Skip to main content
sharethis

BioThai  ฉะกระทรวงพาณิชย์ เอาใจทุนใหญ่ ชงเข้า CPTPP ชี้ผลกระทบเกินเยียวยา เอฟทีเอว็อทช์เตรียมส่งหนังสือถามจุดยืนการค้าทุกพรรคการเมือง รื้อใหญ่หลังยุค คสช. ด้าน พณ.เตือนให้ไทยเตรียมพร้อม หลัง CPTPP เริ่มใช้ 30 ธ.ค.61

6 พ.ย.2561 กรณีกระทรวงพาณิชย์ จะเสนอ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯให้ประเทศไทยเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิค (CPTPP) โดย กระทรวงพาณิชย์ยอมรับว่าจากการรับฟังความคิดเห็นมีความห่วงกังวลเรื่องผลกระทบการเข้าเป็นภาคีในอนุสัญญา UPOV1991 ซึ่งมีข้อคัดค้านจากหลายฝ่ายว่าจะทำให้เกิดผลกระทบต่อเกษตรกรรายย่อย และความมั่นคงทางอาหารว่า แต่จะมีการหารือกับหน่วยงานที่ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้มีการเยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้น

วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (BioThai) ชี้ว่า เป็นเรื่องเป็นไปไม่ได้ที่จะเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ เพราะจากการศึกษาการเข้าร่วมเป็นภาคีในอนุสัญญา UPOV1991 หรือการแก้กฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืชของไทยเพื่อให้สอดคล้องกับอนุสัญญาฉบับดังกล่าว จะทำให้เกษตรกรต้องซื้อราคาเมล็ดพันธุ์มีราคาสูงขึ้นตั้งแต่ 2-6 เท่า ซึ่งเกิดจากการเพิ่มระยะเวลาการผูกขาดและการจำกัดสิทธิเกษตรกรในการเก็บรักษาและพัฒนาพันธุ์พืช ตลอดจนส่งผลกระทบต่อนักปรับปรุงพันธุ์รายย่อย 

“จากการเปรียบเทียบกับประเทศที่มีการผูกขาดพันธุ์พืชโดยใช้กฎหมายสิทธิบัตรพันธุ์พืชหรือ UPOV1991 พบว่าราคาเมล็ดพันธุ์ที่เกษตรกรต้องจ่ายจะเพิ่มขึ้นจาก 28,500 ล้านบาท/ปี เป็น 80,700 ล้าน ถึง 142,900 ล้านบาท ซึ่งนี่เป็นตัวเลขงานวิจัยเมื่อปี 2559 ปัจจุบันตัวเลขผลกระทบจะยิ่งเพิ่มขึ้น ถามว่ารัฐบาลจะเอาเงินจากใครมาเยียวยาเกษตรกรที่จะได้รับผลกระทบเหล่านี้" วิฑูรย์ กล่าว

“ผู้ที่ได้ประโยชน์จากการแก้กฎหมายเพื่อให้เป็นไปตามอนุสัญญาดังกล่าวนอกจาก บริษัทซาคาตะ และตาคิอิของญี่ปุ่น ซึ่งเป็น 1 ใน 10 บริษัทเมล็ดพันธุ์ยักษ์ใหญ่ของโลกแล้ว บริษัทยักษ์ใหญ่เช่น มอนซานโต้/ไบเออร์ ซินเจนทา/เคมไชน่า  รวมทั้งบริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์ยักษ์ใหญ่ด้านเมล็ดพันธุ์และการเกษตรซึ่งเป็นพันธมิตรกับทั้งมอนซานโต้/ไบเออร์ และกับตาคิอิจะได้ประโยชน์ไปพร้อมๆกันด้วย”

“ผลกระทบที่ไม่อาจประเมินค่าและไม่อาจเยียวยาได้คือผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารและทรัพยากรชีวภาพของประเทศซึ่งนักวิชาการจากหลายสถาบันได้เตือนเอาไว้ก่อนหน้านี้” ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถีกล่าว

กรรณิการ์ กิจติเวชกุล รองประธานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอว็อทช์) กล่าวว่า การเดินหน้าเข้าร่วม CPTPP มีความพยายามเอาเรื่องการขยายตัวทางเศรษฐกิจมาบังหน้า แต่ที่จริงแล้วจะเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านการเกษตรซึ่งสนับสนุนรัฐบาลคสช.มากกว่าจะเป็นไปเพื่อประโยชน์ต่อเกษตรกรรายย่อย บริษัทเหล่านี้ได้ผลประโยชน์มหาศาลมากพอแล้วในช่วงรัฐบาลทหาร 

“การเข้าร่วมใน CPTPP ทำให้ต้องแก้กฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืช จะเป็นการสืบทอดผลประโยชน์มหาศาลแก่กลุ่มบริษัทเมล็ดพันธุ์และยักษ์ใหญ่การเกษตรดังกล่าว ไม่ว่ารัฐบาลคสช.จะประสบผลสำเร็จในการสืบทอดอำนาจหลังการเลือกตั้งหรือไม่ก็ตาม” กรรณิการ์ กล่าว

ทั้งนี้ เอฟทีเอ ว็อทช์จะทำหนังสือถึงพรรคการเมืองทุกพรรคเพื่อถามถึงจุดยืนที่มีผลกระทบต่อเกษตรกร ประชาชน สังคม จากการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ และนโยบายการจัดการปัญหาการผูกขาดทางเศรษฐกิจ รวมทั้งจะจัดเวทีดีเบตพรรคการเมืองเพื่อเป็นแนวทางให้ประชาชนใช้ตัดสินใจในการเลือกตั้ง 

"เรายังหวังว่า รัฐบาล คสช.จะไม่ลักไก่ใช้ช่วงระยะเวลาเปลี่ยนผ่านที่ประเทษไทยจะมีการเลือกตั้ง นำประเทศไทยไปผูกพันกับเรื่องที่มีผลกระทบผูกพันชั่วลูกชั่วหลานโดยที่ประชาชนทั้งประเทศไม่มีโอกาสร่วมตัดสินใจอย่างแท้จริง" รองประธานเอฟทีเอว็อทช์ กล่าว

พณ.เตือนให้ไทยเตรียมพร้อม หลัง CPTPP เริ่มใช้ 30 ธ.ค.61

วานนี้ (5 พ.ย.61) มติชนออนไลน์ รายงานว่า สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 31 ต.ค. ที่ผ่านมา ออสเตรเลียเป็นประเทศลำดับที่ 6 ที่ได้ให้สัตยาบันความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) และยื่นต่อนิวซีแลนด์ ในฐานะประเทศผู้เก็บรักษาสนธิสัญญาอย่างเป็นทางการ ส่งผลให้ปัจจุบันมีประเทศสมาชิก CPTPP ที่ให้สัตยาบันความตกลงฯ แล้ว 6 ประเทศ ได้แก่ เม็กซิโก ญี่ปุ่น สิงคโปร์ นิวซีแลนด์ แคนาดา และออสเตรเลีย ซึ่งตามเงื่อนไขความตกลง CPTPP จะมีผลใช้บังคับ 60 วัน หลังมีสมาชิกอย่างน้อย 6 ประเทศ จาก 11 ประเทศ ให้สัตยาบัน ดังนั้น จึงทำให้ความตกลง CPTPP จะเริ่มมีผลใช้บังคับในวันที่ 30 ธ.ค. 2561 

สนธิรัตน์กล่าวว่า สำหรับการเตรียมการของไทย กระทรวงพาณิชย์ได้จัดตั้งคณะทำงานเตรียมการพิจารณาเข้าร่วมความตกลง CPTPP ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อประเมินผลประโยชน์ และผลกระทบต่อการเข้าร่วมเป็นสมาชิก CPTPP ของไทย รวมถึงได้เดินสายจัดสัมมนารับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนในทั่วทุกภูมิภาคเกี่ยวกับความตกลง CPTPP โดยได้จัดสัมมนารับฟังความเห็นไปแล้ว 5 ครั้ง ทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค ในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน 2561 ซึ่งมีผู้เข้าร่วมทั้งหมดกว่า 1,400 คน ครอบคลุมผู้เข้าร่วมสัมมนาจาก 40 จังหวัดทั่วประเทศ ในภาพรวมภาคเอกชนสนับสนุนการเข้าร่วม CPTPP โดยเสนอให้เตรียมความพร้อมและศักยภาพผู้ประกอบการ บางภาคส่วน เช่น เกษตรกร ภาคประชาสังคม ยังมีความกังวลในบางประเด็น เช่น การเข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญา UPOV1991 การเปิดตลาดการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ และความสามารถในการแข่งขันของไทย เป็นต้น ซึ่งจำเป็นจะต้องหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมความพร้อมผู้ได้รับผลกระทบ เพื่อให้มั่นใจว่าหากไทยตัดสินใจเข้าร่วมเป็นสมาชิก CPTPP ในอนาคต ก็จะต้องเกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศ และมีมาตรการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเข้าร่วมความตกลงการค้าเสรี 

สนธิรัตน์กล่าวว่า ในเดือนพฤศจิกายนนี้ กระทรวงจะจัดประชุมคณะทำงานเตรียมการพิจารณาเข้าร่วมความตกลง CPTPP เพื่อให้หน่วยงานต่างๆได้นำเสนอความเห็นผลการวิเคราะห์ประโยชน์และผลกระทบการเข้าเป็นสมาชิกความตกลง CPTPP ของไทย เพื่อรวบรวมข้อมูลเสนอ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี พิจารณาแนวทางดำเนินการของไทยในเรื่องนี้ต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net