3 นักข่าวพม่าถูกจับขึ้นศาล หลังตีพิมพ์บทความกล่าวหารัฐบาลคอร์รัปชัน

บรรณาธิการบริหาร และหัวหน้าโต๊ะข่าวสำนักข่าวอีเลเว่น มีเดีย ในพม่า ถูกจับกุมตัวข้อหาให้ข้อมูลเท็จ จากบทความที่มีเนื้อหาวิจารณ์การบริหารจัดการงบประมาณอย่างสิ้นเปลือง ลุแก่อำนาจและน่าสงสัยในบริษัทที่รัฐบาลมีหุ้นเกินครึ่ง อาจโดนคุก 2 ปี และโทษปรับหากผิดจริง 2 ปีที่แล้ว สื่อเดียวกันถูกฟ้อง หลังเล่นปมหัวหน้า ครม. เงินเดือน 8 หมื่นบาท ใส่นาฬิกา 3 ล้านบาท

จำเลยทั้งสามถูกควบคุมตัวโดยเจ้านห้าที่ตำรวจ (ที่มา: Youtube/Eleven Broadcasting)

11 ต.ค. 2561 มติชนรายงานว่า ตำรวจพม่าจับกุมผู้สื่อข่าวสามคนจากสำนักข่าวอีเลเว่น มีเดีย ประกอบด้วยจอ ซอลิน บรรณาธิการบริการ (บ.ก.) นายี มิน และเพียว ไว วิน หัวหน้าโต๊ะข่าว โดยทั้งสามถูกนำตัวขึ้นศาลในนครย่างกุ้งในช่วงเช้าวันนี้ (11 ต.ค. 2561)

สำนักข่าวเดอะอิรวดีของพม่ารายงานว่าทั้งสามถูกจับกุมตั้งแต่เมื่อวานนี้ (10 ต.ค. 261) ก่อนถูกนำมาขึ้นศาลด้วยข้อหาการให้ข้อมูลเท็จ ทั้งสามถูกจับตัวเพราะบทความของพโย ไว วิน ที่ตีพิมพ์เมื่อ 8 ต.ค. ที่ผ่านมาผ่านนามปากกาชื่อพโย ไว ที่มีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์การบริหารจัดการงบประมาณอย่างสิ้นเปลือง โดยยกตัวอย่างกรณีที่รัฐบาลกู้ยืมเงินไปซื้อรถโรงเรียนโดยไม่ผ่านการรับรองจากสภานิติบัญญัติ และความผิดปรกติในบริษัทนครย่างกุ้ง มหาชน ซึ่งมติชนรายงานว่าบริษัทดังกล่าวเป็นบริษัทวางโครงข่ายรถประจำทางในเมือง ซึ่งเป็นงานภายใต้การกำกับดูแลของอองซานซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ รัฐมนตรีต่างประเทศ และเป็นผู้นำพม่าในทางปฏิบัติ

บริษัทดังกล่าวมีรัฐบาลพม่าเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ (ร้อยละ 51) และมีเม็ดเงินลงทุนที่รัฐสภาอนุมัติไปแล้วทั้งสิ้น 64,000 ล้านจ๊าด หรือราว 1,372 ล้านบาท โดยบอร์ดอำนวยการของบริษัทประกอบด้วยรัฐมนตรีว่าการด้านไฟฟ้า อุตสาหกรรม ถนนและการคมนาคม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและการวางแผน

ทั้งหมดถูกส่งตัวไปยังเรือนจำอินเส่ง หากถูกตัดสินว่าผิดจริง ทั้งสามอาจต้องโทษจำคุกถึงสองปีและยังต้องจ่ายค่าปรับอีกด้วย ด้านองค์กรสื่อระหว่างประเทศออกมาแสดงความวิตกว่าการจับกุมครั้งนี้เป็นการคุกคามเสรีภาพสื่อ เป็นสัญญาณที่แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลพม่ากำลังกลายเป็นรัฐบาลเผด็จการ

การฟ้องร้องครั้งนี้เกิดขึ้นจากผู้อำนวยการสำนักงานรัฐบาล และกรณีนี้ไม่ใช่ครั้งแรก เมื่อปี 2559 ผู้บริหารและบรรณาธิการของอีเลเว่น มีเดียถูกประธานคณะรัฐมนตรีฟ้องร้องหลังจากมีเนื้อหาในบทบรรณาธิการที่กล่าวหาว่าเขาคอร์รัปชัน แต่หลังจากนั้น อีเลเว่น มีเดียได้ออกหนังสือขอโทษและถอนคำพูด

ใจความเจ้าปัญหาในบทบรรณาธิการเมื่อปี 2559 คือการกล่าวหาว่าประธาน ครม. คนดังกล่าวมีเงินเดือนราวเดือนละ 82,500 บาทเท่านั้น แต่ใส่นาฬิกาข้อมือปาเต็ก ฟิลิปป์ ราคาราว 3 ล้านบาท ซึ่งเจ้าตัวระบุว่าเป็นของขวัญจากผู้มีพระคุณที่มีฐานะร่ำรวย

รายงานสถานการณ์สื่อในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่จัดทำโดยสมาคมสื่อมวลชนแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือ SEAPA ที่เผยแพร่ครั้งแรกในเดือน พ.ค. 2561 พบว่าเสรีภาพสื่อในภูมิภาคนี้ได้รับการจัดอันดับจากองค์กรสื่อนานาชาติอย่างองค์กรสื่อไร้พรมแดน (RSF) ในกลุ่มอันดับล่างๆ การทำงานในฐานะสื่อเป็นเรื่องเปราะบางต่อคนทำงานมากขึ้นเรื่อยๆ ในปี 2560 SEAPA ได้บันทึกเหตุการณ์การข่มขู่ ไปจนถึงการโจมตีสื่อรอบภูมิภาคได้ถึง 128 กรณีด้วยกัน

กรณีการละเมิด หรือคุกคามสื่อนั้นถูกแบ่งเป็นการกำกับควบคุมผ่านกฎหมาย การเซ็นเซอร์เนื้อหาทั้งจากทางการและการเซ็นเซอร์ตัวเอง การดำเนินคดีกับสื่อ การข่มขู่ การทำร้าย และการฆ่า ซึ่งห้าประเภทนี้เกิดขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งสิ้น

ประเทศฟิลิปปินส์นำโด่งมาเป็นอันดับหนึ่ง หลังการขึ้นมาของประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เต กลุ่มฐานเสียงของเขา รวมถึงรัฐบาลเองต่างสร้างความเกลียดชังต่อสื่อมวลชนทั้งในโลกออนไลน์และโลกความเป็นจริง ทั้งยังมีการฆ่านักข่าวด้วย ซึ่งถือเป็นกรณีที่ไม่ได้รับรายงานจากประเทศอื่นในภูมิภาค รองลงมาเป็นพม่าที่มีกรณีการดำเนินคดี จับกุมและกักขังนักข่าวรวม 11 กรณี อันดับสามเป็นประเทศไทย ที่มีกรณีการเซ็นเซอร์ ระงับใบอนุญาตประกอบการอาชีพสื่อ และแบนเนื้อหาบางประการรวม 7 กรณี

อย่างไรก็ตาม จาก 128 กรณีที่มีการบันทึก มีถึง 86 กรณีที่การคุกคามสื่อเกิดจากการกระทำของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นประมุขรัฐ เจ้าหน้าที่รัฐบาลท้องถิ่นตำรวจ ทหาร หรือหน่วยงานด้านข้อมูลข่าวสาร การสื่อสาร การรายงานข่าวในเชิงวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลหรือการบริหารรัฐ ถูกเจ้าหน้าที่ภาครัฐมองเป็นเรื่องการต่อต้านรัฐบาล นำเสนอข่าวมีอคติและไม่ยุติธรรม หรือไม่ก็ถูกกล่าวหาว่าเป็นการแทรกแซงจากต่างชาติ

นอกจากนั้น วาทกรรมเรื่องข่าวปลอม (Fake News) ที่เกิดขึ้นจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ถูกใช้เป็นข้ออ้างในการโจมตีสื่อที่นำเสนอข่าวที่ไม่พึงประสงค์ ยิ่งโหมกระพือการโจมตีสื่อทั้งในทางวจีกรรมและทางกฎหมายที่มีมานานแล้ว

แปลและเรียบเรียงจาก

Yangon Govt Sues Eleven Media for Offenses Against the State, The Irrawaddy, Oct. 10, 2018

Eleven Media Issue Apology Over Chief Minister Article, The Irrawaddy, Dec. 27, 2016

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท