Skip to main content
sharethis

หลัง 'สุดารัตน์' โพสต์ 'อย่าทำให้คนไทยไม่เท่ากัน ด้วยบัตรคนจน' ชี้มติ ครม. ให้ผู้ถือบัตรรักษาฟรี ย้ำเป็นเรื่องแบ่งแยกคนจนคนรวยย้อนกลับไปเหมือนยุค 'บัตรอนาถา' ขณะที่ 'ประยุทธ์' โต้ไม่ได้แบ่งชนชั้น ปิ๊งไอเดียเปลี่ยนชื่อ 'บัตรความสุข' ส่วน 'สรรเสริญ' คาด 'สุดารัตน์' เขียนหวังผลทางการเมือง ลดความน่าเชื่อถือของรัฐบาล

16 ต.ค.2561 หลังจากวานนี้ (15 ต.ค.61) สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แกนนำพรรคเพื่อไทย โพสต์เฟสบุ๊กแฟนเพจ เรื่อง "อย่าทำให้คนไทยไม่เท่ากันด้วยบัตรคนจน" โดยระบุว่า รัฐบาลนี้ให้ผู้ถือบัตรคนจนรักษาฟรี เป็นการแบ่งแยกคนรวยคนจน นั้น ส่งผลให้รัฐบาลมีการตอบโต้ ทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) และ พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

ประยุทธ์ แจง 'บัตรคนจน' ไม่ได้แบ่งชนชั้น ปิ๊งไอเดียเปลี่ยนชื่อ 'บัตรความสุข'

วันนี้ (16 ต.ค.61) มติชนออนไลน์ รายงานว่าก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ซึ่ง กอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นำ ไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ และสิริรัฐ ชุมอุปการ ผู้ว่าราชการแม่ฮ่องสอน พร้อมคณะ เข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่ง หัวหน้า คสช. กล่าวว่า ขอเปรียบตรงนี้หน่อย พอเราใช้แก้จน ก็มีคนมาแปลงเจตนาผิด ไปมองว่าเป็นการแบ่งแยกชนชั้น ก็เห็นอยู่แล้ว ถ้าเขาเข้าใจเราก็จบ แต่ถ้าไม่เข้าใจก็เป็นประเด็นทางการเมือง ดังนั้นลองไปเปลี่ยนดู ไม่ว่าเรื่องบัตรสวัสดิการต่างๆเราใช้คำว่า บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เพื่อต้องการดูแลประชาชนที่ขึ้นทะเบียน เราไม่ต้องการแบ่งแยกชนชั้น ลองไปเปลี่ยนชื่อดูว่าจะเรียกอย่างไรได้เต็มปาก เป็นบัตรความสุขหรืออะไรทำนองนี้ได้ไหม พอบอกบัตรคนจนกลายเป็นการแบ่งแยกชนชั้น ที่ผ่านมาก็ไม่ได้แก้ปัญหาเป็นเรื่องเป็นราวแบบนี้ พอเราแก้มาก็ถูกโจมตีโน้นนี้ เพราะฉะนั้นก็ต้องระวังแล้วกัน วันนี้คนก็ไม่มีใครอยากถูกเรียกว่าคนจน เราก็ไม่ได้มองเขาแบบนั้น เพียงแต่ต้องเพิ่มการกระจายรายได้ให้กับเขา โครงการต่างๆก็ไม่ได้แก้จน แต่เป็นการเพิ่มความสุขให้กับเขา อย่างไรก็ตามไม่ว่าคนรวยคนจน ก็สามารถเข้าถึงโอกาสได้

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า รัฐบาลจำเป็นต้องมีโครงการลงไป เช่น ไทยนิยม ยั่งยืน ที่คิดขึ้นมาว่าจะทำอะไรแล้วเติมลงไป ไม่ใช่มองอย่างเดียวเป็นการเดินทางการเมือง มันไม่ใช่ ทั้งนี้ไม่มีปัญหาใดที่แก้ไม่ได้ หากทุกคนร่วมมือกัน ดีกว่ามาสร้างความขัดแย้ง โจมตีกันไปทำ ตนไม่อยากจะทำตรงนี้ มันเป็นปัญหาของประเทศเรา และวันนี้หลายประเทศจับตาประเทศเราอยู่ เขาไม่ได้มองประชาธิปไตยเพียงอย่างเดียว แต่เขามองในเรื่องการพัฒนาด้วย ตนไปประชุมหลายประเทศก็ได้รับคำชมเชยมาหลายประเด็นที่เรามีความคืบหน้าและเขาอยากให้เราเดินหน้าต่อไป

'สรรเสริญ' คาด 'สุดารัตน์' เขียนหวังผลทางการเมือง ลดความน่าเชื่อถือของ รบ.

15 ต.ค.ที่ผ่านมา ขณะที่เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล รายงานว่า พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีโพสต์ดังกล่าวของสุดารัตน์ ว่า คุณหญิงสุดารัตน์อาจจะไม่ได้ศึกษาจนเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่าอะไรเป็นอะไร โดยมองปัญหาจากความคิดของตัวท่านเองเป็นหลัก เพราะมติ ครม.ที่ให้ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐรักษาฟรีนั้น เป็นเพียงการแก้ไขเพิ่มเติมข้อความในกฎหมายให้ครอบคลุมผู้มีรายได้น้อยที่ถือบัตรสวัสดิการฯ ไม่ได้มีผลต่อสิทธิรับการรักษาที่ฟรีอยู่แล้ว  และเมื่อดูจากเนื้อหาที่คุณหญิงสุดารัตน์เขียนก็น่าจะหวังผลทางการเมือง เพื่อลดความน่าเชื่อถือของรัฐบาลมากกว่าที่จะเสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหาให้กับสังคม คล้ายกับที่ครั้งหนึ่งรัฐบาลเคยถูกกล่าวหาว่าจะยกเลิกโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ทั้ง ๆ ที่ไม่เป็นความจริง

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง หรือ 30 บาทรักษาทุกโรค เป็นเรื่องเดียวกัน ซึ่งพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เน้นย้ำเสมอว่า คนไทยทุกคนที่ไม่ได้อยู่ในระบบราชการหรือประกันสังคมจะได้รับสิทธินี้ ซึ่งเป็นการรักษาฟรีด้วยคุณภาพที่ดีทัดเทียมกัน ไม่มีการแบ่งชั้นวรรณะ แต่หากใครมีกำลังพออยากจะร่วมจ่ายกับภาครัฐก็สามารถทำได้

พล.ท.สรรเสริญ ยืนยันว่า รัฐบาลนี้ไม่เคยแบ่งแยกประชาชน มีแต่นักการเมืองบางกลุ่มบางคนที่ชอบใช้วาทกรรมแบ่งแยกคนรวยคนจนให้เกิดความขัดแย้ง  พร้อมทั้งย้ำว่า สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้รับการพัฒนาไปมาก ทั้งเรื่องงบประมาณรายหัวที่รัฐสนับสนุน ประเภทของโรคและยาที่เพิ่มขึ้น และอีกหลายเรื่อง จนได้รับการยกย่องชื่นชมจากองค์การอนามัยโลกและนานาชาติ ส่วนองค์ประกอบของคณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาตินั้น เป็นการรวมบุคคลหรือหน่วยงานที่หลากหลายกระจายไปทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยราชการที่มีภารกิจด้านสุขภาพ สภาวิชาชีพ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคประชาสังคมและเอกชน และผู้ทรงคุณวุฒิ ให้เข้ามาทำงานร่วมกัน ไม่ได้จำกัดเฉพาะแค่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น

อย่าทำให้คนไทยไม่เท่ากัน ด้วยบัตรคนจน

สำหรับโพสต์ดังกล่าวของ สุดารัตน์ ในหัวข้อ "อย่าทำให้คนไทยไม่เท่ากัน ด้วยบัตรคนจน" นั้น ระบุว่า หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือ 30 บาทรักษาทุกโรค ต้องยึดหลักความทัดเทียม ที่คนไทยทุกคนจะต้องได้รับสิทธิ และโอกาสเข้าถึงการรักษาพยาบาลอย่างมีคุณภาพทัดเทียมกัน หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นของประชาชน จึงต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วม แต่ล่าสุดคณะรัฐมนตรี กลับมีมติอนุมัติกฎหมายตั้งซูเปอร์บอร์ดสุขภาพ โดยให้มีภาคประชาชนเพียง 3 คน จาก 45 คน ซึ่งที่เหลือส่วนมากเป็นข้าราชการ และมีเอกชนตัวแทนบริษัทยาข้ามชาติมาเป็นกรรมการ

"แล้วประชาชนอยู่ตรงไหนคะ?" สุดารัตน์ ตั้งคำถาม พร้อมระบุว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่รัฐบาลนี้ ได้ประกาศให้ผู้ที่ถือ”บัตรคนจน”รักษาฟรี ทั้งที่ในความเป็นจริงประชาชนทุกคน ที่ได้รับบัตรทอง30 บาทรักษาทุกโรค ก็ได้รับการรักษาฟรีอยู่แล้ว โดยไม่ได้แบ่งแยกว่าเป็นคนจน แต่รัฐบาลกลับมีมติ ครม. ให้ผู้ถือบัตรคนจนรักษาฟรี ซึ่งกลายเป็นเรื่องแบ่งแยกคนจนคนรวยย้อนกลับไปเหมือนยุค 'บัตรอนาถา' สำหรับคนจน เหมือนเมื่อสมัยปี พ.ศ.2518 ซึ่งอาจจะเป็นการเปิดช่องแบ่งแยกคนจนออกไป และอาจทำให้มีการเลือกปฏิบัติได้  ซึ่งถือเป็นการขัด “หลักการ” ของโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าอย่างร้ายแรง 

สุดารัตน์ กล่าวย้ำว่า หลักการของโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือ 30 บาทรักษาทุกโรค คือต้องการให้คนไทยทุกคนมีสิทธิเข้าถึงการรักษาพยาบาลด้วยคุณภาพดีทัดเทียมกัน โดยไม่แบ่งชนชั้นวรรณะ คนรวยหรือคนจน ไม่ใช่คนจนต้องรักษาแบบอนาถา นี่คือหัวใจของโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค

"มิใช่เรื่องที่ใครจะพยายามเอาเรื่องการรักษาฟรีไปหาเสียงอย่างผิดๆ โดยทำให้”หลักการ”ของโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าผิดเพี้ยน ซึ่งเป็นเรื่องที่ดิฉันยอมไม่ได้" สุดารัตน์ โพสต์ทิ้งท้าย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net