนที่ ระบายสีพื้นที่ที่ได้รับบริการสุขภาพ ภาพเรือนจำบนแผนที่คงมีสภาพเว้าแหว่ง ไม่ถูกลงสี

ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น?

‘ประชาไท’ หยิบคำถามค้างคาต่อสถานการณ์การเข้าถึงบริการสุขภาพของผู้ต้องขังในเรือนจำเดินทางไปยังสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) โดยมี นพ.ชูชัย ศรชำนิ รองเลขาธิการ สปสช. และปริญญา ระลึก หัวหน้างานสำนักสนับสนุนระบบบริการปฐมภูมิ เป็นผู้ให้คำตอบ

ทำไมผู้ต้องขังเข้าไม่ถึงสิทธิการรักษา

ว่ากันตามสิทธิแล้ว ผู้ต้องขังมีชุดสิทธิประโยชน์เทียบเท่ากับประชาชนที่อยู่ภายนอกทุกประการ แต่ด้วยหลายปัจจัยทำให้บริการไม่อาจติดตามเข้าไปในเรือนจำ เหตุประการหนึ่งเป็นผลจากประวัติศาสตร์เมื่อครั้งเกิดหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าขึ้น ณ เวลานั้นมีการขึ้นทะเบียนสถานีอนามัยให้เป็นสถานพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข แต่ทางกรมรามทัณฑ์แสดงความจำนงไม่ขอเข้าร่วมระบบหลักประกันตั้งแต่แรก ทำให้สถานพยาบาลในเรือนจำแยกเป็นเอกเทศจากระบบตั้งแต่แรก

ขณะที่โรงพยาบาลในพื้นที่ที่มีเรือนจำตั้งอยู่จะรับเงินเหมาจ่ายรายหัวไป ในบางพื้นที่กลับไม่มีจัดบริการให้หรือไม่มีกำลังจัดบริการให้ได้ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่ผู้ต้องขังที่มีการเคลื่อนย้าย แต่สิทธิไม่ได้ตามตัวผู้ต้องขังไปด้วย เนื่องจากการย้ายสิทธิ์จะต้องแจ้งด้วยตัวเอง จึงทำให้ค่าเหมาจ่ายรายหัวไม่ได้ติดตามผู้ต้องขังไป ปริญญาอธิบายว่าผู้ต้องขังมีพลวัตเข้าออกประมาณวันละ 2,000 คน เช่น ย้ายจากเรือนจำจากอุบลไปขอนแก่นเพราะมีอีกคดีอยู่ที่นั่น ย้ายเพราะต้องไปฝึกอาชีพ ย้ายเพราะต้องระบายคุก ผู้ต้องขังบางรายย้ายปีละ 4 รอบ เป็นต้น จากฐานข้อมูลของกรมราชทัณฑ์กับ สปสช. ที่มีการอัพเดทข้อมูลทุกวันหลังจากทำงานร่วมกันมา 2 ปี พบว่าปัจจุบันมีผู้ต้องขังประเภทนี้ประมาณ 120,000 คน หรือประมาณ 1 ใน 3

“อย่างที่เรือนจำระยองมีผู้ต้องขัง 7,000 คน มีผู้ต้องขังต่างถิ่นอยู่ 3,000 คน โรงพยาบาลก็ได้รับเงินรายหัวไปแค่ 4,000 คน อีก 3,000 คนก็จ่ายไปที่อื่นหมด เราเห็นปัญหาแล้ว อยู่ระหว่างดำเนินการทำให้มีการย้ายสิทธิอัตโนมัติ ติดคุกที่ไหน สิทธิบัตรทองก็ย้ายตามตัวไป ทั้งฝั่งโรงพยาบาลและผู้ต้องขังก็จะได้รับสิทธิที่ควรจะได้ แต่ประเด็นคือยังปิดช่อง 120,000 นี้ไม่ได้ ถ้าทำได้ก็จะดี

“นอกจากนี้ เรือนจำใหญ่ๆ ถ้าคิดเป็นค่าหัวก็สูงพอสมควร เมื่อรับเงินไปแล้วไม่เกิดบริการ กระทรวงสาธารณสุขก็ต้องไปกระทุ้ง ผู้ตรวจราชการของทางกระทรวงถ้ามีเรื่องนี้เข้าไปในแผนก็จะทำให้มีประสิทธิภาพขึ้น แต่ตอนนี้ยังไม่เป็นแบบนี้ ขึ้นอยู่กับความสนใจของผู้ตรวจแต่ละเขต

“แต่ช่วงสองสามปีที่ผ่านมาเริ่มดีขึ้น ทางกระทรวงสั่งการไปที่สาธารณสุขจังหวัดให้ทำแผนร่วมกับโรงพยาบาลและเรือนจำ ทำให้เริ่มมีแผน แต่ยังไม่ครบ การสำรวจล่าสุดมีเรือนจำประมาณ 120 กว่าแห่งที่ทำงานร่วมกันได้ แต่ยังไม่ได้ประกบเป็นคู่อย่างเป็นเรื่องเป็นราวแบบแม่ข่าย-ลูกข่าย คือดีขึ้นด้วยการสั่งการ ด้วยสัมพันธภาพ แต่เมื่อไหร่ที่เปลี่ยนผู้อำนวยการโรงพยาบาล เปลี่ยนสาธารณสุขจังหวัด มันก็ไม่ยั่งยืน เรื่องนี้จึงต้องมีพิมพ์เขียวเชิงระบบ”

นพ.ชูชัย เสริมว่า สปสช. มีการให้สิทธิประโยชน์ 2 แบบ คือแบบเหมาจ่ายรายหัวกับแบบโปรแกรม แต่สิทธิประโยชน์ทั้งสองแบบนี้มีช่องว่างที่ทำให้บริการไปไม่ถึงผู้ต้องขัง ประการแรกคือการไหลไปมาของผู้ต้องขัง ประการที่ 2 คือสิทธิประโยชน์แบบโปรแกรมซึ่งเป็นระบบที่ต้องทำแผนร่วมกัน เช่น โปรแกรมจิตเวชชุมชนมีกลุ่มเป้าหมายเป็นใคร ใช้เงินเท่าไหร่ ให้บริการอะไรบ้าง แต่เมื่อเรือนจำกับโรงพยาบาลไม่เชื่อมกัน สิทธิประโยชน์ส่วนนี้จึงไม่เกิดขึ้น

เร่งยืนยันสิทธิการรักษา

จากโครงการวิจัยเพื่อพัฒนาระบบบริการสุขภาพจิตและจิตเวชสำหรับผู้ต้องขังในเรือนจำของสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ โดยใช้ข้อมูล ณ เดือนมีนาคม 2560 พบว่ามีผู้ต้องขัง 52,960 คนที่ไม่มีสิทธิการรักษา

ทั้งนี้เพราะโดยปกติแล้วกรมราชทัณฑ์ไม่มีหน้าที่ตรวจสอบว่าผู้ต้องขังเป็นใคร เมื่อศาลพิพากษาให้จำคุกก็มีหน้าที่รับมา

“แต่ตอนนี้เรากับกรมราชทัณฑ์อัพเดทร่วมกันทุกวัน ทำให้เห็นว่าตอนนี้มีผู้ต้องขังที่ไม่มีไอดี ไม่มีสิทธิ์ ประมาณ 5 หมื่นกว่าเมื่อปีที่แล้ว แต่หลังจากทำงานร่วมกับกรมราชทัณฑ์มาปีกว่า ทางเรือนจำจึงสแกนลายนิ้วมือนักโทษทุกคนเทียบกับกรมการปกครอง ทำให้ลดเหลือแค่หลักพันที่ไม่มีไอดี ทำให้เห็นว่าอยู่ในสิทธิ์แต่ละสิทธิ์เท่าไหร่” ปริญญาชี้แจง

4 มาตรการแก้ปัญหาเข้าถึงบริการสุขภาพของผู้ต้องขัง

หากกล่าวโดยภาพรวมจะเห็นว่าระบบของกรมราชทัณฑ์กับระบบของโรงพยาบาลไม่เชื่อมโยงกัน ทำให้การส่งต่อข้อมูลเพื่อให้เกิดการบริการติดขัด ปริญญาขยายความว่า ถ้าผู้ต้องขังถูกส่งตัวออกมารักษาที่โรงพยาบาลระบบจะเห็นและนับรวมไว้ในระบบ แต่ถ้าเป็นผู้ต้องขังที่ป่วยแต่ไม่ได้ถูกส่งโรงพยาบาล ระบบก็จะไม่เห็น หรือผู้ต้องขังที่ไม่ป่วยก็ไม่มีการบันทึกเช่นกัน ซึ่งโดยระบบแล้วทุกคนควรมีชื่อเพื่อความสะดวกในการเข้าถึงสิทธิต่างๆ

สปสช. กระทรวงสาธารณสุข และกรมราชทัณฑ์จึงมีความพยายามปรับปรุงการให้บริการด้านสุขภาพแก่ผู้ต้องขังผ่านนโยบาย นพ.ชูชัย กล่าวว่า

“ที่บอกว่าสถานการณ์ดีขึ้นก็คือกระทรวงสาธารณสุขมีการแบ่งเขตบริการสุขภาพ มีผู้ตรวจราชการเป็นผู้ดูแลอยู่ ผู้ตรวจราชการโดยปลัดกระทรวงสาธารณสุข ถ้ามีการสั่งการให้มีการจัดบริการส่วนนี้ มันก็จะไปได้ดี แทนที่เดิมทีแล้วแต่จริตของผู้ตรวจ ของผู้อำนวยการ ซึ่งขณะนี้กำลังทำกันอยู่ เป็นระดับนโยบาย”

ในยุทธศาสตร์หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปี 2560-2564 กำหนดให้ผู้ต้องขังต้องเข้าถึงบริการและมีการจัดระบบกลไกรองรับโดยเขตของ สปสช. ต้องทำงานร่วมกับพาร์ทเนอร์ของเรือนจำในพื้นที่ สาธารณสุขจังหวัดที่ดูแลโรงพยาบาลที่ตั้งเรือนจำต้องวิเคราะห์ปัญหาร่วมกันและวิธีจัดการแก้ไข มีการจัดหาคอมพิวเตอร์และระบบที่จะเชื่อมโยงข้อมูลจากทั้งสองฝ่าย

นพ.ชูชัย กล่าวว่าจากการทำงานร่วมกันกับกระทรวงสาธารณสุขและกรมราชทัณฑ์ ขณะนี้มีมติออกมา 4 เรื่องเพื่อแก้ไขปัญหาการเข้าถึงบริการสาธารณสุขของผู้ต้องขัง

1.จัดการการลงทะเบียนการเคลื่อนย้ายผู้ต้องขังให้นิ่ง มีการเปลี่ยนที่อยู่อัตโนมัติเพื่อให้ผู้ต้องขังเข้าถึงสิทธิ์

2.ขึ้นทะเบียนสถานพยาบาลในเรือนจำให้มีลักษณะคล้ายโรงพยาบาลสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ซึ่งถือเป็นหน่วยพยาบาลปฐมภูมิ เท่ากับดึงสถานพยาบาลในเรือนจำเข้าระบบ

“สถานการณ์ของสถานพยาบาลในเรือนจำกับโรงพยาบาลขณะนี้คล้ายๆ กับก่อนมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของสถานีอนามัยกับโรงพยาบาลคือต่างคนต่างเดินหน้า แต่ไม่ได้ไปด้วยกัน ข้อมูลไม่เชื่อมกัน ปฏิบัติการ ระบบบริการไม่เชื่อมกัน” นพ.ชูชัยกล่าว

3.สร้างระบบส่งต่อข้อมูล

4.สร้างการจับคู่ระหว่างเรือนจำกับโรงพยาบาล

กระบวนการเหล่านี้กำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการ โดยในระยะแรกมุ่งเน้นที่การจัดระบบเพื่อให้งบประมาณไปถูกที่ถูกทาง เป็นการสร้างแรงจูงใจให้แก่คนทำงาน จัดการให้โรงพยาบาลกับเรือนจำเชื่อมต่อกันเพื่อส่งต่อบริการและองค์ความรู้ โดย สปสช. ทำหน้าที่คุ้มครองการเข้าถึงสิทธิ รับประกันมาตรฐานและคุณภาพ

นอกจากนี้ ปริญญายังให้ข้อมูลว่า กรมราชทัณฑ์กำลังมีแผนตั้งโรงพยาบาลของตนในทุกเขต ในอนาคตเมื่อขึ้นทะเบียนเป็นสถานพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข งบประมาณก็จะส่งไปยังโรงพยาบาลของกรมราชทัณฑ์โดยตรง

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net