Skip to main content
sharethis

กลุ่มจับตาเลือก สว.ชี้ปัญหา กระบวนการของ กกต.ไม่มีมาตรฐาน อยากจับฮั้วแต่ห้ามเอาอุปกรณ์บันทึกเข้า มีข้อเสนอการเลือกระดับจังหวัดให้ผู้สมัครได้คุยแนะนำตัวกันเหมือนกันที่ทุกที่เปิดให้ผู้สังเกตการณ์เข้าร่วมติดตาม ไม่ทำให้กลายเป็นห้องมืด

11 มิ.ย.2567 ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีการจัดแถลงข่าวของเครือข่าย สว.67 ที่กล่าวถึงสภาพปัญหาในกระบวนการจัดการเลือก สว.ชุดใหม่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และการออกแบบกระบวนการเลือกไว้ในกฎหมายให้เกิดความยุ่งยากซับซ้อนในกระบวนการเลือก สว.ที่ทำให้เกิดความเป็นธรรมต่อผู้สมัครรับเลือก สว.ครั้งนี้

ฉัตรชัย พุ่มพวง จากกลุ่ม ACTLAB กล่าวว่าจากการติดตามสังเกตการณ์ทำให้ได้รับทราบว่าตลอดการรับสมัครจนถึงการเลือก สว. กกต.มีการใช้อำนาจตรวจสอบและมีคำสั่งไม่รับสมัครหลายกรณี เช่น ฐานข้อมูลสมาชิกพรรคการเมืองของ กกต.ไม่อัพเดต ทั้งที่ผู้สมัครรับเลือก สว.ขาดความเป็นสมาชิกภาพไปแล้วเช่นไม่ได้ต่ออายุหรือมีการลาออกมานานเป็นปีแล้ว และยังมีกรณีที่ กกต.ตัดสินว่าขาดคุณสมบัติจากเหตุอื่นๆ อีกหลายกรณี โดยมีเป็นคดีที่ปรากฏในเว็บไซต์ของศาลฎีกา 223 คดี แต่มีคดีที่ผู้สมัครสมารถปกป้องสิทธิการสมัครของตัวเองได้เพียง 38 คดี แต่ปัญหาคือกฎหมายกำหนดให้ผู้ที่ถูกกล่าวหาต้องร้องต่อศาลหลังทราบคำตัดสินของ กกต.ว่าขาดคุณสมบัติภายใน 3 วัน ซึ่งกระชั้นชิดเกินไปทำให้ประชาชนไม่สามารถปกป้องสิทธิ์ของตัวเองได้เพราะไม่สามารถเตรียมตัวได้ทัน

เงื่อนไขการร้องเรียนทุจริตทำได้ยาก ต้องมีหลักฐานแต่ห้ามมีเครื่องบันทึก

กฤต แสงสุรินทร์ จาก We Watch กล่าวต่อว่า หลังจากการเลือก สว.ระดับอำเภอจะผ่านไปแล้ว แต่ก็ไม่ได้มีการจัดการที่มีคุณภาพ แล้ว กกต.ก็บอกว่าไม่มีปัญหามีเรื่องร้องเรียนน้อยมากคือ 22 กรณี แต่การที่เรื่องร้องเรียนมีน้อยไม่ได้หมายความว่าไม่มีปัญหาแต่การร้องเรียนว่ามีปัญหาทำได้ยากเพราะกฎหมายไม่ได้เอื้อให้ประชาชนสามารถร้องเรียนได้ เนื่องจาก ตาม พ.ร.บ.สว.มาตรา 64 ให้เพียงแค่ผู้สมัครเท่านั้นมีสิทธิ์ร้องเรียนและยังต้องร้องเรียนภายใน 3 วันที่วันสุดท้ายก็คือพรุ่งนี้และการร้องเรียนจะต้องห้ามแจ้งความเท็จที่มีการกำหนดบทลงโทษจำคุกไว้ 2 ปีทำให้การร้องเรียนก็ต้องมีหลักฐานด้วย ทำให้การร้องเรียนเกิดขึ้นได้ยากแล้วการจะมีหลักฐานเพื่อร้องเรียนก็ยากมากเพราะผู้สมัครจะถูกห้ามนำเอาเครื่องมือสื่อสาร กล้องหรือเครื่องบันทึกเข้าไปในห้องเลือกด้วย 

เขากล่าวถึงปัญหาต่อไปว่าเมื่อผู้สมัครรับเลือกไม่สามารถเก็บหลักฐานได้ ก็จะมีผู้สังเกตการณ์อยู่แต่ผู้สังเกตการณ์ก็ยังเจอปัญหาในการจะเก็บหลักฐานอีกเช่นกัน คือ กกต.ไม่มีการประชาสัมพันธ์เชิญชวนประชาชนเข้าไปสังเกตการณ์เลยมีอยู่แค่ 3 จังหวัดที่พบว่ามีการประชาสัมพันธ์คือ อุดรธานี แพร่ และสุพรรณบุรี จนถึง 1 วันก่อนวันเลือกคือเมื่อ 8 มิ.ย. กกต.ถึงประกาศทางสาธารณะว่าให้ประชาชนเข้าไปสังเกตการณ์ได้แต่ต้องดูผ่านจอโทรทัศน์อีกทีเท่านั้นประชาชนก็คือไม่รู้ว่าจะได้หลักฐานมาได้อย่างไรและภาพที่ปรากฏบนจอก็ไกลมากไม่เห็นรายละเอียดหรือบางพื้นที่ก็จอดับไปบางทีก็ไม่มีเสียง หรือมีกรณีที่ผู้สังเกตการณ์เห็นว่าผู้สมัครรับเลือกหยิบเครื่องมือสื่อสารจะไปขอดูย้อนหลังก็ไม่ได้ต้องไปขอกับทาง กกต.แล้วถ้าขอดูก็ได้แค่ขอดูจากจอไม่สามารถเก็บหลักฐานมาได้ บางที่ กกต.ก็ยังขู่ประชาชนที่มาสังเกตการณ์ว่าห้ามถ่ายภาพเพราะจะผิดกฎหมายด้วย

อีกทั้งยังมีบางพื้นที่ประชาชนที่ไปสังเกตการณ์ถูกคุกคาม มีเจ้าหน้าที่ตำรวจตามประกบตลอดเวลา หรือสอบถามขอข้อมูลส่วนตัว หรือให้อาสาสมัคร ด้วยเหตุต่างๆ เหล่านี้ทำให้หาหลักฐานได้ยากหรือถึงได้มาก็น้อย ไปจนถึงได้หลักฐานมาอาสาสมัครก็รู้สึกไม่ปลอดภัย จึงไม่สามารถพูดได้ว่าการเลือก สว.ที่ผ่านมาเป็นไปอย่างโปร่งใสตรวจสอบได้และสุจริตเป็นธรรมอย่างที่ กกต.อ้าง

การจัดการเลือก สว.ที่ไม่มีมาตรฐานของ กกต.

ธีรัตม์ พณิชอุดมพัชร์ จาก คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ครช. กล่าวถึงการจัดการของ กกต.ในแต่ละอำเภอที่แตกต่างกันมากจนไม่มีมาตรฐาน จากที่ได้รับทราบจากผู้สังเกตการณ์ทั่วประเทศและผู้สมัคร สว.ที่มาให้ข้อมูลพบว่า ขั้นตอนการเลือกที่ไม่เหมือนกันเหมือนเป็นคนละระบบ ด้วยความแตกต่างกันก็อาจทำให้ส่งผลต่อการเลือกอย่างมีนัยยะสำคัญ

เขาอธิบายถึงประเด็นที่ กกต.ห้ามให้ผู้สมัครนำเครื่องมือสื่อสารเข้าไปในพื้นที่การเลือกแต่ความเข้มงวดในเรื่องนี้ของแต่ละอำเภอก็ไม่เท่ากันบางอำเภอก็เข้มงวดเก็บจริงจัง บางอำเภอก็แค่ประกาศให้เก็บเฉยๆ เก็บกันกระจัดกระจาย แล้วบางอำเภอก็ให้ใส่สมาร์ทวอชกับหูฟังบลูทูธเข้าไปได้ทั้งที่เป็นเครื่องมือสื่อสารซึ่งหากจะเก็บก็ต้องเก็บให้หมดเพราะเป็นเครื่องมือสื่อสารเหมือนกัน

ใบ สว.3 หรือใบแนะนำตัว กกต.บางพื้นที่ก็อนุญาตไม่เหมือนกันคือบางที่ก็ให้เอาเข้าได้บางพื้นที่ก็ไม่ให้เอาเข้า หรือบางพื้นที่ก็ให้เอาเข้าไปถึงคูหาลงคะแนน ซึ่งเรื่องนี้ก็ส่งผลต่อการเลือกเหมือนกันเพราะจำนวนคนที่เยอะก็เป็นเรื่องยากที่จะจำว่าใครเป็นเบอร์ไหนการที่ได้มีคู่มือบอกว่าใครเป็นเบอร์ในตอนเลือกจึงสำคัญมากในการเลือกถูกหรือผิดคน

นอกจากนั้นยังมีปัญหาเรื่องการนับคะแนนที่ กกต.ยังไม่ได้มีความเข้าใจวิธีการนับคะแนน ซึ่งจะส่งผลต่อคะแนนที่ผู้สมัครจะได้รับ แต่ถ้าหากเกิดกรณี กกต.นับคะแนนผิดผู้สมัคร สว.ก็ไม่สามารถเก็บหลักฐานได้ว่า กกต.นับผิดอย่างไรจากเหตุผลที่วิทยากรคนอื่นกล่าวไปข้างต้น

เมื่อมาตรฐานการจัดการแตกต่างกันมากก็ทำให้กระบวนการของแต่ละพื้นที่ใช้เวลาแตกต่างกันมาก บางพื้นที่เสร็จตั้งแต่ก่อนเที่ยง บางที่เสร็จบ่ายสอง อีกที่เสร็จตอนห้าโมง ดังนั้นการที่กระบวนการการเลือก สว.มีมาตรฐานที่ชัดเจนจึงสำคัญมากและไม่ควรแตกต่างกันมากขนาดนี้ ผู้สมัครควรจะรับรู้ได้ว่ากำลังจะต้องเจอกับอะไรในกระบวนการ ไม่ใช่ขึ้นอยู่กับดวงว่าจะไปเจออำเภอที่เข้มงวดหรือจะไปเจออำเภอที่ไม่เข้มงวด

นอกจากนั้นข้อกำหนดของ กกต.เรื่องการแนะนำตัวที่ กกต.ย้ำตลอดว่าจะต้องดูจากใบ สว.3 เท่านั้น แต่ในทางปฏิบัติกลับไม่เป็นเช่นนั้นเพราะในบางพื้นที่ก็เปิดให้ผู้สมัครพูดคุยกันได้ซึ่งเป็นบรรยากาศที่ดีมีการเดินพูดคุยสอบถามเรื่องแนวคิดอุดมการณ์กันได้ แต่บางพื้นที่กลับจำกัดมากเพราะให้ดูจากใบ สว.3 เท่านั้นไม่สามารถพูดคุยกันได้เลยและไม่รู้จักกันเลยแล้วยังให้เวลาจำกัดในการอ่านด้วยแต่บางที่ก็ให้เวลามากน้อยแตกต่างกันมาก บางพื้นที่อย่างที่เขาได้เห็นมาเองก็ถึงกับขนาดจัดบุฟเฟต์โต๊ะจีนให้เลย

อย่างไรก็ตาม ทางเครือข่ายก็มีจุดยืนเสมอว่าการที่ผู้สมัครได้แนะนำตัวต่อกันเป็นเรื่องสำคัญมากเพราะจะทำให้ผู้สมัครได้เลือกอย่างมีคุณภาพหรือไม่ แต่มาตรฐานที่แตกต่างกันมากนี้ทำให้การเลือกในระดับอำเภอที่ผ่านมาไม่เป็นธรรมกับผู้สมัครเลย และเป็นเรื่องที่ กกต.ต้องปรับปรุง

“ระบบเลือกตั้งที่ซับซ้อนยุ่งยาก กีดกัน เป็นอุปสรรคของทั้งผู้สมัครทั้งผู้จัดการเลือกตั้งที่มันทำให้เกิดความยากลำบากในการเลือกและออกมามีปัญหาอุปสรรคเช่นนี้ การเลือกตั้งที่ดีไม่ควรออกแบบระบบออกมาให้ยุ่งยากและซับซ้อนเช่นนี้ และอีกประการก็คือการเตรียมพร้อมของ กกต.ไม่ดีพอ กกต.ยังมีการเปลี่ยนระเบียบอย่างต่อเนื่องเรื่อยๆ ตลอดเวลาถึงวันก่อนวันเลือกตั้ง 1 วันก็ยังมีการเปลี่ยน”

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ จาก ilaw กล่าวถึงข้อเสนอต่อการจัดการเลือก สว.ว่า กกต.และเจ้าหน้าที่จะต้องมีการเตรียมตัวที่ดีกว่านี้และทำให้เร็วกว่านี้ เพราะหลายที่กระบวนการดำเนินไปจนถึงตอนค่ำแล้วก็ยังไม่เสร็จทั้งที่หลายเขตก็มีผู้สมัครเพียงแค่ 20-30 คน แต่เจ้าหน้าที่ไปใช้เวลากับการซ้อมและเตรียมเอกสารในที่จัดเลือก และการเลือก สว.ระดับจังหวัดที่จะเกิดขึ้นในวันอาทิตยืที่จะถึงนี้ยิ่งน่ากังวลมากเพราะจะมีผู้สมัครระดับหลายร้อยคน ถ้าเจ้าหน้าที่ดำเนินการด้วยมาตรฐานแบบระดับอำเภอที่ผ่านมาก็ไม่รู้ว่าจะเสร็จตอนเที่ยงคืนเลยหรือไม่

ข้อเสนอที่สอง ขอให้ผู้สังเกตการณ์มีส่วนร่วมได้ และเรื่องนี้ก็ไม่ควรเป็นเรื่องที่ต้องขอเพราะเป็นสิทธิ์ขั้นพื้นฐานอยู่แล้วที่ประชาชนควรจะมีโอกาสได้ดู แม้ว่าตอนนี้คนจะกลัวเรื่องการฮั้วจัดตั้งกันมาแต่ไม่มีคนกลางไปนั่งดูว่าพฤติกรรมตอนเลือกกันเป็นอย่างไร ถ้าเราสามารถเข้าไปนั่งดูจะเห็นกระบวนการได้เยอะว่ามีพฤติกรรมเทคะแนนให้คนใดคนหนึ่งจนผิดสังเกตหรือไม่ มีการทำบัตรเสียจนผิดสังเกตหรือไม่ หรือมีกรณีที่คะแนนเสมอกันแล้วต้องจับฉลากก็มีฝ่ายหนึ่งขอสละสิทธิ์กลับบ้านเลย ซึ่งเรื่องเหล่านี้ก็ได้ทราบจากการที่คนแพ้มาเล่าแต่เมื่อไม่ได้เห็นเรื่องนี้เองก็ไม่สามารถรู้ได้ว่าเรื่องจริงหรือไม่จริง เพราะไม่สามารถเข้าไปได้ ถ้าอยากให้ช่วยจับฮั้ว ก็ควรจะต้องจัดที่ให้กับผู้สังเกตการณ์ที่ไม่ต้องคุยกับผู้สมัครได้เพราะทางผู้สังเกตการณ์ก็ไม่ต้องการคุยกับผู้สมัครและจะมีการแบ่งแยกห้องน้ำก็เป็นเรื่องถูกต้องแล้ว แต่ต้องไม่ใช่การให้ดูกล้องจากระยะไกลแล้วไม่ได้ยินเสียง

ข้อเสนอข้อสาม ต้องการความชัดเจนทั้งในเรื่องการให้ผู้สมัครพูดคุยกันเองทำได้หรือไม่ เอกสารจะแจกอย่างไร อาหารจะจัดอย่างไรเพราะในรอบระดับอำเภอบางที่ก็ไม่ต้องเลือกกันเองแล้วไปเลือกไขว้เลยแต่รอบจังหวัดจะต้องเลือกกันเองแน่นอนและต้องมีการพักทานอาหารแน่นอนและมีขั้นตอนเลือกไขว้ ถ้าหากการจัดเลือกของ กกต.ยังไม่มีความชัดเจนแล้วยังจัดไม่เหมือนกันอีกและยังไม่ให้คนเข้าไปสังเกตการณ์ห้องเลือกจะเป็นห้องมืดอย่างแน่นอนเพราะเมื่อคนน้อยลงก็จะเกิดเกมหักเหลี่ยมโหดกันในสถานที่เลือก เขาอยากเห็นสถานที่จัดเลือกทุกจังหวัดมีกล้องเข้าไปตั้งจำนวนมากแล้วใครทำอะไรก็เป็นเรื่องที่รับรู้ร่วมกัน

ยิ่งชีพกล่าวว่า ก่อนที่จะถึงการเลือกระดับจังหวัดและระดับประเทศ ทางเครือข่ายพยายามจะทำคือทำเวทีสาธารณะให้ผู้สมัครมาเจอกันและได้แนะนำตัวแบบที่ทุกคนจะได้รู้กติกาว่าจะทำอย่างไรและมีโอกาสเท่ากันในการแนะนำตัว และจะเปิดให้สื่อมวลชนเข้าไปถ่ายได้ประชาชนทุกคนไปดูได้แต่จะร่วมกระบวนการไม่ได้ซึ่งกำหนดการจะแจ้งให้ทราบเร็วๆ นี้แต่คงไม่มีแรงทำทุกจังหวัด ไม่ปิดลับแบบของ กกต. แล้วก็ยังให้ใช้เว็บไซต์ senate67.com ในการประกาศตัวได้

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net