Skip to main content
sharethis

สปสช. เปิดข้อมูล กว่า 18 ปีของกองทุนบัตรทอง จ่ายชดเชยให้ผู้ได้รับความเสียหายจากการรับบริการด้านสาธารณสุขแล้วเกือบ 1.4 หมื่นรายทั้งกรณีเสียชีวิต พิการ บาดเจ็บและรักษาต่อเนื่อง รวมเป็นเงินช่วยเหลือ 2,622 ล้านบาท จนสามารถนำมาใช้เป็นต้นแบบเยียวยากรณีแพ้วัคซีนโควิด

18 ต.ค.2565 ฝ่ายสื่อของ สปสช. รายงานว่า นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า การให้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุขภายใต้ “ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” (บัตรทอง) สปสช. กระทรวงสาธารณสุข แพทย์สภา ราชวิทยาลัยและสภาวิชาชีพทางการแพทย์ ตลอดจนหน่วยบริการสังกัดหน่วยงานต่างๆ ได้ร่วมดำเนินการเพื่อจัดสิทธิประโยชน์บริการรักษาพยาบาลและสาธารณสุขที่จำเป็นให้กับประชาชนผู้มีสิทธิอย่างมีคุณภาพและมาตรฐาน

เลขาฯ สปสช.กล่าวต่อว่าในการให้บริการมีโอกาสที่จะเกิดภาวะไม่พึงประสงค์ขึ้นได้ จึงต้องมีมาตรการรองรับเพื่อสร้างความมั่นใจต่อการเข้ารับบริการและเป็นการดูแลช่วยเหลือเบื้องต้นผู้ป่วยหากเกิดภาวะไม่พึงประสงค์ขึ้น ขณะเดียวกันยังช่วยลดความขัดแย้งและการฟ้องร้องระหว่างผู้รับบริการและผู้ให้บริการในระบบสุขภาพได้

นพ.จเด็จกล่าวว่าด้วยเหตุนี้ใน พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 มาตรา 41 จึงกำหนดให้คณะกรรมการของ สปสช. กันเงินจำนวนหนึ่งไม่เกินร้อยละ 1 ของเงินที่จ่ายให้กับหน่วยบริการไว้เป็นเงินช่วยเหลือเบื้องต้นให้แก่ผู้รับบริการในกรณีที่ได้รับความเสียหายที่เกิดจากการรักษาพยาบาลโดยไม่ต้องพิสูจน์ถูกผิด โดยในช่วงแรก สปสช. กำหนดประเภทความเสียหายและอัตราการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นเป็น 3 กรณี คือ กรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพอย่างถาวร จ่ายเงินช่วยเหลือไม่เกิน 200,000 บาท, กรณีสูญเสียอวัยวะหรือพิการ จ่ายเงินช่วยเหลือไม่เกิน 120,000 บาท และกรณีบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยต่อเนื่อง จ่ายเงินช่วยเหลือไม่เกิน 50,000 บาท

ต่อมาเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2555 ได้มีการปรับเพิ่มจำนวนการจ่ายเงินช่วยเหลือ โดยกรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพอย่างถาวร เป็นการจ่ายเงินช่วยเหลือตั้งแต่ 240,000 บาท แต่ไม่เกิน 400,000 บาท กรณีสูญเสียอวัยวะหรือพิการ เป็นการจ่ายเงินช่วยเหลือตั้งแต่ 100,000 บาท แต่ไม่เกิน 240,000 บาท และกรณีบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยต่อเนื่อง เป็นการจ่ายเงินช่วยเหลือไม่เกิน 100,000 บาท

นพ.จเด็จ กล่าวว่า ในช่วงเริ่มต้นของการใช้มาตรา 41 นี้ยังมีจำนวนผู้ป่วยหรือญาติผู้ป่วยได้ขอรับการช่วยเหลือเบื้องต้นฯ ไม่มาก โดยปี 2547 ที่เป็นปีเริ่มต้น มีจำนวน 73 ราย เป็นเงินช่วยเหลือ 4.86 ล้านบาท อย่างไรก็ตามแม้ว่าต่อมาจำนวนการยื่นคำร้องและการช่วยเหลือจะเพิ่มมากขึ้น รวมถึงจำนวนเงินการช่วยเหลือเบื้องต้นฯ แต่ถือว่าเป็นจำนวนไม่มากเมื่อเปรียบเทียบกับการเข้ารับบริการของประชาชนผู้มีสิทธิ และเมื่อดูข้อมูลการช่วยเหลือเบื้องต้นฯ ตามมาตรา 41 ตั้งแต่ปี 2547–2565 หรือในช่วง 18 ปีที่ผ่านมา มีผู้ที่ได้รับการช่วยเหลือเบื้องต้นฯ ทั้งสิ้น 13,913 ราย หรือเฉลี่ยปีละ 773 ราย

ในรายละเอียดแบ่งเป็นกรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพอย่างถาวร 7,210 ราย กรณีสูญเสียอวัยวะหรือพิการ 1,902 ราย และกรณีบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยต่อเนื่อง 4,801 ราย รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 2,622.75 ล้านบาท หรือเฉลี่ยปีละ 145.71 ล้านบาท โดยปี 2565 เป็นปีที่มีผู้ที่ได้การช่วยเหลือเบื้องต้นฯ สูงสุด 1,140 ราย และเป็นปีที่จ่ายเงินช่วยเหลือสุดสุดเช่นกัน 297.32 ล้านบาท

“จากข้อมูลจะเห็นได้ว่ากลไกการช่วยเหลือนี้ แต่ละปีมีจำนวนไม่มาก รวมถึงงบประมาณที่จ่ายไป แต่ได้ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับผู้ป่วยและครอบครัว ทั้งยังได้รับการยอมรับ โดยในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ถูกนำไปเป็นต้นแบบการช่วยเหลือผู้ที่เกิดภาวะไม่พึงประสงค์จากการฉีดวัคซีนโควิด-19 เพื่อกระตุ้นและสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนเข้ารับการฉีดวัคซีน ที่สำคัญกลไกนี้ยังมีส่วนผลักดันการพัฒนาให้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมีคุณภาพและมาตรฐานยิ่งขึ้น” เลขาธิการ สปสช. กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net