Skip to main content
sharethis

ชวนคุยกับ ‘ชญานิน เตียงพิทยากร’ นักวิจารณ์หนัง ผู้รวมลิสต์ 8 หนัง-อีเวนต์ฉายหนังที่โดนเซ็นเซอร์ตั้งแต่ขั้นถ่ายทำยันจัดฉายในปี 61 และมองภาพรวมการเซ็นเซอร์หนังไทยที่อำนาจคณะกรรมการครอบจักรวาล ไม่ต้องรับผิด ไม่มีการจัดเรตติ้งอย่างจริงจัง เสนอแก้ พ.ร.บ.ภาพยนตร์ฯ กำหนดโทษคณะกรรมการ ยกเลิกการห้ามฉาย ให้เรตพร้อมเหตุผล

หลัง ‘ไทบ้านเดอะซีรี่ส์ 2.2’ ได้รับมติ ‘ห้ามฉาย’ จากคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดีทัศน์แห่งชาติหรือ ‘กองเซ็นเซอร์หนัง’  ด้วยเหตุผลว่าเกี่ยวกับประเด็นอ่อนไหวทางศาสนา เมื่อวันที่ 20 พ.ย. ในฉากพระร้องไห้เคาะโลงศพ ซึ่งเป็นฉากเดียวกับที่ปรากฎในมิวสิควิดิโอเพลงประกอบภาพยนตร์ไทบ้าน เดอะซีรีส์ 2.2 ชื่อเพลง คนสุดท้ายของหัวใจ โดย บอย พนมไพร ที่เผยแพร่ทางยูทูบ ซึ่งมียอดการรับชม (23 พ.ย.) กว่า 3,379,000 ครั้ง ทำให้มีเสียงของประชาชนออกมาวิพากษ์วิจารณ์เรื่องนี้อย่างกว้างขวาง ตั้งคำถามถึงการเซ็นเซอร์ของคณะกรรมการที่ไม่เชื่อในวิจารณญาณของผู้ชม

กระทั่ง พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ ก็ได้แสดงความคิดเห็นต่อเรื่องนี้ผ่านทางเฟซบุ๊คว่า การมองภาพของนักบวชแบบผิดผิด หรือเข้าใจในมิติเดียว หลายครั้งก็สร้างปัญหานะ มีนักปฏิบัติธรรมหลายคนฆ่าตัวตาย ทั้งแม่ชี ทั้งพระ ส่วนหนึ่งมาจากความเครียดความเก็บกดและการไม่สามารถเปิดเผยอารมณ์ความรู้สึกในด้านลบซึ่งความทุกข์ภายในใจของตัวเองอย่างตรงไปตรงมาได้ ภาพของพระเชียงนี่เป็นตัวอย่างของพระที่ซื่อตรงต่อความรู้สึกตัวเองนะ มันสะท้อนความเป็นธรรมชาติของชีวิตที่ว่า ไม่ว่าเราจะอยู่ในสถานะแบบไหน มันไม่ใช่ว่า เราจะสามารถหนีอารมณ์ความรู้สึกนึกคิด หนีปัญหาหนีความทุกข์ของตัวเองได้ น้ำตานั่นแหล่ะที่เป็นเครื่องบ่งบอก อย่างน้อยมันก็เป็นตัวแทนถึงสิ่งที่ซ่อนอยู่ภายในใจ เราจะรับรู้และเข้าใจถึงความทุกข์ของคนอื่นได้ยังไง ถ้าเรามองข้ามอารมณ์ความรู้สึกที่อ่อนไหวของเขา

ต่อมาวันที่ 22 พ.ย. ทางทีมงานผู้ทำหนังได้ตัดสินใจตัดฉากที่เป็นปัญหาออก และคณะกรรมการก็ได้อนุมัติให้ฉายได้ในเรต 15+ แต่สิ่งที่น่าสนใจคือหลังจากนี้เราจะต้องพบการเซ็นเซอร์หนังแบบซุ่มดวงที่สร้างความงุนงงสับสนให้เราอีกเท่าไหร่ ไม่ว่าจะเป็นหนังกระแสหลักกระแสรอง หนังที่นักวิจารณ์ชื่นชอบหรือเกลียดชัง หนังทุกเรื่องควรมีสิทธิที่จะได้สื่อสารออกไปในแบบที่คนทำต้องการ และผู้ชมก็ควรมีสิทธิได้ดูโดยปราศจากการกำกับควบคุมโดยคนเพียงกลุ่มเดียวที่มีอำนาจตรวจสอบ ใช่หรือไม่ ประเด็นนี้จึงโยงไปถึงเรื่องสิทธิเสรีภาพของผู้ชมและคนทำหนังด้วย

ประชาไทชวนคุยกับ ชญานิน เตียงพิทยากร นักวิจารณ์หนัง ซึ่งได้รวบรวมการเซ็นเซอร์ละเมิดสิทธิของภาพยนตร์ประจำปี 2561 ไว้ในเฟซบุ๊ค Chayanin Tiangpitayagorn และไม่เพียงแต่การเซ็นเซอร์ก่อนฉาย แต่รวมถึงการถูกสั่งระงับถ่ายทำ ถูกกดดันจนต้องย้ายสถานที่จัดฉาย ถูกสั่งให้ยกเลิกฉาย ด้วยเหตุผลแตกต่างกันไป ดังนี้

Happy Bhaag Jayegi Returns ถูกสั่งให้ระงับการถ่ายในไทย

 

หนังอินเดียเรื่อง Happy Bhaag Jayegi Returns ได้รับใบอนุญาตถ่ายทำในไทยแล้ว และเซ็ตฉากที่ถนนข้าวสารเป็นย่านโลกีย์ของจีน ถูกตำรวจไทยแจ้ง 4 ข้อหา หลังจากมีคนไทยที่มาเจอฉากแล้วเกิดความไม่พอใจถ่ายคลิปโพสต์ลงเฟซบุ๊คและแจ้งที่ สน.ชนะสงคราม

ข่าวสดออนไลน์รายงานไว้ว่า เหตุเกิดวันที่ 17 ม.ค. 2561 สง่า เรืองวัฒนกุล นายกสมาคมผู้ประกอบการถนนข้าวสาร เปิดเผยว่า ขณะเกิดเหตุ กองถ่ายทำภาพยนตร์ได้ถ่ายทำฉากหนังซึ่งปรากฏภาพหญิงสาวสวมใส่ชุดว่ายน้ำ หรือชุดหวือหวา มีร้านแผงลอยขายชุดว่ายน้ำ และปรากฏข้อความป้ายโฆษณาชวนเชื่อ “ADULT TOY” มีร้านขายเซ็กซ์ทอย สร้างความไม่พอใจให้กับบุคคลที่ผ่านไปมา ประชาชนในละแวกนั้นจึงโทร.มาแจ้งตน เนื่องจากไม่พอใจที่ทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศไทยเสียหาย ตนจึงประสานงานกับทางพ.ต.อ.พิทักษ์ สุทธิกุล ผกก.สน.ชนะสงคราม ถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ต่อมาเวลาประมาณ 10.00 น. ทางพ.ต.อ.พิทักษ์ จึงสั่งให้ระงับการถ่ายทันที

โดยทางบริษัทหนังแจ้งว่า ในการถ่ายทำเป็นการจำลองสถานการณ์ที่มีเนื้อหาดำรงชีวิตอยู่ในประเทศจีน ส่วนการเลือกมาถ่ายที่ประเทศไทยนั้น เพราะมีสิ่งแวดล้อมและฉากการอยู่อาศัยใกล้เคียงกับประเทศจีนเท่านั้น และเมื่อออกอากาศจะไม่ถ่ายให้เห็นถึงสัญลักษณ์หรือเนื้อหาที่บ่งบอกว่าเป็นประเทศไทย

ด้านพ.ต.ท.ประจักษ์ พงษ์ปรีชา รองผกก.(สอบสวน) สน.ชนะสงคราม กล่าวว่า ได้แจ้งข้อหากับทาง บริษัท INDO BANGKOK FILM CO., LTD. ทั้งหมด 4 ข้อหา คือ ไม่ปฏิบัติตามกฎของเจ้าหน้าที่พนักงานซึ่งได้สั่งการตามอำนาจที่กฎหมายมีให้ไว้โดยไม่มีเหตุอันสมควร, เพื่อความประสงค์แห่งการค้าหรือเพื่อการแสดงอวดแก่ประชาชน ผลิต ส่งออกหรือยังให้ส่งออกไปนอกราชอาณาจักร หรือทำให้แพร่หลายโดยประการใดๆ ซึ่งภาพยนตร์ บันทึกภาพหรือสิ่งอื่นใดอันลามก, การกระทำอันควรขายหน้าต่อหน้าธารกำนัลโดยเปิดเผยร่างกายและตั้งวางวัตถุใดใดบนถนน และพ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง

Thirty Years of Adonis ให้ตัดบางฉากออกเพื่อฉาย

 

หนังฮ่องกง Thirty Years of Adonis นำเข้ามาฉายโดย Major Group ช่วยเดือนเม.ย. ที่ผ่านมา ต้องตัดบางฉากออกเพื่อให้ฉายได้เรต ฉ20- ไม่มีการแจ้งผู้ชมว่าเป็นฉากไหน และไม่ปรากฎเป็นข่าว

เรื่องย่อของหนังกล่าวถึง หยางเคอ (เห้อเฟย) นักแสดงชายหนุ่มหน้าตาดีจากโรงงิ้วปักกิ่ง วันหนึ่งเขาได้พบกับโลกที่เขาไม่เคยได้สัมผัสมาก่อน หยางเคอได้ก้าวเข้าสู่โลกแห่งการค้าประเวณี ดั่งเสมือนผลไม้ต้องห้ามแห่งสวนเอเดน เมื่อเขาได้ลิ้มลอง ชีวิตของเขาก็ไม่มีวันที่จะหวนกลับมาเป็นเหมือนเดิมได้อีก ทั้งชายและหญิงต่างใช้บริการเขา ในขณะที่ร่างกายของหยางเคอถูกย่ำยี จิตใจของเขากลับโหยหารักแท้ที่อยู่ท่ามกลางมรสุมแห่งความเสแสร้งที่พร้อมจะกลืนกินเขาตลอดเวลา

When Mother's Away ถูกยกเลิกฉาย แม้จะเคยฉายมาครั้งหนึ่งแล้ว

 

สารคดีเวียดนาม When Mother's Away ถูกยกเลิกการฉายที่ FCCT หลังสถานทูตเวียดนามร้องเรียนไปยัง สน. ลุมพินี แม้ก่อนหน้านี้เคยจัดฉายที่นี่ก่อนครั้งหนึ่งโดยไม่มีปัญหาอะไร

ประชาไท ได้รายงานไว้ว่า FCCT แถลงถึงการยกเลิกการจัดฉายภาพยนตร์ว่า ในช่วงเช้าของวันที่ 4 ก.ค. 2561 มีหนังสือจากสน. ลุมพินีส่งมาถึง FCCT ขอความร่วมมือให้งดการจัดฉายภาพยนตร์ หลังจากนั้นได้รับการร้องเรียนจากสถานทูตเวียดนาม และมีนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่เดินทางมาพูดคุยกับทาง FCCT ขอให้งดการฉายภาพยนตร์

โดยตอนหน้านี้วันที่ 27 มิ.ย. ที่ผ่านมา องค์กรที่ทำงานรณรงค์ประเด็นสิทธิมนุษยชนในประเทศเวียดนาม ซึ่งเป็นผู้จัดการฉายภาพยนตร์นี้ครั้งแรก ที่ FCCT ได้ดำเนินการจัดฉายครั้งแรกดำเนินไปด้วยดีไม่มีการแทรกแซงใดๆ

อนึ่งสารคดี When Mother's Away ติดตามชีวิตบล็อกเกอร์นักกิจกรรมชาวเวียดนาม ‘มี นาม’ หรือ ‘Mother Muchroom’ ซึ่งถูกตัดสินจำคุกในปี 2560 รวม 10 ปี หลังเผยแพร่ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากสารพิษรั่วจากโรงงานเหล็ก โดย ‘Mother Muchroom’ หรือ ‘เหงียน ง็อก งือ กวิน’ (Nguyen Ngoc Nhu Quanh) หนึ่งในสตรี 13 คนจากทั่วโลก ผู้ได้รับรางวัลสตรีผู้กล้าหาญสากล ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ประจำปี 2560 ถูกคุมขังในเรือนจำมาตั้งแต่เดือนตุลาคมปี 2559 หลังจากที่เธอเขียนบล็อกเผยแพร่เรื่องราวเกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อม เสรีภาพการแสดงออกและความอยุติธรรมในเวียดนาม และถูกตั้งข้อหาเผยแพร่โฆษณาชวนเชื่อเพื่อต่อต้านพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม

The Purple Kingdom และ The Big Tree ต้องย้ายสถานที่จัด

 

หนังสั้นไทย The Purple Kingdom โดย พิมพกา โตวิระ และ The Big Tree โดย ธะบเล พอ ซึ่งจะฉายในอีเวนต์เกี่ยวกับเรื่องสิทธิคนพื้นเมืองของ Amnesty Thailand ในวันที่ 21 ก.ค. 2561 ต้องย้ายสถานที่จาก Bangkok Screening Room ไปที่ G Village หลังจากสถานที่ถูกเจ้าหน้าที่กดดันก่อนวันฉาย

โดยทั้งสองเรื่องเล่า เกี่ยวกับการโดนไล่ที่จากแผ่นดินเกิดของชาวปกาเกอะญอ และคดีสูญหายของ ‘บิลลี่’ นักกิจกรรมชาวปกาเกอะญอ ผู้ถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน

ทั้งนี้ ประชาไท ได้รายงานไว้ก่อนหน้านี้ว่า เดิมกิจกรรมนี้วางแผนจะจัดขึ้นที่โรงภาพยนตร์เอกชนแห่งหนึ่ง ซึ่งได้ติดต่อทำสัญญาเช่าโรงภาพยนตร์ไว้แล้ว แต่เมื่อวันที่ 19 ก.ค. สองวันก่อนหน้าการจัดกิจกรรม เจ้าหน้าที่ที่อ้างว่า มาจาก "สันติบาล" ได้เข้าไปที่โรงภาพยนตร์ โดยแจ้งให้เจ้าหน้าที่ของโรงภาพยนตร์ทราบว่า ไม่สบายใจกับกิจกรรมนี้ และขอทราบรายละเอียดกิจกรรม ภาพยนตร์ที่จะฉาย รวมทั้งชื่อผู้ที่จะมาพูด แต่ไม่ได้สั่งห้ามจัดกิจกรรม อย่างไรก็ดี การติดตามของเจ้าหน้าที่ก็ทำให้เจ้าของโรงภาพยนตร์ตัดสินใจยกเลิกการให้เช่าสถานที่ ทางแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลประเทศไทย จึงต้องหาสถานที่จัดงานใหม่ และย้ายมาจัดยัง G village ซอยลาดพร้าว 18 ซึ่งในวันจัดกิจกรรมก็ไม่ได้มีเจ้าหน้าที่หน่วยงานใดเข้ามาแทรกแซงอีก และทางแอมเนสตี้ยังตั้งเป้าจะจัดกิจกรรมฉายภาพยนตร์ที่สะท้อนปัญหาด้านสิทธิมนุษยชน และจัดวงพูดคุยกันเช่นนี้ต่อไปทุกวันเสาร์ที่สามของทุกเดือน

Joshua Wong: Teenager vs. Superpower ระงับฉาย แต่ยังเสวนาได้

 

สารคดี Joshua Wong: Teenager vs. Superpower ระงับการฉายในอีเวนต์ของ Amnesty Thailand โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจอ้างว่าอ้าจผิด พ.ร.บ. ภาพยนตร์ฯ ยังจัดงานเสวนาต่อได้

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ได้เปิดเผยระหว่างการเสวนาว่า เหตุที่ไม่สามารถจัดฉายหนังสารคดี หนัง Joshua: Teenager vs Super Power จาก Netflix ได้เนื่องจากก่อนหน้านี้ในวันที่ 16 ส.ค.ทางสันติบาล ได้เรียกเข้าไปพูดคุย และแสดงความกังวลว่าหากมีการฉายหนังเรื่องดังกล่าวอาจจะกระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศระหว่างไทยและจีน และอาจผิด พ.ร.บ. ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 ซึ่งต้องขออนุญาตฉายหนังจากกระทรวงวัฒนธรรมก่อน

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการ ilaw เห็นว่า พ.ร.บ. ภาพยนตร์และวีดิทัศน์นั้นออกมาในสมัยสภานิติบัญญัติแห่งชาติซึ่งมาจากคณะรัฐประหารเมื่อปี 2549 นั้น บัญญัติคำว่าภาพยนตร์ หมายถึง วัสดุที่มีการบันทึกภาพ หรือภาพและเสียงซึ่งสามารถนำมาฉายให้เห็นเป็นภาพที่เคลื่อนไหวได้อย่างต่อเนื่อง แต่ไม่รวมถึงวีดิทัศน์ ซึ่งปัญหาคือเมื่อนิยามกว้างขวางและครอบคลุมเกือบทุกอย่างที่เป็นภาพเคลื่อนไหวและกำหนดว่าภาพยนตร์ที่จะนำออกฉาย ให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายในราชอาณาจักรต้องผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ทำให้เป็นปัญหาที่เกิดการเลือกบังคับใช้เฉพาะบางกรณีเท่านั้น ซึ่งในกรณีที่ไม่ได้รับอนุญาตจะมีโทษปรับสูงถึง 200,000 -1,000,000 บาท และจากการติดตามข้อมูลการปิดกั้นแทรกแซงการทำกิจกรรมภายหลังการรัฐประหาร 2557 มา พบว่าครั้งนี้เป็นครั้งที่ 266 แต่เป็นครั้งแรกที่มีการนำพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 มากล่าวอ้าง

สำหรับหนังสารคดี Joshua: Teenager vs Super Power ได้รับรางวัลขวัญใจผู้ชมจากเทศกาลหนังซันแดนซ์ประจำปี 2017 ที่ได้แรงบันดาลใจจากนักเรียนมัธยมธรรมดาๆ ที่ชื่อ “โจชัว หว่อง” ในวัย 14 ปี ผู้ที่ลุกขึ้นมาลงประท้วงรัฐบาลจีนให้ถอดถอนหลักสูตรการศึกษาใหม่ในแผ่นดินฮ่องกง สารคดีเรื่องนี้ได้ตามเก็บเรื่องราวของกลุ่มนักกิจกรรมเยาวชนที่กล้าลุกขึ้นมาก่อตั้งกลุ่มที่ชื่อ Scholarism จากประเด็นเรียกร้องเรื่องการศึกษา กระทั่งพวกเขากลายเป็นจุดเริ่มต้นของการเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ของฮ่องกงในปี 2014

อีเวนต์ฉายหนังสั้น กลุ่ม What the Film! ต้องเลื่อนจัดอย่างไม่มีกำหนด

 

อีเวนต์ฉายหนังสั้นของกลุ่ม What the Film! ต้องเลื่อนไปอย่างไม่มีกำหนด จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่อาจจัดฉาย หลังจากสถานที่ถูกเจ้าหน้าที่กดดัน และทีมจัดฉายภาพยนตร์ถูกเรียกตรวจสอบหนังที่ฉายทั้งหมด เป็นผลสืบเนื่องจากการยกเลิกงานคอนเสิร์ตการเมือง BNK44 และงานอื่นๆ ที่จัดในสถานที่เดียวกัน ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน

โดยอีเวนต์ฉายหนังสั้นนี้ตั้งใจจะจัดฉายในวันที่ 29 ก.ย. 2561 ที่ THE OVERSTAY แต่ก่อนหน้านั้นวันที่ 21 ก.ย. มติชนออนไลน์รายงานว่า คอนเสิร์ต BNK44 โดยเพจ 4ปีแล้วนะไอ้สัตว์ ซึ่งใช้สถานที่เดียวกันในการจัด ได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามากดดันให้ยกเลิกการจัดงาน

Birth of Golden Snail ถูกยกเลิกฉาย หลังให้ตัดบางฉากออกแต่ผู้กำกับปฏิเสธ

 

Birth of Golden Snail หรือ กำเนิดหอยทากทอง โดย จุฬญาณนนท์ ศิริผล ถูกยกเลิกการฉายในงาน Thailand Biennale จังหวัดกระบี่ ซึ่งเป็นงานที่วางแผนจัดตั้งแต่วันที่ 2 พ.ย.61 - 28 ก.พ.62 หลังจากมีคำสั่งให้ตัดบางฉากออก แต่ผู้กำกับปฏิเสธ

ประชาไทได้สอบถามไปยัง จุฬญาณนนท์ ศิริผล ถึงเหตุการณ์ดังกล่าว โดยจุฬญาณนนท์เล่าถึงหนังว่า เป็นหนังเกี่ยวกับการกำเนิดชีวิต การกำเนิดมนุษยชาติ และการกำเนิดภาพยนตร์ ถ่ายด้วยฟิล์ม 16 มม. และฉายด้วยฟิล์ม 35 มม. ภายในถ้ำเขาขนาบน้ำ คณะกรรมการเกรงจะกระทบจิตใจของคนในท้องถิ่น ทำให้เสียภาพลักษณ์องค์กร แต่ตนไม่ยอมตัดฉากที่มีปัญหาออก ตอนนี้ตนได้ยื่นเรื่องขอนำเสนอผลงานแบบใหม่ คือ ฉายแสงสีขาวเปล่าๆแล้วแจกบทภาพยนตร์ให้คนดูอ่าน แล้วให้จินตนาการว่าบนจอจะมีภาพอะไรตามใจคนดูเอง และกำลังรอการตอบกลับจากสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ที่เป็นผู้จัดงานนี้อยู่

ไทบ้านเดอะซีรี่ส์ 2.2 ตัดหลบฉากพระเคาะโลงศพ ได้ฉายเรต น15+

 

เดิม ‘ไทบ้านเดอะซีรี่ส์ 2.2’ มีกำหนดเข้าโรงภาพยนตร์วันที่ 22 พ.ย. 2561 แต่ไม่ผ่านเซ็นเซอร์จากคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ เนื่องจากประเด็นความอ่อนไหวทางศาสนา ในฉากที่พระเคาะโลงศพและร้องไห้

บีบีซีไทยรายงานว่า หลังจากนั้นทางทีมงานผู้ทำหนังได้ตัดสินใจตัดบางคัทออกไปราว 7-10 วินาที ซึ่งเป็นส่วนของฉากที่มีปัญหา คือช่วงที่พระจับโลงศพ แล้วนำเอาคัทอื่นที่พระแสดงความเสียใจ แต่ฟูมฟายน้อยลงมาใส่แทน หลังจากนั้นทางสำนักพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ - กรมส่งเสริมวัฒนธรรมได้ระบุว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับอนุมัติให้ฉายได้แล้ว โดยได้เรตติ้งเป็น น. 15+

อนึ่งไทบ้าน เดอะซีรีส์ 2.2 เป็นภาพยนตร์นอกกระแส เล่าเรื่องราวชีวิตวัยรุ่นภาคอีสาน มีทั้งเรื่องความรัก การดำเนินชีวิต อาชีพ ธุรกิจ ภาคแรกออกฉายเมื่อปี 2560 ทำรายได้ 37 ล้านบาท ไทบ้าน เดอะซีรีส์ 2.1 ฉายเมื่อต้นปี 2561 ทำรายได้ 68 ล้านบาท นับเป็นภาพยนตร์ที่ได้รับความนิยมทั่วประเทศ โดยเฉพาะในโรงหนังภาคอีสานที่มีผู้ชมล้นโรง

 

ระงับฉายสารคดีโจชัวหว่อง ความหละหลวมและใช้ไม่ได้จริงของ พ.ร.บ. ภาพยนตร์

 

ชญานินได้ตั้งข้อสังเกตว่า การระงับฉายสารคดี Joshua Wong: Teenager vs. Superpower ถือเป็นครั้งแรกที่มีการอ้างใช้ พ.ร.บ. ภาพยนตร์ มาใช้ระงับการฉายหนังในอีเวนต์ลักษณะนี้ อ้างว่าต้องเอาหนังไปส่งเซ็นเซอร์ก่อนถ้าไม่ส่งจะโดนค่าปรับหลักแสนถึงล้าน ซึ่งปกติหนังแบบนี้ก็มีการฉายฟรีอยู่ทั่วไปไม่ว่าใครจะเป็นคนจัด และโดยปกติการจัดงานที่เกี่ยวกับการเมืองจะถูกตำรวจหรือทหารห้ามโดยอ้างเรื่องความมั่นคง หรือคำสั่งหัวหน้า คสช.

“การอ้างเรื่อง พ.ร.บ. ภาพยนตร์ เลยยิ่งทำให้เห็นว่า พรบ นี้มันหละหลวมและไม่ practical ขนาดไหน มันเป็นกฎหมายที่เขียนกว้างแล้วทำงานไม่ได้จริงในตัวเอง เพราะถ้าเอาตามที่เขียน มันแปลว่า งานวิดีโอทุกอันที่ฉายนอกบ้านคนหรือเป็นการลับ ต้องส่งเซ็นเซอร์หมดเลย แม้กระทั่งวิดีโอแต่งงาน ซึ่งมันก็ไม่ได้มาไล่จับแบบนี้เพราะมันทำไม่ได้ ทำจริงก็จะเป็นบ้า เพราะมันจะเยอะไปหมด คือเจ้าหน้าที่วิ่งอ้วกหรือไม่ก็รัฐรวยไปแล้ว ในทางปฏิบัติก็เลยเป็นหนังฉายโรง หนังออกแผ่นเท่านั้น ถ้าอ้างแบบนี้กับทุกงานฉายหนังจริงๆ ก็มีงานฉายหนังแบบนี้เต็มกรุงเทพฯ ไปหมด” ชญานินกล่าว

ไทบ้านเดอะซีรี่ส์ 2.2 กับรายชื่อกองเซ็นเซอร์ที่ไม่เปิดเผยและไม่ต้องรับผิด

 

ชญานินกล่าวว่า มีข้อสังเกตว่าเพราะฉากนี้อยู่ในงานศพ มีลักษณะเป็นพิธีกรรมทางศาสนา จึงอาจกระทบจิตใจกรรมการชุดนี้เป็นพิเศษ เพราะในภาคแรกมีฉากพระร้องไห้กลางถนนก็ไม่มีปัญหาอะไร ก่อนหน้านี้หนังพระตลกเองก็โดนกันหลายเรื่อง และเป็นข่าวน้อยกว่านี้มากๆ ส่วนใหญ่ก็จะตัดแก้ไขไปแล้วปล่อยฉายเลย ตามปกติของหนังกระแสหลักที่จะไม่มาสู้กับกองเซ็นเซอร์มากมาย เช่น หลวงพี่เท่ง หรือ กะปิลิงจ๋อไม่หลอกจ้าว อีกประเด็นคือเมื่อเป็นหนังตลก ความเกินจริง ก็จะทำให้พอรับได้ประมาณนึง ทำให้หนังเช่นหลวงพี่แจ๊สอาจจะผ่านด้วยเหตุผลแบบนี้ และความจริงก็ไม่มีใครรู้เบื้องหลังว่ามีเรื่องไหนที่ถูกสั่งให้ตัดบ้างก่อนที่จะออกมาเป็นอย่างที่เราเห็นกัน

“แต่ที่น่าสนใจคือ ความพยายามหลบหนีการตรวจสอบของสื่อของกองเซ็นเซอร์และฝ่ายกระทรวงวัฒนธรรม จากที่ปกติคนที่มีหนังมีปัญหาจะได้เอกสารลงลายมือชื่อคณะกรรมการที่ทำหน้าที่ ซึ่งจะปรากฏชื่อทั้งองค์คณะ และลายเซ็นของคนที่ลงมติในกรณีนั้นๆ คราวนี้ไม่มี และได้ยินมาด้วยว่า เจ้าหน้าที่ไม่ยอมให้ชื่อคณะกรรมการกลุ่มนี้ ถ้ารู้สึกว่ารายชื่อจะไปถึงสื่อมวลชน เพราะโดยปกติแล้วคณะกรรมการฯ ไม่ต้องรับผิดรับโทษใดๆ ในกรณีทำหน้าที่บกพร่องหรือไม่เป็นธรรม” ชญานินกล่าว

ภาพรวมการเซ็นเซอร์หนังไทย อำนาจคณะกรรมการครอบจักรวาล ไม่จริงจังกับการจัดเรตติ้ง

 

ชญานินให้ความเห็นว่า ส่วนตัวมองว่าเรื่องการเซ็นเซอร์หนัง จะเป็นรัฐบาลไหนก็ล้าหลังใกล้เคียงกัน ทั้งในส่วนคนทำงานและคนดูด้วย อาจโฟกัสที่ช่วงหลังรัฐประหารเป็นต้นมา ถ้าเทียบกับสมัยที่ตำรวจเซ็นเซอร์ตาม พรบ. เก่า มันก็ดีขึ้นมาตามลำดับ แต่ยังดีไม่พอในมาตรฐานเรื่องสิทธิเสรีภาพ

ชญานินกล่าวต่อว่า ลักษณะอย่างหนึ่งที่น่าสนใจในช่วงหลัง ก่อนที่จะเกิดเรื่องปัญหาเรื่องไทบ้านเดอะซีรี่ส์อันนี้ ส่วนตัวมองว่ากองเซ็นเซอร์เองก็พยายามจะไม่อยู่ในสปอตไลท์ให้คนด่าเหมือนเมื่อก่อน ไม่ค่อยมีเรื่องการให้เหตุผลแบบกว้างเป็นทะเลเหมือนช่วงแรกๆ ของ insects in the backyard (เนื้อหาขัดต่อศีลธรรมอันดี) และ shakespeare must die (เนื้อหาที่ก่อให้เกิดการแตกความสามัคคีระหว่างคนในชาติ) และสำหรับงานการเมืองอื่นๆ ฝ่ายที่พยายามจะจัดการ ก็จะพยายามใช้วิธีการที่ไร้หลักการ ไร้ตรรกะมากขึ้น คือเป็นวิธีที่ไม่มีเหตุผลรองรับ และเป็นการแสดงอำนาจตรงๆ อย่างกรณีการฉายหนังสารคดีโจชัวคืออันแรกที่พยายามอ้าง พ.ร.บ. ภาพยนตร์ฯ แต่อันอื่นก็อ้างสถานทูตบ้าง อ้าง คสช. บ้าง ว่าไม่อยากให้จัด ไม่สบายใจ แล้วไม่มีใครระวังตัวได้แบบ 100% เพราะไม่มีใครรู้ว่างานไหนจะร้อนจนเขาหันมาจับตามอง ยกเว้นว่ามันชัดว่าต้านเขาตั้งแต่ต้น

เมื่อถามว่า โดยรวมแล้วรัฐยังมองว่าควรเข้ามาแทรกแซง และรัฐไม่ไว้ใจวิจารณญาณของคนในสังคม กลัวว่าถ้าปล่อยแล้วจะเละเทะ ถ้างั้นอันไหนคือจุดพอดีระหว่างรัฐกับคนดูหนัง

ชญานินตอบว่า หากไม่ปลดล็อกเรื่องอำนาจคณะกรรมการ ก็ยังไม่ต้องไปมองถึงเรื่องการต่อรองระหว่างรัฐกับประชาชนในการเซ็นเซอร์ สภาพโดยรวมตอนนี้ต่อให้เปลี่ยนกฎหมายซึ่งที่น่าจะยังเป็นอยู่คือกฎหรือวิธีบังคับใช้ที่เอื้อให้เกิดการปิดกั้นมากกว่าเปิดกว้าง ยกตัวอย่างพวกงานในทีวีซึ่งเซ็นเซอร์ตัวเองกันมาก รัฐไม่ได้เข้าไปเซ็นเซอร์โดยตรงหรือต้องส่งคณะกรรมการแบบหนัง แต่ละช่องต้องเซ็นเซอร์แบบเซฟตัวเองไว้ก่อน เพราะกฎหมายเอื้อให้เอาผิดต่อสถานี

เขายกตัวอย่างว่า เวลาที่เจออะไรผิดแปลกหรือแหลมออกมา แล้วมีคนคลั่งศีลธรรมโทรไปแจ้งว่าไม่พอใจหนังเรื่องนี้ออกช่องนี้มีฉากนี้ กสทช. ก็สามารถลงโทษได้เลย เช่น ปรับเงิน พักรายการ ดังนั้นการปกป้องตัวเองของตัวงานหรือคนทำงานมันยากมาก อย่างไทบ้านเดอะซีรี่ส์ พอตัดออกเรตลดลงเป็นแค่ น15+ แต่ถ้าไม่ตัดก็เป็นไปได้สูงว่าจะฉายไม่ได้ ต่อให้เปลี่ยนเป็นขอเรต 18+ หรือ 20+ ก็อาจจะยังไม่ได้ ซึ่งสะท้อนว่ายังมีการให้อำนาจครอบจักรวาล อ้างเรื่องศีลธรรมอันดี เรื่องความสามัคคี แล้วไม่ได้จริงจังกับเรตติ้งจริงๆ ดังนั้นก่อนจะมาถึงจุดลงตัวของการเซ็นเซอร์ระหว่างรัฐกับประชาชน ต้องปลดล็อคอำนาจอันนี้ก่อน

“ทุกวันนี้ในทางปฏิบัติมันห่างไกลความ make sense มาก นอกจากหนังเรื่องไหนที่โดนเพ่งเล็งมากๆ ก็แทบไม่มีการตรวจบัตรประชาชนแม้แต่ในหนังเรต 20+ หรือบางครั้งก็เป็นการตรวจนอกกฎหมายด้วย เช่น หนังหม่อมน้อยได้เรต 18+ แต่ดูโป๊มาก เลยมีการประกาศตรวจบัตรซึ่งกฎหมายบอกว่าไม่ต้อง หรือการประกาศว่าหนังเรื่องไหนได้เรตอะไร ก็น้อยมากๆ คือติดไว้พอเป็นพิธี เพราะนอกจากเรต 20 กับแบน เรตอื่นคือไม่มีข้อบังคับอะไรเลยแบบเดียวกับสมัยก่อน”

“ตอนนี้ถ้าเอากันจริงๆ ไม่เคยมีเคสไหนที่ชนะ อย่างเรื่อง Insects in the backyard ถ้าว่ากันตามตัวอักษร ศาลก็ยังช่วย คณะกรรมการ ด้วยการบอกให้ตัด 3 วินาทีออก แต่รวมๆ คือ พ.ร.บ. นี้ที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2551 มันทำขึ้นมาแบบไม่ได้คิดถึงสิทธิเสรีภาพจริงๆ คิดเรื่องกำกับและควบคุมแต่ต้น ซึ่งก็ถูกประท้วงไปพอสมควร แต่ก็ผ่านมาในล็อตสุดท้ายของ คมช. ก่อนจะเลือกตั้งตอนนั้น

ความกลัวมันเลยเป็นกลัวแบบแปลกๆ คือทั้งครอบจักรวาล เพราะไม่รู้ว่าวันไหนอะไรมันจะโดนขึ้นมาบ้าง” ชญานินกล่าว

แก้ พ.ร.บ. ภาพยนตร์ฯ กำหนดโทษคณะกรรมกาม ยกเลิกการห้ามฉาย ให้เรตพร้อมเหตุผล

 

ชญานินได้ระบุไว้ 2 ข้อ คือ (1) การตรวจสอบคณะกรรมการฯ เนื่องจากตอนนี้โดยพื้นฐานแล้ว กรรมการไม่จำเป็นต้องรับโทษหรือรับผิด ถ้าเกิดความบกพร่องหรือไม่เป็นธรรมในการทำหน้าที่ใดๆ (2) ยกเลิกการห้ามฉายหรือสั่งแก้ไข ให้คงไว้เฉพาะการจัดเรต และต้องโปร่งใสในคำตัดสินมากกว่านี้ อย่างน้อยที่สุดคือ หนังทุกเรื่องต้องมีเหตุผลประกอบว่าทำไมได้เรตนั้นๆ ยกตัวอย่าง การจัดเรตของสหรัฐอเมริกา จะมีเหตุผลว่าเพราะมีฉากรุนแรง ฉากสูบบุหรี่มาก เนื้อเรื่องผู้ใหญ่ หรือมีฉากโป๊ คำหยาบ)

ธิดา ผลิตผลการพิมพ์ ผู้ก่อต้ัง Documentary Club ได้โพสต์ลงในเฟซบุ๊ค Thida Plitpholkarnpim โดยตั้งค่าเป็นสาธารณะว่า

เหตุผลที่ควรแก้พรบ. ยุบคณะกรรมการจัดเรตหนัง และให้คนทำหนังทำหน้าที่นี้เอง (จะโดยสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทยก็ได้ สมาพันธ์ภาพยนตร์ก็ได้) ก็เพราะ

1. ภาพยนตร์ควรได้รับอิสระ หลุดจากการควบคุมของหน่วยงานรัฐอย่างเต็มรูปแบบได้แล้ว การควบคุมนี้เกิดมาหลายสิบปีด้วยความกลัวของรัฐไทยในอดีตต่อสื่อภาพยนตร์ แต่ปัจจุบัน สื่อมีการวิวัฒนาการไปมากมาย ไม่มีประโยชน์ที่จะยังมากลัวภาพยนตร์กันอยู่อีก

2. ถ้ายังมีความไม่ไว้ใจสื่อทั้งหลายอยู่ ก็ให้มีการจัดเรตติ้งต่อไป แต่ดำเนินงานกันเองโดยเอกชน (แบบเดียวกับโทรทัศน์) และต้องคำนึงไว้เสมอว่า ระบบการจัดเรตที่แบ่งประเภทเนื้อหาของหนังตาม "อายุคนดู" นั้น เกิดขึ้นมาก็เพราะสังคมคำนึงถึงอิทธิพลในทางลบต่อ "เด็กและเยาวชน" ฉะนั้นหากจะมีการจัดเรต ก็ต้องนึกถึงแต่ความหมายในแง่นี้เท่านั้น และเนื้อหาจำนวนมากที่คิดว่าอันตรายสำหรับเด็ก ก็ควรจะอนุญาตให้ "ผู้ใหญ่" ดูได้ ไม่ต้องมีการสั่งตัดสั่งแบนอะไรกันอีก (ส่วนจะกี่ขวบจึงจะถือว่าเป็นผู้ใหญ่ ก็ต้องพิจารณากันให้ละเอียด)

3. เอกชนที่จะเป็นคนพิจารณาเรตติ้ง คือกลุ่มคนที่ควรจะเข้าใจหนังในหลายๆ มิติ และยืนอยู่บนพื้นฐานความคิดเรื่องสิทธิเสรีภาพของงานศิลปะ ส่วนสังคมภาคส่วนอื่นๆ ถ้ารู้สึกว่าได้รับความกระทบกระเทือน หนังนำเสนอเรื่องของตนไม่ดีไม่งามรับไม่ได้ ก็ไปหากฎหมายข้ออื่นมาฟ้องร้องกันไป เหล่านี้ส่งเสริมให้ศิลปินมีเสรีภาพ ขณะที่ภาคประชาชนก็ได้ฝึกฝนใช้สิทธิของตัวเองในการต่อสู้ ไม่ต้องให้รัฐมาปิดปากใครให้ตั้งแต่ต้น

4. นอกจากการจัดเรต สิ่งที่สำคัญมากๆ เท่าๆ กันคือ การทำให้ระบบการจัดเรตมันมีความหมายและมีบทบาทที่ถูกต้อง เมื่อจัดเสร็จแล้ว ต้องมีแถลงการณ์เป็นลายลักษณ์อักษรเผยแพร่ในเว็บไซต์ต่อสาธารณชน อธิบายเหตุผลของการให้เรตนั้นๆ ให้ข้อมูลโดยละเอียดว่ามีฉากใดส่วนไหนที่อยากให้พ่อแม่ผู้ปกครองระมัดระวังหรือให้คำแนะนำแก่บุตรหลานเป็นพิเศษ

5. ฝ่ายประชาชนคนดูก็จะได้หัดใช้วิจารณญาณเป็นของตัวเอง ไม่ต้องให้ใครมาแบนหนังตัดหนังให้ ฝึกการหาข้อมูล อ่านผลการจัดเรตในข้อ 4 แล้วก็ตัดสินใจเอาว่าจะให้ลูกให้หลานดูมั้ย ดูแล้วควรจะสอนอะไร

6. ภาคส่วนอื่นๆ สามารถรับลูกข้อ 4 และ 5 นี้ไปใช้ประโยชน์ได้ อาทิ โรงเรียนฉายหนังให้เด็กดู สอนไปด้วยถึงสิ่งที่เกี่ยวข้อง / องค์กรหน่วยงานต่างๆ สามารถออกมาให้ความรู้ต่างๆ ที่เด็กควรมีเพื่อจะดูหนังเหล่านั้นได้อย่างมีวุฒิภาวะ สังคมได้เติบโตทางปัญญาไปพร้อมๆ กัน

7. ทั้งหมดนี้อยู่ใต้แนวคิดที่ว่า สังคมที่โตแล้ว ทุกส่วนต้องทำหน้าที่ของตัวเอง พิจารณาเองอย่างมีข้อมูลความรู้ เราจะได้เป็นสังคมแห่งความรู้เท่าทัน ให้เกียรติกัน ถกเถียงกันด้วยความรู้ ไม่เป็นแค่คนดูที่นั่งเฉยๆ อยู่บ้านแล้วรอให้คนอื่นช่วยคิดแทนให้ รวมทั้งคนที่ไม่มีความรู้อย่างแท้จริงก็จะได้ไม่ต้องมาทำตัวเป็นผู้มีอำนาจคอยอาละวาดทำนุบำรุงความดีความงามกลวงๆ แทนคนอื่นเขา

ธิดากล่าวเสริมตอนท้ายว่า ทุกวันนี้บางประเทศเขาไม่มีกระทั่งการจัดเรตติงแล้ว รัฐส่งเสริมด้วยการไม่เข้ามาขัดแข้งขัดขา แล้วให้ผู้เกี่ยวข้องพิจารณากันเอาเอง ถ้าโรงดูแล้วเสี่ยง ก็ไม่ต้องให้ฉาย หรือฉายไปแล้วคนดูไม่พอใจ คนดูก็ด่าก็ประท้วง คุยกันเอง แบบคนที่โตๆ กันแล้ว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net