Skip to main content
sharethis

สืบเนื่องจากวันที่ 28 ก.พ.56 ประชาชนและองค์กรภาคประชาสังคมต่างๆ ได้ชุมนุมหน้าทำเนียบรัฐบาล เพื่อแสดงความกังวลต่อกรอบการเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรีไทย -สหภาพยุโรป (Thai-EU FTA) และเรียกร้องกระบวนการเจรจาที่มีธรรมาภิบาลและโปร่งใส โดยผลจากการหารือระหว่างตัวแทนผู้ชุมนุมและ ดร.โอฬาร ไชยประวัติ หัวหน้าคณะเจรจาฯ ดร.โอฬาร ได้ให้คำมั่นสัญญาว่าจะส่งเสริมการมีส่วนร่วมตามหลักธรรมาภิบาลและความโปร่งใส เช่น การที่คณะเจรจาฯ จะรายงานผลความคืบหน้าการเจรจาในแต่ละรอบให้กับผู้มีส่วนได้เสียและภาคประชาสังคม พร้อมกับรับฟังความคิดเห็นเพื่อเตรียมการเจรจารอบต่อไป และจัดตั้งคณะกรรมการที่ประกอบด้วยตัวแทนจากภาคส่วนต่างๆอย่างสมดุล เพื่อให้คำปรึกษาและเสนอแนะท่าทีการเจรจาในภาพรวม

กลุ่มศึกษาเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) และเครือข่ายระบุว่า ขณะนี้เป็นระยะเวลาเกือบ 1 เดือนเต็มแต่ยังไม่มีความคืบหน้าในประเด็นที่ได้มีสัญญาประชาคมไว้อย่างชัดเจน  ภาคประชาสังคมจึงขอส่งจดหมายเปิดผนึก ทวงถาม ดร.โอฬาร ไชยประวัติ หัวหน้าคณะเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนางพิรมล เจริญเผ่า อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ขอให้ให้ความกระจ่างในเรื่องนี้กับสาธารณะโดยเร็วที่สุด พร้อมทั้งจัดให้มีการแจ้งความคืบหน้าเพื่อรับฟังความเห็นตามข้อตกลงสัญญาประชาคมในทันที

 

รายละเอียดมีดังนี้

 

วันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2556

 

เรื่อง    กระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป

เรียน    ดร.โอฬาร ไชยประวัติ

          หัวหน้าคณะเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป 

สำเนาเรียน        นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

นางพิรมล เจริญเผ่า อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์

สื่อมวลชน

                       

ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 ประชาชนและองค์กรภาคประชาสังคมต่างๆ ได้ชุมนุมหน้าทำเนียบรัฐบาล เพื่อแสดงความกังวลต่อกรอบการเจรจาฯ และเรียกร้องกระบวนการเจรจาที่มีธรรมาภิบาลและโปร่งใส  หลังจากที่ตัวแทนผู้ชุมนุมได้เข้าหารือกับดร.โอฬาร ไชยประวัติ หัวหน้าคณะเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป โดยมีนางพิรมล เจริญเผ่า อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เข้าร่วมหารือด้วย  ผลการหารือ ดร.โอฬาร ไชยประวัติได้ให้คำมั่นสัญญาไว้ว่าจะส่งเสริมการมีส่วนร่วมตามหลักธรรมาภิบาลและความโปร่งใส โดยมีรายละเอียดซึ่งได้มีการเผยแพร่ผ่านสื่อมวลชน ดังนี้

1.      จะมีการรายงานผลความคืบหน้าการเจรจาในแต่ละรอบการเจรจาให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย นักวิชาการ และภาคประชาสังคมที่ติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด รวมถึงผู้แทนหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง พร้อมกับรับฟังความคิดเห็นเพื่อเตรียมการสำหรับการเจรจาในครั้งต่อไป

2.      จะตั้งคณะกรรมการที่จะให้คำปรึกษาและเสนอแนะท่าทีการเจรจาในภาพรวม ที่ประกอบไปด้วยตัวแทนจากภาคส่วนต่างๆ อย่างสมดุล ก่อนสิ้นเดือนมีนาคม

3.      จะให้มีการตั้งอนุกรรมการหรือคณะทำงานเฉพาะประเด็นที่มีความอ่อนไหวตามที่ภาคประชาสังคมนำเสนอ (ทรัพย์สินทางปัญญาเรื่องยาและพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์ สินค้าสุราและยาสูบ การลงทุนในภาคเกษตรและทรัพยากรทางธรรมชาติ และการคุ้มครองการลงทุน) เพื่อสนับสนุนข้อมูลและให้คำแนะนำท่าทีการเจรจาเฉพาะประเด็นในเชิงลึก

จนถึงวันนี้ เป็นระยะเวลาเกือบหนึ่งเดือนเต็มแล้ว รวมถึงทางคณะเจรจาก็ได้เดินทางกลับจากการพบปะพูดคุยกับฝ่ายสหภาพยุโรปในรอบแรกเป็นเวลานานแล้ว แต่ยังไม่มีความคืบหน้าในประเด็นที่ได้มีสัญญาประชาคมไว้  ภาคประชาสังคมได้ใช้ความพยายามในการสอบถามและติดตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นฝ่ายเลขาฯ ให้กับคณะเจรจา และดร.โอฬาร ไชยประวัติได้แจ้งว่าจะเป็นผู้ประสานในเรื่องนี้  แต่กลับได้รับคำตอบที่ไม่ชัดเจนและมีความสับสน ข้อมูลเพียงประการเดียวซึ่งได้รับอย่างไม่เป็นทางการมีว่า รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ได้ลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาหนึ่งชุด แต่ทางภาคประชาสังคมไม่ทราบว่าเกี่ยวข้องกับประเด็นที่กล่าวมามากน้อยเพียงไร ซึ่งหากจะเกี่ยวก็จะเป็นเฉพาะในกรณีข้อ 2. เท่านั้น

จึงขอเรียกร้องให้ผู้รับผิดชอบให้ความกระจ่างในเรื่องนี้กับสาธารณะโดยเร็วที่สุด พร้อมทั้งจัดให้มีการแจ้งความคืบหน้าเพื่อรับฟังความเห็นตามข้อ 1. ในทันที

ภาคประชาสังคมยังมีความเชื่อมั่นในรัฐบาลและดร.โอฬาร ไชยประวัติ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การเจรจากับสหภาพยุโรปนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิสัมพันธ์เชิงบวกระหว่างรัฐบาลและภาคส่วนต่างๆ เพื่อจะนำมาซึ่งผลการเจรจาที่มีประโยชน์สูงสุดและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

 

 

ขอแสดงความนับถือ 

(ผศ. ภญ. สำลี ใจดี) 

กลุ่มศึกษาเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch)

เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย, เครือข่ายองค์กรงดเหล้า, เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก, สมัชชาคนจน, เครือข่ายสลัม ๔ ภาค, ชมรมเพื่อนโรคไต, เครือข่ายเพื่อนมะเร็ง, คณะกรรมการองค์การพัฒนาเอกชนด้านเอดส์, มูลนิธิเข้าถึงเอดส์, มูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์, มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, มูลนิธิเภสัชชนบท, ชมรมเภสัชชนบท, กลุ่มศึกษาปัญหายา, มูลนิธิชีววิถี, มูลนิธิบูรณะนิเวศ, มูลนิธิสุขภาพไทย, กลุ่มเพื่อนแรงงาน, เครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์, เครือข่ายชุมชนผู้ได้รับผลกระทบจากแอลกอฮอล์, เครือข่ายชุมชนเฝ้าระวังภัยแอลกอฮอล์ กทม., เครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่, เครือข่ายคนทำงานด้านการลดอันตรายจากการใช้สารเสพติด (12D), โครงการศึกษาและปฏิบัติการงานพัฒนา, ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ, เครือข่ายพันธมิตรเพื่อการควบคุมยาสูบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEATCA), และโครงการศึกษาและปฏิบัติการงานพัฒนา

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net