เอกชัย อิสระทะ : รัฐประหาร สามัญชน และการตีตรา

สนทนาเปิดใจกับเอกชัย อิสระทะ อดีตรองหัวหน้าและสมาชิกพรรคสามัญชน ต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เขายืนยันว่าไม่เห็นด้วยกับรัฐประหารทั้งสองครั้ง การเลือกเดินออกจากพรรคก็เพื่อประโยชน์ของพรรคเอง ไม่ได้ก่อความรู้สึกบาดหมาง ผู้คนทั้งหลายไม่จำเป็นต้องให้อภัยเขา ในเมื่อความเป็นจริงตัวเขาไม่ได้เป็นเช่นที่ถูกประทับตรา เมื่อถึงจุดหนึ่งมันจะเลือนหายไปเอง แต่ที่แน่ๆ ยังพร้อมจะเป็นกำลังหนุนและร่วมทำงานเพื่อให้มีเสียงของคนชายขอบในสภา

  • เรื่องราวความเป็นมาตั้งแต่เข้าพรรคสามัญชนจนถึงการลาออกของเอกชัย
  • เอกชัยกล่าวว่าเขาเชื่อมั่นในการแสดงออกทางตรงของประชาชนในการต่อรองกับอำนาจรัฐและยืนยันว่าไม่สนับสนุนรัฐประหารทั้งสองครั้งและเคยออกแถลงการณ์ไม่เห็นด้วยกับรัฐประหารปี 2549
  • เอกชัยแสดงความเห็นว่าทุกฝ่ายฟากต้องลดการตีตราแบบเหมารวม วิพากษ์วิจารณ์บนฐานของข้อมูลและความเป็นมนุษย์ของกันและกัน

พรรคสามัญชนเลือกวันที่ 22 กันยายน 2561 เป็นวันประชุมใหญ่เพื่อคัดเลือกคณะกรรมการบริหารพรรคที่วัดโน่นสว่าง หมู่บ้านนาหนองบง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย เป็นที่รับรู้ว่าผู้ที่ได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรคคือเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ เอ็นจีโอที่ทำงานในพื้นที่ภาคอีสานและอยู่กับปัญหาเหมืองแร่มาอย่างยาวนาน

ล่วงเลยเพียงไม่กี่วันหลังจากนั้น ความขัดแย้งทางความคิดในพรรคสามัญชนก็เกิดขึ้น เมื่อเอกชัย อิสระทะ เลขาธิการสมาคมพิทักษ์สิทธิชุมชนเขาคูหา ที่ได้รับเลือกเป็นรองหัวหน้าพรรค ถูกต่อต้านและวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นผู้ปูทางให้เกิดรัฐประหาร มีความพยายามรวบรวมรายชื่อสมาชิกพรรคเพื่อปลดเขาออกจากตำแหน่ง นำไปสู่การลาออกจากรองหัวหน้าและสมาชิกพรรคสามัญชนในที่สุด
กรณีที่เกิดขึ้นนับว่าเป็นบทเรียนที่แต่ละฝ่ายจะเลือกมองจากเหลี่ยมมุมใด สำหรับเอกชัยก็เช่นกัน มีทั้งบทเรียน ความห่วงใย และความโชคดีที่เขาเปิดอกคุยกับ ‘ประชาไท’

เข้าร่วมพรรคสามัญชน

ย้อนอดีตไปเมื่อปลายปี 2560 เอกชัยและพี่น้องเครือข่ายพิทักษ์สิทธิชุมชนเขาคูหา จ.สงขลา มีโอกาสเดินทางไปเยี่ยมเยือนพี่น้องเหมืองทองเมืองเลยในนามเครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ เกิดเป็นการเดินรณรงค์ We Walk ในช่วงต้นปี 2561 รวมถึงการร่วมกันคัดค้าน พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม หลังจบงานวีวอล์ค เลิศศักดิ์เดินทางลงใต้เพื่อพูดคุยกับทีมเขาคูหาอย่างเป็นทางการเรื่องตั้งพรรค ชาวเขาคูหากับเขาก็ตัดสินใจเข้าร่วม

ทางประชาชนในเครือข่ายพิทักษ์สิทธิชุมชนเขาคูหารวบรวมผู้สนใจเป็นสมาชิกพรรคได้ 10 กว่าคน ซึ่งเอกชัยคิดว่าการออกแบบโครงสร้างพรรคควรเป็นไปตามประเด็นมากกว่าตามภูมิภาค แต่วันที่ 21 กันยายนที่มีการประชุมที่จังหวัดเลยก่อนถึงวันประชุมใหญ่ ซึ่งตัวเขาไปถึงในเช้าวันที่ 22 และทราบว่าทางพรรคออกแบบโครงสร้างตามภาค รวมทั้งมีการส่งข้อความมาแจ้งให้เขาทราบว่าเขาได้รับเลือกเป็นรองหัวหน้าพรรค ซึ่งเขาไม่ได้ปฏิเสธเพราะเห็นทางพรรคคงตัดสินใจกันดีแล้ว

“จนกระทั่งหลังเลือกแล้วถึงมีประเด็นนี้ขึ้นมา ผมก็งงๆ อยู่เหมือนกันว่ามาได้ยังไง ซึ่งถ้าสะกิดบอกกันนิดเดียวก็เคลียร์แล้ว แต่ถ้าถึงขั้นไม่รับเข้าพรรคเลยก็อีกแบบหนึ่ง ก็บอกได้เหมือนกัน แค่ขอให้บอกกันว่าจะเอายังไง เพราะความสัมพันธ์ที่มีไม่ใช่ว่าคุยกันไม่ได้”

ปูทางรัฐประหาร?

1.

“ผมยอมรับในแถลงการณ์ฉบับแรกไปแล้วว่า ปี 2549 ผมเป็นแกนนำพันธมิตรฯ ที่จังหวัดสงขลา อันนี้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ไม่ปฏิเสธ แต่โจทย์ที่พวกผมตั้งคือการเคลื่อนไหวของพี่น้องประชาชน เราเห็นต่างกับรัฐบาล เราก็ออกไปชุมนุมประท้วง ว่ากันตามระบบ ประชาชนสามารถแสดงออกทางตรงได้ ไม่ใช่ว่าไปชวนทหารมา ผมคิดว่าเกินกว่านั้นเป็นข้อกล่าวหาและชัดเจนว่าพวกเราที่เคลื่อนไหวในพื้นที่ภาคใต้ไม่ได้คิดแบบนั้นแน่ๆ และพวกเราเองก็ชัดเจนว่ามาตรา 7 เราไม่รับ”

เอกชัยกล่าวว่าในพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเวลานั้นมีมวลชนหลากหลายเฉดสีที่คิดตรงและคิดต่างกัน โดยในส่วนของเขายืนบนฐานที่ว่า ไม่ต้องการให้ทหารออกมารัฐประหาร เพราะเชื่อว่าการมีส่วนร่วมของประชาชนสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ แต่พอเกิดการยึดอำนาจปี 2549 พันธมิตรฯ สงขลาก็ออกแถลงการณ์ว่า คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติหรือ คมช. ทำลายขบวนการของประชาชนที่เติบโตขึ้นมาเพื่อจัดการกับอำนาจรัฐโดยตรง ต่อจากนั้นเขาก็กลับไปอยู่บ้านที่อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา และลดบทบาทของตัวเองลง

“หลังจากนั้นมาก็เกิดการชุมนุมของ นปช. (แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ) ที่กรุงเทพฯ ซึ่งมีหลายโพสต์บอกว่าผมสนับสนุนให้เกิดคนตาย ผมคิดว่าก็เป็นข้อกล่าวหาที่หนักเกินไป เพราะเราก็ไม่ได้รู้เรื่องราวด้วยและไม่ได้เป็นผู้มีอำนาจรัฐ ถามว่าเห็นด้วยหรือไม่ ไม่เห็นด้วยอย่างแน่นอน แต่ถ้าถามว่าทำไมพวกเราไม่ออกมา อันนี้ก็เป็นวิสัยที่ว่ากันไป ยอมรับได้บ้างว่าเราอาจจะดูดายมากเกินไป แต่ว่าการเคลื่อนไหวของแกนนำขณะนั้นมันไม่ง่ายกับการวางบทแบบนั้น”

2.

ปลายปี 2556 พี่น้องที่เขาคูหาต้องการให้เปิดเวทีรับสัญญาณการเคลื่อนไหวของคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือ กปปส. จึงมีการทำเวทีเล็กๆ ที่สี่แยกคูหา

“เราไม่ใช่ กปปส. ไม่ใช่ประชาธิปัตย์ เป็นทีมงานของพวกเราที่ทำกันเองในนามของสภาประชาชนคนรัตภูมิ เราไม่ได้ขับเคลื่อน แค่เป็นเวทีรับฟัง สื่อสาร เราอยู่บนฐานว่าต้องการเห็นประชาชนแสดงสิทธิ มีส่วนร่วมกับการจัดการอำนาจรัฐทางตรง ส่วนเรื่องว่าจะให้ทหารออกมาหรือเปล่า ผมว่าโดยกมลสันดานของพวกเรา ยืนยันว่าไม่ได้คิดอย่างนั้นแน่นอน”

เอกชัยเล่าว่าการเคลื่อนไหวในพื้นที่สงขลาช่วงนั้นมีคนของประชาธิปัตย์เป็นคนจัดการ พวกเขาไม่มีส่วนจัดการ ไม่เคยประชุมร่วมกับแกนนำในพื้นที่สงขลา เพราะพวกเขาเป็นแค่กลุ่มประชาชนเล็กๆ ไม่มีสถานะและพลังที่จะเห็นร่วมทุกประเด็น ดังนั้น การบอกว่าพวกเขาเป็นคนเชิญทหารมาจึงเป็นเพียงการกล่าวหา
“ผมยังไม่เห็น แต่มีน้องที่โพสต์ข้อความว่ามีแถลงการณ์ชุดหนึ่งที่บอกว่าเราเชิญทหารมา แต่ที่ผมจำความได้ตอนนั้นเหมือนจะเกิดการปะทะ แล้วเครือข่ายพลเมืองสงขลาซึ่งต่อสู้เรื่องสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ แต่ทางการเมืองไม่ได้ขยับ ก็ออกมาด้วยความกังวลใจว่าจะเกิดความขัดแย้ง การใช้กำลังทั้งสองฝ่าย ทหารควรออกมายืนตรงกลางที่ไม่ใช่การยึดอำนาจ ไม่ให้เกิดการต่อสู้กันของพี่น้องประชาชน น่าจะเป็นแถลงการณ์ฉบับนั้นที่ทำให้บอกว่านี่คือการเชิญทหาร พวกเราคิดว่าการรัฐประหารไม่ควรเกิดอีกแล้ว เราก็ไม่รู้จะปฏิเสธอะไร แถลงการณ์ฉบับที่ 2 ที่ผมออกก็บอกว่าคุณจะว่าอะไรก็ว่าไป แต่ที่แน่ๆ เราไม่ใช่อย่างนั้น

“เวลาพูดถึง กปปส. พวกเรารู้สึกว่านั่นคือทีมประชาธิปัตย์ พวกเราไม่ได้รู้สึกเป็นแนวร่วมกันร้อยเปอร์เซ็นต์ พวกเราที่เป็นปีกพันธมิตรฯ เก่าอยู่บนฐานคิดว่าประชาธิปไตยทางตรง และขับเคลื่อนเรื่องสิทธิชุมชน พื้นที่ต้องกำหนดอนาคตตนเอง แต่ที่แน่ๆ คือเราไม่ใช่ ไม่เคยเลือก และไม่มีทางที่จะเป็นประชาธิปัตย์ได้ แม้กระทั่ง กปปส. ตั้งพรรคเราก็ไม่ไป เพราะมันไม่ใช่ที่ทางของพวกเรา”

3.

เอกชัยยอมรับด้วยว่าเคยไปร่วมชุมนุมกับ กปปส. เพราะเป็นวันดีเดย์ในการชัตดาวน์กรุงเทพ เขาเชื่อว่าต้องไปเพื่อจัดการรัฐบาลที่ไม่ชอบธรรมในตอนนั้น ซึ่งเป็นการแสดงออกและเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ประชาชนสามารถทำได้มากกว่าแค่ยื่นบัตรเลือกตั้ง เขาขยายความคำว่า 'ไม่ชอบธรรม' นั้นเป็นเพราะรัฐบาลยิ่งลักษณ์มีการฉ้อฉลเชิงนโยบายหลายกรณีซึ่งเป็นสิ่งที่พวกเขารับไม่ได้ แม้จะเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ประชาชนก็มีสิทธิแสดงออกเพื่อต่อต้านคัดค้าน

“ผมคิดว่านี่เป็นสิทธิปกติ เป็นสิทธิทางตรงที่นักประชาธิปไตยก็คงต้องทำ ไม่ใช่บอกว่าเป็นนักประชาธิปไตยแล้วต้องรอการเลือกตั้งทุก 4 ปี ถ้าบอกว่าทำไม่ได้ ผมก็ไม่เป็นนักประชาธิปไตยก็ได้ ผมคิดว่ารัฐบาลไม่มีความชอบธรรมต่อการดำรงอยู่แล้วและพรรคการเมืองนั้นก็มีความฉ้อฉลพอสมควร ตอนที่ประชาธิปัตย์ฉ้อฉล เราก็ประท้วง ไม่ต่างกัน แม้กับรัฐบาลทหารตอนนี้ ผมคิดว่าเรามีวัฒนธรรมปฏิบัติที่เหมือนกัน แต่อาจจะไม่ใช่คนปริมาณมากเพราะคนส่วนใหญ่ไม่ออกมาทำอะไรในช่วงนี้ก็ได้ แต่เราต้องทำ”

4.

เมื่อถามว่าตอนที่ไปร่วมชัตดาวน์กรุงเทพฯ คิดหรือรู้สึกหรือไม่ว่า แกนนำกำลังสร้างเงื่อนไขเพื่อปูทางให้เกิดรัฐประหาร เอกชัยตอบว่า ไม่รู้และไม่ค่อยได้คิดถึงประเด็นนี้

“ผมรู้สึกว่าถ้าประชาชนออกมามากขนาดนี้แล้ว มันควรมีช่องทางที่จะจัดการทางสังคมที่ดีกว่านั้น และคิดตลอดว่าทหารคงไม่รัฐประหารอีก กลไกส่วนกลางที่จะคุยกัน จะต่อตรงให้ทหารออกมารัฐประหาร ผมก็ไม่รู้ ไม่สามารถจะบอกว่าเรารู้อยู่แล้วถึงไปทำ คิดอย่างนั้นก็เกินไป แต่อย่างน้อยการแสดงออกของคนที่ออกมา ถ้าบอกว่าออกมาอย่างนี้แล้วทหารจะรัฐประหาร มันก็ง่ายเกินไปมั้ง คือเขาก็ไม่ได้บอกหรือส่งสัญญาณกันตรงๆ ว่าจะทำแบบนั้น แต่ก็โอเค ใครจะตีความยังไงก็ให้ตีความ แต่โดยความคิดเห็นของเราก็ไม่อยากให้ทหารรัฐประหารอีก และเราอยากเห็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงให้นักการเมืองที่ฉ้อฉลเข้าสู่กระบวนการที่ดีขึ้น”

ไม่คิดหรือว่าจะถูกตำหนิว่าไร้เดียงสา?

“เป็นคำถามเดียวกันกับพวกนักประชาธิปไตยทั้งหลายที่เอาทักษิณ ผมก็ไม่รู้จะตั้งคำถามแบบนี้ทำไมกับเพื่อนเราที่เป็นนักประชาธิปไตยที่เชิดชูทักษิณ เพราะผมก็คิดว่านั่นเผด็จการรัฐสภาอย่างแท้จริง มีการฉ้อฉล มีกระบวนการเลือกตั้งที่ไม่บริสุทธิ์ คุณใช้ทั้งกระบวนการเลือกตั้งที่ฉ้อฉล ใช้ทั้งประชานิยมเข้าไปจัดการผูกขาดการเลือกตั้งระยะยาวโดยเอาเงินของรัฐเข้าไปจัดการ ซึ่งก็เป็นการฉ้อฉลเหมือนกัน แล้วนักประชาธิปไตยเหล่านั้นไม่เห็นเลยหรือว่านั่นคือกระบวนการฉ้อฉล หรือเห็นว่าเป็นเรื่องปกติที่รับได้ แต่ผมรับไม่ได้"

“ผมคิดว่าการปรักปรำแบบนี้มันง่ายและทำกันเกินไป ผมมั่นใจว่าเพื่อนเราหลายคนที่เป็นนักเคลื่อนไหว ผมก็ปกป้องเขาว่าพวกนี้เป็นนักเคลื่อนไหวตัวจริงและไม่ตั้งคำถามกับเพื่อนเพราะมั่นใจในประวัติศาสตร์การต่อสู้ แต่เมื่อคิดต่างกันก็ว่ากันไป”

เอกชัยกล่าวว่าเราต้องจัดการรัฐบาลที่ฉ้อฉล แต่เอ็นจีโอไม่ได้มีกำลังมวลชนมากขนาดจะสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ ทุกครั้งที่เข้าสู่กระบวนการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เอ็นจีโอก็เป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งเล็กๆ ของสังคมทุกครั้ง เป็นมวลชนระดับเล็กมาก แม้กับตอนที่ร่วมกับพันธมิตรฯ สนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรฯ ก็ชิงชังเอ็นจีโอ แต่วันนั้นจำเป็นต้องเข้าร่วมเพราะมีเป้าหมายร่วมกัน

“ผมไม่เคยคุยกับสุเทพ กับพรรคประชาธิปัตย์ แม้แต่นักการเมืองในพื้นที่อย่างถาวร เสนเนียม แต่สิ่งที่พวกคุณทำได้ดีกว่า พวกเราก็ร่วมมือในบางส่วนที่เราเห็นด้วย ไอ้ที่เราไม่เห็นด้วยเราก็ไม่ร่วมมือ ที่ไปเกี้ยเซี้ยะกัน เราไม่รู้ เราก็ประเมินและวางตัวห่างพอสมควร เราถือว่าอะไรที่เราแสดงสิทธิในฐานะส่วนตัว เราทำแน่นอน แต่นั่นไม่ใช่กระบวนการเอ็นจีโอ

“เราก็ตั้งคำถามกับเพื่อนพี่น้องที่เป็นนักประชาธิปไตยว่า คุณเห็นความฉ้อฉลแล้วไม่ทำอะไรเลยหรือไง ยอมรับกับมันได้เพียงเห็นประชาธิปไตยเป็นกระบวนการเปลี่ยนผ่าน แต่พวกเราอยู่ในพื้นที่รับกันไม่ได้แล้ว นี่เป็นการผูกขาดโดยวาทกรรมประชาธิปไตย พวกผมอยู่ภาคใต้ก็เห็นประชาธิปัตย์ก็ทำแบบนี้ ไทยรักไทยก็ทำเหมือนกัน และทหารก็กำลังทำแบบเดียวกันอีกในยุคปัจจุบัน เวลาทำอะไรได้ก็ต้องลุกขึ้นมาจัดการตามกำลัง เพราะเราก็ไม่ได้มีกำลังมาก ถ้าเอ็นจีโอล้มเขาได้จริง คงล้มเขาไปนานแล้ว แต่เราก็ไม่มีปัญญา ไม่มีกำลังพอไปล้มหรอก แต่เราก็จำเป็นต้องทำให้รัฐบาลที่ฉ้อฉลและมีอำนาจปืนออกไป ไม่ต้องมาด่ากันเองแล้ว ปฏิบัติการเลย จะเอายังไงก็ว่ากัน”

พรรคสามัญชนคือใคร และทำไมต้องไปจัดประชุมใหญ่ที่ ‘บ้านนาหนองบง’ จ.เลย, ประชาไท, 17 กันยายน 2561

ตั้งพรรคสามัญชน-ลั่นปลดอาวุธ คสช. ด้วยมือเปล่า, ประชาไท, 22 กันยายน 2561

เอกชัย อิสระทะ แถลงลาออกจากทุกตำแหน่งในพรรคสามัญชน, ประชาไท, 5 ตุลาคม 2561

เมื่อพรรคของ ‘ตาสีตาสา’ จะเข้าสู่การเมืองในระบบ คุยกับ ‘เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์’ หัวหน้าพรรคสามัญชน, The Momentum, 8 ตุลาคม 2561

ลาออกเพื่อยุติปัญหา

เอกชัยตอบคำถามว่าทำไมจึงเลือกลาออกจากสมาชิกพรรคสามัญชนว่า ในระยะยาว ตัวเขาและพี่น้องเขาคูหาจะสร้างปัญหาให้กับทางพรรค อีกทั้งถ้าเขายังอยู่ในพรรคก็ไม่น่าจะเป็นประโยชน์สักเท่าไหร่ เพราะขณะนี้สมาชิกภาคใต้มีไม่มาก การขยายฐานใหม่ของสามัญชนภายใต้ฐานคิดของตนเองควรต้องเป็นการขยับของกลุ่มคนที่มีอุดมคติเดียวกัน มีการขับเคลื่อน และประวัติศาสตร์เดียวกันมากกว่า
การถูกภาคทัณฑ์และการที่สมาชิกจำนวนหนึ่งรวบรวมรายชื่อเพื่อปลดออกจากตำแหน่งรองหัวหน้าพรรคมีผลต่อการตัดสินใจลาออกหรือไม่

“ไม่มี ภาคทัณฑ์ผมเป็นคนรับผิดเอง ตอนประชุมวันนั้นผมก็ออกจากที่ประชุมไป 2 ชั่วโมง ให้เขาพิจารณาอย่างอิสระ พอมีมติแบบนั้น ผมเพิ่มภาคทัณฑ์ว่าด้วยบทบาทรองหัวหน้าพรรค ขอถอนตัวทั้งหมด ภาคทัณฑ์มันน้อยไป ผมยอมรับว่าทำเอกสารชิ้นนั้นโดยไม่เอาจริงเอาจังกับภูมิหลังจริงและเปิดช่องให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์

“ส่วนเรื่องการรวบรวมรายชื่อเพื่อถอดถอน ถ้าเข้าสู่กระบวนการถอดถอนก็ต้องกลับไปสู่การประชุมวิสามัญใหญ่ วันนั้นผมรู้สึกว่าดี แต่พอกลับมาทบทวนอีกที การประชุมใหญ่ไม่ได้ง่าย ต้องใช้ต้นทุนแต่ละกลุ่มสูงมาก แล้วตอนนี้มีสมาชิกประมาณสามสี่ร้อย การเข้าชื่อก็ต้องประมาณห้าหกเจ็ดสิบคน ซึ่งก็ไม่ง่ายถ้าเทียบกับคนที่สมัครเป็นสมาชิกแล้วซึ่งเป็นเครือข่ายที่ร่วมวีวอล์ค แล้วมติที่ออกมาอาจแค่เอาผมออกหรือรับรองผมใหม่ แต่ความขัดแย้งยังเหมือนเดิม ผมเลยคิดว่าเราเป็นเงื่อนไขให้พรรคเคลื่อนไหวยาก ขณะที่มีเวลาอีกเดือนกว่าๆ ในการหาเงิน 1 ล้าน หาสมาชิกให้ครบ 500 คน เคลียร์ผมคนเดียวง่ายกว่า ผมเลยไปขอคุยกับเลิศอีกครั้ง ถ้าผมเป็นเงื่อนไขที่ทำให้พรรคก้าวไปไม่ได้ เราจัดการตัวเองน่าจะดีกว่า

“เพราะการขับเคลื่อนในภาคใต้ ถ้าคนเข้ามาเพราะเชื่อผม พอฐานเสียงมันโตขึ้นแล้วจะกลายเป็นปัญหา เคลียร์ตัวเราออกจากพรรค คนที่ยังอยู่กับเคลื่อนไป มันจะทำให้ไม่ก่อความขัดแย้ง เพราะหลายคนที่เห็นต่างเพราะภูมิหลังของผมก็มีคำขาดพอสมควร คือถ้าผมยังอยู่เขาก็คงจะไป ผมเข้ามาอยู่ในสามัญชนด้วยระยะเวลาน้อยมาก คนที่ทำกันมานาน ควรอยู่มากกว่าผม”

เอกชัยกล่าวว่า พรรคควรใช้กรณีของเขาเป็นบทเรียน เป็นกรอบในการขยายคน ชุดคิด และอุดมการณ์ หรือขับเคลื่อนงานไปข้างหน้า เพื่อไม่ให้เกิดเงื่อนไขแบบนี้ขึ้นอีก ซึ่งเขาคาดหวังว่าสามัญชนจะเป็นตัวแทนคนชายขอบแบบพวกเขาได้

เอกชัยเชื่อด้วยว่าเหตุการณ์นี้จะไม่มีผลต่อการขับเคลื่อนของภาคประชาชนในพื้นที่ภาคใต้และการทำงานร่วมกันระหว่างภูมิภาค

“เราแยกเรื่องของพรรคและการเคลื่อนไหวโดยรวมออกจากกันอยู่แล้ว ในกลุ่มนักเคลื่อนไหวภาคใต้ด้วยกันก็ไม่เอารัฐประหารชัดเจน จะปลดอาวุธ คสช. (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) ก็ชัดเจน รัฐบาลนี้ไม่มีความชอบธรรมที่จะขยับต่อ หรือรัฐธรรมนูญที่จำเป็นต้องแก้ เราก็ชัดเจนว่าต้องแก้ ประเด็นพวกนี้เราชัดและไม่เห็นต่างกับกลุ่มความคิดนี้เลย ยกเว้นบางกลุ่มที่ยังเหมารวมอยู่ ซึ่งแบบนั้นผมก็คงไปร่วมยาก”
จะอภัยอย่างไร?

มีผู้คนที่สูญเสียหลายสิ่งจากเหตุการณ์รัฐประหารทั้งสองครั้ง กับคนเหล่านั้นจะให้อภัยกับผู้ที่สร้างเงื่อนไขให้เกิดการรัฐประหารอย่างไร

“ผมว่ามันไม่ใช่เรื่องการให้อภัย เพราะเราไม่ได้ทำอะไรที่ผิด นั่นเป็นกรอบคิดของเขาเองที่บอกว่าพวกผมเป็นอย่างนั้น เขาตีตรา หลายคนไม่ชอบกับการตีตรา แต่เอาเข้าจริงพวกคุณก็ตีตราพี่น้องภาคใต้ไปแล้วว่าเป็นอย่างนั้น คิดอย่างนั้น เช่นกันกับพี่น้องภาคใต้ไปตีตราพี่น้องภาคอื่น ซึ่งไม่ควร พี่น้องที่ตีตราคนภาคอีสานว่าเป็นเสื้อแดง ผมก็คิดว่าไม่ใช่ เราต้องช่วยกันเอาความจริงมาสู้กันมากกว่าตีตราและยืนยันการตีตราแบบนี้ไปเรื่อยๆ”

เอกชัยตั้งคำถามว่า ประชาชนต้องนิ่งเฉยเมื่อรัฐบาลทำสิ่งที่ไม่ถูกต้องหรือไม่ และเขาตอบว่า ไม่ เขาเห็นว่าสังคมประชาธิปไตยต้องแสดงออกได้

“ผมไม่ชอบรัฐบาลที่ฉ้อฉล ผมก็ควรออกมาประท้วงไหม แล้วพอออกมาประท้วง ทหารทำรัฐประหารอีก ซวยเลย ผมรู้สึกว่าต่อไปเราเคลื่อนไหวร่วมกัน ปลดอาวุธ คสช. ปลดไปปลดมาก็รัฐประหารอีกรอบ เราก็กลายเป็นคนปูทางหรือเปล่า ก็ไม่ใช่ใช่ไหม การที่ประชาชนออกมาเพื่อปกป้องสิทธิของตัวเองและชัดเจนว่าไม่อยากเห็นรัฐประหารอีก แต่เราก็ห้ามเขาไม่ได้ เพราะเขาเป็นตัวกระทำทุกที ผมจึงรู้สึกว่าเขาไม่จำเป็นต้องให้อภัยพวกผม เพราะพวกผมไม่ได้ทำและถ้าเขาอยากจะให้อภัย ก็ไม่เป็นไรหรอก คุณก็เคลื่อนไหวไปเลย แล้วอะไรที่พวกผมเห็นด้วยร่วมกันแล้วผมร่วมกับใครได้ ผมก็ร่วม หรือไม่ก็แยกกันเคลื่อน”

เมื่อกล่าวถึงประเด็นที่นักวิชาการบางคนแสดงทัศนะว่า สาเหตุหนึ่งที่ทำให้คณะรัฐประหารชุดนี้อยู่ได้ยาวนาน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความแตกแยกในกลุ่มเอ็นจีโอและภาคประชาชน สำหรับเอกชัย เขาเห็นด้วยแค่ส่วนหนึ่ง เพราะการเคลื่อนไหวของวีวอล์คก็เกิดจากการรวมตัวของผู้คนที่เคยขัดแย้งกันมาก่อน
“กลุ่มที่ยืนยันว่าไม่เอาด้วย ไม่ร่วมสังฆกรรม ก็ต้องว่ากันไป แต่ถึงยังไงเราก็ต้องร่วมกันขยับไปสู่สิ่งที่เราฝันร่วมกันให้ได้ เอาทหารออกไปและกลับเข้าสู่กระบวนการประชาธิปไตย แต่ถ้าจะบอกว่าจะรวมกันได้ไหม นานแค่ไหน ไม่ว่าจะนานแค่ไหนก็ต้องทำ ผมว่าประชาชนเองก็เติบโตขึ้นเยอะ ไม่ต้องหวังว่าเอ็นจีโอหรือภาคประชาสังคมจะต้องสามัคคีกัน ก็ไปกันอย่างนี้แหละ ขอแค่ให้มีผู้ไม่จำยอมมากขึ้นเท่านั้นเอง”
ตราประทับและบทเรียน

อีกนานแค่ไหนที่ตราประทับบนตัวเขาจะถูกลบออกได้ เอกชัยตอบว่าไม่รู้และไม่คิดว่าต้องลบ เพราะมันเป็นความคิดของแต่ละคนที่จะคิด และความเป็นจริงตัวเขาก็ไม่ได้คิดเช่นเดียวกับที่ถูกประทับตรา เขาเชื่อว่าเมื่อถึงจุดหนึ่งมันจะเลือนหายไปเอง หรือต่อให้ไม่เลือนหายและจารึกเป็นประวัติศาสตร์ เขาบอกว่าก็ไม่เป็นไร เพราะมันเป็นประวัติศาสตร์ที่ไม่เป็นจริง

เอกชัยพูดสิ่งที่เกิดขึ้นที่สร้างบทเรียนให้กับตัวเองว่า เราไม่ควรตีตราใครจนกว่าจะผ่านการค้นหาข้อมูล วิเคราะห์ สังเคราะห์ แล้ววิพากษ์อย่างตรงไปตรงมาบนพื้นฐานของการเป็นมนุษย์ด้วยกัน ซึ่งน่าจะดีกว่าการกล่าวหาอย่างรุนแรงผ่านเฟสบุ๊คหรือสังคมออนไลน์

อีกมุมหนึ่ง เอกชัยคิดว่าการที่เขาก้าวออกมาจากพรรคก็เป็นเรื่องดีต่อเป้าหมายระยะยาวของตน นั่นคือการบวช เพราะหากก้าวเข้าสู่การเมืองแล้วคงหลุดออกมาได้ยาก หลังจากนี้คือการกลับไปตั้งหลักกับการดำรงชีวิตเพื่อไปสู่เป้าหมายที่ตั้งใจ และกลับไปทำงานพื้นฐานปกติที่เขาคูหากับอีกหลายโครงการขนาดใหญ่จะลงสู่พื้นที่ภาคใต้ในอนาคต

“พอชีวิตลงตัวเมื่อไหร่ สงบเย็นพอที่จะบวชได้ก็จะบวชในบั้นปลายชีวิต”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท