ยุติธรรม ที่ต้องจำ ห้ามจด

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

สองสามปีมานี้ผู้พิพากษา ชอบสั่ง "ห้ามจด"

...............

การพิจารณาคดีโดยเปิดเผยต่อสาธารณะ เป็นหลักการทั่วไปในกฎหมายทั้งไทยและเทศ เพื่อเป็นหลักประกันว่า การพิจารณาคดีนั้นจะดำเนินไปโดยเป็นธรรม ผ่านสายตาของผู้เฝ้ามอง แต่หลักการนี้คงไม่ได้จำกัด "ผู้เฝ้ามอง" อยู่เพียงคนประมาณ 10-20 คนที่เข้าไปนั่งจนเต็มแต่ละห้องพิจารณาคดีได้ แต่การเปิดให้สาธารณะเฝ้าดูและเข้าถึงกระบวนการได้ ก็ต้องเปิดให้ คนไม่กี่คนที่ได้เข้าไปนั่งฟังออกมาเล่าต่อได้ด้วย

ในทางปฏิบัติ การเข้าไปนั่งฟังการพิจารณาคดีในศาล จดบันทึกระหว่างการพิจารณาคดี และนำข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นออกมาบอกกับสาธารณะ หลายครั้ง ก็ได้เรื่องราวที่เกิดขึ้นในคดีสำคัญๆ มาสร้างความฮือฮา และสร้างการเรียนรู้ให้กับสังคมได้ไม่น้อยเช่นกัน

แต่เนื่องจากคนที่ทำงานแบบนี้เป็นจริงเป็นจังมีน้อยมาก จะมีนักข่าวที่สนใจทำก็นับหัวได้ นักวิชาการหรือนักศึกษาที่ทำงานค้นคว้า จนถึงวันนี้ก็เคยรู้จักแค่คนสองคน ทำให้บุคลากรในศาล ทั้งผู้พิพากษา อัยการ ทนายความ เจ้าหน้าที่ศาล พนักงานรักษาความปลอดภัย ตำรวจศาล ราชทัณฑ์ ฯลฯ ทุกตำแหน่งต่างไม่เคยชินกับพฤติกรรมที่ทำงานไปแล้วก็มีคนมานั่งมองและจดๆๆๆ

หลายครั้งผลจึงออกมาว่า มีคำสั่ง "ห้ามจด"

ส่วนใหญ่คำสั่งนี้มาจากคนไม่มีอำนาจโดยตรง แต่สั่งส่งเดชไปก่อน เช่น พนักงานรักษาความปลอดภัย หรือเจ้าหน้าที่หน้าบัลลังก์ ทั้งที่ป้ายการประพฤติตัวที่ติดไว้หน้าห้องทุกศาลก็ไม่มีป้ายไหนสั่งห้าม สร้างความสับสนและงุนงงให้กับคนที่เดินทางไปศาลว่า ตกลงการจดบันทึกนั้นทำได้หรือไม่

เมื่อดูในทางกฎหมายแล้ว ไม่มีกฎหมายมาตราไหนเลยทั้งในไทยและต่างประเทศ ที่ห้ามผู้สังเกตการณ์จดบันทึกระหว่างการพิจารณาคดี และไม่มีกฎหมายไหนที่ห้ามรายงานข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในห้องพิจารณาคดีต่อสาธารณะ


ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 32 
ที่มา: www.led.go.th/dbases/pdf/180854-update.pdf

จะมีที่ใกล้เคียงที่สุด ก็เพียงในมาตรา 32(2) ของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ที่กำหนดว่า ห้ามสื่อมวลชนเผยแพร่ข้อเท็จจริงในระหว่างการพิจารณาเพื่อชักจูงใจประสงค์ให้มีอิทธิพลเหนือความรู้สึกของประชาชน หรือศาล ดังนั้น การเผยแพร่กระบวนการและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเพียงส่วนของข้อเท็จจริงโดยไม่ได้วิเคราะห์วิจารณ์ ออกความคิดเห็นชี้นำไปในทางใด แม้จะทำก่อนที่คดีถึงที่สุด ก็ย่อมทำได้


ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 30
ที่มา: www.led.go.th/dbases/pdf/180854-update.pdf

แต่กระนั้นก็ดี มาตรา 32(1) และมาตรา 30 ให้ผู้พิพากษาในแต่ละคดีมีอำนาจออกคำสั่งใดๆ ก็ได้ หรือสั่งห้ามเผยแพร่ข้อเท็จจริงหรือกระบวนการพิจารณาคดีเป็นการเฉพาะสำหรับคดีนั้นๆ ได้ หากคดีใดศาลสั่งห้ามแล้วยังมีผู้ฝ่าฝืนเผยแพร่ออกไป ก็ถึงจะมีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 500 บาท

เท่ากับกฎหมายกำหนดชัดแล้วว่า เฉพาะศาล หรือ ผู้พิพากษาที่รับผิดชอบคดีนั้นๆ มีอำนาจสั่ง "ห้ามจด" หรือ "ห้ามเผยแพร่" หรือทั้งสองอย่างได้ เจ้าหน้าที่คนอื่นไม่มีอำนาจสั่งได้ หากสั่งแล้วก็ต้องเป็นไปตามนั้น แต่กฎหมายก็ไม่ได้กำหนดไว้ให้ชัดว่า หลักเกณฑ์อะไรบ้าง ศาลถึงจะสั่งห้ามได้ เท่ากับเป็นกฎหมายที่ให้ดุลพินิจโดยอำเภอใจที่ไม่ต้องถูกตรวจสอบแก่ผู้พิพากษาในแต่ละคดี

หลักการอีกอย่างหนึ่งที่เป็นที่เข้าใจกันในหมู่ผู้ปฏิบัติงานในศาล แต่ไม่ได้เขียนไว้ในกฎหมาย คือ พยานฝ่ายเดียวกันจะมาฝั่งพยานปากก่อนหน้าเบิกความไม่ได้ เพื่อป้องกันไม่ให้มาฟังแล้วแอบเตรียมตัวมาโกหกให้ตรงกัน ดังนั้น จึงต้องห้ามไม่ให้มีใครมาจดข้อเท็จจริงหรือเทคนิคการเบิกความเพื่อไปเตรียมกับพยานปากต่อไปด้วย ประเด็นนี้ทำให้ศาลมีความชอบธรรมที่จะสั่งไม่ให้ใครจดบันทึกได้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ปัญหาข้อนี้แก้ไขได้ง่ายกว่าการสั่งห้าม โดยการถามคนที่จดให้ชัดเจนว่า เป็นใครมาจากไหน และจะจดไปทำอะไร ถ้าไม่ใช่เพื่อจะแอบไปเตรียมพยานก็ต้องจดได้ หากใครโกหกก็ไปรับผิดฐานละเมิดอำนาจศาลสำหรับคนที่โกหกเอง

..................

จากประสบการณ์ที่ทำงานสังเกตการณ์คดีมาตั้งแต่ประมาณปี 2553 จนถึงปัจจุบัน เป็นเวลาประมาณ 8 ปี ทุกคดีที่ไปสังเกตการณ์ล้วนเป็นคดีใหญ่ หรือคดีที่เป็นประเด็นสาธารณะ ส่วนตัวเคยสังเกตการณ์มาแล้วน่าจะร่วม 100 คดี ถ้าทั้งทีมก็คงรวมกันถึง 300 คดีอยู่ และทุกครั้งทุกคนไปศาลเพื่อตั้งใจจะจดบันทึกเอาข้อเท็จจริงกลับมาเขียนเผยแพร่สู่สาธารณะทั้งหมด

เห็นได้ชัดเจนว่า บรรยากาศการสังเกตการณ์และการจดบันทึกเปลี่ยนไปมากในช่วงสองสามปีหลัง สมัยปี 2553-2556 ได้สังเกตการณ์ประมาณสิบกว่าคดี การเข้าไปสังเกตการณ์และจดบันทึกค่อนข้างอิสระ มีคดี 112 แต่สองคดีที่ศาลสั่งพิจารณาลับ ส่วนคดีที่ศาลไม่สั่งลับแต่สั่งห้ามจดนึกได้คดีเดียว ที่เหลือนั้นนั่งจดกันสนุกสนาน ทั้งคนดู นักข่าว นักวิชาการ บางคนก็ตั้งใจไปดูเฉยๆ แต่พอมีปากกากับกระดาษในมือ ก็ขีดๆ เขียนๆ ไป

อย่างเช่น คดีของคุณสมยศ สมัยนั้นได้ผลัดกันนั่งจดกันมือหงิกทุกปากจนสุดท้ายเอามาพิมพ์เป็นหนังสือสองร้อยหน้าได้เล่มนึง หรือ คดีของอากง SMS ที่จดๆ เอาไว้ก่อนแล้วสุดท้ายมาเขียนเป็นเรื่องสั้นดราม่าได้สองบท

ในปี 2557 เมื่อ คสช. เข้ามาใหม่ๆ มีการใช้ศาลทหาร สถานการณ์เรื่องการจดบันทึกก็ไม่ได้เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือในทันที คดีช่วงแรกๆ แม้ที่ศาลทหารก็ยังจดบันทึกได้เป็นส่วนใหญ่ ต่อมาเมื่อคนที่ไปสังเกตการณ์กลับมาเขียนรายงานข้อเท็จจริงเรื่อยๆ จนศาลรู้สึกถูกเปิดโปง ก็เริ่มออกคำสั่งห้ามจดบ้างในบางคดี เราก็เชื่อฟังมาเรื่อยๆ คดีไหนที่สั่งไม่ให้จด เราก็ไม่จด

แต่ส่วนใหญ่ศาลไม่เคยสั่งห้ามจำ และไม่ได้ห้ามเผยแพร่
(มีคดีเดียวที่สั่งห้ามเผยแพร่ เราก็เชื่อฟังอีกเช่นกัน)

สำหรับคดีการเมือง หรือคดีที่สาธารณะสนใจ เมื่อเข้าสู่ปี 2560-2561 จำนวนคดีที่พิจารณากันที่ศาลมีแนวโน้มลดลงบ้าง เพราะจำเลยหลายคดีรับสารภาพไปก่อนแล้ว และคดีใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นจำนวนมากก็แค่แกล้งแจ้งความกันให้หวาดกลัว แต่ไม่ถึงครึ่งที่ได้ขึ้นศาลกันจริงๆ

สองปีหลังนี้คดีแทบทั้งหมดที่ได้ขึ้นพิจารณาในชั้นศาล ผู้พิพากษาหรือเจ้าหน้าที่อื่นๆ ก็มักจะสั่ง "ห้ามจด" โดยไม่มีคดีไหนเลยที่คำสั่งมาพร้อมกับคำอธิบายหรือเหตุผลเบื้องหลังที่ชัดเจนเข้าใจได้ จนถึงวันนี้เหลือคดีที่สามารถจดได้และรายงานได้ตามปกติไม่ถึงสิบคดี ทำให้เราทำงานได้ยากลำบากขึ้นมาก แต่ก็ยังต้งทำกันต่อไป

กระแสการสั่งห้ามจดบันทึก ไม่ได้เกิดขึ้นแบบกดปุ่มเปิดปิดสวิตช์ทันทีในวันใดวันหนึ่ง แต่ค่อยๆ เกิดขึ้นและลามต่อกันอย่างช้าๆ ในเวลา 3-4 ปี ตั้งแต่ คสช. เข้ามาปกครองประเทศ ทั้งในศาลทหารและศาลพลเรือน ทั้งในกรุงเทพและจังหวัดต่างๆ คำสั่งที่ออกโดยไม่ต้องให้เหตุผลและไม่ถูกตรวจสอบที่เคยเกิดน้อยมากเมื่อหลายปีก่อน เกิดขึ้นติดๆ กันจนกลายเป็นเรื่องเกือบปกติไปแล้วในปี 2561

คิดว่า น่าจะมีปัจจัยมาจากบรรยากาศของบ้านเมืองด้วย ไม่ใช่เพราะว่า รัฐบาลทหารเดินไปชี้หน้าสั่งผู้พิพากษาโดยตรง แต่เมื่อรัฐบาลทหารสร้างความรู้สึกไม่ปลอดภัยขึ้นในสังคมทั่วๆ ไปได้สำเร็จ สังคมก็รู้สึกไม่มั่นคงว่า เรื่องนั้นก็พูดไม่ได้ เรื่องนี้ก็วิจารณ์ไม่ได้ ข้าราชการทั้งหลายต้องอยู่ภายใต้กรอบตามแบบฉบับของ คสช. ผู้พิพากษาในฐานะมนุษย์คนหนึ่งในสังคมก็ซึบซับเอาบรรยากาศที่อยู่กันแบบปิดๆ นั้นเข้าไปในตัวเองด้วย

อะไรที่มันไม่แน่ใจ ไม่คุ้นเคย ไม่รู้จะส่งผลอย่างไร ก็สั่ง "ปิด" ไว้ก่อน เพื่อให้ตัวเองปลอดภัย

..................

ในตำราวิชาการนั้นสถาบันศาลเป็นเสาหลักแห่งความยุติธรรมที่ต้องตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจฝ่ายบริหาร และฝ่ายนิติบัญญัติ ต้องทำความจริงให้ปรากฏ ต้องเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายได้ต่อสู้คดีกันอย่างเต็มที่ ต้องทำกระบวนการให้โปร่งใส่ต่อสาธารณะ แต่ในชีวิตจริงผู้พิพากษาที่ขึ้นนั่งบนบัลลังก์ล้วนมีสถานะทั้งเป็นผู้ใช้อำนาจตุลาการ เป็นข้าราชการ และเป็นมนุษย์ในสังคม ไปพร้อมๆ กัน

"ศาลก็คนเหมือนกันนะ ลงจากบัลลังก์ก็เดินดิน กินข้าว เหมือนพวกคุณนี่แหละ" ผู้พิพากษาท่านหนึ่งเปรยกับทนาย ระหว่างการพิจารณาคดีทางการเมือง

การมองผู้พิพากษาให้เข้าใจ ยังต้องมองให้เห็นด้วยว่า พวกเขามีฐานะเป็นข้าราชการ ผู้มีเงินเดือนสูง มีสวัสดิการดี มีรถมีบ้านประจำตำแหน่ง พ่อแม่ลูกได้ไปโรงพยาบาลฟรี มีบำนาญหลังเลิกทำงานไปจนตาย ดังนั้น สิทธิประโยชน์ที่อยู่ในแผนการของชีวิตพวกเขาเหล่านี้ จะให้อะไรมาแตะต้องไม่ได้ "เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม" หรือหลักการใดๆ ก็ยากที่จะใหญ่กว่า

ผู้พิพากษายังมีฐานะเป็นมนุษย์ในสังคมด้วย เมื่อสังคมตกอยู่ภายใต้ความหวาดกลัวเป็นการทั่วไป เมื่อทุกคนรู้สึกว่า เรื่องใดเรื่องหนึ่งแตะต้องไม่ได้ หากแตะต้องล้ำเส้นเข้าไปอาจจะไม่ปลอดภัย ผู้พิพากษาก็รู้สึกเช่นเดียวกัน เมื่อสังคมตกอยู่ในความเงียบงันและมืดมน การจะหวังให้ผู้พิพากษาที่เป็นมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่งใช้อำนาจตุลาการออกคำสั่งอะไรให้มีผลทางกฎหมายนำเสรีภาพอันสว่างสดใสกลับคืนมา ย่อมเป็นไปไม่ได้

นอกจากนี้ เรายังต้องมองให้เห็นว่า ผู้พิพากษาเป็นอาชีพหนึ่งที่น่าเห็นใจ เพราะหน้าที่การงานแต่ละวันของพวกเขาถูกระบบ "ทำให้เสีย" (สปอย) ทุกวันในชีวิตการทำงานเมื่อพวกเขาขึ้นนั่งบนบัลลังก์ เขาอยู่ในตำแหน่งที่ทำหน้าที่ "ตัดสิน" คนอื่นเท่านั้น และไม่มีใครเถียงได้ "หากไม่พอใจก็ขอให้ใช้สิทธิอุทธรณ์" พวกเขาต้องใช้ชีวิตอยู่เช่นนั้น บางคนเป็นเวลาหลายสิบปี โดยไม่เคยถูกด่า ไม่เคยถูกตักเตือน ไม่เคยถูกตรวจสอบ และเมื่อพูดอะไรออกไปแล้วถูกทุกอย่าง

วิชาชีพของพวกเขาไม่มีอะไรเลยนอกจากตัวบทกฎหมาย และการหาคำพิพากษาในคดีก่อนหน้ามาอ้างอิง ในการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีและเขียนคำพิพากษา พวกเขาไม่จำเป็นต้องทำความเข้าใจสังคม ไม่ต้องรู้ปรัชญา ศาสนา จิตวิทยา รัฐศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ไม่ต้องรู้ว่า ต่อปัญหาข้อพิพาทหนึ่งๆ มนุษย์ทั้งหลายในสังคมรับรู้และคิดเห็นกับมันอย่างไร ในทางตรงกันข้าม อาชีพนี้สอนให้พวกเขา "ต้องไม่รู้ ต้องไม่สนใจ" และทำงานไปตามที่กฎหมายเขียนไว้เท่านั้น เพื่อความ "เที่ยงธรรม"

ตลอดหลายสิบปีในชีวิตของผู้พิพากษาอาชีพหลายคน อาจต้องรับผิดชอบคดีครอบครองยาเสพย์ติด เมาแล้วขับ ลักทรัพย์ วิ่งราวทรัพย์ จัดการมรดก กู้เงินแล้วไม่จ่าย ฟ้องขับไล่ออกจากบ้านเช่า ฯลฯ มาแล้วเป็นพันคดีแล้ว ทุกคดีพวกเขาทำงานไปตามที่ถูกสอนมาโดยไม่เคยถูกจับตามอง ไม่เคยถูกตั้งคำถาม ไม่เคยถูกวิจารณ์ พวกเขาจึงไม่เคยเรียนรู้การรับมือกับปฏิกริยาของสาธารณะ

หรืออาจกล่าวได้ว่า ผู้พิพากษาเป็นอาชีพที่ถูกสอนให้ "อ่อนหัดทางการเมือง"

วันหนึ่ง เมื่อเขาต้องรับมือคดีที่สาธารณะชนสนใจ คดีที่เกี่ยวข้องกับการเมือง เกี่ยวกับหลักการนามธรรมอย่าง "ความมั่นคงของรัฐ" "ความสงบเรียบร้อยของสังคม" "ความเท่าเทียม" และหรือ "ประชาธิปไตย" ซึ่งพวกเขาไม่เคยถูกฝึกให้ทำความเข้าใจหรือตีความมันมาก่อน ในบรรยากาศสังคมที่ถ้อยคำเข้าใจยากเหล่านี้ล้วนดูอ่อนไหว พวกเขาจึงเกิดความไม่มั่นใจ หรือความกลัวว่า สถานะข้าราชการกับสถานะมนุษย์ของพวกเขาอาจจะถูกสั่นคลอน

และทันทีที่พวกเขามองเห็นคนนั่งข้างหลังห้องกำลังจับจ้องมาที่เขาพร้อมปากกากับกระดาษในมือ คำสั่งง่ายๆ เท่าที่พวกเขาคิดทันจึงถูกเปล่งออกมา

"ห้ามจด"

ในฐานะผู้เคยถูกสั่งห้ามจดมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน แล้วก็ต้องเปลี่ยนโหมดชีวิตเป็นการจดจำประโยคสำคัญๆ เหมือนสมัยท่องตัวบทเดินเข้าห้องสอบ จนเมื่อหมดเวลาก็เดินออกจากห้องมาเขียนทุกอย่างเท่าที่ท่องได้เอาไว้ รู้สึกว่า สำหรับคนที่ทำหน้าที่เดียวกันอยู่จะเป็นเรื่องง่ายและสบายอารมณ์กว่ามาก ถ้าเราจะทำความเข้าใจคำสั่ง "ห้ามจด" แต่ละครั้งในมุมมองนี้

มันง่ายกว่าการไปถามหาเหตุผล ถามหาคำอธิบายจากอำนาจที่ไม่เคยมีหลักเกณฑ์ใดกำหนดไว้ หากยืนยันจะถามนานไปก็อาจจะมีแต่ความผิดหวัง เจ็บช้ำ หรือไม่ก็ได้คำตอบอย่างที่เคยได้มาในคดีหนึ่งว่า "ห้ามจด เพราะถ้าจดแล้วกลัวว่าจะเอาไปรายงานผิด!"

..................

สำหรับคนที่รับเงินเดือนแสนแล้วนั่งอยู่บนบัลลังก์ มันคงง่ายกว่าที่จะใช้อำนาจออกคำสั่งเพื่อให้ตัวเองสบายใจแบบชั่วครั้งชั่วคราว แต่หากได้มีโอกาสทำความเข้าใจธรรมชาติของกระแสสังคมให้กว้างขวางขึ้นกว่าห้องแคบๆ ที่ตัวเองมีอำนาจ ก็อาจจะเห็นได้ว่า เรื่องใดก็ตามที่สังคมอยากรู้แล้วไม่มีใครมอบความรู้ที่เพียงพอให้ เรื่องนั้นก็จะกลายเป็นเรื่องที่ยิ่งบอบบาง อ่อนไหว เมื่อคนอยากรู้แต่หาข้อมูลไม่ได้ก็จะหาได้แต่ความคิดเห็นและจินตนาการ คนที่ไม่รู้จริงแต่อยากดังก็จะออกมาพูดมั่วๆ แล้วกลายเป็นข่าวลือกระจายกันไปต่างๆ นานา

สุดท้ายก็เป็นเรื่องที่ "เละ" ควบคุมความจริงไม่ได้ ควบคุมความเท็จไม่ได้ วุ่นวายกันไปเสียหมด

ดังนั้น เมื่อศาลต้องรับมือกับคดีที่สังคมสนใจมากๆ แต่กลับใช้วิธีสั่ง "ห้ามจด" หรือ "ห้ามเผยแพร่" กระบวนการและข้อเท็จจริงในคดี จนกระทั่งมีคำพิพากษาออกมา คราวนี้สังคมก็จะก่นด่ากันแบบไม่มีข้อมูล แล้วเราก็จะเห็นกระแสโลกโซเชี่ยลที่เกรี้ยวกราดแบบที่เราไม่อยากจะเห็น การกล่าวโจมตีศาลแบบไม่มีพื้นฐาน การเกลียดชังโจทก์และจำเลยโดยเข้าใจผิด ก็จะเกิดขึ้นเป็นการทั่วไป ซึ่งเป็นผลลัพธ์อันตรงข้ามกับวัตถุประสงค์ของการออกคำสั่งนั้น

แต่ศาลมีทางเลือกที่จะรับมือกับคดีที่สังคมสนใจได้อีกทางหนึ่ง ซึ่งตรงข้ามกัน เช่น จัดห้องขนาดใหญ่ให้คนมาฟังเยอะๆ ได้สะดวก มีเจ้าหน้าที่คอยต้อนรับ คอยแนะนำ อธิบายกระบวนการ และให้ข้อมูลตอบคำถามผู้มาฟังได้ ให้ผู้ที่มาฟังทุกคนสามารถจดบันทึกข้อเท็จจริงและนำไปเผยแพร่ได้ในทางที่ไม่ชี้นำศาล ไม่ข่มขู่พยาน ผลที่จะได้ก็คือ หากใครจดผิดหรือเผยแพร่ออกไปผิดจากข้อเท็จจริง ก็จะมีอีกหลายคนคอยช่วยกันตรวจสอบกันเองได้ เพราะทุกคนต่างก็มีข้อมูลในมือเพียงพอด้วยกันทั้งนั้น

หากศาลมั่นใจว่า การดำเนินคดีเป็นไปโดยถูกต้องตามกระบวนการปกติทุกขั้นตอน การรับฟังพยานหลักฐานได้เปิดโอกาสให้ทั้งสองฝ่ายนำเสนออย่างเต็มที่ การชั่งน้ำหนักข้อเท็จจริงไม่มีเอนเอียง การตีความกฎหมายเป็นไปตามหลักการไม่มีอคติ ก็ยิ่งจำเป็นต้องเปิดเผยข้อเท็จจริงและกระบวนการทุกอย่างให้สังคมรับรู้ไปพร้อมกัน เปิดเผยให้ทุกคนช่วยกันมาสังเกตการณ์ มาจดบันทึก และเอาไปเผยแพร่ต่อ เพื่อจะได้เป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขข้อครหาและความเข้าใจผิดใดๆ ที่อาจจะมีขึ้นจากฝั่งผู้ไม่เห็นด้วยกับคำตัดสิน

หากไม่แน่ใจ ไม่ไว้ใจประชาชนที่มาฟังการพิจารณาจริงๆ จะตรวจสอบโดยการให้ทุกคนแจ้งชื่อและบันทึกไว้ เพื่อตรวจสอบหากใครนำข้อมูลไปใช้ในทางที่ผิด ก็น่าจะเป็นมาตรการที่ได้สัดส่วนกับความกังวลและสบายใจทุกคนกว่า การห้ามจดเป็นไหนๆ

ยิ่งไปกว่านั้น หากศาลจะพัฒนาตัวเองให้ทันโลก ทันความอยากรู้อยากเห็นของสังคม สำหรับคดีที่อยู่ในความสนใจของประชาชน ศาลก็สามารถมีบทบาทในการเผยแพร่กระบวนการพิจารณาคดี ข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องต่อสังคมด้วยตัวเอง รวมไปถึงการพัฒนาระบบการพิจารณาคดีโดยการบันทึกวีดีโอ หรือการถ่ายทอดสออย่างที่เคยทำมาแล้วเมื่อศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาคดีทางการเมือง ก็ไม่เห็นว่า จะกระทบต่อการช่างน้ำหนักและตัดสินคดีของศาลแต่อย่างใด

ทั้งหมดนี้ อยู่ที่สถาบันศาลเองว่า อยากจะมีบทบาทอย่างไรในสังคม 

ศาลอยากจะปรับตัวให้เท่าทัน เพื่ออยู่ในสังคมโลกแบบเปิดเผย โปร่งใส ทันสมัยกับการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของผู้คน และสร้างบรรยากาศให้ประชาชนรู้สึกใกล้ชิดกับสถาบันศาลได้มากขึ้น รู้สึกเชื่อถือและอยากพึ่งพาสถาบันศาลได้มากขึ้น หรืออยากจะปิดตัวอยู่ในห้องใบเล็กๆ ที่ตัวเองรู้สึกปลอดภัยภายใต้อำนาจไร้ขีดจำกัด ขณะที่ก็ออกคำสั่งไปเองอย่างปิดๆ บังๆ ให้สังคมหยิบแต่ข่าวลือเอาไปนินทากันลับๆ อย่างหวาดกลัว

เพื่อรอวันที่จะพังอย่างช้าๆ

 

เกี่ยวกับผู้เขียน: 'เป๋า' ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) องค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิทธิมนุษยชนที่ทำงานด้านเสรีภาพในการแสดงออก สิทธิพลเมือง และสิทธิทางการเมือง นอกจากการเป็นทนายความแล้ว เขายังเป็นผู้สังเกตการณ์ที่ติดตามคดีการเมืองและคดีเสรีภาพในการแสดงออกมาเป็นเวลา 9 ปี แล้ว

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท