Skip to main content
sharethis

ผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติเปรียบเทียบสภาพการณ์ปัจจุบันในรัฐยะไข่ ประเทศพม่า ที่มีความตึงเครียดเพิ่มมากขึ้นจากการบังคับเกณฑ์ทหาร, สงคราม และการโจมตีด้วยการวางเพลิง ว่าเป็นสภาพการณ์ลักษณะคล้ายกับตอนก่อนที่จะเกิดการสังหารหมู่แบบเมื่อ 8 ปีที่แล้ว


ชาวโรฮิงญาในค่ายผู้อพยพภายในประเทศ ที่รัฐอาระกัน ทางตะวันตกของพม่า เมื่อปี พ.ศ. 2555 | ที่มาภาพ: Wikipedia

ผู้เชี่ยวชาญของสหประชาชาติเตือนเมื่อวันที่ 4 ก.ค. ที่ผ่านมาว่า รัฐยะไข่ของพม่า กำลังเผชิญกับสถานการณ์ที่น่าหวาดกลัว คล้ายกับช่วงก่อนเกิด "ความรุนแรงระดับฆ่าล้างเผ่าพันธุ์" เมื่อ 8 ปีที่แล้ว ที่กองทัพพม่าทำการปราบปรามชนกลุ่มน้อยชาวโรฮิงญา

โทมัส แอนดรูวส์ ผู้รายงานพิเศษด้านสถานการณ์ของพม่ากล่าวต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติ ระบุว่าเหตุการณ์ที่พื้นที่ภาคตะวันตกของพม่ามีความน่าตระหนกอย่างมาก

"สถานการณ์ในรัฐยะไข่ที่ๆ ฝ่ายเผด็จการทหารกำลังสูญเสียพื้นที่ให้กับกองกำลังอาระกันอาร์มีอย่างรวดเร็วนั้น อยู่ในภาวะที่น่าหวาดกลัว" แอนดรูวส์กล่าว

"สำหรับประชาชนชาวโรฮิงญา ผู้ที่ถูกกดขี่, ถูกทำให้เป็นแพะรับบาป, ถูกรีดไถผลประโยชน์ และติดอยู่ระหว่างการสู้รบของสองฝ่ายนั้น เป็นสถานการณ์ที่มีลักษณะเดียวกับสถานการณ์ที่นำไปสู่ความรุนแรงระดับฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในปี 2559 และปี 2560" แอนดรูวส์กล่าว

การปะทะกันเกิดขึ้นในรัฐยะไข่นับตั้งแต่ที่กองกำลังอาระกันอาร์มีหรือ AA ที่เพิ่งเปลี่ยนชื่อเป็น อาระคาอาร์มี เมื่อไม่นานนี้ ได้ทำการโจมตีกองทัพพม่าเมื่อเดือน พ.ย. 2566

การโจมตีในครั้งนั้นได้ทำให้สนธิสัญญาหยุดยิงสิ้นสุดลง นับตั้งแต่ที่มีสัญญาหยุดยิงในปี 2563 ทั้งสองฝ่ายก็มักจะการรักษาสัญญาเป็นส่วนใหญ่ เว้นแต่ในช่วงที่มีการสู้รบเป็นเวลาไม่กี่เดือนในปี 2565 สัญญาหยุดยิงนี้มีมาตั้งแต่ก่อนหน้าการรัฐประหารโดยกองทัพเมื่อปี 2564 แล้ว ซึ่งรัฐประหารครั้งหลังสุดนี้ นับเป็นการปิดฉากการทดลองประชาธิปไตยในพม่าที่มีอายุสั้น

กองกำลัง AA สามารถยึดพื้นที่เขตแดนได้เป็นวงกว้าง เพิ่มแรงกดดันให้กับเผด็จการทหารที่กำลังสู้รบกับศัตรูในที่อื่นๆ อยู่

แอนดรูวส์ ผู้เชี่ยวชาญอิสระที่ได้รับการแต่งตั้งโดยคณะมนตรีด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติซึ่งไม่ได้พูดในฐานะตัวแทนของยูเอ็น กล่าวว่ากองทัพได้ทำการเกณฑ์ "คนหนุ่มชาวโรฮิงญาหลายพันคนแล้วก็ระดมทัพให้พวกเขาต่อสู้กับอาระกันอาร์มี"

"ถึงแม้ว่าคนหนุ่มชาวโรฮิงญาจะถูกบังคับนำตัวไปที่แนวหน้าของการสู้รบทั้งที่พวกเขาไม่ต้องการ ความเป็นไปได้ที่จะมีการโต้ตอบจากสมาชิกของชุมชนอาระกันและการจมดิ่งสู่ความรุนแรงนั้นมีโอกาสเกิดขึ้นมาก" แอนดรูวส์กล่าว

แอนดรูวส์กล่าวว่ามีรายงานเรื่องที่ทหารของกองกำลัง AA มีส่วนพัวพันกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนพลเรือนชาวโรฮิงญา ในช่วงเวลาเดียวกับที่สถานการณ์ด้านมนุษยธรรมของทั้งชาวโรฮิงญาและชาวยะไข่ "อยู่ในระดับย่ำแย่ถึงขีดสุด"

แอนดรูวส์เปิดเผยว่า "มีผู้คนหลายหมื่นหรืออาจจะถึงหลายแสนคนที่เป็นผู้พลัดถิ่นในรัฐยะไข่"

เมื่อเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา กองกำลัง AA บอกว่าพวกเขายึดเมืองบูตีดองทางตอนเหนือของยะไข่เอาไว้ได้ ซึ่งเมืองนี้เป็นเมืองที่มีชาวมุสลิมโรฮิงญาอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก

ต่อมากลุ่มผู้พลัดถิ่นชาวโรฮิงญาได้กล่าวหาว่า AA บีบบังคับให้ชาวโรฮิงญาต้องหนีออกจากพื้นที่แล้วทำการปล้นสะดมกับเผาบ้านเรือนของพวกเขา ซึ่งทาง AA โต้ตอบกลับโดยกล่าวหาว่าสิ่งที่ชาวโรฮิงญาพูดเป็น "โฆษณาชวนเชื่อ"

กองกำลัง AA ที่สัญญาว่าจะยึดพื้นที่รัฐยะไข่ให้ได้ทั้งหมดนั้น ทำการปรับภาพลักษณ์ตัวเองโดยเปลี่ยนชื่อเป็น "อาระคาอาร์มี" เมื่อเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา เพื่อแสดงให้เห็นถึงความสนใจที่จะเป็นตัวแทนของชุมชนชาติพันธุ์ในรัฐยะไข่ ไม่ใช่เพียงแค่ชาวชาติพันธุ์ยะไข่ซึ่งเป็นชาวพุทธเท่านั้น

 


เรียบเรียงจาก
UN expert warns of looming ‘genocidal violence’ in Myanmar, Myanmar Now, 05-07-2024
 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net