Skip to main content
sharethis
  • ‘ทูตรัศม์’ แจงพาดหัวข่าว 'ไอลอว์' เป็นการสรุปรวบไม่ตรงเนื้อหา อาจสร้างความเข้าใจผิด โดยเอกสารดังกล่าวเป็นหนังสือตอบของผู้แทนถาวรไทยประจำ UN นครเจนีวา ต่อข้อเท็จจริง-สถานะทางคดีและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง กรณีศาล รธน.ตัดสินเมื่อ 31 ม.ค. 2567 และ กกต.ยื่นคำร้องยุบ 'ก้าวไกล'
  • รัศม์ ยืนยันด้วยว่า รัฐบาลไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการยื่นยุบพรรคก้าวไกล ไม่สามารถแทรกแซงกระบวนการศาล รธน. และไม่เห็นด้วยกับการยุบพรรคการเมือง
  • ยิ่งชีพ 'iLaw' เผยแก้พาดหัว เพราะมีคำที่ไม่ได้อยู่ในเอกสารต้นฉบับ ส่วนคำอื่นๆ ไม่มีอะไรผิด และไม่ได้กล่าวหาพรรคหรือรัฐบาล 'เพื่อไทย' 

 

6 ส.ค. 2567 เพจเฟซบุ๊ก ทูตนอกแถว The Alternative Ambassador Returns ของ รัศม์ ชาลีจันทร์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ โพสต์ข้อความวันนี้ (6 ส.ค.) เมื่อเวลาประมาณ 14.15 น. ระบุว่า สืบเนื่องจากกรณีสื่อโซเชียลมีเดียของ iLaw โพสต์วานนี้ (5 ส.ค.) พาดหัวข่าวว่า "รัฐบาลไทยได้ชี้แจงผ่านหนังสือเรียบร้อยแล้ว และเห็นว่าการยื่นยุบพรรคเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ พร้อมย้ำมาตรา 112 รัดกุม เหมาะสมแล้วที่จะมีโทษรุนแรง" โดยทางรัศม์ มองว่าเป็นการพาดหัวข่าวที่สรุปรวบแบบไม่ตรงกับเนื้อหา และความเป็นจริง

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

 

โพสต์เฟซบุ๊กเพจ 'ทูตนอกแถว' ระบุว่า การพาดหัวของ iLaw นั้นสร้างความเข้าใจผิด เพราะข้อเท็จจริงคือเนื้อหาองค์รวมมาจากหนังสือคณะผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา สหพันธรัฐสวิส โดยหนังสือของไทยเป็นการตอบคำถามตามข้อร้องเรียนของกลไกพิเศษเกี่ยวกับกระบวนการที่ผ่านมาแล้ว คือคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อ 31 ม.ค.ที่ผ่านมา และการยื่นคำร้องของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต่อศาลรัฐธรรมนูญให้มีการยื่นยุบพรรคก้าวไกล โดยคำชี้แจงที่ผู้แทนถาวรไทยแห่งสหประชาชาติ ส่งให้เป็นเรื่องของข้อเท็จจริงและสถานะทางคดีความของกรณีดังกล่าว ณ วันที่ตอบข้อร้องเรียน รวมถึงกระบวนการทางกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อ 31 ม.ค.ที่ผ่านมา คือกรณีการตัดสินว่าการหาเสียงสัญญาว่าจะแก้ไขมาตรา 112 หรือกฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ ของพรรคก้าวไกล ถือเป็นการละเมิดมาตรา 49 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 โดยถือเป็นการใช้สิทธิล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

 

รัศม์ ระบุว่า รัฐบาลไทยไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการฟ้องยุบพรรคก้าวไกล และไม่สามารถแทรกแซงกระบวนการศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ หนังสือของไทยฉบับนี้ได้ระบุเกี่ยวกับกำหนดการตัดสินคดีของศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 7 ส.ค. 2567 โดยไม่มีการคาดเดา (prejudge) เท่านั้น นอกจากนี้ ภายหลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีคำตัดสินแล้ว กลไกพิเศษยังสามารถส่งข้อร้องเรียน หรือข้อซักถามเพิ่มเติมได้

สุดท้าย เพจเฟซบุ๊ก "ทูตนอกแถว" ระบุว่า รัฐบาลไม่ได้เห็นด้วยกับการยุบพรรคการเมือง เพราะที่ผ่านมามีการยุบพรรคการเมืองหลายครั้ง ตั้งแต่พรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน พรรคไทยรักษาชาติ ฯลฯ ซึ่งการยุบพรรคที่ยึดโยงกับประชาชนทำให้เสียงของประชาชนไม่ถูกสะท้อนตามความเป็นจริง ทั้งนี้ อำนาจการยุบพรรคการเมืองโดยศาลนั้นเป็นไปตามรัฐธรรมนูญปี 60 ที่ประชาชนไทยให้การรับรอง รัฐบาลจึงไม่ก้าวล่วงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

'iLaw' แก้พาดหัวเพราะใช้คำซึ่งไม่ได้อยู่ในเอกสารต้นฉบับ แต่ที่เหลือไม่มีอะไรผิด และไม่ได้กล่าวหา 'เพื่อไทย' หรือ รบ.ปัจจุบัน

เมื่อเวลา 17.44 น. ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ สมาชิก iLaw ได้โพสต์ข้อความบน X ระบุว่า เบื้องต้น ทาง iLaw ได้มีการลบโพสต์ข่าว "รัฐบาลไทยได้ชี้แจงผ่านหนังสือเรียบร้อยแล้ว และเห็นว่าการยื่นยุบพรรคเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ พร้อมย้ำมาตรา 112 รัดกุม เหมาะสมแล้วที่จะมีโทษรุนแรง" บนสื่อโซเชียล X ไปแล้ว เนื่องจากในพาดหัวมีจุดผิดอยู่ 1 จุด คือ คำว่า "รัดกุม" ซึ่งคำนี้ไม่มีในเอกสารต้นฉบับ โดยยอมรับว่า "ผิดพลาดจริง" ซึ่งในเฟซบุ๊กแก้ไขแล้ว แต่ของ X แก้ไขโพสต์ไม่ได้ จึงต้องลบและลงใหม่ นอกจากนี้ ยิ่งชีพ ยืนยันด้วยว่า ส่วนข้อความอื่นๆ (ในพาดหัว) ไม่ได้ผิด

 

 

ทวิต X ของยิ่งชีพ ได้มีการคอมเมนต์ใต้โพสต์ต่อว่า ถ้าทวิตแรกเขียนว่า "รัฐบาลไทยได้ชี้แจงผ่านหนังสือเรียบร้อยแล้วว่า การยื่นยุบพรรคเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ พร้อมย้ำมาตรา112 เหมาะสมแล้วที่จะมีโทษรุนแรง" ตรงส่วนนี้ไม่ได้ผิดอะไร

ยิ่งชีพ ระบุว่า เรื่องเดียวที่น่าจะมีข้อถกเถียงคือการแปลคำว่า 'warrants severe penalty' ควรแปลว่า "เหมาะสมแล้ว" หรือแปลให้ดีกว่านี้ได้หรือไม่ แต่ไม่ได้ผิดขาว-ดำ แม้ว่าเขาไม่ได้เก่งด้านภาษาอังกฤษ แต่จากการเปิดดิกชันนารี ภาษาอังกฤษ-อังกฤษของเว็บไซต์แคมบริดจ์ ให้ความหมาย warrant ว่า "to make a particular activity necessary" จะให้ใช้คำว่า "จำเป็น" ต้องมีโทษรุนแรงสามารถทำได้ แต่ดูจากพจนานุกรมแล้วก็มีหลายเฉด เลยใช้คำกลางๆ 

สมาชิก iLaw กล่าวว่า ประเด็นสำคัญ คือ หนังสือฉบับนี้ของไทยพยายาม 'Justify Severe Penalty' ว่า ม.112 มีโทษรุนแรง ส่วนจะแปลเป็นคำไหนแล้วชอบหรือไม่ชอบ เราก็ยินดีรับฟัง และประเด็นนี้ไม่ได้เป็นเพราะรัฐบาล "เพื่อไทย" หรือพรรคเพื่อไทยสั่งการเป็นพิเศษ ยุคไหนๆ ระบบราชการของ กต. (กระทรวงการต่างประเทศ) ตอบหนังสือทำนองนี้ตลอด

ยิ่งชีพ ระบุในคอมเมนต์ว่า เราไม่ได้ใส่ร้ายว่ารัฐบาลชุดปัจจุบัน โดยเห็นอดีตทูตรัศม์ ชี้แจงว่ารัฐบาลไม่ได้ยื่นยุบพรรค ก็ใช่ เราไม่ได้คิดว่าเป็นเช่นนั้น และกรณีเขียนคำว่า "รัดกุม" ในพาดหัวเกินมา ทาง iLaw ได้รับผิดชอบโดยการลบ และแก้ไข แต่ไม่ทราบว่าใครเสียหาย ถ้ารู้ว่าใครเสียหายก็ยินดีขอโทษและรับผิดชอบ 

ยิ่งชีพ ระบุต่อว่า ประเด็นสำคัญกว่าคือพรุ่งนี้ (7 ส.ค.) จะตัดสินยุบหรือไม่ยุบพรรคก้าวไกล เพราะเสนอแก้มาตรา 112 ซึ่ง UN (สหประชาชาติ) เป็นห่วง และไทยก็ 'Response' (ตอบสนอง) เป็นเรื่องที่น่าศึกษาเรียนรู้ 

ยิ่งชีพ ระบุว่า พรรคเพื่อไทยไม่ได้เห็นด้วยกับการยุบพรรค เราไม่ได้เห็นด้วยกับการยุบพรรค ควรช่วยกันติดตามเรื่องใหญ่ในอีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้า

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net