UN กังวลเหตุตำรวจพม่ายิงชาวโรฮิงญาในค่ายผู้ลี้ภัย อ้างเข้าไปจับผู้ลอบขนคน

เกิดเหตุตำรวจพม่ายิงชาวโรฮิงญาในค่ายผู้ลี้ภัยที่รัฐยะไข่ มีคนที่ถูกกล่าวหาว่าลักลอบขนคนถูกจับกุมตัวไป ทำให้เจ้าหน้าที่สหประชาชาติเกิดความกังวลในเรื่องนี้ ด้านนักสิทธิมนุษยชนวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลพม่าเหตุทำข้อตกลงส่งตัวชาวโรฮิงญาที่หนีตายไปบังกลาเทศ

บ้านเรือนในค่ายผู้ลี้ภัยที่รัฐยะไข่ ภาพเมื่อปี 2558 (ที่มา: แฟ้มภาพ)

เมื่อ 19 พ.ย. ที่ผ่านมา สื่อวอยซ์ออฟอเมริการายงานว่า คนุต โอสต์บี ผู้ประสานงานด้านที่พักพิงและความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ออกมาแสดงความเป็นหว่งอย่างมากกรณีมีการยิงชาวโรฮิงญาในค่ายผู้ลี้ภัย Ah Nauk Ye ที่ตอนกลางของรัฐยะไข่ ประเทศพม่า ค่ายผู้ลี้ภัยดังกล่าวเป็นที่พักพิงของผู้พลัดถิ่นภายในประเทศซึ่งหนีจากความรุนแรงมาตั้งแต่ปี 2555 โอสต์บีเรียกร้องให้เกิดความสงบ ไม่ใช้ความรุนแรงและมีความยับยั้งช่างใจ

นอกจากนี้ในบันทึกข้อความถึงผู้สื่อข่าวของยูเอ็นยังระบุอีกว่า ทางยูเอ็นจะคอยติดตามสถานการณ์ในรัฐยะไข่ต่อไป ทั้งนี้ สื่อจากต่างประเทศรายงานโดยอ้างอิงปากคำของผู้เห็นเหตุการณ์ว่ามีตำรวจพม่ายิงชาวโรฮิงญาได้รับบาดเจ็บ 4 รายในช่วงวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (18 พ.ย.) รวมถึงมีการจับกุมคน 2 คน ที่ถูกกล่าวหาว่าลักลอบขนคนออกจากค่ายผู้ลี้ภัยในยะไข่

ในรายงานข่าวระบุว่ามีตำรวจราว 20 นาย เข้าไปที่ค่ายผู้ลี้ภัย Ah Nauk Ye แล้วจับกุมคน 2 คน โดยกล่าวว่าว่าพวกเขามี "เรือผุๆ" ที่ครั้งหนึ่งเคยใช้ลำเลียงคน 160 ออกจากค่ายผู้ลี้ภัยรวมถึงเด็ก 25 ราย แต่ถูกจับได้เสียก่อน ผู้เห็นเหตุการณ์กล่าวว่า ตำวจเหล่านั้นเข้ามาที่ค่ายแล้วก็เปิดฉากยิงคนในค่ายที่ออกมาดู

อย่างไรก็ตาม ตำรวจพม่าบอกกับสื่อในอีกแบบหนึ่ง พวกเขาใช้คำเรียกเชิงเหยียดชาวโรฮิงญาว่าเป็น "พวกเบงกาลี" พวกเขาอ้างว่าชาวโรฮิงญาเหล่านั้นล้อมพวกเขาด้วยดาบและขว้างปาก้อนหินใส่พวกเขาเมื่อพวกเขาพยายามจับกุมคนในค่ายนั้นทำให้ตำรวจต้อง "ยิงเพื่อเตือน"

ทางการพม่าเคยก่อเหตุสังหาร เผาบ้านเรือน และข่มขืนประชาชนชาวโรฮิงญาเมื่อเดือน ส.ค. ปีที่แล้ว ทำให้ชาวโรฮิงญาที่รอดชีวิตจำนวนมากลี้ภัยไปยังบังกลาเทศ อย่างไรก็ตามเมื่อไม่นานนี้ รัฐบาลพม่าทำข้อตกลงร่วมกับบังกลาเทศเพื่อให้มีการส่งตัวชาวโรฮิงญากลับประเทศ โดยมีชาวโรฮิงญาราว 150 รายที่มีกำหนดการจะถูกส่งตัวกลับรัฐยะไข่ อย่างไรก็ตามผู้ลี้ภัยบางคนก็พากันหลบหนีเพราะไม่อยากถูกส่งตัวกลับพม่า นอกจากน้ยังมีประชาชนชาวโรฮิงญาราว 1,000 ราย ประท้วงแสดงความไม่พอใจการส่งตัวกลับประเทศ

ทางคณะกรรมาธิการผู้ลี้ภัยของบังกลาเทศกล่าวว่าในข้อตกลงของพวกเขาพม่าไม่สามารถบังคับให้ผู้ลี้ภัยกลับประเทศได้ ทั้งนี้กลุ่มสิทธิมนุษยชนยังเรียกรองให้พม่ากับบังกลาเทศเลิกส่งตัวชาวโรฮิงญากลับประเทศโดยบอกว่ามันเป็นการกระทำ "ไร้ความยั้งคิด" ที่จะทำให้ผู้คนโดยเฉพาะผู้หญิงและเด็กกลับไปอยู่ใต้เงื้อมมือของกองทัพพม่าซึ่งกำลังมีคดีพิจารณาโดยศาลโลกและถูกระบุจากยูเอ็นว่าการสังหารชาวโรฮิงญาเมื่อปีที่แล้ว "มีเจตนาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์"

เรียบเรียงจาก

Rohingya Shot in Camp in Myanmar, Voa News, Nov. 19, 2018

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท