Skip to main content
sharethis

หลังเปิดแผนแม่บทกรุงรัตนโกสินทร์ รายงานชิ้นนี้พามาดูอีกโครงการร้อน-โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา มูลค่า 8,000 กว่าล้าน กทม.เตรียมสร้างเส้นทางนำร่องยื่นลงในสองฝั่งแม่น้ำ 7 กม. โครงการชนะเหรียญทองระดับสากลเรื่องการมีส่วนร่วม ขณะที่เหรียญอีกด้าน หลายกลุ่มส่งเสียงว่าแทบไม่ได้ร่วมอะไร แม้ข้อมูลพื้นฐานที่แท้จริงก็ไม่ได้รับ เรื่องเดินไปสู่ศาลปกครองและต้องลุ้นว่าผลลัพธ์จะเป็นเช่นไร

ภาพประกอบโดย นัฐพล ไก่แก้ว 

 

สงสัยบ้างไหมว่าใครส่งผลิตภัณฑ์ดอกไม้ให้ปากคลองตลาด

ในวันฟ้าโปร่งลมดี ผมกำลังนั่งคุยกับระวีวรรณ สมิตะมาน ชาวชุมชนบ้านปูน ชุมชนริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่ผลิตดอกไม้ประดิษฐ์มายาวนาน 3 ชั่วอายุคน ปากคลองตลาดเป็นหนึ่งในลูกค้ารายใหญ่ของชาวชุมชน ปัจจุบันพื้นที่ชุมชนหายไปครึ่งหนึ่งเพราะการก่อสร้างสะพานพระราม 8 และบริเวณใต้สะพานเดียวกันนี้ เธอกำลังพูดคุยกับผมเรื่องความกังวลต่อโครงการทางจักรยานเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา หรือที่รู้จักกันทั่วไปในชื่อ “ทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา”

ธุรกิจทำดอกไม้ประดิษฐ์เริ่มที่บ้านกลางชุมชนบ้านปูนหลังนี้ จนเวลาผ่านไปสามชั่วอายุคน บ้านหลังนี้ยังทำหน้าที่เดิม เพิ่มเติมคือเป็นผู้รับงานแล้วกระจายไปตามบ้านอื่นในชุมชน

หากเราไม่มองแม่น้ำสายใหญ่นี้ที่โผล่ในทุกบทเรียนภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์ของไทย เป็นแค่สถานที่ทอดสายตาแล้วปล่อยความรักลอยลงทะเลเหมือนเนื้อเพลง ก็จะเห็นว่ามันเกี่ยวพันกับชีวิตมนุษย์ในหลายมิติ

และในวันนี้ โครงการพัฒนาแม่น้ำภายใต้การดำเนินการของ กทม. กำลังดำเนินต่อไป

แผนแม่บทกรุงรัตนโกสินทร์ (ใหม่) กับเสียงมนุษย์ (เก่า) ในม่านฝุ่นการพัฒนาเมือง

รู้จักทางเลียบเจ้าพระยาแบบไวๆ ทำอะไรถึงไหนแล้ว

ทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาเป็น 1 ใน 12 แผนงานจากโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาของกระทรวงมหาดไทย ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อ 9 ธ.ค. 2557 โดยให้สำนักการโยธา กทม.รับผิดชอบดำเนินโครงการ

เดิมทีการดำเนินโครงการเป็นไปอย่างเร่งรัด มติ ครม.วันที่ 12 พ.ค. 2558 ระบุว่าจะมีการลงนามในสัญญาจ้างภายในเดือน ธ.ค. 2558 แล้วใช้เวลาก่อสร้างรวม 18 เดือน  (ม.ค.2559 - ก.ค.2560) โดยขอให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันบูรณาการโครงการพัฒนาพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาโครงการอื่น เช่น สะพานปลากรุงเทพ อู่เรือกรุงเทพ ให้เชื่อมโยงและสอดคล้องกับโครงการพัฒนาพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาให้เกิดประโยชน์สูงสุด

12 โครงการพัฒนาริมแม่น้ำเจ้าพระยา หรือ เจ้าพระยา ฟอร์ ออล (Chaophraya for All)

  1. ทางเดินริมแม่น้ำเจ้าพระยา
  2. ปรับปรุงภูมิทัศน์เขื่อน
  3. พัฒนาท่าเรือ
  4. พัฒนาศาลาท่าน้ำ
  5. พัฒนาพื้นที่บริการสาธารณะ
  6. พัฒนาเส้นทางการเข้าถึงพื้นที่
  7. ปรับปรุงพื้นที่แนวคูคลองประวัติศาสตร์
  8. พัฒนาพื้นที่ชุมชน
  9. อนุรักษ์พัฒนาพื้นที่ศาสนสถาน
  10. พัฒนาพื้นที่นันทนาการและสวนสาธารณะริมน้ำ
  11. พัฒนาจุดหมายตา (แลนด์มาร์ก) ริมแม่น้ำ
  12. พัฒนาสะพานคนเดินข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา

โดย นัฐพล ไก่แก้ว (คลิ๊กเพื่อดูภาพขนาดใหญ่)

เฟสแรกจะดำเนินการโครงการที่ 1-6 ก่อน ในส่วนของทางเลียบฯ นั้นมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์จนทำให้มีการปรับแผนงานมาตลอด กระทั่งเดือน พ.ย. ปี 2561 มีข่าวว่าโครงการฯ กำลังอยู่ในขั้นตอนขอความเห็นชอบจากกระทรวงมหาดไทยเพื่อทำประกวดราคาก่อสร้างทางเลียบฯ ในส่วนนำร่อง เริ่มตั้งแต่สะพานพระราม 7 - สะพานพระปิ่นเกล้า ระยะทางฝั่งละ 7 กม. รวมสองฝั่งเป็น 14 กม. จากระยะทางทั้งหมดของโครงการ 57 กม.โดยใช้งบราว 8,363 ล้านบาท ในส่วนโครงการนำร่องแบ่งสัญญาก่อสร้างออกเป็น 4 ส่วน ส่วนละ 3.5 กม. ดังนี้ (ข้อมูลจากประชาชาติธุรกิจ [1]  [2] และ bltbangkok)

ช่วงที่ 1 จากพระราม7 - คลองบางซื่อ วงเงิน 1,770 ล้านบาท

ช่วงที่ 2 จากคลองบางซื่อ - สะพานปิ่นเกล้า วงเงิน 2,470 ล้านบาท

ช่วงที่ 3 จากสะพานพระราม7 - คลองบางพลัด วงเงิน 2,061.5 ล้านบาท

ช่วงที่ 4 จากคลองบางพลัด - คลองสามเสน วงเงิน 2,061.5 ล้านบาท

กระทรวงมหาดไทยและ กทม. ว่าจ้างสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) เป็นที่ปรึกษา สำรวจ ออกแบบและจัดทำแผนแม่บทโครงการด้วยงบประมาณ 120 ล้านบาท

ข้อมูลจากกลุ่มภูมิสถาปัตยกรรม สำนักสถาปัตยกรรม กรมศิลปากรระบุว่า ตลอดเส้นทาง 14 กม. มีชุมชนริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่มีความสำคัญ 32 ชุมชน การสำรวจจาก กทม. พบว่ามีบ้านเรือนที่ปลูกสร้างรุกล้ำริมแม่น้ำจำนวน 273 หลังคาเรือนใน 15 ชุมชน มีท่าเทียบเรือหรือโป๊ะเทียบเรืออีก 9 แห่ง จึงให้สำนักงานเขตที่รับผิดชอบ ได้แก่ เขตดุสิต บางซื่อ บางพลัด ร่วมกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) สอบสวนสิทธิ์ ประมาณราคาสิ่งปลูกสร้าง รื้อย้ายและจัดหาที่อยู่ใหม่ให้ผู้ได้รับผลกระทบ โดยมีการทยอยรื้อย้ายบ้านเรือนตั้งแต่กลางปีที่แล้ว

จากวิดีโอนำเสนอโครงการ ‘เจ้าพระยาเพื่อทุกคน (Chaophraya for All)’ แสดงข้อมูลพื้นฐานทางกายภาพว่าทางเลียบฯ จะมีความสูง 2.25 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล มีความกว้าง 7-10 เมตร ซึ่งจะไม่กระทบกับการเดินเรือในแม่น้ำเจ้าพระยาที่มีความกว้างในส่วนที่แคบที่สุด 200 เมตรที่วัดสังเวชวิทยารามและส่วนที่กว้างที่สุด 380 เมตรที่ท่าวาสุกรี เสาตอม่อที่จะใช้จะเป็นตอม่อคู่ เสาละ 80 ซม. การจัดวางจะไม่ทำให้ระดับน้ำสูงขึ้นมากที่หน้าตอม่อ น้ำจะยกตัวสูงขึ้นเพียง 3-4 ซม. การไหลของน้ำไม่เพิ่มอย่างมีนัยสำคัญ

ผศ.ดร.อันธิกา สวัสดิ์ศรี คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สจล. ผู้ทำวิจัย ออกแบบ และโฆษกโครงการเจ้าพระยา ฟอร์ ออล ย้อนปูมหลังว่า แต่เดิมสำนักโยธาฯ กทม. ว่าจ้างบริษัทเอกชนให้จัดทำเป็นถนนสำหรับรถวิ่ง แต่เมื่อเกิดแรงต้านหนักก็นำมาสู่การศึกษาผลกระทบโดยสถาบันทางวิชาการแทน ข้อสังเกตที่ได้จากอันธิกาคือความเร่งรัดทำการศึกษาผลกระทบและออกแบบ โดยมีเป้าหมายหรือ “ธง” ของการศึกษาผลกระทบที่มีคำตอบก่อนแล้วว่าท้ายที่สุดจะต้องมีถนนเส้นยาวในแม่น้ำเจ้าพระยา

“โครงการขนาดนี้ส่วนใหญ่ศึกษากันประมาณ 2 ปีขึ้นไป ศึกษา ออกแบบ แล้วแก้ไข ทำประชาพิจารณ์ ซึ่งตอนแรกไม่มีใครทำ หลายๆ มหาวิทยาลัยก็ไม่ทำ ตอนนั้นทุกคนรู้แล้วว่า proposal ตัวแรกน่าจะไม่ดีคือเป็นถนนสำหรับรถ พอ กทม. ไม่มีคนรับศึกษาก็ปรับแก้ TOR ว่าเป็นทางเลียบ”

“ใน TOR เขียนไว้แล้วว่าต้องเป็นการออกแบบทำทางเลียบสองฝั่ง เพราะรัฐต้องการที่จะจัดการแก้ปัญหาน้ำท่วม อีกอย่างคือเอาทางเลียบนี้ไปควบคุมไม่ให้อะไรล้ำลงไปในที่สาธารณะเพิ่ม ตอนแรกเขาเริ่มจากทำกำแพงกันน้ำท่วมก่อน ไม่ได้ออกแบบอะไร เป็นกำแพงปูนเลย ทัศนียภาพก็เสียไปหมด ต่อมาจึงให้ศึกษารูปแบบใหม่ แต่ให้ตัวทางเลียบคล้ายเข็มรัดไม่ให้เกิดการลามเข้าไปบนน้ำ อันนี้คือข้อไม่อิสระ แต่ข้ออิสระก็คือ เขาไม่ได้บอกว่าทางเลียบต้องกว้างยาวเท่าไร หรือว่าต้องหน้าตาเป็นปูน” อันธิชาให้รายละเอียด

การคัดค้านที่นำไปสู่คดีศาลปกครอง

กระแสการคัดค้านโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาเห็นได้ตั้งแต่เริ่มต้น ภารนี สวัสดิรักษ์ นักวิชาการด้านผังเมือง เครือข่ายวางแผนและผังเมืองเพื่อสังคม เล่ายาวตั้งแต่เริ่มมีกระแสคัดค้านเรื่องการออกแบบโดยกลุ่มสถาปนิก จนลุกลามเรื่อยมาถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและชีวิตผู้คนริมฝั่ง

เธอกล่าวว่า เรื่องการออกแบบไม่ใช่จุดที่ให้น้ำหนักเท่ากับเรื่องกระบวนการวางแผนและดำเนินงาน เนื่องจากโครงการแม่น้ำสวนทางกับทิศทางการปฏิรูปกระบวนการมีส่วนร่วม สิ่งที่ไม่เห็นด้วยหลักๆ คือ การมีธงในเรื่องทางเลียบและการเวนคืน

ภารนีบอกว่า ที่ผ่านมามีการศึกษาจัดทำโครงการเกี่ยวกับแม่น้ำเจ้าพระยาหลายเรื่องแล้ว เรื่องทางเดินริมน้ำก็เคยมีมาแล้วโดย สนข. (สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร) เรื่องการระบายน้ำ เรื่องชุมชน โดย กทม. การศึกษาของกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรมที่พิจารณาว่าควรเป็นมรดกโลกไหม เธอคาดหวังจะเห็นผลการศึกษาทบทวนแผนต่างๆ ว่าแผนใดควรปรับปรุง แผนใดเป็นบวกหรือลบกับเจ้าพระยา แต่ก็ไม่เคยได้เห็นการนำเสนอในส่วนนี้

“สิ่งที่เขาให้เราดูคือ แผนที่ แผนงาน ทางเดินมีที่ไหนบ้าง ท่าเรือมีที่ไหนบ้าง แผนงานชุมชนมีที่ไหนบ้าง เขาบอกว่านี่เป็นแผนแม่บท แต่มันไม่ใช่ มันแค่เป็นพรีเซนเตชันของโครงการ แผนแม่บทมันต้องมีการวิเคราะห์ผู้ใช้งานด้วย ผู้ใช้ทางจักรยานจะมีประมาณเท่าไร มีข้อดีอย่างไร มีผลกระทบอะไร การศึกษาความเหมาะสมด้านการเงิน การศึกษาทางเศรษฐศาสตร์ว่ามีความคุ้มทุนหรือไม่คุ้มทุนทั้งทางด้านสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม แต่ไม่มีการนำเสนอสิ่งเหล่านี้ในการรับฟังความเห็นที่ผ่านมาเลย” ภารนีกล่าว

ที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งคือ การศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมหรือ อีไอเอ ภารนีเล่าว่า ที่ปรึกษาโครงการฯ อ้างตั้งแต่แรกว่าทางจักรยานไม่ได้อยู่ในข้อกำหนดการทำอีไอเอของ สผ. (สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม) แต่นี่ไม่ใช่เพียงโครงการทางจักรยาน หากเป็นโครงการตั้ง 12 แผนงาน จึงควรต้องดูว่าผลกระทบสะสมของทุกโครงการเป็นอย่างไร

แม่น้ำเจ้าพระยาตอนเย็นของวันที่ปริมาณฝุ่น PM 2.5 สูงและทัศนวิสัยต่ำ

“ถึงที่สุดเขาก็บอกว่า ทำแล้ว ยื่นไปที่ สผ.แล้ว เรารู้แต่ว่าไม่ผ่าน ไม่มีการเปิดเผยอีไอเอนี้ มีแต่ความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า ข้อมูลยังไม่ครบถ้วนเกี่ยวกับผลกระทบสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรม แล้วเขาก็ไม่ได้ทำอีไอเอต่อ ที่น่าห่วงคือ สผ.เองก็บอกว่าโครงการนี้ไม่ได้บังคับให้ทำอีไอเอ สผ.มองแค่ทางจักรยานอย่างเดียว”  ภารนีกล่าว

เหตุผลทั้งหมดทั้งมวลถูกแปรสภาพเป็นคำฟ้องต่อศาลปกครอง เมื่อตัวแทนเครือข่ายสมัชชาแม่น้ำ มูลนิธิศิลปวัฒนธรรมเพื่อประชาชน เครือข่ายวางแผนและผังเมืองเพื่อสังคม และเครือข่ายชุมชนริมน้ำ รวม 6 คน ซึ่งภารนีเป็นหนึ่งในนั้น ได้ยื่นฟ้องภาครัฐ 4 หน่วยงานได้แก่ คณะรัฐมนตรี คณะกรรมการอำนวยการโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา กระทรวงมหาดไทย และกรุงเทพมหานคร เพื่อเรียกร้องให้ยกเลิกโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อเดือน พ.ย. 2561 เอกสารกว่า 3,000 หน้าอยู่ในมือศาลปกครองเพื่อพิจารณาว่าจะรับฟ้องคดีนี้หรือไม่ แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ

ประเด็นหลักในการฟ้องคือ ความไม่ชอบธรรมในกระบวนการมีส่วนร่วมและสิทธิในข้อมูลข่าวสารที่ชุมชนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องพึงมีพึงได้ เมื่อไม่มีข้อมูลข่าวสาร กระบวนการมีส่วนร่วมก็ไร้ความหมาย

“โครงการนี้ยังไม่ได้เริ่มทำ การศึกษาเสร็จแล้วอาจจะเริ่มประมูล แต่รัฐธรรมนูญใหม่บอกว่า การดำเนินการต้องมีการศึกษาผลกระทบ แม้รัฐธรรมนูญไม่ได้บอกว่าการทำโครงการ แต่บอกว่า “การดำเนินการใดๆ” นี่ก็เป็นประเด็นอันหนึ่งที่เราฟ้อง การฟ้องไม่ใช่เพียงให้ยกเลิกเฉยๆ แต่ให้เปิดเผยข้อมูลให้เรามีสิทธิมีส่วนร่วมในสิ่งที่เขาทำมาด้วย เพราะมันเป็นโครงการที่จ้างบริษัทที่ปรึกษาไปร้อยกว่าล้าน” ภารนีกล่าว

มุมต่างการอนุรักษ์ ศิลปากรคัดค้าน-สำนักโยธายืนยัน

ข้อมูลจากกลุ่มภูมิสถาปัตยกรรม กรมศิลปากรระบุว่า มีโบราณสถานที่ขึ้นทะเบียนแล้ว 34 แหล่ง ยังไม่ขึ้นทะเบียน 44 แหล่งในโครงการนำร่องระยะทาง 14 กม. การก่อสร้างทางเลียบในแม่น้ำเจ้าพระยาที่โบราณสถานอยู่ตรงนั้นมาก่อนทำให้กรมศิลปากรเป็นหนึ่งในผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตามหน้าที่ ทางสำนักการโยธา กทม. มีการติดต่อกับกรมศิลปากรเรื่อยมา แต่สิ่งที่พบก็คือการพูดคุยเหมือนสื่อสารกันคนละช่องสัญญาณ

9 เม.ย. 2561-กรมศิลปากรมีหนังสือตอบรับหนังสือสำนักการโยธา ลงวันที่ 9 เม.ย. 2561 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยกับการก่อสร้างทางเดินริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่บริเวณสะพานพระราม 7 ถึงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า เนื่องจากมีผลกระทบดังนี้

2.1 การก่อสร้างเพื่อแก้ปัญหาการบุกรุกพื้นที่ริมน้ำ เป็นการก่อสร้างที่บุกรุกหรือรุกล้ำแม่น้ำเจ้าพระยา

2.2 การก่อสร้างมีผลกระทบกับการเชื่อมต่อเพื่อเข้าถึงแม่น้ำของโบราณสถานและวิถีชีวิตชุมชนที่มีความสัมพันธ์ดั้งเดิมกับแม่น้ำ โดยข้อมูลโบราณสถานที่อยู่ในพื้นที่โครงการ ตามรายงานการศึกษาวิเคราะห์ไม่สอดคล้องกับรูปแบบกายภาพที่นำเสนอ

2.3 การก่อสร้างส่งผลกระทบเชิงลบต่อภูมิทัศน์วัฒนธรรมริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา บดบังมุมมองโบราณสถานจากริมแม่น้ำและไม่สอดคล้องกับบริบทเดิม

6 ก.ย. 2561-เอกสารรายงานการประชุม ของคณะอนุกรรมการวิชาการเพื่อการอนุรักษ์โบราณสถานระบุว่า ตามที่ทางคณะกรรมการวิชาการฯ ได้แจ้งสำนักการโยธาไปเมื่อ 9 เม.ย. 2561 ว่าได้พิจารณารายละเอียดโครงการทางเลียบแล้ว และสมควรยอมรับในหลักการว่า จะไม่ให้มีการบุกรุกหรือรุกล้ำแม่น้ำเจ้าพระยา จึงไม่เห็นด้วยกับการก่อสร้างทางเดินริมแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่บริเวณสะพานพระราม 7 - สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้าตามรายละเอียดที่ทางสำนักการโยธา กทม. เสนอ

จากนั้นทางสำนักการโยธาได้ชี้แจงเรื่องนี้ว่าได้รับการอนุมัติแล้ว โดยอ้างถึงข้อพิจารณาในการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน คณะที่ 5 เมื่อวันที่ 16 ก.ค. 2561 ที่พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธานว่า มีการรับทราบความคืบหน้าการดำเนินการโครงการนำร่องช่วงที่ 1 (สะพานพระราม7-กรมชลประทาน) และช่วงที่ 3 (สะพานพระราม7-คลองบางพลัด) ที่อยู่นอกพื้นที่เกาะกรุงรัตนโกสินทร์แล้ว ที่ประชุมมีมติให้กรมศิลปากรร่วมกับ กทม. ดำเนินโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา โดยมีเงื่อนไขให้ปรับปรุงรูปแบบภูมิทัศน์ให้เหมาะสมกับโบราณสถาน 3 แห่ง คือมัสยิดบางอ้อ (ฝั่งธนบุรี) วัดแก้วฟ้าจุฬามณี และวัดจันทร์สโมสร (ฝั่งพระนคร)

นายบวรเวท รุ่งรุจี ประธานอนุกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่าให้ข้อมูลเกี่ยวกับการพิจารณาโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาที่เข้าสู่การประชุมของคณะกรรมการชุดนี้ว่า คณะกรรมการฯ มีมติไม่เห็นด้วยที่จะให้มีการก่อสร้างเส้นทางที่รุกล้ำลงในแม่น้ำเจ้าพระยาในพื้นที่เกาะกรุงรัตนโกสินทร์ นอกจากนี้ยังมีความเห็นว่าโครงการก่อสร้างทางเดินที่ล้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่เสนอ จะเปลี่ยนวิถีชีวิตคนไทยที่มีการใช้สอยท่าน้ำและมีการเข้าถึงแม่น้ำได้

คณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่าจึงได้เสนอให้สำนักการโยธา กทม. ไปพิจารณาออกแบบปรับปรุงถนนและเส้นทางในส่วนบนบกให้เชื่อมต่อระหว่างชุมชนกับแม่น้ำได้ โดยไม่รุกล้ำลงในแม่น้ำ

นายพิเศษ เจียร์จันทร์พงษ์ ที่ปรึกษาคณะกรรมการวิชาการเพื่อการอนุรักษ์โบราณสถาน กรมศิลปากร มีความเห็นสอดคล้องกับนายบวรเวท และให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ข้อชี้แจงที่สำนักการโยธาแจ้งมา  เหมือนเป็นการพูดคนละภาษา ทำให้ไม่สามารถคุยกันให้เป็นเรื่องเดียวกันได้

หากขยายเหตุผลตอบโต้กรมศิลปากรที่สำนักการโยธา กทม.นำเสนอ สิ่งที่น่าสนใจคือ สำนักการโยธาฯ ยังคงยืนยันว่า กทม. ได้รับมอบหมายจากกระทรวงมหาดไทยให้ดำเนินโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ตามมติ ครม. 9 ธ.ค. 2557 และ 12 พ.ค. 2558 โดยระบุว่า แผนงานโครงการทางเลียบฯ จำเป็นต้องสร้างลงในแม่น้ำเจ้าพระยา เพราะหากสร้างบนพื้นดินจะต้องเวนคืนพื้นที่เอกชนริมน้ำซึ่งต้องใช้ระยะเวลาที่ยาวนาน ประชาชนได้รับความเดือดร้อน ตลอดจนได้มีการศึกษาความเหมาะสมและลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นและเกิดประโยชน์ต่อประชาชนในภาพรวมให้มากที่สุด

ต่อข้อคิดเห็นกรมศิลปากรเรื่องผลกระทบของการเข้าถึง และความสัมพันธ์กับแม่น้ำของโบราณสถานและวิถีชีวิตชุมชน สำนักการโยธาชี้แจงว่าชุมชน บ้านเรือนและผู้ประกอบการริมน้ำจะยังใช้ชีวิต ประกอบอาชีพ กิจการได้ดังเดิม แต่การเข้าถึงแม่น้ำได้สะดวกมากขึ้นทำให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชน เนื่องจากสามารถเข้าถึงแม่น้ำเพื่อชมทัศนียภาพที่สวยงามและศิลปวัฒนธรรมของสองฝั่งแม่น้ำได้มากขึ้น เศรษฐกิจในชุมชนจะดีขึ้นจากการที่มีนักท่องเที่ยวเข้าสู่ชุมชนมากขึ้น นอกจากนั้นปัจจุบันริมแม่น้ำเจ้าพระยาก็มีเขื่อนป้องกันน้ำท่วมที่สูง 2.8-3.5 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลางอยู่แล้ว ทำให้ผู้อาศัยริมแม่น้ำไม่สามารถมองเห็นแม่น้ำเจ้าพระยาได้ทั่วถึง

ส่วนพื้นที่โบราณสถานนั้น การก่อสร้างจะสร้างผ่านพื้นที่โบราณสถานที่ไม่ขึ้นทะเบียนเท่านั้น โดยระดับก่อสร้างจะต่ำกว่าเขื่อนป้องกันน้ำท่วมประมาณ 1.25 ม. จึงไม่มีการบดบังมุมมองโบราณสถานอย่างใด และการพัฒนาพื้นที่ก็ได้คำนึงถึงบริบททางวัฒนธรรมและศิลปะสถาปัตยกรรมเดิมริมแม่น้ำ เมื่อพัฒนาแล้วเสร็จจะเป็นการเปิดมุมมองให้เข้าถึงโบราณสถานได้ง่ายขึ้น

ดร.วสุ โปษยะนันทน์ สถาปนิกเชี่ยวชาญ สำนักสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร และเลขาธิการสมาคมอิโคโมสไทย องค์กรอิสระที่ทำงานเรื่องการอนุรักษ์โบราณสถาน อธิบายถึงความไม่ลงรอยเกี่ยวกับความเข้าใจเรื่องการอนุรักษ์โบราณสถานกับสำนักการโยธา กทม.

“เมื่อทางเลียบแม่น้ำผ่านหน้าวัด เขาก็ทำศาลาทรงไทยแบบวัด เป็นสิ่งก่อสร้างใหม่ล้ำแม่น้ำออกมาแล้วก็บดบังอีก ตรงหน้ามัสยิดก็ทำเป็นศาลาศิลปะแบบอิสลาม นี่หรือคือการบรรเทาผลกระทบ จริงๆ ผลกระทบคือการขวางไม่ให้อันเดิมอยู่ในบริบทที่เคยเป็นอยู่ ก็คือตั้งอยู่ริมแม่น้ำ แต่คุณแก้ปัญหาโดยออกแบบอันใหม่ให้เป็นไทย เป็นจีน เป็นแขก ซึ่งอันนั้นไม่ใช่ทางแก้ปัญหา”

“โบราณสถาน จริงๆ มีมากมาย เพราะโบราณสถานมีทั้งที่กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนแล้ว และที่เป็นโบราณสถานตามนิยาม พ.ร.บ. โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ซึ่งนิยามโบราณสถานว่าคืออสังหาริมทรัพย์ที่โดยอายุ โดยประวัติ โดยลักษณะการก่อสร้าง มีคุณค่าด้านประวัติศาสตร์ ศิลปะ หรือโบราณคดี ถ้าไปดูแล้วว่าบ้านหลังนี้ ย่านตรงนี้มีคุณค่าอย่างที่ว่านั้น ตามกฎหมายก็คือโบราณสถาน” วสุพูดถึงโบราณสถานในทางกว้าง

ในมุมมองนี้ การก่อสร้างทางเลียบลงในแม่น้ำเจ้าพระยา โดยมีศาลาที่แสดงถึงลักษณะพิเศษของพื้นที่ก็ย่อมไม่ใช่คำตอบ

“ในส่วนกรมศิลปากรพูดได้ค่อนข้างชัดเจนเฉพาะในจุดที่เป็นโบราณสถานเท่านั้น อย่างเช่นบริเวณหน้าวัดราชาฯ (วัดราชาธิวาส) ซึ่งตามประวัติแล้ว บริเวณท่าน้ำวัดราชาฯ เดิมเคยเป็นที่ตั้งของโบสถ์แพ แต่ก่อนเมื่อมีพิธีกรรมในโบสถ์นี้จะเอาน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นเหมือนกับสีมา เป็นอุทกสีมา (อุโบสถกลางน้ำ) เคยมีประวัติอย่างนั้น ถ้าคุณมาสร้างทางเลียบหรือศาลาใหม่ที่คุณบอกว่าจะออกแบบให้เลียนแบบวัดราราฯ ซึ่งได้อิทธิพลมาจากศิลปะเขมร กลายเป็นว่าศาลาท่าน้ำของวัดราชาฯ กลายเป็นเหมือนปราสาทหิน แล้วคุณค่าของวัดราชาฯ จะเป็นอย่างไร” วสุกล่าว

“เขาไม่คิดด้วยซ้ำว่าพอสร้างมาแล้ว ใครจะเป็นคนดูแลรักษา” วสุพูดความเห็นส่วนตัว พร้อมเสริมว่า “ถ้าเป็นพื้นที่ริมน้ำที่ไม่มีอะไรยื่นออกไปขวางกั้น คุณก็อาจให้แต่ละชุมชน แต่ละพื้นที่ดูแลเองได้ นั่นคือการอนุรักษ์แบบยั่งยืน มีเจ้าภาพที่จะดูแล มีความรู้สึกเป็นเจ้าของที่จะช่วยกัน”

หนังคนละม้วน กระบวนการการมีส่วนร่วม

สำนักการโยธา กทม.ระบุว่า มีการลงพื้นที่และรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนมากถึง 400 ครั้งโดยได้รับความร่วมมือจากประชาชนทั่วไป ชุมชนริมน้ำ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมาร่วมให้ข้อมูล ข้อคิดเห็นต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง

กระบวนการการมีส่วนร่วมของโครงการเจ้าพระยา ฟอร์ ออล ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ สะท้อนจากการได้รับรางวัลเหรียญทองจากสมาคม Universal Design นานาชาติ  (IAUD) องค์กรส่งเสริมเรื่อง Universal Design จากญี่ปุ่น ในสาขาการวางแผนพื้นที่ (Regional Planning) เว็บไซต์ IAUD เขียนความเห็นของกรรมการตัดสินว่า “กรรมการตัดสินประทับใจความทะเยอทะยานของโครงการ ความเกี่ยวเนื่องกันของกระบวนการวางแผนและตัวอย่างของการมีส่วนร่วม การปรึกษาหารือกับผู้ใช้ในระดับที่ดี โดยเฉพาะการเน้นถึงการรักษาและเคารพซึ่งความหลากหลายและเอกลักษณ์ของสิ่งแวดล้อมของมนุษย์ในระดับท้องถิ่นและระดับภูมิภาค ซึ่งสะท้อนถึงความหลากหลายทางประชากรและวัฒนธรรม”

อันธิกาเล่าถึงกระบวนการมีส่วนร่วมและการลงพื้นที่ที่เธอเองก็เป็นหนึ่งในผู้จัดทำ

“เราประชาพิจารณ์ 3 รอบใหญ่ๆ นอกนั้นจะเป็นประชุมรอบย่อย มีความเห็นหลากหลาย ปัญหาคือต้องย้อนกลับไปเมื่อ 3 ปีก่อน กระแสคือการต่อต้าน ไม่ว่าจะเป็นนัยยะของการต่อต้านทางการเมือง ต่อต้านทหาร ต่อต้านตัวโครงการเองก็ดี มันทำให้ข้อเท็จจริงอีกด้านไม่มีพื้นที่เลย”

“ไปนั่งอยู่กับชุมชนหลายที่ เขาเห็นด้วยกับโครงการซึ่งจะพัฒนาความเจริญมาถึงย่าน เพราะย่านมันถูกทิ้งเป็นหลังบ้านมานาน แต่ก่อนคนใช้แม่น้ำ แม่น้ำเป็นหน้าบ้าน พอคนใช้ถนน ถนนกลายเป็นหน้าบ้าน โครงการสาธารณูปโภคต่างๆ ที่มาจากรัฐไปไม่ค่อยถึงด้านหลัง ชุมชนก็ดูแลกันเอง น้ำขัง ขยะใต้บ้าน มีปัญหาเหล่านี้เยอะอยู่ บางคนดีใจที่มีโครงการด้วยซ้ำเพราะที่ที่เคยเป็นที่ดินตามบอดจะมีทางเข้าถึงเพิ่มมากขึ้น มีมูลค่าเพิ่มขึ้น”

อันธิกายังกล่าวถึงความเห็นแย้งว่าการทำทางเลียบนี้เป็นการรุกล้ำแม่น้ำเสียเองว่า เอกชนจำนวนมากทั้งใหญ่และเล็กก็มีท่าเรือส่วนตัวยื่นไปในแม่น้ำไม่ต่ำกว่า 20 เมตร แต่กลับไม่มีคนค้าน

“ถ้าจะค้านก็ต้องใช้มาตรฐานเดียวกันนี้อธิบายกับทุกๆ โครงการด้วยเหมือนกัน ไม่ใช่เฉพาะโครงการที่มาจากภาครัฐ แต่ก็ต้องบอกว่า กทม.สื่อสารไม่ดีเลย เช่น การเปิดเผยแบบ การอธิบายเคลียร์ทีละขั้นตอนมีน้อยมาก ทำให้คนคิดไปต่อเอง” คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สจล. กล่าว

ส่วนฝ่ายที่คัดค้านโครงการ โดยเฉพาะกรณีทางเลียบฯ เล่าถึงเรื่องนี้ในอีกมุมหนึ่ง

ภารนีพูดถึงประสบการณ์ของเธอเมื่ออยู่ในเวทีรับฟังความเห็นทั้ง 3 ครั้งว่า ฝ่ายที่คัดค้านไม่ได้ข้อมูลที่มากพอสำหรับการให้ความเห็นได้อย่างชัดเจน และท่ามกลางกระบวนการที่เร่งรัด พวกเธอไม่ได้รับโอกาสให้ออกความเห็นคัดค้านเสียด้วยซ้ำ

“ตอนปฐมนิเทศโครงการ ทำเหมือนกับว่าประชาสัมพันธ์ก่อน ประชุมที่หอศิลป์ เราทักท้วงเรื่อง TOR เขา (สำนักการโยธา) บอกว่าทำได้ ประเทศไทยมีความจำเป็นต้องทำเพื่อให้ทุกคนเข้าถึงแม่น้ำ ไม่ต้องไปเสียเงินให้ร้านอาหารริมน้ำแพงๆ เราก็ท้วงว่าการเข้าถึงแม่น้ำไม่จำเป็นต้องมีเส้นทางตลอดก็ได้ พอจัดรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1 เราไปและยื่นหนังสือคัดค้านให้มีการทบทวน เรายังไม่เห็นผลการศึกษาทั้งหมด เขาเพียงแจกพาวเวอร์พ้อยท์หน้าสองหน้าว่าจะทำยังไง”

“การรับฟังครั้งที่ 2 ตาม TOR แผนแม่บทควรเสร็จเป็นร่างแล้ว เขาจัดที่ใต้สะพานพระราม 8 ปรากฏการจัดวันนั้นมีนิทรรศการใต้สะพาน 12 แผนงานทำอะไรที่ไหน เราขอให้เขาชี้แจงการศึกษาที่นำมาสู่ข้อเสนอในแต่ละเรื่อง เขาไม่ได้ชี้แจง แล้วเขาก็แบ่งกลุ่มชุมชนเพื่อให้กรอกแบบสอบถามว่าชอบหรือไม่ชอบอะไร พวกเรายกมือขอทราบข้อมูล เขาบอกว่าการรับฟังครั้งที่ 2 ที่ปรึกษาตั้งใจว่าจะไม่ให้คนที่คัดค้านโครงการแสดงความเห็น เราท้วงว่าการรับฟังแบบนี้จะเกิดการมีส่วนร่วมได้ยังไง ไม่มีคำตอบ คนในชุมชนก็พร้อมให้ความร่วมมือ แม้ไม่เห็นด้วยก็ให้ข้อมูลทุกอย่าง อยากได้ไม่อยากได้อะไร แต่มันเหมือนเป็นการถามความเห็นแบบที่ยังไงก็มีทางเดินริมแม่น้ำ”

“การรับฟังครั้งที่สามคล้ายกัน จัดที่หอประชุมกองทัพเรือ มีนิทรรศการ คนเยอะมาก การนำเสนอครั้งสุดท้ายยังไม่ได้นำเสนอด้วยซ้ำไปว่า ธงที่เขาตั้งไว้สำหรับทางเดินริมน้ำจะเป็นยังไง ไม่มีการอธิบายใดๆ ผลกระทบของ 12 แผนงานคืออะไรไม่ได้แสดงเลย มีแต่ชี้แจงว่ามีการทำการศึกษาความเหมาะสม มีการทำอีไอเอ แต่เขาไม่ได้แสดงผลลัพธ์ให้ดู”

ภารนีบอกว่า มีการยื่นเรื่องร้องเรียนไปยังคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ด้วย และที่ปรึกษาโครงการฯ ได้ชี้แจงว่ามีการรับฟังความคิดเห็นเป็นร้อยครั้ง

“ร้อยครั้งที่ว่านั้นเราตามเก็บข้อมูล เขาไปคุยกับบริษัทนี้ โรงแรมนี้ คุยเล็กๆ ไม่ถึงสิบคน การที่เขาไปคุยร้อยครั้ง กับหลายกลุ่ม ความเห็นคืออะไร อะไรที่เหมือนกัน อะไรที่ขัดแย้งกัน เราไม่รู้เลย” ภารนีกล่าว

เสียงจากชาวชุมชนริมน้ำ

ชาวชุมชนริมแม่น้ำก็พูดถึงกระบวนการการมีส่วนร่วมในทางเดียวกัน ระวีวรรณถ่ายทอดประสบการณ์การมีส่วนร่วมกับโครงการเจ้าพระยา ฟอร์ ออล ว่า

“เวทีครั้งสุดท้ายที่กองทัพเรือ ชุมชนบ้านปูนทำหนังสือไม่ขอเข้าร่วม เพราะเวทีที่ผ่านมา 2 ครั้งเราถูกบีบ ถูกกดดันไม่ให้เสนอความคิดเห็น แต่เครือข่ายใหญ่อย่าง FOR (Friends of river) และบางอ้อไปร่วม ถึงจะยกมือเขาก็ไม่ให้พูดเหมือนเดิม แค่ได้ไปฟัง”

พนังกั้นน้ำหน้าชุมชนบ้านปูน สร้างตั้งแต่ปี 2538 ต่อมาถูกเพิ่มความสูงขึ้นอีกจนแทบมิดหลังคาบ้านเมื่อน้ำท่วมใหญ่ปี 2554

ระวีวรรณที่เคยเป็นอดีตกรรมการชุมชนบอกว่า การลงพื้นที่เพื่อประเมินผลกระทบก็กระทำอย่างเลือกปฏิบัติ ที่ชุมชนบ้านปูนและบางลำพู ทีมงานสำรวจลงแค่ที่ละ 1 ครั้งเนื่องจากมีการนำข้อมูลมาคัดค้านแข็งขัน แต่ในบางพื้นที่ที่มีแนวโน้มจะเห็นด้วยจะมีการลงพื้นที่เต็มทั้ง 3 ครั้ง

“เราไม่คิดจะร่วมออกแบบในกรอบนี้ คุณมีทางเลือกใหม่ไหม เจอกันครึ่งทางก็ได้ ถ้างั้นทำทางเล็กๆ ได้ไหม เขาก็บอกว่าไม่อยู่ในแผน เราบอกว่าถ้าชุมชนอยากได้ศาลาริมน้ำ เขาก็บอกว่าไม่มีงบประมาณ”

ระวีวรรณ หนึ่งในผู้ฟ้องศาลปกครองบอกว่า แม้วันนี้ทางจักรยานยังไม่พาดผ่านหน้าพนังกั้นน้ำที่บ้านปูน แต่กระบวนการต่างๆ ก็ทำให้ชุมชนแตกแยกกันไปแล้ว

สาธิต ดำรงผล อายุ 71 เป็นชาวชุมชนบางอ้อ หนึ่งในชุมชนริมแม่น้ำเจ้าพระยา ใช้ชีวิตที่ริมน้ำตั้งแต่เกิด เขาเล่าว่าสมัยก่อนไม่มีไฟฟ้า ประปา ยังตักน้ำแม่น้ำเจ้าพระยามาใส่โอ่งกวนด้วยสารส้มเพื่อใช้กินดื่ม จนวันนี้ชุมชนเข้าถึงน้ำประปาและไฟฟ้า บ้านริมน้ำของชาวชุมชนหลายหลังถูกปิดกั้นทางออกสู่แม่น้ำด้วยพนังกันน้ำท่วมเช่นเดียวกันกับชุมชนบ้านปูน เขาเป็นหนึ่งในชาวชุมชนที่ฟ้องศาลปกครองกรณีโครงการเจ้าพระยา ฟอร์ ออล และเป็นหนึ่งในผู้ร่วมรณรงค์คัดค้านการสร้างทางเลียบฯ อย่างแข็งขัน  

สติกเกอร์คัดค้านโครงการทางเลียบแม่น้ำที่ระวีวรรณบอกว่าสาธิตเป็นผู้จัดหาทุนรอนมาทำแล้วนำไปติดในหลายชุมชน

“เขามาพบประชาชน เขาไม่ได้มาขอความเห็น เขามาพูดว่าจะทำอะไร แล้วพอใครจะออกความคิดเห็นจะพูดคัดค้านก็มาแย่งไมค์ไป เคยเข้าไปร่วมที่เขตบางพลัด เขาก็มาถาม จะกรอกข้อความให้ด้วยดินสอแล้วก็ให้เราเซ็นชื่อ แบบนี้จะให้คิดอย่างไร ข้อมูลจะถูกแก้ไขไหม” สาธิตกล่าว

“ในชุมชนมีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย คนที่เห็นด้วยบางพวกนึกว่าตัวเองจะสามารถออกหน้าบ้านแล้วขึ้นไปบนทางนี้ได้ แล้วก็ยังคิดว่าที่ตาบอดอาจจะมีราคาสูงขึ้น แต่ไม่ได้ดูถึงความเสียหายที่มันเกิดขึ้น” สาธิตกล่าว

ความขัดแย้งในโครงการนี้มองในแง่หนึ่งคือ การสะท้อนภาพความแข็งขันในการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ ที่ไม่เห็นด้วยกับแบบที่ล็อคไว้แต่ต้น แม้ กทม.จะปรับแบบจากสร้างถนนรถวิ่งเป็นทางจักรยานแล้วก็ตาม น่าเสียดายที่บทสนทนามิได้เริ่มในจุดตั้งต้นเดียวกันแต่แรก คงต้องจับตาดูว่าศาลปกครองจะรับฟ้องเรื่องนี้หรือไม่ โครงการจะดำเนินไปได้แค่ไหน จะมีการปรับเปลี่ยนอีกไหมในอนาคต  

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net